หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

       เบื้องหลังการดำเนินเรื่อง คุณพ่อนิโคลาส

         คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ และคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง

ความคิดที่จะเสนอชื่อคุณพ่อนิโคลาส ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งกำลังเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนแล้ว คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980-1989 แต่เนื่องจากการจัดเตรียมเอกสารเรื่องราวของคุณพ่อนิโคลาสนั้นไม่สามารถทำได้ทันเวลา ก็เลยไม่ได้เสนอร่วมกันไป สาเหตุที่มีความคิดเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในสมัยสงครามอินโดจีน โดยมีสภาพทางการเมืองและสภาพการเบียดเบียนศาสนาเหมือนกัน เพียงแต่เกิดคนละแห่ง และเป็นบุคลากรของต่างมิสซังกันเท่านั้น แต่การเป็นมรณสักขีของบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนนั้นชัดเจนมาก

เนื่องจากถูกยิงเสียชีวิตเพราะความเชื่อและไม่ยอมละทิ้งศาสนา การดำเนินเรื่องนี้จึงค่อนข้างง่าย

แต่กลับใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน

อันที่จริง การเสนอเรื่องบุญราศีทั้ง 7 ที่สองคอนได้เสนอกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็มาขาดตอนกันไป มาดำเนินเรื่องกันใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1980 ซึ่งในเวลานั้นยังคงใช้กฎหมายพระศาสนจักรเล่มเก่าอยู่ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เป็นต้นมา กฎหมายพระศาสนจักรเล่มใหม่ได้ลดขั้นตอนและความซับซ้อนลงไปมาก สมัยนี้การพิจารณาเรื่องนี้จึงง่ายขึ้นและเร็วขึ้นด้วย แต่ก็ยังคงต้องถือเป็นเรื่องจริงจังเหมือนเดิม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ จะประกาศด้วยเหตุผลอื่นๆ ไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องนี้จะผิดพลาดไม่ได้เลย

สภาสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้เสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในที่ประชุมครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว จำได้ว่าผม (คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์) ยังอยู่ที่กรุงโรม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมเอกสารและดูความเป็นไปได้ต่างๆ ของเรื่องนี้ ตอนนั้นคุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก

เป็นนักประวัติศาสตร์ ก็ได้ทำการรวบรวมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไว้ชุดหนึ่ง คุณพ่อได้ไปสอบสวนพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน แล้วนำมาประมวลเข้าด้วยกันเป็นเล่ม ตั้งชื่อว่า "ประมวลหลักฐานเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส" นับเป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม คุณพ่อก็ได้เสียชีวิตลงก่อนที่งานนี้จะสำเร็จไป เนื่องด้วยเอกสารและหลักฐานที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอ

เมื่อคุณพ่อลาร์เกจากไปแล้ว ทางอัครสังฆมณทลกรุงเทพฯ ก็จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่อีกเพื่อดำเนินเรื่องนี้ต่อไป โดยพยายามยึดถือแนวทางที่ถูกต้องของสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบุญตามกฎหมายใหม่ คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามใบประกาศของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 อันที่จริง คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานอยู่ก่อนหน้านี้ถึง 2 ปีแล้ว เพิ่งมาประกาศอย่างเป็นทางการก็เพื่อให้สอดคล้องกับขั้นตอนการดำเนินเรื่องเท่านั้น

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลายอย่างที่ต้องแบ่งความรับผิดชอบออกไป บางคนมีหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางเทววิทยา บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ บางคนตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมาย เป็นต้น ที่ต้องมีหลายหน้าที่ก็เพื่อตรวจสอบความถูกต้องซึ่งกันและกัน และต้องตรวจสอบทุกด้านด้วย เพื่อความรอบคอบและถูกต้องที่สุด

งานแรกที่ต้องทำก็คือ การรวบรวมเอกสารต่างๆ ให้สมบูรณ์ นั่นคือ สานต่องานของคุณพ่อลาร์เกนั่นเอง เพื่อการพิจารณาขั้นต่อไป เอกสารมีอยู่หลายชนิดที่ต้องรวบรวม ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาสเอง เช่น ใบศีลล้างบาป ใบรายงานผลการเรียนและความประพฤติจากบ้านเณร, เอกสารที่คุณพ่อนิโคลาสเขียนเอง จะเป็นจดหมายหรือบทความต่างๆ, เอกสารของคนร่วมสมัยที่ได้เขียนถึงคุณพ่อนิโคลาสหรือเอ่ยถึง รวมทั้งจากหนังสือต่างๆ ที่เอ่ยถึงด้วย เช่น หนังสือ

สารสาสน์, Le Trait d'Union (สงฆ์สัมพันธ์) เป็นต้น, เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเบียดเบียนศาสนา และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินจำคุกและชีวิตในคุกจนถึงวันมรณภาพ, เอกสารที่ได้รับจากพยานที่เคยรู้จักคุณพ่อและสนิทสนมกับคุณพ่อ และท้ายที่สุด เอกสารที่มาจากผู้สวดภาวนาวอน

ขอให้คุณพ่อช่วยเหลือ เราไม่คิดว่าต่างก็เป็นอัศจรรย์ แต่จดหมายเหล่านี้ช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าคริสตชนเคารพและยึดถือว่าคุณพ่อเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่าจดหมายเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ เราก็จะมั่นใจมากขึ้น และพระศาสนจักรก็มั่นใจมากขึ้นด้วยผมได้รับหน้าที่ในการรวบรวมเอกสารทั้งหมด สิ่งแรกที่ทำได้ก็คือเอาประมวลหลักฐานเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาสที่คุณพ่อลาร์เกทำไว้มาทบทวนเสียใหม่ และติดตามหาต้นฉบับซึ่งก็พบได้โดยง่าย เพราะหลักฐานต้นฉบับก็เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นั่นเอง นอกจากนี้ ยังได้ค้นดูตามรายงานประจำปีของพระสังฆราชแปร์รอส เอกสารจากแฟ้มของวัดต่างๆ ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสเคยประจำอยู่ หรือเกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาส ตรวจสอบดูจากสารสาสน์เก่าๆ ที่เก็บอยู่ที่เดียวกัน พร้อมทั้งได้เดินทางไปยังวัดนักบุญเปโตร เพื่อขอใบศีลล้างบาป ซึ่งเท่านี้ก็มีเอกสารมากมายให้ตรวจสอบแล้ว งานที่ควรจะรีบทำพร้อมกันไปในเวลาเดียวกันก็คือ การสอบพยาน เพราะกรงว่ายิ่งนานไปพยานที่ยังมีชีวิตอยู่อาจจะเสียชีวิตไป

ที่ประชุมจึงได้จัดตั้งกรรมการย่อยเพื่อไปสืบหาเอกสารและพยานตามที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสืบพยานชุดนี้มี คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์, คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ, คุณพ่อวิชา หิรัญญการ, คุณพ่อเอกพร นิตตะโย และผมอีกคนหนึ่ง (คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์)

ประมาณกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1993 คณะกรรมการชุดนี้ก็เริ่มปฏิบัติงานการสืบพยาน เตรียมรถ เตรียมแบบฟอร์มการสืบพยาน เตรียมเทปบันทึกเสียง ติดต่อสถานที่ต่างๆ และบุคคล

จนกระทั่งพร้อมแล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางไปสืบพยานรอบแรก ที่บอกว่ารอบแรกก็เพราะ เรายังมีรอบที่ 2 อีกด้วย เพื่อเอกสารทางการที่ออกมาจะได้ถูกต้องมากขึ้น

การเดินทางครั้งนี้ (คุณพ่อปิยะลงทุนเอารถคันใหม่ขึ้นไปกันเอง) ออกจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าไปวัดบ้านหัน พอไปถึงพยานทุกคนต่างก็มานั่งรอพวกเราอยู่แล้ว คุณพ่อเจ้าวัดก็ช่วยเราเต็มที่ พยานบางคนเป็นผู้ที่เคยถูกจับพร้อมๆ กับคุณพ่อนิโคลาสที่วัดนี้ บางคนก็เป็นภรรยาของผู้ที่เคยถูกจับเป็นต้น การสัมภาษณ์และการบันทึกเทปก็ทำกันค่อนข้างขลุกขลัก เพราะเป็นพยานกลุ่มแรก เราแบ่งหน้าที่กันสัมภาษณ์และบันทึกเทป ดังนั้น จึงใช้เวลาไม่นานเกินไปก็เป็นอันว่าเสร็จที่บ้านหัน จากนั้นเราก็พักค้างคืนที่โคราชนั่นเอง วันรุ่งขึ้นเราเดินทางต่อไปโนนแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่คุณพ่อนิโคลาสเคยเป็นเจ้าอาวาส และยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ขณะถูกจับด้วย คริสตังหลายคนเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังระหว่างที่มีการเบียดเบียนในช่วงสงครามอินโดจีน เล่าถึงชีวิตของคุณพ่อนิโคลาส

ตอนนี้เราเริ่มบันทึกเทปคล่องขึ้นแล้ว ได้พยานเพิ่มมาอีก 4-5 คนด้วยกัน เราออกจากโนนแก้วไปยังชัยภูมิ เพื่อพบกับพยานปากเอกของเราคือ ครูเจริญ ราชบัวขาว ผู้ซึ่งเคยถูกจับและถูกจำคุกพร้อมกับคุณพ่อนิโคลาส ยังสามารถจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี และให้การด้วยถ้อยคำชัดเจนทุกประการขจัดข้อสงสัยต่างๆ ของเราได้มากมายหลายประเด็นทีเดียว

จากนั้นเราก็ออกเดินทางไปภาคเหนือ มีสถานที่หลายแห่งที่คุณพ่อนิโคลาสเคยทำงานอยู่ เช่น เมืองพาน เวียงป่าเป้า เชียงดาว พร้าว พิษณุโลก นครสวรรค์ ซึ่งเราก็พบกับเอกสารและพยานที่รู้จักคุณพ่อนิโคลาสหลายคนทีเดียว ใช้เวลาเดินทางครั้งนี้ทั้งหมด 6 วัน เรากลับมาถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับรูปภาพ, เทปบันทึกเสียง และเอกสารการสัมภาษณ์พยานมากเพียงพอทีเดียว.