หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

มาตรา 2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

หนทางแห่งการภาวนา

2663 ในธรรมประเพณีที่มีชีวิตชีวาเรื่องการภาวนานั้น ทุกคริสตจักร เสนอแนะภาษาของการภาวนาให้กับสัตบุรุษของตนในความสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ได้แก่ ถ้อยคำ เสียงทำนอง ท่าทาง การบรรยายภาพพระศาสนจักรมีหน้าที่สอนหนทางการภาวนาตามธรรมประเพณีของความเชื่อที่สืบต่อจากอัครสาวก เป็นหน้าที่ของนายชุมพาบาล และครูคำสอนที่จะอธิบายความหมายหนทางต่างๆ ของการภาวนาให้สัมพันธ์กับพระเยซูคริสตเจ้าเสมอ

การภาวนาต่อพระบิดา

2664ไม่มีหนทางอื่นสำหรับการภาวนาของคริสตชนนอกจากทางพระคริสตเจ้า การภาวนาของเรานั้น จะเป็นในกลุ่มหรือส่วนตัว  แบบออกเสียงหรือสวดในใจก็ถึงพระบิดาเจ้า เพียงแต่ว่าถ้าเราภาวนา "ในนาม" ของพระเยซูเจ้า ดังนั้น พระเยซูเจ้าในฝ่ายความเป็นมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นหนทางซึ่งพระจิตเจ้าทรงสอนเราให้ภาวนาถึงพระเจ้าพระบิดาของเรา

การภาวนาต่อพระเยซูเจ้า

2665การภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงโดยพระวาจาของพระเจ้าและการประกอบพิธีกรรมสอนเราให้ภาวนาถึงองค์พระเยซูเจ้า   แม้จะหันไปหาพระบิดาโดยเฉพาะ แต่การภาวนานั้นก็รวมรูปแบบการภาวนาต่างๆ ที่มุ่งถึงพระคริสตเจ้าในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรม บทเพลงสดุดีบางบท ตามที่เราใช้ภาวนาในพระศาสนจักร และพันธสัญญาใหม่ที่ติดปากและจารึกในดวงใจของเรา เป็นการภาวนาต่อพระคริสตเจ้าในรูปแบบของการร้องขอ ได้แก่พระบุตรแห่งพระเจ้า พระวาจาของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด พระชุมพาน้อยของพระเจ้า กษัตริย์ พระบุตรสุดเสน่หา พระบุตรของพระนางพรหมจารี ชุมพาบาลที่ดี ชีวิตของเรา แสงสว่างของเรา ความหวังของเรา การกลับเป็นขึ้นมาของเรา มิตรแห่งมวลมนุษย์...

2666แต่นามที่รวมทุกสิ่งคือนามที่พระบุตรแห่งพระเจ้าได้รับในการบังเกิดเป็นมนุษย์ คือพระเยซูเจ้า  พระนามของพระเจ้านั้นไม่อาจนำมากล่าวได้จากปากของมนุษย์ แต่พระวาจาของพระเจ้า  ที่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของเรา ทรงมอบให้และเราก็สามารถร้องเรียกพระองค์ว่า  "เยซู ยาเวห์ พระผู้ช่วย" (เทียบ อพย. 3:14; 33:19-23; มธ.1:21) พระนามเยซูนั้นรวมบรรจุทุกสิ่ง พระเจ้าและมนุษย์ และแผนการทั้งครบของการสร้างโลกและความรอด การภาวนาขอ "พระเยซู" เป็นการร้องเรียกหาพระองค์ภายในตัวเรา พระนามของพระองค์เท่านั้นที่บรรจุการประทับอยู่ที่นามนั้นหมายถึง พระเยซูเจ้าได้ทรงกลับเป็นขึ้นมาแล้ว และใครก็ตามร้องเรียกหาพระนามของพระองค์ก็ได้รับพระบุตรของพระเจ้าซึ่งได้ทรงรักและได้มอบถวายตัวแก่เขา (เทียบ รม.10:13; กจ.2:21; 3:15-16; กท.2:20)

2667การวอนขอด้วยความเชื่อที่ธรรมดานี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในธรรมประเพณีของการภาวนา ภายใต้รูปแบบหลากหลายในตะวันออกและตะวันตก สูตรที่คุ้นเคยที่สุดก็ถ่ายทอดมาจากฤาษีแห่งซีนาย ซีเรีย และภูเขาอาโทส ก็คือ การวอนขอ "พระเยซูคริสตเจ้า  พระบุตรของพระเจ้า  องค์พระเจ้า โปรดกรุณาเราคนบาปด้วยเทอญ" การสวดออกเสียงนี้เชื่อมโยงบทเพลงสรรเสริญ พระคริสตเจ้าในบทจดหมายถึงชาวฟิลิปปี 2:6-11     กับการร้องขอของคนเก็บภาษีและชายตาบอดผู้ขอให้มองเห็น โดยทางนี้ พระเป็นเจ้าทรงเปิดหัวใจให้สำนึกถึงความน่าสมเพชของมนุษย์ และความเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอด

2668การวอนขอในพระนามพระเยซูเจ้าเป็นหนทางธรรมดาที่สุดของการภาวนาเสมอๆ เมื่อเรากล่าวซ้ำบทสวดบ่อยๆ โดยดวงใจที่ตั้งใจถ่อมตน ถ้อยคำนี้ไม่สลายไปในคำพูดว่างเปล่าที่ฟุ่มเฟือย แต่เฝ้ารักษาพระวาจาไว้และเกิดผลด้วยความพากเพียร (เทียบ ลก.8:15) การภาวนาแบบนี้เป็นไปได้ "ในทุกโอกาส" เพราะเป็นที่แน่ชัดว่า ไม่ใช่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง หน้าที่ของใคร แต่เป็นหน้าที่เดี่ยว คือการรักพระเจ้าซึ่งทำให้กิจการทุกอย่างมีชีวิตและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในพระเยซูคริสตเจ้า

2669การภาวนาของพระศาสนจักรให้ความเคารพและให้เกียรติดวงหทัยของพระเยซูเจ้าเหมือนตามที่วอนขอพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พระศาสนจักรกราบไหว้พระวาจาที่บังเกิดเป็นมนุษย์และดวงหทัยของพระองค์ซึ่งถูกแทงทะลุโดยบาปของเรา เพราะความรักต่อมวลมนุษย์ การภาวนาของคริสตชนนั้นรักที่จะติดตามหนทางไม้กางเขน  (มรรคาศักดิ์สิทธิ์)    ตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด  สถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ศาลพิพากษาถึงเนินกลโกธา และไปจนถึงพระคูหา ตามหนทางของพระเยซูเจ้าซึ่งได้ทรงไถ่บาปโลกด้วยกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

"เชิญเสด็จมาพระจิตเจ้า"

2670"ไม่มีผู้ใดกล่าวว่า  พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจ" (1คร.12:3)ทุกครั้งที่เราเริ่มภาวนาขอพระเยซูเจ้านั้น เป็นพระจิตเจ้าซึ่งดึงเราเข้าสู่หนทางของการภาวนาด้วยพระหรรษทานปัจจุบัน เนื่องจากว่า พระองค์ทรงสอนเราให้ภาวนาโดยทำให้เราระลึกถึงพระคริสตเจ้าแล้วเราไม่สามารถภาวนาถึงพระจิตเจ้าด้วยหรือ เพราะเหตุนี้แหละ พระศาสนจักรเชื้อเชิญเราให้สวดอ้อนวอนขอพระจิตเจ้าทุกวัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเริ่มและตอนจบของกิจการใดๆ ที่มีความสำคัญ

ถ้าพระจิตเจ้าต้องไม่ได้รับการกราบไหว้บูชา    พระองค์จะทำให้ข้าพเจ้ามีส่วนในพระธรรมชาติโดยทางศีลล้างบาปได้อย่างไร และถ้าพระองค์ต้องได้รับการกราบไหว้บูชา พระองค์ก็ไม่ต้องเป็นเป้าหมายของการสักการะบูชาเป็นพิเศษหรือ" (น.เกรโกรี่ แห่งนาเซียน)

2671รูปแบบทางธรรมประเพณีในการวอนขอพระจิตเจ้านั้นเป็นการวอนขอพระบิดาโดยทางพระคริสตเจ้า  องค์พระเจ้าของเรา เพื่อให้ทรงประทานพระจิตเจ้า พระผู้บรรเทา (เทียบ ลก.11:13) พระเยซูเจ้าทรงยืนกรานให้ขอในนามของพระองค์ ในขณะเดียวกันนั้นเอง เมื่อพระองค์ทรงสัญญาประทานพระจิตแห่งความจริง (เทียบ ยน.14:17; 15:26; 16:13) แต่การภาวนาที่ธรรมดาที่สุดและตรงที่สุดก็คือ การภาวนาตามธรรมประเพณี "เชิญเสด็จมาพระจิตเจ้า" และทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรมก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นเพลงขับร้องว่า "เชิญเสด็จมา  พระจิตเจ้า  เชิญมาสถิตในดวงใจสัตบุรุษ และบันดาลให้เร่าร้อนด้วยความรักต่อพระองค์" (บทเสริมในมิสซาวันสมโภชพระจิต)

กษัตริย์บนฟ้าสวรรค์ พระจิต ผู้บรรเทา พระจิตแห่งความจริง ซึ่งประทับอยู่หนแห่งและทรงเติมทุกสิ่งให้เต็ม สมบัติล้ำค่าแห่งความดีทั้งมวลและแหล่งท่อธารแห่งชีวิต เชิญเสด็จมาประทับในตัวเรา ชำระเราให้บริสุทธิ์และช่วยเราให้รอด พระองค์ซึ่งเป็นองค์ความดี                        (วัตรเย็น วันสมโภชพระจิต พิธีกรรมบิซันไทน์)

2672พระจิตเจ้า ซึ่งการเจิมน้ำมันนั้นซึมซาบลงทั่วทั้งตัวเรา เป็นพระอาจารย์ภายในแห่งการภาวนาของคริสตชน พระองค์เป็นผู้สร้างธรรมประเพณีของการภาวนาที่มีชีวิตชีวา โดยมิต้องสงสัยเลยว่า มีหนทางการภาวนามากมายในแง่ที่เป็นผู้ภาวนา แต่เป็นพระจิตเจ้าเองซึ่งทรงกระทำในทุกคนและกับทุกคน ในการสัมพันธ์ของพระจิต การภาวนาของคริสตชนจึงเป็นการภาวนาของพระศาสนจักร

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

2673 ในการภาวนานั้น  พระจิตเจ้ารวมเราไว้กับพระบุตรแต่องค์เดียว ในความเป็นมนุษย์ที่ได้รับพระสิริแล้ว  ซึ่งโดยทางการภาวนาของเราฐานะบุตรรวมเราเข้าในพระศาสนจักร พร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้า (เทียบ กจ.1:14)

 2674พระนางมารีย์ได้สมัครใจเชื่อเมื่อเทวดามาแจ้งข่าว และได้ยึดถือไว้โดยไม่ลังเลใจ แทบไม้กางเขน   ตั้งแต่นั้นมาความเป็นมารดาของพระนางก็แผ่ขยายออกไปสู่พี่น้องชายหญิงของพระบุตรของพระนางในบัดนี้  "ที่ยังเดินทางจาริกแสวงบุญอยู่ในโลกท่ามกลางอันตรายและความวิตกกังวลต่างๆ" (พระศาสนจักร ข้อ 62)  พระเยซูเจ้า คนกลางแต่ผู้เดียว ทรงเป็นหนทางของการภาวนาของเรา  พระนางมารีอา พระมารดาของพระองค์และพระมารดาของเรา ทรงเป็นความโปร่งใสบริสุทธิ์ของพระองค์ พระนาง "ชี้หนทาง" และเป็น "เครื่องหมาย" ของทางนั้นตามที่มีบรรยายรูปในธรรมประเพณีในตะวันออกและในตะวันตก

2675การเริ่มด้วยความร่วมมือหนึ่งเดียวของพระนางมารีย์ กับงานของพระจิต   คริสตจักรต่างๆ ได้พัฒนาบทภาวนาต่อพระมารดาพระเจ้า   โดยการเน้นถึงพระบุคคลของพระคริสตเจ้าที่ได้เผยแสดงในธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระองค์ ในบทเพลงสรรเสริญและบทสร้อย (antiphons) จำนวนนับไม่ถ้วนแสดงออกถึงการภาวนาสองแนวสลับกันคือ ตอนแรก "สรรเสริญความยิ่งใหญ่" ขององค์พระผู้เป็นเจ้า สำหรับ "สิ่งยิ่งใหญ่" ที่พระองค์ทรงกระทำต่อข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อยของพระองค์ และสำหรับมวลมนุษย์ โดยอาศัยพระนาง (เทียบ ลก.1:46-55)  ตอนสอง     เป็นการอ้อนวอนและสรรเสริญของบรรดาลูกของพระเจ้าต่อพระมารดาของพระเยซู เพราะบัดนี้พระนางรู้จักมนุษยชาติ   ซึ่งได้รับเอาพระบุตรในตัวพระนาง

2676บทภาวนาของพระนางมารีอาสองแนวนี้ มีอยู่ในบทวันทามารีอา (AVE MARIA)

วันทามารีอา (จงชื่นชมยินดีเถิด พระนางมารีอา) เป็นคำทักทายของเทวดาคาเบรียล เป็นพระเป็นเจ้าเองผู้ทรงทักทายต้อนรับพระนางมารีย์ โดยอาศัยเทวดาเป็นคนกลาง เรากล้าภาวนาทักทายพระนางมารีย์ ด้วยคำทักทายของพระเป็นเจ้า ที่ทรงมีต่อข้ารับใช้ผู้สุภาพถ่อมตน และยกย่องพระนางให้ปิติยินดี (เทียบ ลก.1:48; ศฟย.3:17b)

เปี่ยมด้วยหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน ทั้งสองประโยคนี้เป็นการทักทายของเทวดา ให้ความหมายแก่กัน พระนางมารีย์เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าสถิตกับพระนาง พระหรรษทานซึ่งพระนางได้รับเป็นการประทับของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทานทั้งมวล "จงชื่นชมยินดีเถิด… ธิดาแห่งเยรูซาเล็ม… พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าอยู่ท่ามกลางเจ้า" (ศฟย.3:14; 17ก) พระนางมารีย์ผู้ซึ่งพระเจ้าเองทรงประทับ เป็นบุตรีของศิโยน เป็นหีบพันธสัญญา สถานที่ซึ่งมีพระสิริ พระนางเป็นที่ประทับของพระเจ้า… กับมนุษย์" (วว.21:3) เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระนางได้รับพระหรรษทานเพื่อประทานแก่โลก

ผู้มีบุญกว่าหญิงใดๆ และพระเยซูโอรสของท่านทรงบุญนักหนา หลังจากการทักทายของเทวดา เราทักทายกันตามแบบของนางเอลีซาเบ็ธ เมื่อเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า นางเอลีซาเบ็ธเป็นบุคคลแรกของชนรุ่นต่างๆ ต่อมาที่เรียกพระนางมารีย์ว่า "ผู้มีบุญ" (ลก.1:41;48) "บุญของเธอที่ได้เชื่อ…" (ลก.1:45) พระนางมารีย์เป็น "ผู้มีบุญกว่าหญิงใดๆ" เพราะพระนางได้เชื่อว่าพระวาจาจะสำเร็จสมบูรณ์ เพราะอับราฮัมมีความเชื่อ จึงกลายเป็นพระพรสำหรับนานาชาติบนโลก (เทียบ ปฐก.12:3) เพราะพระนางมารีย์มีความเชื่อ จึงกลายเป็นพระมารดาของผู้มีความเชื่อ ทำให้ทุกชาติได้รับพระเยซู ผู้ทรงเป็นพระพรนั้นเอง "พระเยซู โอรสของท่าน"

2677สันตะมารีอา มารดาพระเจ้า นางเอลีซาเบ็ธประหลาดใจ  "เป็นไฉนหนอ พระมารดาของพระเจ้าของข้าพเจ้า จึงอุตส่าห์มาหาข้าพเจ้าเล่า" (ลก.1:43) เพราะพระนางได้ประทานพระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางมารีย์เป็นมารดาของพระเจ้าและมารดาของเรา เราสามารถมอบความกังวลใจต่างๆ และความต้องการแด่พระนาง พระนางภาวนาเพื่อเรา เหมือนได้ภาวนาสำหรับพระนางเอง "จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้า ตามวาทะของท่าน" (ลก.1:38) เรามอบตัวเองในคำภาวนาของพระนาง ตามพระประสงค์ของพระเจ้า พร้อมกับพระนาง "ขอให้น้ำพระทัยจงเป็นไป"

โปรดภาวนาเพื่อเราคนบาป บัดนี้ และเมื่อจะตาย เมื่อเราขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเราเราก็รู้จักตนเองว่าเป็นคนบาปน่าเวทนา และมอบตนแด่พระแม่แห่งความเมตตากรุณา เรามอบตัวเองแด่พระแม่ในวันนี้ และความไว้ใจของเราแผ่กว้างออกไป ตลอดจนเมื่อวาระปัจจุบันก็มอบตัวในความอารักขาของพระแม่ "และเมื่อจะตาย" ขอให้พระแม่อยู่ที่นั่น อย่างที่พระนางอยู่ที่เชิงกางเขน เมื่อพระบุตรกำลังสิ้นใจ ขอพระแม่ต้อนรับเรา ในฐานะทรงเป็นแม่ ในวาระที่เรากำลังสิ้นใจ (เทียบ ยน.19:27) เพื่อนำเราไปหาพระเยซู พระบุตรของพระองค์ ในสวรรค์

2678ความศรัทธาในยุคกลางในตะวันตกได้พัฒนาการสวดสายประคำจนเป็นที่แพร่หลาย ทดแทนการทำวัตร ส่วนในตะวันออก ในพระศาสนจักรบิซันไทน์ มีการสวดบทเร้าวิงวอน (Akathistos และ Paraclesis) ประเพณีของอาร์มีเนีย คอปติก และซีเรีย มีบทเพลงสรรเสริญแม่พระที่นิยมกันแต่บทวันทามารีอา (Theotokia) ของนักบุญเอเฟรม หรือนักบุญเกรโกรี่ แห่งนาเร็คเหมือนกัน

2679พระนางมารีย์เป็นผู้ภาวนา (ORANS) ที่สมบูรณ์      เป็นภาพลักษณ์ของพระศาสนจักร เมื่อเราภาวนาต่อพระนาง เรายึดแผนการของพระบิดา ผู้ส่งพระบุตรมาช่วยมนุษย์ทั้งมวลให้รอด เราต้อนรับพระมารดาของพระเยซูเข้ามาในบ้าน เหมือนศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก (เทียบ ยน.19:27) เพราะพระนางกลายเป็นมารดาของทุกสิ่งที่มีชีวิต   เราสามารถภาวนากับพระนางและถึงพระนาง  คำภาวนาของพระนางค้ำจุนคำภาวนาของพระศาสนจักร     และทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันในความหวัง  (เทียบ พระศาสนจักร 68-69)