สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ สถานพยาบาล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ (May) ตามเดือนที่ประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมา พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และ พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ใน พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์
เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาลทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
การศึกษา พ.ศ. 2471
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี ทรงศึกษาอยู่จนถึง พ.ศ. 2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส-พระธิดาทั้งสามพระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. 2485 ได้เสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย
การทรงงาน
เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ รับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส นิสิตที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ล้วนปีติยินดีในพระกรุณาธิคุณยิ่งนัก หลายคนรำลึกได้ว่าในวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสทรงสอนผลงานของ Victor Hugo
ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. 2501
พ.ศ. 2512 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับพระราชทาน พระกรุณาให้ทรงเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่างๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อพระราชกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ก็ยังเสด็จฯ เป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ได้พระราชทานพระเมตตา เสด็จฯ ไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์อื่น พระราชกิจ -การแพทย์และการสาธารณสุข
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จแปรพระราชฐานและประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่
ได้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขัดสนในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเมื่อยามเจ็บไข้ของตำรวจตระเวนชายแดนและราษฏรทั่วไปที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ใช้ชื่อย่อว่า พอ.สว. ขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 โดยเชิญชวนนายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเข้ามาเป็นอาสาสมัคร
เป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์เดินทางไปทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านที่ห่างไกลทุรกันดาร ต่อมาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนมี พอ.สว. ประจำจังหวัดรวม 50 จังหวัดทั่วประเทศ และเพิ่มภารกิจมากขึ้น จากการเป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ ก็มี แพทย์ทางอากาศ หรือ แพทย์ทางวิทยุ ช่วยรักษาทางวิทยุ ช่วยนำผู้ป่วยบางประเภทมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดหรือในกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งออกค่ารักษาพยาบาลให้ด้วย เป็นต้น
ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนเป็น
มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (มูลนิธิ พอ.สว.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ด้วย
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีในกิจการของ พอ.สว. มาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหน่วยแพทย์ พอ.สว. จนกระทั่งเป็นมูลนิธิ พอ.สว. ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทรงนำหน่วยแพทย์ พอ.สว. ไปทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร และในบางรายได้ทรงรับผู้ป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ส่งต่อไปรักษา ณ
โรงพยาบาลในส่วนจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ส่วนมากเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร บางแห่งไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางเท้า แต่ก็มีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และมาขอรับการตรวจอย่างเนืองแน่น ทำให้สุขภาพ อนามัยของประชาชนในถิ่นทุรกันดารดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้มาเฝ้าฯ กลับเพิ่มทวีขึ้น เพราะพวกเขาเจริญขึ้นทั้งทางสุขภาพ อนามัยและความเป็นอยู่มากขึ้น แต่มารับการตรวจรักษาน้อยลง
เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์
ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว. ไม่ใช่เป็นเพียง พระราชมรดก แต่ทรงเห็นแก่สุขภาพ อนามัย ความเป็นอยู่ ตลอดจนการศึกษาและการพัฒนา คน ของประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขตแดนที่มีความเจริญน้อยกว่าเป็นสำคัญ ด้วยพระเมตตาจะให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิต มีวิญญาณสมกับเป็น คน มีคุณภาพชีวิต มีครอบครัว มีสังคมที่มีความสุข เป็นน้ำพระหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง โดยมิได้คิดถึงพระองค์เองเลยสักนิดว่าจะต้องทรงงาน ต้องทรงตรากตรำพระวรกายมากเพียงใด
เพียงเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขสมบูรณ์เท่านั้น
-การสังคมสงเคราะห์ ทรงเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช และชุมชนเพชรเกษม 104 เป็นต้น รับสั่งว่า ต้องไปถึงที่จึงจะรู้ว่าชาวบ้านและเด็กเหล่านี้มีความลำบากแค่ไหน
ก็ดีใจที่มีโอกาสเห็นด้วยตนเองที่คลองเตย อ่อนนุช และหนองแขม ในขณะที่เสด็จฯทรงมีพระเมตตาซักถามถึงปัญหาเดือดร้อน ทรงทักทายเด็กๆ ด้วยพระพักตร์ที่แสดงความห่วงใย ก่อให้เกิดพลังใจแก่ผู้ทุกข์ยากตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาชุมชน เจ้าหน้าที่เขต และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสนใจดูแลและพัฒนาชุมชนนั้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การถมหลุมบ่อ การซ่อมถนน การบริการสาธารณูปโภค
ทรงมีพระหฤทัยของนักสังคมสงเคราะห์อย่างเต็มเปี่ยม
แม้ทรงลำบากอย่างไรก็ไม่ทรงย่อท้อดังเหตุการณ์ในการเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ทรงพระดำเนินไปบนทางปูด้วยไม้แผ่นเก่าๆ แผ่นหนึ่งผุหักลง พระบาททะลุลงไป และไม้ครูดพระชงฆ์เป็นแผลอักเสบอยู่เดือนกว่า แต่มีรับสั่งว่า ...ไม่เป็นไรจะได้ไม่ลืมการเยี่ยมสลัมครั้งนี้ ... เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ราษฎรที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนั้นยิ่งนัก
ทรงอ่านพบประกาศหาทุนของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมจากหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ. 2526 จึงโปรดให้เลขานุการในพระองค์ฯ ติดต่อสอบถามความเป็นมาของมูลนิธิฯ
แล้วพระราชทานทุนทรัพย์จากทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมจัดตั้งเป็น กองทุนนมและอาหารเสริม และ กองทุนงบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหารและช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี ต่อมาทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมไว้ในพระอุปถัมภ์ ทรงมีรับสั่งแก่คณะกรรมการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ว่า การเริ่มต้นที่ดีของชีวิตเด็กนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เด็กควรมีการพัฒนาพร้อมกันทุกด้าน แต่ด้านสุขภาพ
อนามัยควรทำก่อนเพราะสำคัญมาก
-การต่างประเทศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการและเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทรงมีความสนพระหฤทัย การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ นอกจากเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี
กับเจ้าของประเทศแล้วก็ยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักต่างประเทศในแง่มุมต่างๆ อย่างถ่องแท้ ในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ทรงศึกษาความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้นก่อนจัดทำกำหนดการ การทำข่าวสารการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ จึงมิใช่เพียงว่าเสด็จฯที่ใดและทรงพบใคร แต่ให้ข้อมูลทุกๆ ด้านของประเทศนั้น ทั้งทางลึกและทางกว้าง ทรงค้นคว้าข้อมูล และตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เอง ก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง ภายหลังการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ บ่อยครั้งทรงนิพนธ์ และรวบรวมเรื่องราวของประเทศนั้น จัดพิมพ์เป็นหนังสือและวิดีทัศน์พระราชทานเป็นวิทยาทานด้วย
-ด้านพระนิพนธ์หนังสือ ทรงพระนิพนธ์หนังสือที่รวบรวมข้อมูลอันทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก
สามารถใช้อ้างอิงและประกอบการศึกษาค้นคว้าได้เป็นอย่างดี ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา ที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา กระจ่างชัดรัดกุม พระนิพนธ์ที่รวบรวม ณ ที่นี้มีจำนวน 25 ชื่อเรื่อง แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้ดังนี้
เกี่ยวกับพระราชวงศ์ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์
พระนามพระราชโอรส ธิดาและพระราชนัดดา แม่เล่าให้ฟัง พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 เวลาเป็นของมีค่า เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์ ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าทหารเรือ พ.ศ. 2454 ถึง พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1911 ถึง ค.ศ. 1916) ตราแผ่นดิน ตราราชสกุลและสกุล อักษรพระนาม และพระนามย่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และงานศิลปะ จดหมายเหตุชาวบ้าน ข่าวสมเด็จย่าสวรรคตจากหนังสือพิมพ์ส่งเสด็จสมเด็จย่า ประมวลเรื่องจากหนังสือพิมพ์
พระนิพนธ์แปล นิทานสำหรับเด็ก แม่เล่าให้ฟัง (ภาค 2) ราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน
สารคดีท่องเที่ยว หนึ่งโหลในเมืองจีน
ยูนนาน สายอารยธรรมจีน : 7 ธานีแห่งอาณาจักรกลาง จากโคริโอสู่โคเรีย : 8 วันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ภูฏาน : เกาะเขียวบนแผ่นดิน ที่ไซบีเรียหนาวไหม ตุรกี : ดินแดนจักรพรรดิโรมันและสุลต่านออตโตมัน ชินเจียงและกานชู : ภาพจากดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียว จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ง้อไบ๊
บทความวิชาการ Du bon et du mauvais usage (เรียบเรียงจาก www.hrh 84yrs.org) |