ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1  เกิดการโต้เถียงกันในกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์ ประชาชนต้องการขับไล่พระสังฆราชของเขา เคลเมนต์ พระสังฆราชองค์ที่ 3 แห่งกรุงโรม จัดการระงับข้อโต้แย้งด้วยจดหมายฉบับหนึ่งที่มีชื่อเสียงและสำคัญมาก

บัดนี้ ตำแหน่งผู้นำของพระศาสนจักรผ่านมาสู่พวกศิษย์ของอัครสาวก ตั้งแต่อัครสาวกได้ตายไป  บุคคลพวกนี้ถูกเรียกว่า "ปิตาจารย์อัครสาวก" (Apostolic Father) เพราะพวกเขาอยู่ในสมัยของอัครสาวกเอง และทำหน้าที่สำคัญในการรักษาและถ่ายทอดข่าวสาร คำสอนของอัครสาวกมาสู่คริสตชน

ตัวอย่างเช่น ปิตาจารย์อัครสาวก เคลเมนต์ พระสังฆราชองค์ที่ 3 แห่งกรุงโรม (ค.ศ.92-101) ปัจจุบันเราบอกว่าท่านเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 3 แต่ต้องคำนึงด้วยว่า ในสมัยนั้นคำว่า พระสันตะปาปา (papa) เป็นคำที่ใช้กับพระสังฆราชทั่วไป จนกระทั่งในศตวรรษที่ 6 จึงใช้คำว่า "พระสันตะปาปา" กับตำแหน่งพระสังฆราชแห่งกรุงโรมเท่านั้น

ในสองสามปีแรกที่เคลเมนต์ เป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม คริสตชนที่นั่นถูกเบียดเบียนโดยจักรพรรดิโดมีเตียน พระสังฆราชเคลเมตน์ต้องพยายามให้กำลังใจ ปลอบใจ และสวดภาวนาเพื่อบรรดาคริสตชน  และเป็นไปได้ว่าท่านได้รับการแจ้งให้ทราบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับพระศาสนจักรนอกกรุงโรม

ในค.ศ.95 ขณะที่การเบียดเบียนกำลังสิ้นสุดลง ท่านทราบว่ามีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์ คริสตชนหลายคนในเมืองนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของพระสังฆราช พวกเขาต้องการให้พระสังฆราชองค์นี้จากไปและจะเลือกคนอื่นขึ้นแทน ในเวลานั้นกลุ่มคริสตชนมีบทบาทในการเลือกผู้นำของเขา แต่ว่าคริสตชนกลุ่มนี้มีพระสังฆราชที่ได้รับการเลือกเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ในค.ศ.96 เคลเมนต์เขียนจดหมายฉบับหนึ่งที่สำคัญมาก ถึงกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินธ์  ท่านเขียนด้วยอำนาจที่ท่านมีและแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีฐานันดรในพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชถูกกำหนดแต่งตั้งจากอัครสาวกเอง และคนอื่นๆ รับรองบุคคลนั้นให้สืบทอดตำแหน่งเมื่ออัครสาวกตาย ดังนั้นพระสังฆราชรับตำแหน่งของเขาจากพระคริสตเจ้าและพระเจ้า โดยผ่านทางอัครสาวก พวกท่านได้รับมอบหมายภารกิจในการเป็นพยานถึงความจริง ข่าวดีที่สอนโดยอัครสาวก กลุ่มคริสตชนต้องเชื่อฟังพระสังฆราช และติดตามการนำของพระสังฆราชของตน เพื่อที่จะอยู่ในพระศาสนจักรและอำนาจของอัครสาวก ชาวโครินธ์ยอมรับจดหมายของเคลเมนต์ด้วยความชื่นชมยินดี และต่อมาได้กลายเป็นจดหมายที่สำคัญมาก