การเดินทางครั้งที่สองของเปาโลนำท่านมาถึงกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่เมืองนั้นท่านพูดเรื่องพระเจ้าเที่ยงแท้ให้กับประชาชนที่มีความรู้ บางคนสนใจในสิ่งที่ท่านพูด แต่ส่วนมากบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ เรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

หลังจากสังคายนาครั้งแรกของพระศาสนจักร เปาโลและบารนาบัสกลับมาที่เมืองอันทิโอกและอยู่ที่นั่น จนกระทั่งสันติสุขและความสามัคคีกลมเกลียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งในกลุ่มคริสตชน จากนั้นทั้งสองออกเดินทางอีกครั้ง ต่างคนต่างไปในทิศทางที่แตกต่างกัน เปาโลเดินทางผ่านแคว้นอาเซียน้อย แคว้นมาซิโดเนีย และในที่สุดก็มาถึงประเทศกรีซ ที่เชิงเขาแห่งหนึ่งใกล้กรุงเอเธนส์ เปาโลกล่าวคำปราศรัยที่มีชื่อเสียง บรรดานักปรัชญาและผู้มีความรู้มาฟังท่าน  เพราะกรุงเอเธนส์เป็นศูนย์กลางสำคัญทางด้านปรัชญาในประเทศกรีซ เปาโลได้กล่าวคำปราศรัยว่าดังนี้

ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าพบว่าท่านมีความเลื่อมใสในศาสนามากจริงๆ  เมื่อข้าพเจ้าเดินชมเมือง สังเกตเห็นปูชนียวัตถุต่างๆ ของท่าน พบแท่นบูชาแท่นหนึ่งมีคำจารึกว่า 'แด่พระเจ้าที่เราไม่รู้จัก' ข้าพเจ้ามาประกาศให้ท่านรู้จักพระเจ้าองค์นี้ที่ท่านเคารพทั้งๆ ที่ท่านไม่รู้จัก

พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลก และทรงสร้างทุกสิ่งที่อยู่ในโลก พระ องค์ทรงเป็นเจ้านายของสวรรค์และแผ่นดิน พระองค์ไม่สถิตในวิหารที่มือมนุษย์สร้างขึ้น... เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ลมหายใจและทุกสิ่งให้แก่มนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียวและทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน เรามีชีวิต เคลื่อนไหว และมีความเป็นอยู่ในพระองค์ ดังที่กวีบางคนของท่านกล่าวไว้ว่า 'พวกเราเป็นบุตรของพระองค์'

เราเป็นบุตรของพระเจ้า  เราจึงไม่ควรคิดว่า  พระเจ้าทรงเป็นเหมือนรูปทองคำ เงินหรือหิน ซึ่งแกะสลักอย่างมีศิลปะตามจินตนาการของมนุษย์ บัดนี้ พระเจ้าทรงมองข้ามเวลาในอดีตเมื่อมนุษย์ไม่มีความรู้ พระองค์ทรงบัญชาให้มนุษย์ทุกคนทั่วทุกแห่งกลับใจ เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ เมื่อจะทรงพิพากษาโลกด้วยความยุติธรรม โดยผ่านมนุษย์ผู้หนึ่งที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง และทรงรับรองต่อมนุษย์ทุกคน โดยทรงทำให้ผู้นี้กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตาย (กจ 17:22-31)

เมื่อชาวเอเธนส์ได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับการกลับฟื้นคืนชีวิตของผู้ตาย บางคนหัวเราะเยาะเปาโล  อย่างไรก็ตามมีบางคนสนใจ และขอร้องให้เปาโลกล่าวกับพวกเขาอีกในครั้งต่อไป แต่เป็นคนจำนวนน้อย และเปาโลก็ไม่ได้ทำให้คนกลับใจมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้น เปาโลมีความรู้สึกว่าท่านควรเทศน์สอนสิ่งที่สำคัญๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า การถูกตรึงกางเขน และการกลับเป็นขึ้นมาของพระองค์ แม้ว่าประชาชนอาจจะไม่เข้าใจท่านหรือประหลาดใจในคำพูดของท่าน ท่านรำพึงกับตัวเองว่า

ขณะที่ชาวยิวเรียกร้องขอดูอัศจรรย์ และชาวกรีกแสวงหาปรีชาญาณ เรากลับประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน อันเป็นข้อขัดขวางมิให้ชาวยิวรับไว้ได้ และเป็นเรื่องโง่เขลาสำหรับชาวกรีก แต่สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก พระคริสตเจ้าทรงเป็นทั้งพระอานุภาพ และพระปรีชาญาณของพระเจ้า (1คร 1:22-24)