หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. การภาวนาวอนขอ (Petition)

2629คำศัพท์ของการขอนั้นมีมากมายหลายระดับในพันธสัญญาใหม่กล่าวคือ ขอ อ้อนวอน เรียกร้องเรื่อยๆ  ร้องเสียงดังก้อง  อ้อนวอน ตะโกนเสียงดัง และจนกระทั่งถึง "รบสู้ในการภาวนา" (เทียบ รม.15:30; คส.4:12) แต่รูปแบบที่คุ้นเคยที่สุดเพราะว่าออกมาตามธรรมชาติที่สุดคือ การวอนขอ เราแสดงความสำนึกถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าก็เพราะด้วยการภาวนาขอ  ในแง่ที่เป็นสิ่งสร้าง มิใช่เราเป็นผู้เริ่มตนเอง ไม่เป็นเจ้านายแห่งความอัปโชค  ไม่ได้เป็นทั้งจุดหมายสุดท้าย ยิ่งกว่านั้น เราเป็นคนบาป  เราทราบในฐานะเป็นคริสตชนว่า เราเหินห่างจากพระบิดาของเรา การวอนขอจึงเป็นการกลับมาหาพระองค์แล้ว

2630 พันธสัญญาใหม่ไม่บรรจุการภาวนาร่ำไห้คร่ำครญ แต่บ่อยครั้งพบในพันธสัญญาเดิม  มาบัดนี้ ในพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ การขอของพระศาสนจักรนั้นได้รับการสนับสนุนด้วยความไว้ใจ ตราบเท่าที่เรายังรอคอยอยู่ และเราต้องกลับใจทุกวัน การขอแบบคริสตชนออกมาจากความลึกอีกแหล่งหนึ่ง นั่นคือ  ที่นักบุญเปาโลเรียกการคร่ำครวญ คือ ความรู้สึกของสิ่งสร้าง "ในความเจ็บปวดตอนคลอดบุตร" (รม.8:22)  แต่การร่ำไห้คร่ำครวญของเรานั้น เป็นการรอคอย "การได้รับการไถ่บาปร่างกายของเรา เนื่องจากว่าเราได้รับความรอดในความหวัง" (รม.8:23-24) ท้ายสุด "พระจิตเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ เพราะเราไม่ทราบว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาวอนขอสิ่งใดที่เหมาะสม" (รม.8:26)

2631 การขออภัยบาป เหมือนคนเก็บภาษีในนิทานเปรียบเทียบ "พระเจ้าข้า โปรดทรงเอ็นดูข้าพเจ้าผู้เป็นคนบาปด้วยเถิด" (ลก.18:13) เป็นก้าวแรกของการภาวนาวอนขอ การวอนขอนั้นเป็นบทนำไปสู่การภาวนาที่ถูกต้องและบริสุทธิ์  ความสุภาพถ่อมตนที่มั่นใจ ทำให้เรามีความเข้าใจการมีชีวิตร่วมกันกับพระบิดาและพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์ แล้ว "เราได้รับทุกสิ่งที่เราขอจากพระองค์" (1ยน.3:22; เทียบ 1:7-2:2) การขออภัยบาปนั้นเป็นการกระทำเบื้องต้นของพิธีบูชาศีลมหาสนิท เช่นเดียวกับการภาวนาส่วนตัว

2632การขอแบบคริสตชนมีรากฐานบนความต้องการและการแสวงหาพระราชัย ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า (เทียบ มธ.6:10, 33; ลก.11:2,13) มีลำดับขั้นในการขอ   ก่อนอื่นหมดให้ขอพระราชัย ต่อมาก็ขอสิ่งที่จำเป็นเพื่อต้อนรับพระราชัยนั้น และเพื่อให้ความร่วมมือกับเหตุการณ์นั้นการให้ความร่วมมือกับภารกิจของพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าเช่นนั้น   ซึ่งบัดนี้คือภารกิจของพระศาสนจักร (เทียบ กจ.6:6; 13:3)   เป็นเป้าหมายของการภาวนาของชุมชนที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวก เป็นการภาวนาของอัครสาวกเปาโลในแบบที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเผยแสดงแก่เราถึงความห่วงใยของพระเจ้า สำหรับพระศาสนจักรทั้งปวง ซึ่งต้องดลใจการภาวนาแบบคริสตชน (เทียบ รม.10:1; อฟ.1:16-23; ฟป.1:9-11; คส.1:3-6; 4:3-4; 12) โดยทางการภาวนา ผู้รับศีลล้างบาปทุกคนกระทำกิจการเพื่อพระราชัยจะมาถึง

2633เมื่อเราแบ่งปันความรักของพระเจ้าที่ช่วยให้รอดในลักษณะเช่นนี้ เราเข้าใจว่าความจำเป็นทั้งปวงอาจกลายเป็นเป้าหมายของการวอนขออย่างไร พระคริสตเจ้า ซึ่งทรงรับเอาทุกสิ่งเพื่อไถ่บาปทุกคนได้รับพระสิริโดยคำขอต่างๆ ซึ่งเรามุ่งมาหาพระบิดาในนามของพระองค์ (เทียบ ยน.14:13)    เป็นเพราะความแน่ใจนี้เองที่นักบุญยากอบ และนักบุญเปาโลเตือนเราให้ภาวนาในทุกๆ สถานการณ์ (เทียบ ยก.1:5-8; อฟ.5:20; ฟป.4:6-17; คส.3:16-17; 1ธส.5:17-18)