ในการเดินทางธรรมทูตครั้งที่สาม เปาโลพักอยู่ในเมืองเอเฟซัสเป็นเวลาหลายปี เพื่อสั่งสอนกลุ่มคริสตชนที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ การเทศน์สอนของท่านทำให้ผู้คนกลับใจเป็นจำนวนมากและทำความเสียหายต่อธุรกิจการค้าขายรูปปั้นแก่ประชาชนที่มานมัสการในวิหารแห่งเทพีไดอานา พวกช่างทำเครื่องเงินก่อความยุ่งยากเพื่อต่อต้านเปาโล เปาโลเขียนจดหมายถึงกลุ่มคริสตชนต่างๆ เช่น ที่เมืองโครินธ์

เมื่อออกจากเมืองเอเธนส์ เปาโลพำนักอยู่ที่เมืองโครินธ์ ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของประเทศกรีซ ที่นั่นท่านถกเถียงที่ศาลาธรรมทุกวันสะบาโตและทำให้ชาวยิวและชาวกรีกจำนวนมากมั่นใจว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ที่แท้จริง คืนหนึ่งพระเจ้าตรัสแก่เปาโลในนิมิตว่า (กจ 18:9-10) "อย่ากลัว จงพูดต่อไป อย่าเงียบเลย เพราะเราสถิตอยู่กับท่าน ไม่มีใครกล้าทำร้ายท่าน เพราะหลายคนในเมืองนี้เป็นประชากรของเราแล้ว" ดังนั้นเปาโลพักอยู่ในเมืองโครินธ์เป็นเวลาหนึ่งปีกับอีกหกเดือน ท่านเทศน์สั่งสอนพระวาจาของพระเจ้าแก่ประชาชนและโปรดศีลล้างบาปแก่ผู้ที่มีความเชื่อ

เปาโลเดินทางเรือไปยังแคว้นซีเรียและพักอยู่ที่เมืองเอเฟซัสเป็นเวลาสั้นๆ ประชาชนที่นั่นขอให้ท่านพักอยู่กับเขานานกว่านั้น แต่เปาโลปฏิเสธ อย่างไรก็ตามท่านสัญญาจะกลับมาอีกครั้ง เปาโลกลับมาที่เมืองอันทิโอกและพักอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ก่อนออกเดินทางธรรมทูตครั้งที่สาม ในครั้งนี้ท่านรักษาสัญญาที่จะมาพักที่เมืองเอเฟซัส

เอเฟซัสเป็นเมืองหลวงโรมันในแคว้นอาเซียน้อย เป็นศูนย์กลางการติดต่อและการสื่อสารระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ประชากรประมาณ 200,000 คน มีรายได้จากการค้าขายในเมืองท่าที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่านั้น มีสิ่งที่เชิดหน้าชูตาคือ วิหารที่ยิ่งใหญ่สำหรับเทพธิดาซึ่งชาวกรีกเรียกว่าเทพีอาร์เทมิส (Artemis) และชาวโรมันเรียกว่า ไดอานา (Diana) วิหารนี้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ เป็นพิเศษในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม บรรดาผู้แสวงบุญพากันไปที่วิหารนี้เพื่อนมัสการเทพี ซึ่งหมายถึงธุรกิจสำคัญของพวกช่างเงิน พวกที่ขายรูปปั้นเทพีและเครื่องรางพร้อมกับคำจารึกอันลึกลับบนนั้น เทพีองค์นี้เป็นหนึ่งในบรรดาเทพเจ้าที่ได้รับความนับถืออย่างมากในโลกโบราณ เทพีนี้มีหลายชื่อ เช่น ไดอานา อาร์เทมิส และไซเบเล (Cybele) ได้รับความนับถือในฐานะเทพีแห่งพรหมจรรย์และมารดา

เปาโลใช้เวลาประมาณ 3 ปีเทศน์สอนที่เมืองเอเฟซัส ชักจูงประชาชนจำนวนมากให้นับถือพระเยซูเจ้า ตั้งแต่ประชาชนเลิกนมัสการเทพีอาร์เทมิส ก็ทำให้การขายรูปปั้นและวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการเทพีลดน้อยลง เปาโลถูกมองว่าเป็นผู้ที่ทำให้ธุรกิจเสียหาย วันหนึ่งชายคนหนึ่งชื่อเดเมตรีอัส รวบรวมผู้คนชุมนุมกันต่อต้านเปาโล มีการโต้เถียงกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ที่สุดรองผู้ว่าราชการเมืองบอกพวกช่างให้ทำการฟ้องร้องตามกฎหมายและสั่งให้เลิกการชุมนุม (กจ 19:23-40)

เปาโลพูดให้กำลังใจผู้ติดตามท่าน และออกเดินทางไปแคว้นมาซิโดเนีย แต่ท่านได้ยินเรื่องการโต้เถียงกันท่ามกลางผู้นำของกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์ ดังนั้นท่านตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพวกเขาก่อนที่จะไปที่นั่นด้วยตัวเอง จดหมายฉบับนี้ (จดหมายถึงชาวโครินธ์ฉบับที่หนึ่ง) เป็นจดหมายที่มีชื่อเสียงมาก เราสามารถสรุปเรื่องสำคัญๆ ได้ดังต่อไปนี้

ชาวโครินธ์ที่รัก ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า มีความขัดแย้งและการโต้เถียงกันในท่ามกลางพวกท่าน ท่านต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าวางใจในปรีชาญาณของมนุษย์ แต่วางใจในปรีชาญาณของพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขน พระศาสนจักรต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังเช่นพระคริสตเจ้าทรงเป็น ข้าพเจ้ายังได้ยินมาด้วยว่า มีการแบ่งแยกระหว่างคนรวยและคนจนเมื่อท่านมาชุมนุมกันในพิธีบิขนมปัง นั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะว่าพิธีบิขนมปังเป็นเครื่องหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักร และการฉลองธรรมล้ำลึกแห่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซู ดังนั้นท่านต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงแม้ว่าท่านมีหน้าที่และตำแหน่งที่ต่างกันในพระศาสนจักร และท่านต้องระลึกว่าความรักเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญมากกว่าความเชื่อและความหวัง