หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

       วีรกรรมและจิตตารมณ์  ของคุณพ่อนิโคลาส

คุณพ่อนิโคลาสถูกตัดสินจำคุก 15 ปี เช่นเดียวกับหัวหน้าครอบครัวคริสตังจากบ้านหัน 13 คน และถูกจำคุกที่บางขวาง จากจดหมายฉบับหนึ่งลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสได้เขียนถึงพระสังฆราชแปร์รอสด้วยลายมือของท่านเอง ท่านบอกว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมีความอดทนก็คือการสวดภาวนา สวดสายประคำ และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งไปให้ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ท่านก็ขอน้อมรับโทษอันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความบาป

"วันที่ 11 มกรา พ.ศ. 84 จนถึงวันที่ 16 พฤศภาคม เป็นระหว่างที่ลูกอยู่ในที่คุมขังเหมือนนกใหม่ถูกขังในกรง นับว่ารู้สึกลำบากมาก เศร้าใจไม่ใช่น้อย มีเครื่องมือที่ทำให้ลูกมีน้ำอดน้ำทนก็คือคำภาวนา และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น ในระหว่างนี้ลูกรู้สึกลำบากมากทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตต์ ฝ่ายกายการกินการหลับนอนผิดกว่าที่โรงตำรวจศาลาแดงมาก ไม่มีใครส่งอาหารปิ่นโตให้อีกต่อไป ฝ่ายจิตต์ เศร้าใจ นอนตื่นเมื่อไรก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือ สวดลูกประคำ...

...ขอคุณบิดาอย่าเป็นทุกข์ถึงลูกเลย การที่ลูกต้องโทษคราวนี้โดยลูกไม่ได้นึกได้ฝันเลย คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติจนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก ได้อุตส่าห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ แต่อนิจจาลูกกลับถูกหาว่าขายชาติ ทรยศต่อชาติ พยานโจทย์ 3 ปาก นับว่าไร้ศีลธรรมอย่างที่สุด กล้าใส่ความสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเจตนาเช่นนี้ ถึงกระนั้นก็ดี ลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทันฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ เพื่อชดเชยความผิดความบาปของลูก และเพื่อความสันติภาพของ (สากล) โลก ทั้งความเจริญของประเทศ ชาติที่รักของลูกด้วย ลูกสวดเสมอ ขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูกตามฉบับแห่งพระเยซูอาจารย์แห่งสากลโลก"

ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก คุณพ่อได้รับความลำบากมาก ห้องขังสกปรก คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเท อยู่กันอย่างแออัด แต่คุณพ่อก็ไม่เคยบ่นถึงความลำบาก ท่านมีความอดทนและคอยให้กำลังใจพวกที่ถูกจับด้วยกัน นอกจากนี้ ท่านยังได้สอนคำสอนให้กับนักโทษทั้งที่เป็นคริสตัง และที่เป็นคนต่างศาสนา เมื่อมีคนมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ ท่านก็แบ่งปันให้กับนักโทษคนอื่นๆด้วยความเมตตา

การที่ท่านถูกขังอยู่ในห้องขังที่สกปรก อากาศไม่ดี ท่านจึงป่วย และถูกนำตัวไปตรวจ ทางเรือนจำแจ้งให้ท่านทราบว่าท่านป่วยเป็นวัณโรค และแยกไปขังไว้ในเรือนจำของคนโรคปอด อยู่ร่วมกับนักโทษที่ป่วยเป็นวัณโรค ท่านได้สอนคำสอน และช่วยดูแลนักโทษที่ป่วย ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่นักโทษ โดยเฉพาะคนใกล้ตายพระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งหนังสือสวดภาษาไทยและภาษาลาติน รวมทั้งสารสาสน์ไปให้แก่คุณพ่อนิโคลาสและพระสงฆ์อีก 2 องค์ ซึ่งถูกขังอยู่ในเรือนจำ ทางเรือนจำได้ส่งหนังสือ

สารสาสน์คืน เพราะไม่อนุญาตให้คุณพ่อทั้งสามอ่าน และกรมราชทัณฑ์ได้มีจดหมายลงวันที่

1 กันยายน ค.ศ. 1943 ถึงพระสังฆราชแปร์รอส แจ้งให้ทราบว่าขอระงับการเยี่ยมบาทหลวงทั้ง 3 องค์ไว้ชั่วคราว และแจ้งขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือที่ส่งมาให้นักโทษทั้งสาม ดังมีใจความดังนี้

"ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้รับมอบหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ที่ท่านจะนำไปมอบให้บาทหลวงทั้ง 3 คน ซึ่งคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง รวม 7 เล่ม เพื่อตรวดพิจารนาตามระเบียบ เมื่อตรวดแล้วตกลงจะส่งมาให้ท่านนะวัดอัสสัมชัญ และได้ตกลงไว้ว่าจะอนุญาตให้ท่านเข้าเยี่ยมพร้อมทั้งนำหนังสือที่ผ่านการตรวจตามระเบียบแล้วไปมอบให้แก่บาทหลวงทั้ง

3 คน ณ เรือนจำกลางบางขวางในวันที่ 13 กันยายน 2486 นั้น กรมราชทัณฑ์ขอนมัสการมาให้ทราบด้วยความเสียใจว่า บัดนี้กรมราชทัณฑ์มีเหตุขัดข้องบางประการไม่อาจอำนวยความสะดวกให้ท่านเข้าเยี่ยมตามกำหนดที่ได้ตกลงไว้ดังกล่าวข้างต้นได้ จำเป็นต้องขอระงับให้ท่านเข้าเยี่ยมไว้ชั่วคราว..."

ในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1944 พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายไปถึง พ.ต.อ. มงคลกล้ากลางสมร อธิบดีกรมราชทันฑ์ ขอนุญาตเข้าเยี่ยมนักโทษบุญเกิด (คุณพ่อนิโคลาส) ซึ่งป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ เพื่อจะได้มีโอกาสโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คุณพ่อ

"ด้วยที่เรือนจำบางขวาง มีบาทหลวงองค์หนึ่งชื่อ บุญเกิด กริสบำรุง ถูกคุมขังประจำอยู่แดน 6 กำลังเจ็บหนักอยู่ด้วยอาการน่ากลัวจะสิ้นชีวิตลงในเร็ววันนี้ ฉันรู้สึกห่วงใยในความเป็นอยู่ของบาทหลวงองค์นี้มาก จึงขอประทานอนุญาตต่อท่านเป็นกรณีพิเศษ เพื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมได้สักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์แก่เขา ตามจารีตศาสนาโรมันคาทอลิกเป็นการด่วน"

แต่ท่านได้รับการปฏิเสธการเข้าเยี่ยม

"ตามหนังสือของท่านลงวันที่ 6 มกราคม 2487 ขออนุญาตเข้าเยี่ยมอาการป่วยของ น.ช.บุญเกิด กริสบำรุง... เพื่อโปรดศีลให้... ฉันมีความเสียใจที่ขณะนี้ยังไม่อาจอนุเคราะห์ให้ท่านเข้าเยี่ยมนักโทษผู้นี้ตามความประสงค์ของท่านได้..."

ที่สุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ทางเรือนจำได้มีจดหมายมาแจ้งให้ทราบว่า คุณพ่อนิโคลาสได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัณโรคปอด ก่อนตายคุณพ่อได้ทำพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่ง มอบสิ่งของของท่านให้แก่คุณพ่อเอดัวรด์และคุณพ่อเฮนรี่ ทางเรือนจำได้ส่งพินัยกรรมและสิ่งของนั้นมาให้พระสังฆราชแปร์รอส

"ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งให้ทราบว่า น.ช. บาทหลวง บุญเกิด กริสบำรุง ซึ่งได้ป่วยเป็นวัณโรคแห่งปอด ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้น ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมมอบเงินกับยาฉีด น้ำกลั่น ให้กับท่าน..."

จากจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งพระสังฆราชแปร์รอสเขียนถึงพระสังฆราชอาเดรียง ดราปิเอร์ผู้แทนพระสันตะปาปา (D้l้qu้ Apostolique) ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ในจดหมายดังกล่าว พระสังฆราชแปร์รอสได้พูดถึงคุณพ่อนิโคลาส และชีวิตของท่านขณะที่ถูกขังคุกไว้ดังนี้

"เราได้สูญเสียพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งในจำนวน 3 องค์ ที่ถูกตัดสินจำคุกโดยไม่มีความผิด คุณพ่อนิโคลาสเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรน มีความกระตือรือร้นกว่าทุกคน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ที่ท่านป่วยเป็นวัณโรคอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ ท่านได้ทำให้คนกลับใจจำนวน 68 คนและโปรดศีลล้างบาปให้คนใกล้ตาย ผู้ที่ลงโทษตัดสินจำคุกท่านอย่างอยุติธรรม คงไม่คาดคิดว่าจะได้รับผลตอบแทนเช่นนี้ ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เดือนละครั้งมาเป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้ว ต่อมาข้าพเจ้าและครอบครัวของคุณพ่อได้รับการปฏิเสธ ไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ข้าพเจ้าสามารถติดต่อกับคุณพ่อและเพื่อนพระสงฆ์ของท่านอีก 2 องค์ในคุก โดยผ่านทางคริสตังที่นำอาหารและเงินจำนวนเล็กน้อยไปให้ท่านในแต่ละเดือน คุณพ่อไม่สามารถพบเพื่อนพระสงฆ์อีก 2 องค์ ซึ่งเป็นนักโทษเช่นเดียวกับท่าน นี่เป็นการเบียดเบียนเพื่อต่อต้านศาสนาคาทอลิกซึ่งยังคงดำเนินต่อมาอีกอย่างรุนแรงที่สุดเป็นระยะเวลา 2 ปี..."

ศพของคุณพ่อถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรก ซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำ อีกหนึ่งเดือนต่อมาพระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร ลงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1944 เพื่อขออนุญาตขุดศพของคุณพ่อมาฝังไว้ที่อุโมงค์วัดอัสสัมชัญ

"บาทหลวงบุญเกิด กริสบำรุง ได้ถึงความมรณภาพในเรือนจำกลางบางขวาง... วันที่ 12 มกราคม 2487 (1944) แล้วถูกฝังที่วัดบางแพรก มาบัดนี้จะขุดศพขึ้น เอามาฝังไว้ในอุโมงค์ใต้โบสถ์วัดอัสสัมชัญ... ฉันขออนุญาตส่งศพมาจากวัดบางแพรก มาฝังที่วัดอัสสัมชัญ"

พระสังฆราชแปร์รอสได้ให้ญาติพี่น้องของคุณพ่อไปขุดศพมาจากวัดบางแพรก ผู้ที่ไปขุดศพคือ นางผิน น้องสะใภ้ของคุณพ่อ, นายกุ้ย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน และนายฮะเซี้ยง บุตรชายของนางผิน ทั้งหมดออกเดินทางในตอนเช้า ระหว่างทาง นายฮะเซี้ยงได้แยกตัวไปหาพระสังฆราชแปร์รอส พอไปถึงวัดบางแพรก สมภารที่วัดบอกว่า นางผินและนายกุ้ยมาขุดศพไปแล้วก่อนที่นายฮะเซี้ยงจะไปถึงไม่นาน ศพของคุณพ่อถูกฝังอยู่ในดินซึ่งขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคุดคู้ ไม่มีโลงไม่มีอะไรห่อศพ เนื้อหนังและเส้นผมยังมีอยู่ แต่ไม่มีกลิ่น

พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเบรสซอง ลงวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1944 เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของมิสซัง การเบียดเบียนศาสนา และกล่าวถึงคุณพ่อนิโคลาสไว้ว่า

"เรารู้สึกเสียใจที่ต้องสูญเสียพระสงฆ์พื้นเมืองที่ดีที่สุดของเราองค์หนึ่งไป คุณพ่อนิโคลาสได้ตายในคุกซึ่งเขาต้องอยู่ในนั้นมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือฝรั่งเศสในระหว่างสงครามอินโดจีน-ไทย ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เยี่ยมเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งคุณพ่ออีก 2 องค์คือ คุณพ่อเอดัวรด์และคุณพ่อเฮนรี่ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเหมือนท่าน ทั้งหมดไม่มีความผิด หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม 1 ครั้งต่อเดือน ต่อมาข้าพเจ้าได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่อนุญาตให้เยี่ยม คุณพ่อป่วยหนัก ข้าพเจ้าต้องการไปเยี่ยม แต่โชคร้ายที่การขอความกรุณาของข้าพเจ้าได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ภายหลังคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ศัตรูที่จ้องทำลายศาสนาคาทอลิกได้มีอำนาจตกต่ำลงในช่วงต้นเดือนนี้ หลังจากการตายของคุณพ่อที่รักของเรา ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถรับศพของคุณพ่อมาได้ คุณพ่อได้ถูกฝังไว้ที่วัดพุทธซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเรือนจำ อีกประมาณ 2 เดือนต่อมา ข้าพเจ้าจึงสามารถจ้างคนไปขุดศพ เอาใส่โลง และนำมายังวัดอัสสัมชัญ บรรจุไว้ในสุสาน ซึ่งอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินของวัด

อัสสัมชัญ ที่นั่นมีหลุมศพของเพื่อนพระสงฆ์ของคุณพ่อหลายองค์ที่ได้ตายไปก่อนแล้ว

พวกเราได้สูญเสียคุณพ่อบนแผ่นดินนี้ แต่ข้าพเจ้ามีความหวังว่า คุณพ่อคอยช่วยเหลือพวกเราอยู่บนสวรรค์ ในเวลานี้ข้าพเจ้ากำลังดำเนินการร้องขออิสรภาพให้กับนักโทษอีก 2 คนของเราคือ คุณพ่อเอดัวรด์และคุณพ่อเฮนรี่ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต..."

มีเอกสารฉบับหนึ่งเป็นจดหมายร่าง ลายมือของพระสังฆราชแปร์รอส เขียนถึงราชการเพื่อขออิสรภาพให้กับนักโทษซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง 2 องค์ และคริสตังอีก 8 คน มีข้อความที่กล่าวถึงคุณพ่อโคลาสดังนี้คือ

"พระสงฆ์ 3 องค์ ถูกกล่าวหาเหมือนกัน และถึงแม้ว่าคำให้การของพยานจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา พวกเขาได้ถูกตัดสินลงโทษจำคุก องค์หนึ่ง 12 ปี, อีก 2 องค์ตลอดชีวิต องค์แรกตายในคุกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา: ทราบว่าป่วย ข้าพเจ้าเดินทางไปที่เรือนจำและขออนุญาตพบเขา ผู้บัญชาการเรือนจำปฏิเสธอย่างเด็ดขาดสำหรับการขออนุญาตนี้ หลังจาก 4 ชั่วโมงของการรอคอย เขาได้บอกกับข้าพเจ้าว่าคุณพ่อได้เสียชีวิตแล้ว และข้าพเจ้าไม่ได้พบเขาอีกเลย นี่คือวิธีการอันป่าเถื่อนที่มีอยู่จริง..."

นอกจากนี้พระสังฆราชแปร์รอสยังได้เขียนจดหมายถึงผู้อำนวยการสมาคมเผยแพร่ความเชื่อ (President Society for the Propagation of the Faith) เล่าถึงเรื่องการเบียดเบียน

และการจับกุมพระสงฆ์ไทยไว้ดังนี้

"พระสงฆ์พื้นเมือง 5 องค์ของเรา ถูกจำคุกโดยไม่มีความผิด เพราะผู้ปกครองศาสนาเป็นชาวต่างชาติ และนับถือศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ พระสงฆ์องค์หนึ่งในจำนวนนี้ (คุณพ่อนิโคลาส) ได้ตายในคุกหลังจากถูกจำคุก 3 ปี เขาอยู่ในโรงพยาบาล 9 เดือน เนื่องจากป่วยเขาได้ใช้เวลาเหล่านั้นในการปลอบโยน บรรเทาใจ และสั่งสอนผู้ป่วยคนอื่นๆ เขาได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบว่า ในระหว่างที่เขาอยู่ในคุก เขาได้สอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้นักโทษด้วยกันที่ใกล้ตาย 68 คน..."

และจากรายงานประจำปีของปี ค.ศ. 1941-1947 พระสังฆราชแปร์รอสเขียนสรุปไว้ว่า

"พระสงฆ์ 2 องค์ถูกจำคุกนาน 20 เดือน ก็ถูกปล่อยเป็นอิสระ อีก 2 องค์ถูกจำคุกอยู่ถึง 5 ปีจึงเป็นอิสระ ส่วนคุณพ่อชุนกิม (นิโกเลา) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ดีเด่นและร้อนรนยิ่งนัก ถึงแก่มรณภาพลงในระหว่างถูกต้องโทษปีที่สาม ตลอดเวลา 9 เดือนที่ท่านถูกพักรักษาตัวในคุกนั้น ก็ได้อุทิศตนสอนคำสอนแก่คนป่วยอื่นๆ ที่เป็นนักโทษด้วยกัน และช่วยเตรียมตัวให้พวกเขาตายในศีลในพร หนึ่งวันก่อนถึงแก่มรณภาพ ท่านได้หาทางแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านได้โปรดศีลล้างบาปให้คนใกล้ตายถึง 68 คน ผลงานยอดเยี่ยมนี้ ไม่มีสมาชิกท่านใดในมิสซังทำได้ในช่วง 1 ปีเต็ม ผู้เบียดเบียนซึ่งมุ่งที่จะจับพวกพระสงฆ์ใส่คุกโดยเฉพาะ คงมิได้คาดคิดว่าจะมีผลเช่นนี้เป็นแน่"

วีรกรรมและจิตตารมณ์ของคุณพ่อนิโคลาสได้ถูกรายงานมายังสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ (Propagada Fide) โดยพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี (Mgr. Ga้tano Passotti)

ในปี ค.ศ. 1946 ว่าดังนี

"วันที่ 6 มีนาคม คุณพ่อเอดัวรด์แห่งมิสซังลาว และคุณพ่อเฮนรี่แห่งมิสซังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง ได้รับการปลดปล่อยจากห้องขัง การจำจองใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในสงครามอินโดจีน และเป็นเหยื่อของการเมืองในเวลานั้นและเป็นเหยื่อของการเบียดเบียนศาสนา พร้อมๆ กับคุณพ่อทั้งสอง นักโทษอีก 30 คน ก็ได้รับการปลดปล่อยด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่กล่าวมาแล้ว และไม่น้อยทีเดียวในจำนวนคนเหล่านี้เป็นคริสตัง การปลดปล่อยนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน คุณพ่อนิโคลาสพระสงฆ์พื้นเมืองอีกองค์หนึ่งของมิสซังกรุงเทพฯ ได้เสียชีวิตในห้องขังเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1944 คุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่ผู้ใหญ่ที่อยู่ในคุกนั้นจำนวน 70 คน ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีจิตวิญญาณที่สวยงาม เป็นพระสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวชีวิตของท่านจะได้รับพระพร"

 สำหรับวันที่คุณพ่อนิโคลาสถึงแก่มรณภาพ ถูกระบุไว้ในเอกสารนี้คือ วันที่ 12 มีนาคม (marzo) 1944 ซึ่งควรจะเป็นวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1944 ทั้งนี้อาจจะมาจากความผิดพลาดในการทำสำเนาเอกสาร หรือความจำผิดพลาดของพระสังฆราชปาซอตตี เราทราบวันที่ซึ่งคุณพ่อนิโคลาสถึงแก่มรณภาพจากจดหมายของพระสังฆราชแปร์รอส เขียนถึงข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครลงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1944 ว่าดังนี้

"บาทหลวงบุญเกิด กริสบำรุง ได้ถึงความมรณภาพในเรือนจำกลางบางขวาง อำเภอนนทบุรี จังหวัดพระนคร วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 (1944) แล้วถูกฝังที่วัดบางแพรก"