หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

การทำงานและมนุษย์

ในหนังสือปฐมกาล

พระศาสนจักรตระหนักดีว่า การทำงานเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้. วิทยาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ได้กล่าวไว้ เช่น มานุษยวิทยา โบราณชีววิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี. แต่ความตระหนักนี้มีบ่อเกิดมาจากพระวาจาของพระเจ้า และดังนี้ความตระหนักในสติปัญญาก็เป็นความตระหนักในความเชื่อ. ด้วยเหตุผลก็คือ พระศาสนจักรเชื่อมั่นในมนุษย์ พระศาสนจักรมิใช่เพียงแต่นึกถึงมนุษย์ และกล่าวถึงมนุษย์โดยอาศัยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือโดยอาศัยความช่วยเหลือจากวิทยาการแขนงต่างๆ เท่านั้น แต่โดยอาศัยพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตที่ได้ทรงไขแสดงให้เราทราบเป็นสำคัญ. และเนื่องจากพระพระศาสนจักรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมนุษย์มาโดยตลอด พระศาสนจักรจึงได้พยายามเผยแสดงแผนการณ์นิรันดรและเป้าหมายอันสูงส่ง ซึ่งพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่ผู้ทรงชีวิตได้เชื่อมไว้กับมนุษย์นั้น. โดยเหตุว่าเป็นพระองค์เองที่ทรงผูกพันกับพระศาสนจักรมาแต่แรกเริ่มแล้ว.

ตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือปฐมกาล คือแหล่งข้อมูลที่พระศาสนจักรค้นพบและตระหนักว่า การทำงานเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์บนแผ่นดินนี้. จากการวิเคราะห์ข้อความดังกล่าว เราจึงพบความจริงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับคน ตามรหัสธรรมของการสร้างโลก. แม้ว่าความคิดนี้จะถูกถ่ายทอดออกมาโดยใช้สำนวนแบบโบราณก็ตาม ความจริงเหล่านี้มีความสำคัญต่อมนุษย์มาตั้งแต่ต้น และความจริงนี้เองที่ทำให้เราค้นพบวิถีชีวิตที่แท้จริงบนโลก ทั้งในแง่ของสภาพความดีสมบูรณ์ดั้งเดิม และเมื่อมนุษย์ได้ทำบาป และดังนี้ก็ได้เป็นผู้ทำลายพันธสัญญาที่พระผู้สร้างได้ให้ไว้เมื่อทรงสร้างมนุษย์. มนุษย์เมื่อถูกสร้างขึ้นมา “ตามพระฉายาของพระเจ้า ทั้งชายและหญิง” ได้ยินพระวาจาว่า “จงมีลุกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดิน และจงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน” แม้ว่าพระวาจานี้จะมิได้บ่งบอกว่าหมายถึงการทำงานอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า พระวาจานี้ได้ชี้ให้เห็นทางอ้อมถึงกิจกรรมที่มนุษย์จะต้องทำในโลกนี้. แท้จริงแล้วพระวาจานี้ได้แสดงให้เห็นแก่นที่ลึกซึ้งที่สุดของการทำงาน. มนุษย์เป็นพระฉายาของพระเป็นเจ้าในส่วนหนึ่งที่ว่ามนุษย์ได้รับมอบหมายจากพระผู้สร้างให้เป็นผู้ปกครอง และครอบครองโลกนี้. และโดยกระทำตามภาระกิจที่ได้รับมอบหมายอันนี้เอง มนุษย์ทุกผู้ทุกคนจึงเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงกิจการของพระผู้สร้างจักรวาล.

หากเข้าใจในแง่ที่เป็น “กิจกรรมที่ต้องมีกรรม” การทำงานจึงเป็นกิจกรรมที่เริ่มในตัวประธาน ผู้เป็นมนุษย์และมุ่งไปสู่วัตถุที่อยู่ภายนอก ก็ส่อให้เห็นถึงอำนาจพิเศษที่มนุษย์มีเหนือ “แผ่นดิน” และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการยืนยันและพัฒนาอำนาจนี้. มันเป็นที่ชัดแจ้งว่า “แผ่นดินโลก” ที่พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงนี้ เราต้องเข้าใจว่าก่อนอื่นหมด หมายถึงส่วนที่มองเห็นได้ของจักรวาลซึ่งมนุษย์อาศัยอยู่ และยังหมายถึงโลกที่เห็นได้ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ภายใต้อิทธิพลของมนุษย์ และความพยายามของเขาที่จะสนองความต้องการของตน คำว่า “จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน” นั้น ให้ความหมายที่กว้างมาก เพราะหมายถึงทรัพยากรซึ่งแผ่นดินโลกมีอยู่ (โลกในความหมายที่มองเห็นได้) ซึ่งมนุษย์สามารถค้นหาและใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นอย่างมีสำนึกเพื่อสนองความต้องการของตน. ดังนั้น คำนี้จึงไม่มีวันล้าสมัยเลย แม้ว่าจะเป็นคำที่เขียนไว้ตั้งแต่บทแรกของพระคัมภีร์ก็ตาม. เพราะเหตุว่าความหมายของคำนี้กินความถึงความเจริญและเศรษฐกิจของยุคต่างๆ ในอดีต รวมทั้งสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน และยังหมายถึงพัฒนาการที่จะมีมาในอนาคตอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาบ้างแล้ว แม้ว่ายังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่รู้จักและยังค้นไม่พบก็ตาม.

ไม่ว่าคนเราจะพูดถึงยุคสมัยของ “ความเติบโต” ทางเศรษฐกิจ หรือความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติและของประเทศชาติทั้งในแง่ความเจริญทางด้านวิทยากรและเทคโนโลยี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการค้นพบต่างๆ ที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชีวิตในทางเศรษฐกิจและสังคมก็ตาม แต่ “การเติบโต” นี้ก็มิได้อยู่นอกเหนือขอบเขตของความหมาย ดังมีจารึกไว้ในพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด. มนุษย์เป็นนายเหนือโลก และครอบครองโลกด้วยกระบวนการการทำงาน และโดยกระบวนการการทำงานนี้ ในทุกๆ กรณีและทุกขั้นตอน ก็อยู่ในแผนการของพระผู้สร้างแล้ว. และจากแผนการนี้เองสัมพันธ์กับความจริงที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นชายและหญิง “ตามพระฉายาของพระเจ้า” กระบวนการนี้ลักษณะเป็นสากล เพราะมันครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคนทุกวัย รวมทั้งพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทุกระยะ และในเวลาเดียวกัน กระบวนการนี้เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นผู้กระทำโดยมีความสำนึก. ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนและมนุษย์ทุกคนจึงร่วมอยู่ในกระบวนการนี้. มนุษย์แต่ละคนและมนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมในขบวนการมหึมานี้ตามความสามารถและด้วยวิธีการที่นับไม่ถ้วนในการมีอำนาจ “ปกครองโลก” โดยอาศัยการทำงานนั่นเอง

การทำงานในความหมายโดยตัวมันเอง (วัตถุวิสัย) : เทคโนโลยี่

กระบวนการเพื่อ “ครอบครองโลก” อันมีลักษณะสากล และมีความหลากหลายนี้ทำให้เรารู้ความหมายเกี่ยวกับการทำงานของมนุษย์ เพราะการครอบครองโลกจะเป็นไปได้ก็โดยอาศัยการทำงาน. ดังนี้ ความหมายของการทำงานโดยตัวมันเอง (วัตถุวิสัย) ก็เผยออกมาในสมัยของวัฒนธรรมและอารยธรรม. มนุ ษย์ครอบครองโลกโดยการเลี้ยงสัตว์เพื่อมนุษย์จะได้มาซึ่งอาหารและเครื่องนุ่งห่มตามความต้องการของตน และโดยการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นโลกและทะเล. มนุษย์ได้ครอบครองโลก” มากยิ่งขึ้น เมื่อมนุษย์เริ่มเก็บเกี่ยวทรัพยากรและดัดแปลงผลผลิตนั้นให้สอดคล้องกับความต้องการของตน. ดังนั้นเกษตรกรรมจึงเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจพื้นฐาน และเป็นปัจจัยในการผลิตที่ขาดเสียมิได้ด้วยการทำงานของมนุษย์. ในขณะเดียวกัน การอุตสาหกรรมก็เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงทรัพยากรของโลกเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร ที่มีชีวิต, หรือเป็นผลผลิตทางการเกษตร, แร่ธาตุต่างๆ หรือสารเคมี ทั้งที่ได้มาด้วยการทำงานของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานหรือใช้สติปัญญาก็ตาม. และยังรวมทั้งอุตสาหกรรมที่ให้บริการ, และงานวิจัยเพื่อการศึกษาและเพื่อนำมาใช้.

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในหลายๆ สาขาไม่ค่อยมีการใช้แรงงานเท่าใดนัก เพราะมนุษย์มีเครื่องจักรที่ทันสมัยและซับซ้อนเป็นเครื่องทุ่นแรงมากยิ่งขึ้น. ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในปัจจุบันเราก็ได้รู้เห็นกันว่าได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยอาศัยพัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปของวิทยาการและเทคโนโลยี่. ถ้ากล่าวในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว พัฒนาการนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อารยธรรมของโลก นับตั้งแต่ “ยุคอุตสาหกรรม” แรกจนถึงยุคต่อๆ มา เมื่อไม่นานมานี้ที่อาศัยวิทยาการใหม่ๆ เช่นอีเลคโทรนิคและไมโครโพรเซสเซอร์.

เนื่องด้วยในภาคอุตสาหกรรมนั้นดูเหมือนว่า เครื่องจักรจะเป็นผู้ที่ “ทำงาน” แต่ฝ่ายเดียว มนุษย์เป็นเพียงผู้ควบคุมให้เครื่องจักรทำงานในลักษณะต่างๆ เท่านั้น ดังนั้น ด้วยเหตุผลข้างต้นดังกล่าวการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ให้เราจำต้องหันมาพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการทำงานกันใหม่. ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมใน ยุคแรกที่ได้ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน และผลของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในระยะต่อๆ มาแสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นยุคของเครื่องจักรก็ตาม แต่นายของ “การทำงาน” ยังคงเป็นมนุษย์อยู่.

การพัฒนาอุตสาหกรรมและส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งเทคโนโลยี่ที่ใช้อีเลคโทรนิคสมัยใหม่ โ ดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการย่อส่วน การคมนาคม และการโทรคมนาคม ฯลฯ แสดงให้เห็นบทบาทของเทคโนโลยี่ซึ่งมนุษย์เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำงานและผลผลิตจากการทำงาน. จากความเข้าใจที่ว่า เทคโนโลยี่มิใช่เป็นสิ่งที่มีความสามารถในการทำงาน แต่เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการทำงาน. เทคโนโลยี่จึงเป็นเหมือนเพื่อนของมนุษย์เพราะมันช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีมากขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น. น อกจากนั้นยังนำไปสู่การเพิ่มปริมาณสินค้าและทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น. อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ กรณี เทคโนโลยี่กลับกลายเป็นศัตรูของมนุษย์ เมื่อเครื่องจักรเข้ามา “แทนที่” มนุษย์เพราะมันเป็นตัวทำลายความพอใจ ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบของมนุษย์ มันทำให้คนต้องตกงาน และทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของมันเมื่อเราเชิดชูเครื่องจักรกล.

หากคำกล่าวในพระคัมภีร์ที่ว่า “การครอบครองโลก” ซึ่งกล่าวแก่มนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มนี้กินความถึง ทุกยุคสมัย นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมตอนต้นจนถึงยุคหลังอุตสาหกรรมแล้ว มันก็จะแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพกับเทคโนโลยี่กับโลกของเครื่องจักร อันเป็นผลงานจากสติปัญญาของมนุษย์ และเป็นการยืนยันว่ามนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาติ.

ยุคสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมบางสังคม ยืนยันได้ว่าเทคโนโ ลยี่เป็นตัวทวีพื้นฐานของความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็มีคำถามตามมาด้วย คือ คำถามเกี่ยวกับผู้ทำงาน อันมีลักษณะเกี่ยวกับงานของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงมนุษย์ คำถามเหล่านี้เต็มไปด้วยความหมายและความตึงเครียดที่มีลักษณะเกี่ยวกับด้านจริยธรรมและสังคม. ดังนั้น คำถามนี้จึงเป็นการท้าทายต่อสถาบันต่างๆ ของรัฐและรัฐบาล ท้าทายต่อระบบและองค์กรสากล นอกจากนี้ยังเป็นการท้าทายต่อพระศาสนจักรเองด้วย

การทำงานในความหมายของผู้กระทำ (อัตวิสัยของคนทำงาน) : มนุษย์ในฐานะผู้กระทำงาน

เพื่อจะได้ทำการวิเคราะห์ต่อไปในเรื่องของงาน ที่สัมพันธ์กับพระคัมภีร์ซึ่งบอกให้เราทราบว่า มนุษ ย์จะต้องครอบครองโลกนั้น เราจะต้องให้ความสนใจการทำงาน ในความหมายของผู้ที่กระทำงาน (อัตวิสัยของคนทำงาน) ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าในความหมายของตัวงานเอง (วัตถุวิสัย) โดยไม่เพียงแต่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องปัญหาการทำงานในสาขาต่างๆ ที่นักวิชาการรู้และมีความถนัด หรือเฉพาะปัญหาที่คนงานพบเท่านั้น. หากแม้นพระวาจาในหนังสือปฐมกาลซึ่งเราอ้างอิงในบทวิเคราะห์ของเรานั้น พูดถึงการทำ งานในความหมายของตัวมันเอง (วัตถุวิสัย) โดยทางอ้อมแล้ว พระวาจานี้ยังกล่าวถึงการทำงานในความหมายของผู้ที่กระทำงานโดยทางอ้อมเช่นกัน แต่สิ่งที่พระคัมภีร์พูดถึงนั้นมีความจับใจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย.

มนุษย์จะต้องครอบครองโลกและปกครองโลก เพราะว่ามนุษย์เป็น “พระฉายาของพระเจ้า” มนุษย์เ ป็นบุคคล กล่าวคือ มนุษย์เป็นสิ่งสร้างที่มีความสามารถในการทำงานที่มีแบบแผนและมีเหตุผล มนุษย์สามารถที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ตนเองสมบูรณ์. ในฐานะที่เป็นบุคคล มนุษย์จึงเป็นผู้กระทำงาน. และในฐานะที่เป็นบุคคล มนุษย์ต้องลงมือทำงาน ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่อยู่ในกระบวนการของการทำงาน และกิจกรรมเหล่านี้จะต้องทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ และทำให้ความเ ป็นบุคคลของเขาสมบูรณ์ไปโดยฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงความหมายของตัวงานเอง (วัตถุวิสัย). หลักความจริงที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับการย้ำเตือนในการประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ในเอกสาร พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (GAUDIUM ET SPES) จากบทที่ 1 ซึ่งได้กล่าวถึงเสียงเรียกร้องต่อมนุษย์.

ดังนั้น “การครอบครอง” ตามความหมายในพระคัมภีร์ มิได้กล่าวถึงการทำงานในความหมายของตัวมันเอง (วัตถุวิสัย) เท่านั้น แต่ยังได้บอกเราให้ทราบถึงความหมายในแง่ของผู้กระทำงานด้วย (อัตวิสัย). ตามความเข้าใจที่ว่า การทำงานเป็นกระบวนการที่มนุษยชาติครอบครองโลกนั้น การทำงานจะมีความหมายตรงกับความคิดพื้นฐานของพระคัมภีร์ได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นกระบวนการที่มนุษย์แสดงตัวว่าเป็นผู้ “ครอบครอ งโลก”. อำนาจการครอบครองนี้ หมายถึงมิติของผู้กระทำงาน (อัตวิสัย) มากกว่าตัวงาน (วัตถุวิสัย) เอง มิตินี้ก่อให้เกิดธรรมชาติฝ่ายจริยธรรมของงาน. ที่จริงแล้วไม่ต้องสงสัยว่า การทำงานของมนุษย์มีคุณค่าทางจริยธรรมในตัวมันเอง ซึ่งเชื่อมโยงอย่างชัดแจ้งและโดยตรงกับความจริงที่ว่า ผู้ที่ทำงานนั้นเป็นบุคคล เป็นผู้มีสำนึกและมีอิสระ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้ตัดสินชีวิตของตนเอง.

ความจริงในข้อนี้ ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนคริสตศาสนาในเรื่องของการทำงานนั้น มีส่วนสำคัญมากต่อการบอกกล่าวให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญทางสังคมตลอดมาทุกยุคทุกสมัย.

ในโลกสมัยก่อน มีการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นชนชั้นต่างๆ ตามลักษณะของการทำงานที่ตัวเองทำ. การทำงานที่ต้องใช้แรงกายไม่คู่ควรกับคนที่เป็นไทแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงให้พวกทาสเป็นผู้กระทำ. โดยการขยายความหมายของการทำงานในบางแง่บางมุมซึ่งมีอยู่ในพระธรรมเก่า ศาสนาคริสต์ก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานของความคิดในด้านนี้ โดยนำเอาความหมายของพระวรสารมาเป็นจุดเริ่มต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริงที่ว่าพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าได้มาเป็นมนุษย์เหมือนเราในทุกสิ่งทุกอย่างและทรงอุ ทิศเวลาเกือบทั้งหมดในโลกนี้กับการทำงานช่างไม้. ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเด่นของ “พระวรสารที่ว่าด้วยการทำงาน” ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นฐานในการตัดสินคุณค่าของงานมิได้อยู่ที่ลักษณะของการทำงานนั้น แต่อยู่ที่ว่าผู้ที่ทำงานนั้นเป็นบุคคล. ศักดิ์ศรีของการทำงานจึงอยู่ที่ผู้กระทำงาน (อัตวิสัย) เป็นอันดับแรก มิใช่อยู่ที่ตัวเอง (วัตถุวิสัย) เอง.

ทัศนะนี้ได้ลบล้างทัศนะเดิมที่แบ่งแยกชนชั้นของคนตามลักษณะของงานที่ทำ แต่นั่นมิได้หมายความว่า เราไม่สามารถวัดคุณค่าของการทำงานตามลักษณะของการทำงานได้โดยสิ้นเชิง นั่นเพียงแต่หมายความว่า พื้นฐานอันดับแรกของคุณค่าของการทำงานนั้นอยู่ที่มนุษย์เอง ผู้ซึ่งเป็นคนทำงาน. ข้อสรุปนี้ชี้ให้เห็นธรรมชาติทางศีลธรรมของการทำงานที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้ทำงาน และการทำงานมีไว้ “เพื่ อมนุษย์” มิใช่มนุษย์มีไว้ “เพื่องาน”. จากข้อสรุปอันนี้ เราก็ได้รู้ว่า ในความหมายของการทำงาน ผู้กระทำงาน (อัตวิสัย) มีค่ากว่าตัวงาน (วัตถุวิสัย). ด้วยความเข้าใจอันนี้และข้อสรุปที่ว่า การทำงานทุกชนิดอาจจะมีคุณค่ามากหรือน้อยก็ได้ อย่างไรก็ดี เราจะพยายามแสดงให้เห็นว่า คุณค่าของการทำงานแต่ละชนิดนั้นวัดได้จากศักดิ์ศรีของผู้กระทำงาน นั่นคือบุคคลหรือปัจเจกชนซึ่งกระทำงานนั้น. หรืออีกนัยหนึ่ง โดยไม่ค ำนึงถึงงานที่ทุกคนทำ และโดยข้อสรุปที่ว่า การทำงานเป็นเป้าหมายเฉพาะ อย่างไรก็ดี เป้าหมายเฉพาะนี้ ไม่มีความหมายเด็ดขาดในตัวของมันเอง. อันที่จริง จากการวิเคราะห์จนถึงขั้นสุดท้าย เราจะพบว่า มนุษย์นั่นแหละเป็นเป้าหมายของการทำงาน ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการทำงานชนิดใดก็ตาม แม้แต่งานบริการที่กระทำซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย

การคุกคามต่อระเบียบที่ถูกต้องของค่านิยม

ความคิดเรื่องการทำงานซึ่งเกิดจากขุมทรัพย์ของสัจจธรรมคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก “พระวรส ารที่ว่าด้วยการทำงาน” นี้ ก่อให้เกิดพื้นฐานของความคิดการตัดสิน และวิธีการปฏิบัติแบบใหม่. ในสมัยปัจจุบัน เริ่มจากยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา คริสตธรรมเกี่ยวกับเรื่องการทำงานนี้ ต้องต่อสู้กับความคิดแบบวัตถุนิยมและความคิดแบบเศรษฐกิจตลอดมา.

ผู้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวถือว่า  การทำงานเป็นเพียง “สินค้า” ที่คนงานขาย โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง คนงานอุตสาหกรรมขายให้แก่นายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของทุน ซึ่งหมายรวมถึงเครื่องมือในการทำงานและกรรมวิธีในการผลิต. วิธีการมองเช่นนี้แพร่หลายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19. หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ความคิดดังกล่าวก็ค่อยๆ หมดไป ทำให้เกิดวิธีการคิดและวิธีการประเมินคุณค่าในเรื่องของการทำงานที่มีลักษณะเป็นมนุษย์มากขึ้น. ความสัมพันธ์ระหว่างคนงานกับเครื่องมือและกรรมวิธีในการผลิต ทำให้เกิดพัฒนาการในรูปแบบต่างๆ ของลัทธิทุนนิยมควบคู่ไปกับลัทธิการมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันซึ่งทำใ ห้เกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมขององค์กรคนงานและของรัฐบาล และการมีบรรษัทระหว่างชาติเกิดขึ้น. อย่างไรก็ตาม การที่มองว่าการทำงานเป็น “สินค้า” หรือเป็น “แรงงานล้วนๆ” ที่จำเป็นสำหรับการผลิตนั้นเป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในรูปแบบของลัทธิเศรษฐกิจแบบวัตถุนิยม.

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยและก่อให้เกิดวิธีการคิดและการประเมินค่าดังกล่าวนี้ มาจากการเร่งรัดพัฒนาสร้างความเจริญทางด้านวัตถุฝ่ายเดียว ซึ่งให้ความสำคัญแก่การทำงานในแง่ของตัวงาน (วัตถุวิสัย) เท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้กระทำงาน (อัตวิสัย) กลับกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไป. ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดความสับสน หรือแม้กระทั่งเกิดความขัดแย้งกับระเบียบที่วางไว้ตั้งแต่แรกโดยคำกล่าวของหนังสือปฐมกาล กล่าวคือ ก่อให้เกิดความเข้าใจว่า มนุษย์เป็นเครื่องมือในการผลิต แต่โดยความเป็นจริงแล้วมนุษย์คือผู้กระทำงานโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเขาจะทำงานอะไร และมนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างงานอย่างแท้จริง. การขัดแย้งกับระเบียบเช่นว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม ควรจะเรียกได้อย่างถูกต้องว่า เป็น “ลัทธิทุนนิยม” ดังที่จะอธิบายต่อไปนี้. เราทุกคนรู้ว่า ทุนนิยมมีความหมาย ทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่มีความเป็นระบบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งขัดแย้งกับระบบ “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์”. แต่โดยอาศัยการวิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงพื้นฐานในกระบวนการเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว เราจะพบว่า ความผิดพลาดของทุนนิยมอยู่ที่ว่า มนุษย์อยู่ในฐานะเดียวกับปัจจัยการผลิตทางวัตถุอื่นๆ มนุษย์ถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือโดยปราศจากศักดิ์ศรีของการทำงานของตน มนุษย์มิได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กระทำงานและผู้สร้างสรรค์ และด้วยเหตุผลนี้เอง มนุษย์จึงเป็นเป้าประสงค์ของกระบวนการผลิตทั้งหมด.

นี่คือเหตผลที่อธิบายว่า ทำไมการวิเคราะห์งานของมนุษย์ โดยอาศัยพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ “ทำการครอบครอง” โลกนั้น มีประเด็นมุ่งไปที่ปัญหาทางสังคม และจริยธรรม. ความคิดนี้จะต้องเป็นวัตถุประสงค์หลักของนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศรวมถึงสัมพันธภาพระหว่างประเทศด้วย โด ยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเมื่อเกิดความตึงเครียดขึ้นในโลกนี้ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก, เหนือและใต้ สมณสาส์น มาแตร์ เอท มาเจสตรา (MATER ET MAGISTRA) ของพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 และสมณสาส์น โปปู โรรูม โปรเกรสิโอ (POPULORUM PROGRESSIO) ของพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้พยายามชี้ให้เห็นแง่มุมเหล่านี้เกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและจริยธรรม