คริสตชนจำนวนมากถูกทรมานและถูกฆ่าตาย  ในระหว่างการเบียดเบียนโดยจักรพรรดิดิโอเคลเตียน หนึ่งในบรรดานักบุญเหล่านี้ เป็นหญิงสาวที่อายุยังน้อย คืออักแนส เรื่องราวของเธอจะถูกเล่าขานตรงนี้

ไม่เพียงเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมถึงบรรดาเด็กๆ ด้วยที่ถูกนำไปประหารชีวิต ในระหว่างการเบียดเบียนที่โหดร้ายในสมัยจักรพรรดิดิโอเคลเตียน เรื่องราวเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงนี้เป็นเรื่องของ อักแนส (Agnes)  เด็กหญิงตัวเล็กๆ  อายุเพียง 12 ปีเท่านั้น อักแนสถูกทรมานจนเป็นมรณสักขี แม้ว่าเธอจะเป็นแค่เด็ก ที่จริงอายุของเธอก็น้อยเกินไปที่จะรับโทษตามกฎหมายของโรมัน  ค่อนข้างจะแน่ใจได้ว่าเธอเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ แต่เรื่องราวของเธอที่ตกทอดมาถึงเรานี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเล่าต่อกันมากกว่า

เมื่อการเบียดเบียนเริ่มขึ้น พ่อแม่ของอักแนสมีความกลัว  และกังวลต่อความปลอดภัยของเธอ  จึงให้อยู่แต่ในบ้าน แต่เธอหาได้มีความกลัวไม่ เธอไม่ต้องการที่จะทรยศต่อพระเยซูเจ้า พ่อแม่พยายามอธิบายบอกเธอว่า คริสตชนไม่ต้องแสวงหาการเป็นมรณสักขี และคริสตชนมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องชีวิตตนเอง แต่ดูเหมือนว่าคำอธิบายจะไม่เป็นผล

วันหนึ่งอักแนสออกไปนอกบ้าน ได้พบกับทหารโรมันบางคน และเธอได้แสดงความเชื่อของเธออย่างเปิดเผยต่อพวกทหาร เธอถูกจับกุมส่งให้ผู้พิพากษา สอบสวน เขาคิดว่าคงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนใจเด็กหญิงเช่นเธอให้ไปถวายบูชานมัสการ ทั้งคำล่อลวงประจบประแจง  และคำคุกคามขู่เข็ญมากมายก็ไม่ส่งผลใดๆ ต่ออักแนสเลย  ดูเหมือนว่า เธอไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษที่เขาพร่ำพรรณาบอกเธอ ทั้งเวลาที่ถูกขังคุกและเวลาที่ทรมานก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจของเธอได้ ประวัติของเธอที่เล่าต่อกันมาบอกว่า ทูตสวรรค์ของพระเจ้าปกปักรักษาเธอไว้  พวกทหารและผู้พิพากษารู้สึกเมตตาสงสารเพราะเธอเป็นเด็ก  แต่ว่ากฎหมายก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวเธอไปได้ ที่สุดเธอถูกนำไปประหารชีวิตในวันที่  21  มกราคม  ซึ่งในวันนี้  พระศาสนจักรคาทอลิกกำหนดให้เป็นวันระลึกถึงนักบุญอักแนส

ชื่อ อักแนส "Agnes"  ตรงกับคำว่า "agnus" ในภาษาลาตินซึ่งหมายความว่า "ลูกแกะ" และตรงนี้เองที่อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมรูปภาพของเธอจึงต้องมีตัวเธอกับลูกแกะอยู่ด้วยเสมอ ในวันที่ 21 มกราคม ที่วัดนักบุญอักแนสในกรุงโรม ลูกแกะสองตัวจะได้รับการอวยพร และปัลลิอุม(pallium) ก็ทำมาจากขนแกะเหล่านี้ ปัลลิอุม เป็นผ้าขนแกะทรงกลมประดับตกแต่งด้วยกางเขน ใช้สำหรับสวมที่คอและที่บ่า เฉพาะพระสันตะปาปาและพระอัครสังฆราชของคาทอลิกเท่านั้นที่ใช้