หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

ความขัดแย้งระหว่างแรงงานและทุนในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน

ลักษณะของความขัดแย้ง

การกล่าวอย่างคร่าวๆ ถึงปัญหาพื้นฐานของการทำงานดังที่กล่าวมาข้างบนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระคัมภีร์ตั้งแต่หน้าแรกๆ และประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของคำสอนของพระศาสนจักร คำสอนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของประวัติศาสตร์. อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ได้รับทั้งก่อนและหลังการออกพระสมณสาส์น (RERUM NOVARUM) เป็นภูมิหลังของการประกาศข้อคำสอนซึ่งมีรายละเอียดตามสภาพของสังคมในยุคนั้นๆ. จากการวิเคราะห์นี้พบว่า การทำงานเป็นสัจจธรรมยิ่งใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการสรรค์สร้างโลกตามแบบมนุษย์ซึ่งพระผู้สร้างได้ทรงมอบหมายให้ การทำงานเป็นสัจจธรรมที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้ทำงาน และสัมพันธ์กับกิจกรรมที่สมเหตุสมผลของมนุษย์ไว้ด้วย. ในเหตุการณ์ปกติแล้ว สัจจธรรมอันนี้ทำให้ชีวิตมนุษย์เต็มเปี่ยมไป และมีอิทธิพลอย่างมากต่อคุณค่าและความหมายของชีวิตมนุษย์. แม้ว่าการทำงานจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก และต้องใช้ความพยายามอย่างมากก็ตาม แต่การทำงานเป็นสิ่งที่ดีงาม และดังนี้มนุษย์ก็ทำการพัฒนาตนเองโดยอาศัยใจรักในการทำงาน. คุณลักษณะอันดีงาม, ที่สร้างสรรค์, ที่ให้การศึกษา, และน่ารับการยกย่องของการทำงานของมนุษย์นี้ จะต้องเป็นพื้นฐานสำหรับการใช้วิจารณญาณและการตัดสินเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ซึ่งรวมทั้งสิทธิมนุษยชนตามข้อบัญญัติ สากลว่าด้วยงานและกฎหมายแรงงานต่างๆ ซึ่งร่างโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่างๆ หรือโดยองค์กรซึ่งอุทิศการทำงานด้านสังคมและวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน. องค์กรหนึ่งซึ่งกระตุ้นการสร้างสรรค์ดังกล่าวในระดับสากลคือ องค์การแรงงานสากล ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษที่เก่าแก่ที่สุดของสหประชาชาติ.

การพิจารณาในภาคต่อไปนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะหันกลับมาพิจารณาปัญหาสำคัญเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องคำสอนขั้นพื้นฐานของพระศาสนจักรที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้. อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าขอเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงสาระสำคัญที่สุดของปัญหานี้ ซึ่งเป็นสาระที่ทำให้คำสอนของพระศาสนจักรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ดังที่ได้กล่าวถึงไว้แล้วในพระสมณสาส์น RERUM NOVARUM.

ตลอดระยะเวลาในช่วงดังกล่าว ปัญหาการทำงานถูกหยิบยกขึ้นมาโดยมีพื้นฐานของ ความขัดแย้งในยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง “ทุน” และ “แรงงาน” กล่าวคือ ระหว่างผู้ประกอบการเจ้าของ หรือผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยแต่มีอิทธิพลมากมายกับกลุ่มคนจำนวนมหาศาลซึ่งปราศจากปัจจัยการผลิต และมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเฉพาะในเรื่องของการใช้แรงงานเท่านั้น. ความขัดแย้งนี้มีต้นเหตุมาจากการที่คนงานขายแรงงานของตนให้แก่ผู้ประกอบการ แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ พยายามกำหนดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามหลักของการมุ่งกำไรสูงสุด. นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในรูปอื่นๆ อีกด้วย เช่น การไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน, การขาดหลักประกันในเรื่องสุขภาพอนามัยและสภาพการดำรงชีวิตของคนงานรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา.

ความขัดแย้งนี้ บางคนถือว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้น เป็นลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจ และปรากฏออกมาในรูปของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างลัทธิเสรีนิยม หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นแนวความคิดของลัทธิทุนนิยมกับลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นแนวความคิดของลัทธิสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ และลัทธิคอมมูนิสต์ ซึ่งประกาศตัวเป็นปากเสียงของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก. ดังนั้นความขัดแย้งที่แท้จริงระหว่างทุนกับแรงงาน ได้เปลี่ยนโฉมไปเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นแบบมีระบบ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำการต่อสู้ด้วยวิธีการทางความคิดเท่านั้น แต่ด้วยวิธีการทางการเมืองเป็นหลักด้วย. เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งนี้ รวมทั้งความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วย. ลัทธิมาร์กซ์ซึ่งมีหลักการตามแนวปรัชญาของมาร์กซ์และเองเกลเห็นว่า การต่อสู้ทางชนชั้นเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะสามารถขจัดความอยุติธรรมของชนชั้นในสังคมลงได้ และในเวลาเดียวกัน ก็ขจัดปัญหาเรื่องชนชั้นไปในตัว. ในทางปฏิบัติ ลัทธิมาร์กซ์ถือว่า ปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นของส่วนรวม เพื่อว่าโดยอาศัยการย้ายปัจจัยการผลิตจากกรรมสิทธ์ส่วนตัวมาเป็นส่วนรวมนั้น แรงงานมนุษย์จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป.

นี่คือเป้าหมายของการต่อสู้ ซึ่งใช้ทั้งวิธีทางการเมืองและแนวความคิด. ตามหลักการของ “กลุ่มเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ถือตามคำแนะนำของลัทธิมาร์กซ์ ก็มุ่งที่จะใช้อิทธิพลต่างๆ รวมทั้งการกดดันให้มีการปฏิวัติเพื่อเอาชนะการผูกขาดในแต่ละชุมชน และเพื่อจะได้สร้างระบบการเป็นเจ้าของโดยส่วนรวมขึ้น โดยขจัดระบบการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแบบส่วนตัวเสีย. ตามหลักการของนักคิดและผู้นำของขบวนการสากลนี้ วัตถุประสงค์ของการต่อสู้นี้คือ การปฏิวัติสังคมเพื่อสร้างลัทธิสังคมนิยมขึ้น และที่สุด เพื่อสร้างระบบคอมมูนิสต์ให้แพร่ขยายทั่วโลก.

แม้ว่าเรากำลังกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของทฤษฎีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในยุคสมัยของเราด้วย อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดของปัญหานี้ได้ ทั้งก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวด้วย เพราะปัญหาเหล่านี้ เราสามารถหาอ่านได้ และมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงด้วย. เราจำเป็นต้องละเรื่องของปัญหาเหล่านี้และหันมามองปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับงาน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของเอกสารฉบับนี้. อันที่จริงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปัญหาซึ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะที่เป็นคุณลักษณะพื้นฐานแห่งการดำรงชีวิตอยู่ในโลก และการกระทำตามที่พระเจ้าทรงเรียกร้องนั้นจะต้องได้รับการอธิบายจากสภาพความเป็นจริงของยุคปัจจุบันทั้งครบด้วย.

ความสำคัญอันดับแรกของแรงงาน

โครงสร้างของสถานการณ์ปัจจุบัน เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากมายซึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา รวมทั้งเครื่องมือทางเทคโนโลยี่ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของมนุษย์ก็มีบทบาทที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งสำคัญด้ว ย. เราสมควรที่จะพิจารณาถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในกรณีของสงครามนิวเคลียร์ด้วย เพราะอาจจะก่อให้เกิดการทำลายล้างที่คาดคิดไม่ถึง. ในสถานการณ์เช่นนี้ ก่อนอื่นเราจะต้องนึกถึงหลักการซึ่งพระศาสนจักรสั่งสอนอยู่เสมอ นั่นคือหลักการที่ว่า แรงงานมีความสำคัญกว่าทุน. หลักการนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิต ในกระบวนการนี้ แรงงานเป็นเหตุผลิตอันดับแรกเสมอ ส่วนทุนซึ่งหมายถึงปัจจัยการผลิตทุกชนิดเป็นเพียงเครื่องมือ ที่ใช้ในการผลิตเท่านั้น. หลักการนี้เป็นสัจจธรรมที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ.

เมื่อเราอ่านบทแรกในหนังสือปฐมกาลที่ว่า มนุษย์เป็นนายเหนือโลกนั้นเราทราบว่าคำกล่าวเหล่านี้หมายถึงทรัพยากรทุกชนิดที่อยู่ในโลก และมนุษย์สามารถนำมาใช้ได้ตามต้องการ. อย่างไรก็ตามทรัพยากรเ หล่านี้จะประโยชน์ต่อมนุษย์ก็ต่อเมื่อมนุษย์ทำงาน. ตั้งแต่เริ่มแรกมาแล้ว เราพบว่าปัญหาที่ติดตามการทำงานมาก็คือ ปัญหาในเรื่องกรรมสิทธิ์ เพราะมีวิธีเดียวที่มนุษย์จะทำให้ทรัพยากรที่ซ่อนเร้นอยู่ตามธรรมชาติเหล่านั้นมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นได้ นั่นคือการทำงาน. และในการทำงานเพื่อที่จะนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้นั้น มนุษย์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนต่างๆ ของความมั่งคั่งแห่งธรรมชาติ นั่นคือ ส่ว นที่อยู่ในทะเล, บนแผ่นดิน และในอวกาศ. มนุษย์ถือครองส่วนต่างๆ เหล่านี้โดยใช้เป็นที่ทำงาน. เขาถือโดยการทำงานและเพื่อการทำงาน

หลักการอันเดียวนี้แหละที่เราสามารถนำไปใช้กับขั้นตอนอื่นๆ ในกระบวนการผลิตได้ ขั้นตอนแรกยังคงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรและความมั่งคั่งของธรรมชาติ. ความพยายามทั้งหมดเพื่อจะให้ได้มาซึ่งความรู้ในการค้นหาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และหาทางใช้ประโยชน์จากมันนั้น สอนให้เราทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากมนุษย์ โดยผ่านทางกระบวนการผลิตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะโดยแรงงาน หรือปัจจัยการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยี่ที่เกี่ยวข้อง (หมายถึง ความรู้ความสามารถในการใช้ปัจจัยต่างๆ ในการผลิต) แสดงให้เห็นว่า มีทรัพยากรธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของโลกอยู่ก่อน ทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ค้นพบ มิใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา. หมายความว่า ทรัพยากรเหล่านี้ถูกจัดเตรียมไว้ รอให้เรามนุษย์ค้นหาเพื่อจะได้นำไปใช้อย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์. ในทุกๆ ขั้นตอนของการพัฒนาการของการทำงาน มนุษย์จะขึ้นมามีบทบาทเหนือทรัพยากรตามธรรมชาติ ซึ่งพระผู้สร้างเป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้น. จุดเริ่มแรกของการทำงานของมนุษย์คือ รหัสธรรมการสร้างโลก. การยืนยันนี้เป็นเนื้อหาสำคัญของเอกสารฉบับนี้ และข้าพเจ้าจะกล่าวโดยละเอียดในภาคสุดท้ายของเอกสารนี้.

การพิจารณาในวาระต่อไปนี้ เราควรจะต้องยืนยันความเชื่อมั่นคงของเราที่ว่า แรงงานมนุษย์มีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เราเคยเรียกกันเสมอมาว่าทุน. เนื่องจากว่าทุนมิได้หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีไว้ให้มนุษย์ได้ใช้ แต่ยังหมายถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งมนุษย์ใช้สำหรับได้ทรัพยากรธรรมชาติหล่านั้นมาและเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติตามความต้องการของตน (นั่นคือ การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติรับใช้มนุษย์นั่นเอง) ดังนั้น เราจึงต้องสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากมรดกทางประวัติศาสตร์ของแรงงานมนุษย์นั่นเอง. ปัจจัยการผลิตทั้งหมด นับตั้งแต่ปัจจัยแบบยุคแรกๆ จนถึงปัจจัยในสมัยใหม่และ ต่อๆ ไป ล้วนเกิดจากการที่มนุษย์พัฒนามาโดยตลอด โดยอาศัยประสบการณ์และสติปัญญาของมนุษย์. โดยวิธีนี้ จึงทำให้เกิดเครื่องมือต่างๆ ที่ซื่อที่สุดเพื่อทำการเกษตรตลอดไปจนถึงอุปกรณ์ทันสมัยและสลับซับซ้อน เช่นเครื่องจักร, โรงงาน ห้องทดลอง และเครื่องคอมพิวเตอร์. ซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี่. ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีไว้สำหรับการทำงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “อุปกรณ์” เครื่องมือทางเทคโนโลยี่ที่ซับซ้อน ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลของการทำงานทั้งสิ้น.

เครื่องมือที่ทรงอานุภาพและยิ่งใหญ่นี้ กล่าวคือ ปัจจัยการผลิตทั้งหมด หรือที่ได้รับขนานนามว่า “ทุน” นั้น เป็นผลผลิตมาจากการทำงาน และเป็นผลของหยาดเหงื่อแรงงานของมนุษย์. ในยุคที่วิทยาการและเท คโนโลยี่มีความเจริญก้าวหน้าอยู่นี้ เมื่อมนุษย์ซึ่งเป็นคนทำงานนั้นปรารถนาที่จะใช้เครื่องมือทันสมัยเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือต้องการใช้ปัจจัยการผลิตนั้น ก่อนอื่นเขาจะต้องค่อยเรียนรู้ซึมซับเอาผลของการทำงานของผู้ที่คิดค้น วางแผนและสร้างและปรับปรุงเครื่องมือเหล่านี้. เพื่อให้เกิดความสามารถในการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อให้เกิดความสามารถที่จะเข้าร่วมในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำต้องมีการตระเตรียมอย่างจริงจัง และที่สำคัญ จำต้องมีการฝึกอบรมที่ถูกต้องด้วย. ดังนี้ จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้อย่างแจ่มชัดว่า มนุษย์ทุกคนที่เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต ไม่ว่าเขาจะทำงานประเภทที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษหรือการอบรมพิเศษหรือไม่ก็ตาม เขาก็ยังคงเป็นผู้กระทำในกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม ก็ยังคงเป็นเพียงเครื่องมือและเป็นรองต่อแรงงานของมนุษย์.

ความจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของพระศาสนจักรนี้ จะต้องได้รับการย้ำเตือนเน้นย้ำอยู่เสมอเมื่อเราพิจารณาถึงปัญหาระบบแรงงานหรือระบบสังคมเศรษฐกิจทั้งหมด. เราจะต้องเน้นและให้ความสำคัญแก่ความเป็นเอกของมนุษย์ ในกระบวนการผลิต เน้นความเป็นเอกของมนุษย์เหนือสิ่งของต่างๆ. ทุกสิ่งทุกอย่างในความหมายของคำว่า “ทุน” นั้น เป็นเพียงแต่ประมวลของสิ่งของเท่านั้น มนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานโดยไม่คำนึงถึงงานที่เขาทำ มนุษย์เท่านั้นที่เป็นบุคคล ความจริงข้อนี้มีความสำคัญมากและก่อให้เกิดผลลัพธ์ติดตามมาอีกมากมาย