ราวค.ศ.90 อัครสาวกทุกคนตาย ยกเว้นยอห์น ขณะนั้นอยู่ที่เมืองเอเฟซัสและยังคงประกาศคำสอนของพระเยซูเจ้า ท่านบอกผู้ติดตามว่า ความรักต่อกันและกันเป็นบัญญัติที่สำคัญอย่างมาก

ราวค.ศ.90 อัครสาวกคนอื่นตายลง เว้นเพียงแต่คนหนึ่งคือ อัครสาวกยอห์น คนเดียวเท่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมประเพณีที่บอกว่า ท่านมีอายุน้อยที่สุดในกลุ่มอัครสาวก

ยอห์นอยู่กับเปโตรในกรุงเยรูซาเล็มช่วงสั้นๆ หลังจากวันเปนเตกอสเต  เมื่อเปโตรรักษาคนง่อยที่พระวิหาร  ดูเหมือนว่ายอห์นอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในค.ศ.49 ด้วย เพราะเปาโลบอกว่าท่านพบยอห์นที่นั่น แต่ธรรมประเพณีบอกเราว่าบางทีหลังจากนั้น อาจเป็นช่วงระหว่างการเบียดเบียน ยอห์นเดินทางไปเมืองเอเฟซัส ท่านอาจจะเดินทางไปกับกลุ่มคริสตชน ผู้ติดตามซึ่งนับถือยกย่องท่านเป็นผู้นำ จากจดหมายในพันธสัญญาใหม่ที่เชื่อว่าเป็นของท่าน ดูเหมือนว่ายอห์นเน้นความสำคัญของความรักต่อเพื่อนพี่น้องคริสตชน ท่านเห็นว่าสิ่งนี้เป็นบัญญัติสำคัญยิ่งประการหนึ่ง และท่านเทศน์สอนข่าวดีนี้แก่คริสตชนในเมืองเอเฟซัสและบริเวณใกล้เคียง

พระวรสารลำดับที่สี่ในพันธสัญญาใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของยอห์นด้วย และเช่นเดียวกับที่ให้ข้อสังเกตไว้ในกรณีของมาระโก จึงไม่ได้หมายความว่ายอห์นต้องเขียนพระวรสารเหมือนกับผู้เขียนหนังสือในปัจจุบัน น่าจะหมายความว่าพระวรสารมาจากคำสอนของยอห์นและจากกลุ่มคริสตชนที่รวมกันอยู่กับท่าน

พระวรสารลำดับที่สี่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากพระวรสารอีกสามเล่ม มัทธิว มาระโกและลูกา ซึ่งเรียกว่า "พระวรสารสหทรรศน์" (Synoptic) เพราะว่าทั้งสามคล้ายกันมาก พระวรสารของยอห์นเริ่มต้นด้วยพระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว ตั้งแต่นิรันดรและทรงลงมารับสภาพมนุษย์ ต่อจากนั้นแสดงภาพพระเยซูที่ยิ่งใหญ่ ผู้สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น และประหนึ่งว่าพระองค์และพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน และราวกับว่าพระองค์เองจะแทนที่ศาสนายิว ในคำพูดสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวก ยังแสดงออกถึงมิตรภาพและความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์  และในงานเขียนพระวรสารฉบับนี้ ดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยความคิดที่ลึกซึ้งและซับซ้อน