หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

มาตรา 1

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

บ่อเกิดแห่งการภาวนา

2652พระจิตเจ้าทรงเป็น "น้ำทรงชีวิต" "ให้ชีวิตนิรันดรแก่เขา" (ยน.4:14) ในดวงใจของผู้ภาวนา เป็นพระองค์ซึ่งทรงสอนเราให้เข้าถึงแหล่งท่อธารเดียวกัน  คือพระคริสตเจ้า ในชีวิตคริสตชนนั้น มีน้ำพุหลายแห่งที่พระคริสตเจ้าทรงรอคอยเราให้ดื่มพระจิตเจ้า

พระวาจาของพระเจ้า

2653พระศาสนจักร  "ตักเตือนแข็งขันและเน้นย้ำสัตบุรุษทั้งปวง...ให้เรียนรู้ "ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า" (ฟม.3:8) ด้วยการอ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ... แต่ให้เขาระลึกว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีคำภาวนาประกอบด้วย เพื่อจะได้เป็นการสนทนาระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์ เพราะ "เราพูดกับพระองค์เมื่อเราภาวนา และเราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้า" (การเผยความจริงของพระเป็นเจ้า ข้อ 25)

2654บรรดาปิตาจารย์ฝ่ายจิต ถอดความ มัทธิว 7:7 แล้วก็สรุปความพร้อมของดวงใจที่หล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาของพระเจ้าในการภาวนาดังนี้ "จงแสวงหาโดยการอ่านและท่านจะพบโดยการคิดรำพึง  จงเคาะประตูโดยการภาวนารำพึง แล้วจะมีคนเปิดประตูให้โดยการภาวนาเพ่งญาณ"

พิธีกรรมของพระศาสนจักร

2655ภารกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้านั้นประกาศในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ทำให้เป็นปัจจุบันและสื่อสารธรรมล้ำลึกแห่งความรอด ซึ่งเราดำเนินต่อเนื่องในดวงใจที่ภาวนา บรรดาปิตาจารย์ฝ่ายจิต บางครั้งเปรียบเทียบดวงใจกับพระแท่นบูชา การภาวนาเป็นการกระทำพิธีกรรมให้เป็นภายใน และทำให้เกิดความละม้ายคล้ายกันระหว่างและภายหลังการประกอบพิธี ถึงแม้จะไม่ประจักษ์แก่ตา "ในที่ลับ" (มธ.6:6) การภาวนาก็ยังเป็นการภาวนาของพระศาสนจักรเสมอ เป็นการมีความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ (GILH 9)

คุณธรรมทางเทววิทยา

2656 ใครเข้ามาภาวนาก็เหมือนกับเขาเข้ามาร่วมพิธีกรรม โดยผ่านทางประตูแคบแห่งความเชื่อ    โดยทางเครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ขององค์พระเจ้า  ก็มีพระพักตร์ขององค์พระเจ้าซึ่งเราเสาะแสวงหาและมีความต้องการ    เป็นพระวาจาของพระองค์ซึ่งเราต้องการฟังและปฏิบัติตาม

2657พระจิตเจ้า ซึ่งทรงสอนเราให้ประกอบพิธีกรรมในการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้านั้น  สอนเราว่าให้ภาวนาในความหวัง การภาวนาของพระศาสนจักรและการภาวนาส่วนตัวตามโอกาสนั้นหล่อเลี้ยงเราให้มีความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงสดุดี พร้อมกับภาษาที่เป็นรูปธรรมและหลากหลาย สอนเราให้ยึดมั่นมีความหวังในพระเจ้า "ข้าพเจ้าไว้วางใจในองค์พระเจ้า และพระองค์ก็ทรงโน้มลงเหนือข้าพเจ้า  พระองค์ได้ทรงฟังเสียงตะโกนร้องเรียกของข้าพเจ้า" (สดด.40:2) เหมือนนักบุญเปาโล ภาวนาว่า "ขอให้พระเจ้าแห่งความหวังทรงโปรดให้ท่านบริบูรณ์ด้วยความชื่นชมยินดี และสันติสุขในความเชื่อ เพื่อท่านจะได้เปี่ยมด้วยความหวังโดยฤทธิ์แห่งพระจิตเจ้า" (รม.15:13)

2658 "ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้าซึ่งพระเจ้าประทานให้เราได้หลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา"  (รม.5:5)  การภาวนาที่แต่งขึ้นโดยชีวิตทางพิธีกรรมนั้นดึงทุกสิ่งให้เข้าถึงความรักซึ่งพระคริสตเจ้าทรงรักเรา และทรงให้เราสนองตอบโดยการรักอย่างที่พระองค์ทรงรักเรา ความรักนั้นเป็นแหล่งท่อธารของการภาวนา ผู้ที่เข้าถึงก็สัมผัสจุดสุดยอดของการภาวนา ดังคำภาวนาของเจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอาร์ส

"ข้าพระองค์รักพระองค์ โอ พระเจ้าข้า และความปรารถนาเดียวของข้าพระองค์จนถึงลมหายใจสุดท้าย  ข้าพระองค์รักพระองค์ โอ พระเจ้าผู้ทรงน่ารักอย่างหาขอบเขตมิได้  ข้าพระองค์ชอบที่จะยอมตายโดยการรักพระองค์ มากกว่าจะดำเนินชีวิตโดยไม่รักพระองค์ ข้าพระองค์รักพระองค์ พระเจ้าข้า และพระหรรษทานเดียวซึ่งข้าพระองค์จะขอก็คือ ขอรักพระองค์ตลอดนิรันดร...  พระเจ้าของข้าพระองค์ ถ้าลิ้นของพระองค์ไม่อาจกล่าวซ้ำ ในทุกขณะว่าข้าพระองค์รักพระองค์แล้ว    ข้าพระองค์ปรารถนาดวงใจข้าพระองค์ย้ำทุกครั้งที่ข้าพระองค์หายใจ" (ยอห์น มารีย์ เวียนเนย์ เรื่องการภาวนา)

วันนี้

2659 เราเรียนรู้ที่จะภาวนาในเวลาเฉพาะ เมื่อเราฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเมื่อเรามีส่วนร่วมกับธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ แต่ทุกครั้ง ในเหตุการณ์ชีวิตประจำวัน  ที่เราได้รับพระจิตเจ้าเพื่อให้เราภาวนาออกมา  คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องการภาวนาต่อพระบิดาเจ้านั้น  อยู่ในแนวทางเดียวกันกับคำสั่งสอนเรื่องพระญาณสอดส่อง (เทียบ มธ.6:11,34) เวลานั้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดา อยู่ในปัจจุบันนี้ที่เราพบพระองค์ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ แต่วันนี้ "จงสดับฟังเสียงของพระองค์ วันนี้อย่ามีใจดื้อกระด้าง" (สดด.95:8)

2660 การภาวนาในเหตุการณ์ของทุกวันและทุกขณะนั้น   เป็นเคล็ดลับหนึ่งแห่งพระราชัยที่เปิดเผยให้ "ผู้ต่ำต้อย" ให้ทาสรับใช้ของพระคริสตเจ้า ให้ผู้ยากไร้แห่งมหาบุญลาภ   เป็นเรื่องดีและถูกต้องที่จะภาวนาเพื่อให้เหตุการณ์แห่งพระราชัยที่มีความยุติธรรมและสันติสุขมีอิทธิพลต่อหนทางเดินของประวัติ-ศาสตร์ แต่ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันที่จะ "หล่อเลี้ยง" สถานการณ์ต่ำต้อยถ่อมตนในชีวิตประจำวันด้วยการภาวนา การภาวนาทุกรูปแบบสามารถเป็นเชื้อซึ่งองค์พระเจ้าเปรียบเทียบไว้กับพระราชัย (เทียบ ลก.13:20-21)