จักรวรรดิโรมันประสบปัญหามากมายในราว ค.ศ.200 พวกอนารยชนได้ทำสงครามต่อต้านกรุงโรม ผู้บังคับบัญชากองทัพโรมันหลายคนได้ต่อสู้กันเอง และบ่อยครั้งผู้นำกองทัพได้ถูกเลือกเป็นจักรพรรดิ การเก็บภาษีที่สูงและการค้าขายที่ไม่ค่อยดีนักทำให้ประชาชนวิตกกังวล และหลายคนหวังว่าจะมีพระผู้ช่วยให้รอด กว่าสองศตวรรษที่จักรวรรดิโรมันมีความสุขกับความมั่งคั่งสมบูรณ์ ความหรูหราและอำนาจ ประชาชนมองสิ่งเหล่านี้เป็นความศิวิไลซ์อย่างแท้จริงเพียงที่เดียวคือกรุงโรม แต่ปัญหามากมายก็ได้กลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3

จนกระทั่งเวลานี้ จักรวรรดิไม่มีความวิตกกังวลมากนัก เกี่ยวกับกลุ่มชนหลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่นอกชายแดนของจักรวรรดิ แต่เดี๋ยวนี้เผ่าต่างๆ และหลายชนชนติเริ่มเข้าคุกคามทางแคว้นอาเชียน้อย ชาวเบอเบอร์ทางตอนเหนือของอาฟริกา ชาวพิคส์ในสก็อตแลนด์ และชาวเยอรมันอีกหลายเผ่าที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูปในทวีปยุโรป

ทหารจำนวนมากในกองทัพโรมันเป็นพวกอนารยชน  (Barbarians)  ซึ่งกลายเป็นพลเมืองโรมันหรือเป็นพันธมิตร  ผู้บังคับบัญชากองทหารต่อสู้กันเพื่อจะมีอำนาจ และบ่อยๆ ทีเดียวหลังจากสงครามนองเลือด ผู้นำของกองทหารจะกลายเป็นจักรพรรดิ  และจักรพรรดิองค์หนึ่งจะถูกแทนที่ด้วยคนอื่นอย่างรวดเร็ว

ความสับสนวุ่นวายนี้ทำให้ปัญหาอื่นๆ แย่ลงกว่าเดิม การเก็บภาษีอย่างหนัก ถูกกำหนดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ การค้าขายที่ลดลง และมีความวิตกกังวลตลอดเวลาเกี่ยวกับจำนวนเสบียงอาหารสำหรับประชาชนในเมือง  ความเจ็บป่วยและโรคระบาดอาจเพิ่มความสับสนวุ่นวายให้หนักมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย

สถานการณ์ทั้งหมดเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบยุ่งยากอย่างมาก และประชาชนเริ่มคิดมากเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวของพวกเขา และความหมายของชีวิต

ขุนนางโรมันบางคนและคนอื่นๆ ยอมรับแนวความคิดของลัทธิสโตอิก (Stoicism) ปรัชญาที่สอนให้ประชาชนดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎธรรมชาติและมีอำนาจเหนือความคิดของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความสนใจในแนวความคิดทางศาสนามากกว่าแนวความคิดทางปรัชญา โดยเฉพาะศาสนาที่เสนอความเป็นไปได้ของความรอดส่วนบุคคลและชีวิตนิรันดร

ศาสนาตะวันออกและพิธีกรรมที่ไม่เปิดเผย  กับบรรยากาศของความลึกลับดึงดูดชาวโรมันบางคน ตัวอย่างเช่น การเคารพบูชาเทพเจ้ามิทรา (Mithra) มีต้นกำเนิดมาจากชาวเปอร์เซียและชาวอินเดีย กลับกลายเป็นที่นิยมในกองทัพโรมันเทพเจ้ามิทรา ถูกพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องความกล้าหาญในการต่อสู้กับอำนาจความชั่วร้ายและคำสัญญาถึงชีวิตนิรันดรสำหรับผืที่ติดตาม

แม้ว่าพิธีทางศาสนาในลัทธิทราถูกกำหนดไว้สำหรับผู้ชาย  ยังมีพิธีอื่นๆ ที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงเหมือนกัน ประชาชนเดินทางไปไกลเพื่อเข้าร่วมในพิธีกรรมที่ให้คำสัญญาในเรื่องชีวิตนิรันดรและความรอด บางทีในช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายนี้อาจช่วยเพิ่มความสนใจในความคิดเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด และเป็นแนวความคิดหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาในหลายๆ ศาสนาตั้งแต่ราว ค.ศ. 200