หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

 สมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ  อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

การประกาศแต่งตั้งเป็นบุญราศี หรือการประกาศรับรองการเป็นมรณสักขี

ของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า

นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

 พระสงฆ์แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

 (1895-1944)

สมณกฤษฎีการับรองการเป็นมรณสักขี

"เครื่องหมายประการหนึ่งซึ่งคงอยู่เสมอ และมีความหมายอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้เป็นพิเศษ เป็นการแสดงความรักแบบคริสตชนอย่างแท้จริงก็คือ การระลึกถึงบรรดามรณสักขี เราไม่ควรหลงลืมการเป็นประจักษ์พยานของท่านเหล่านั้น เพราะท่านคือผู้ประกาศพระวรสารโดยสละชีวิตเพราะความรัก" (สมณโองการประกาศปีปีติมหาการุณ ค.ศ. 2000, Incarnationis mysterium ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2, ข้อ 13)

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลแห่งกรุงเทพฯ ก็ได้ถวายชีวิตของตนเพราะความรักต่อพระคริสตเจ้าและต่อพระศาสนจักร พระศาสนจักร โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังคงระลึกถึงการเป็นประจักษ์พยานแสดงความซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียกและการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ของท่านอยู่

พยานกล้าหาญถึงพระวรสารท่านนี้ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1895 ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เขตมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้รับชื่อเมื่อรับศีลล้างบาปว่าเบเนดิ๊กแต่จะเป็นที่รู้จักต่อมาในนามนิโคลาสบิดามารดาคือ ยอแซฟ โปชัง และอักแนส เที่ยง เป็นคาทอลิกที่ให้การอบรมบุตรอย่างดีในโรงเรียนของวัดนักบุญเปโตร ท่านเข้าบ้านเณรที่บางช้างเมื่อมีอายุได้ 13 ปี และในปี ค.ศ. 1920 ไปศึกษาที่สามเณราลัยใหญ่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ท่านรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญกรุงเทพฯ แล้วเริ่มงานอภิบาลและธรรมทูตเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดบางนกแขวก เมื่อคณะสงฆ์ซาเลเซียนเข้ามาในประเทศไทย ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ก็ได้ช่วยเหลือในการสอนคำสอนและการเรียนภาษาไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1937 ท่านถูกส่งไปทำงานทางนภาคเหนือของประเทศ เพื่อตามหาคริสตชนคาทอลิกที่ละทิ้งศาสนาไป ท่านปฏิบัติงานนี้ด้วยจิตตารมณ์ธรรมทูตอย่างแท้จริง เดินทางไปในพื้นที่ตามป่าเขาที่กันดาร เดินทางลำบาก ต้องเผชิญกับความลำบากแทบทุกชนิด

ในปี ค.ศ. 1937 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสที่โคราช ทำงานรวบรวมสัตบุรุษคาทอลิกที่เหินห่างไปจากความเชื่อให้กลับมาและประสพผลดีอย่างยิ่ง ท่านยังสอนคำสอนแก่คนต่างศาสนาและผู้ต้องการรับศีลล้างบาป และขยายงานธรรมทูตออกไปดูแลวัดโนนแก้วอีกด้วย

ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอภิบาลอย่างได้ผลมากมายอยู่นี้ ก็เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส สงครามกับประเทศฝรั่งเศสนี้ทำให้หลายคนคิดว่าศาสนาคาทอลิกเป็นคำสั่งสอนที่ต้องต่อต้านและต้องทำลายด้วย จึงเกิดมีการเบียดเบียนใช้ความรุนแรง และต่อต้านบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสและงานต่างๆ ของบรรดามิชชันนารี เริ่มต้นด้วยการทำร้าย ปั้นแต่งข้อกล่าวหาเท็จ และข่มขู่ ต่อมาบรรดาคาทอลิกชาวไทยก็ถูกรบกวนและถูกจับด้วย ท่ามกลางความยุ่งยากเหล่านี้ ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้มิได้ละทิ้งหน้าที่สงฆ์และธรรมทูตของตนเลย ยังคงมีความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ธรรมทูตด้วยความเอาใจใส่ต่อชีวิตฝ่ายจิตของตนเหมือนที่เคยปฏิบัติตลอดมา ท่านถวายมิสซาอย่างศรัทธา ใช้เวลาตอนเย็นปฏิบัติกิจศรัทธาต่างๆ เช่น สวดทำวัตร สวดลูกประคำ อ่านหนังสือศรัทธา ท่านมีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทและพระมารดามารีย์เป็นอย่างดีมีความรักและความกระตือรือร้นต่อวิญญาณสัตบุรุษที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านพูดจาด้วยใจร้อนรนอย่างน่าฟังเรื่องพระเจ้า เรื่องพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ แสดงความร้อนรนในจิตตารมณ์เป็นธรรมทูตอย่างชัดเจน ท่านย้ำเสมอๆ ว่า "ข้าพเจ้าไม่กลัวความตาย ทุกคนต้องตาย... ขอให้ข้าพเจ้าตายเถิด ข้าพเจ้าจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า" ท่านเอาใจใส่เป็นพิเศษในการให้ความรู้ทางศาสนาแก่เยาวชน ช่วยให้เขารู้จักการภาวนาและส่งเสริมกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 ท่านถูกจับกุมในฐานะที่เป็นพระสงฆ์คาทอลิก ถูกจองจำในเรือนจำที่โคราช ต้องถูกทรมานและขัดสนทุกสิ่ง

ท่านถูกนำตัวขึ้นศาลทหารพิเศษ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 15 ปี ท่านถูกจองจำพร้อมกับนักโทษอื่นๆ ในห้องขังที่คับแคบและสกปรก จึงป่วยเป็นวัณโรค ต่อมาท่านถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำบางขวาง โรคที่เป็นอยู่มีอาการทรุดหนักลง จึงถูกแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนเป็นโรคปอด

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้ายังคงยึดมั่นในความเชื่อ มีความไว้วางใจในพระเจ้า อดทนต่อความทารุณโหดร้ายต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ท่านให้อภัยแก่ผู้ที่เบียดเบียนท่าน แสดงความมีชีวิตฝ่ายจิตอันยิ่งใหญ่ที่ท่านพยายามปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย ความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าและต่อพระศาสนจักร ยังคงร้อนรนอยู่ในจิตใจของท่านแม้ในเรือนจำ ท่านมีใจเมตตากรุณาต่อนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน และแม้ว่าจะเป็นวัณโรค ไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว ท่านก็ยังไม่เลิกประกาศถึงพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้นักโทษหลายคนได้กลับใจ หลังจากที่ได้ทนความยากลำบาก ความขัดสน การถูกสบประมาทเยาะเย้ยต่างๆ วัณโรคได้กำเริบขึ้น ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1944

ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้แสดงเครื่องหมายแห่งความศักดิ์สิทธิ์อย่างเด่นชัดแล้ว ยังกล่าวได้ว่าท่านได้สิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี เพราะฉะนั้น พระอัครสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ จึงได้รวบรวมเอกสารต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ทำการพิจารณาสอบสวนระดับสังฆมณฑลในปี ค.ศ. 1998 สมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญได้พิจารณาเอกสารการพิจารณาสอบสวนเหล่านี้ตามขั้นตอน ได้รับรองโดยกฤษฎีกาลงวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้แล้ว ได้มีการพิจารณาต่อไปตามระเบียบว่า ผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้สละชีวิตเป็นมรณสักขียืนยันความเชื่อจริงหรือไม่ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1999 คณะกรรมการที่ปรึกษาทางเทววิทยาได้ประชุมพิเศษพิจารณาเรื่องนี้สำเร็จลงด้วยดี ต่อจากนั้นคณะพระคาร์ดินัลและพระสังฆราชได้มีการประชุมปรกติเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2000 โดยมีพระอัครสังฆราชมารีโอ ริซซีพระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งบัลโนเรจโจ เป็นผู้เสนอขอแต่งตั้ง ที่ประชุมมีความเห็นพ้องว่าคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ได้สละชีวิตถวายแด่พระคริสตเจ้า สละชีวิตยอมตายเพราะความเชื่อ

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เจ้าสมณกระทรวงได้นำขึ้นถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงรับข้อเสนอของสมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ ทรงเห็นชอบและรับรองข้อเสนอนี้ด้วย จึงมีบัญชาให้ออกสมณกฤษฎีการับรองการเป็นมรณสักขีของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้าท่านนี้ได้ตามระเบียบ เพราะฉะนั้น ในวันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงประกาศต่อหน้าเจ้าสมณกระทรวงผู้ลงนามไว้ข้างท้ายนี้ต่อหน้าผู้เสนอขอแต่งตั้ง และต่อหน้าข้าพเจ้า เลขาธิการสมณกระทรวง รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมว่า "การพิจารณาเรื่องการเป็นมรณสักขีและการแต่งตั้งของผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สิ้นสุดแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปจนสำเร็จได้"

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระประสงค์ให้ประกาศสมณกฤษฎีกาฉบับนี้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน และให้เก็บรักษาไว้เป็นเอกสารของสมณกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญ

ให้ ณ กรุงโรม วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000

                                                                                           (ลงนาม) ยอแซฟ ซาไรวา มาร์ตินส์

                                                                                         พระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งทูบูร์นิส                                                                                                                                                                                                     เจ้าสมณกระทรวง

                                                                                                       (ลงนาม) เอ็ดวาร์ด โนวัค

                                                                                                 พระอัครสังฆราชเกียรตินามแห่งลูนา                                                                                                                                                                                                            เลขาธิการ

(คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส แปลจากต้นฉบับภาษาลาติน)