หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราภาวนา

2607เมื่อพระเยซูเจ้าทรงภาวนา พระองค์ก็ทรงสอนเราให้ภาวนาแล้ว การภาวนาต่อพระบิดาเป็นหนทางเทววิทยา (หนทางแห่งความเชื่อ  ความไว้วางใจและความรัก) แต่พระวรสารเสนอคำสอนที่ชัดเจนของพระเยซูเจ้าเรื่องการภาวนาแก่เราเหมือนทรงเป็นผู้สอนที่ฉลาด พระองค์ทรงวางเราไว้ในที่ที่เราอยู่ แล้วทีละเล็กทีละน้อย ก็นำเราไปหาพระบิดาเจ้า พระเยซูเจ้าทรงทรงหันมาหาฝูงชนที่ติดตามพระองค์  ทรงถือโอกาสใช้สิ่งที่พวกนี้รู้จักกันแล้วเกี่ยวกับการภาวนาตามพันธสัญญาเดิมและทรงเปิดไปสู่ความใหม่แห่งพระราชัยที่กำลังมาถึงแก่เขาด้วยนิทานเปรียบเทียบ ท้ายสุด   พระองค์จะตรัสอย่างเปิดเผยถึงพระบิดาเจ้าและพระจิตเจ้าให้กับบรรดาสาวกผู้จะต้องเป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนเรื่องการภาวนาในพระศาสนจักร

2608ตั้งแต่การเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนกรานถึงการกลับใจ  การคืนดีกับพี่น้องก่อนมาถวายเครื่องบูชาบนพระแท่น ความรักต่อศัตรู และการภาวนาให้ผู้เบียดเบียนข่มเหง การภาวนาต่อพระบิดา "ในที่ลับ" (มธ.6:6) โดยไม่พูดเพ้อเจ้อ การให้อภัยจากส่วนลึกของดวงใจในการภาวนา ดวงใจบริสุทธิ์และการแสวงหาพระราชัย (เทียบ มธ.5:23-24, 44-45; 6:7,14-15, 21, 25, 33) การกลับใจในฐานะบุตรเช่นนั้น มุ่งสู่พระบิดาเจ้าทั้งสิ้น

2609ดวงใจที่แน่วแน่จะกลับใจ  ก็เรียนรู้ที่จะภาวนาในความเชื่อ ความเชื่อเป็นการยึดถือพระเจ้าในฐานะบุตร นอกเหนือจากสิ่งซึ่งเรารู้สึกและเข้าใจ กลายเป็นสิ่งเป็นไปได้เพราะว่าพระบุตรที่รักทรงเปิดให้เราเข้าถึงพระบิดา พระองค์จึงอาจเรียกเราให้ "แสวงหา" และให้ "เคาะประตู" เพราะว่า พระองค์นั่นเองคือประตูและหนทาง (เทียบ มธ.7:7-11, 13-14)ถ

2610พระเยซูเจ้าทรงภาวนาขอพระบิดาและทรงขอบพระคุณก่อนได้รับพระพรต่างๆ ของพระองค์อย่างไร พระองค์ก็ทรงสอนเราถึงความกล้าหาญฐานะบุตรนี้อย่างนั้น "สิ่งใดๆ ที่ท่านจะวอนขอในการภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้และท่านก็จะได้รับ" (มก.11:24) สิ่งนั้นคือพลังของการภาวนาด้วยความเชื่อที่ไม่สงสัย "สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้"  (มก.9:23 เทียบ มธ.21:22) พระเยซูเจ้าทรงเศร้าสลดเพราะ "การขาดความเชื่อ" (มก.6:6) ของผู้เป็นชนชาติเดียวกัน "การมีความเชื่อน้อย" (มธ.8:26) ของบรรดาสาวก พระองค์แสดงความรู้สึกประหลาดใจเต็มเปี่ยมต่อความเชื่อยิ่งใหญ่จริงๆ ของนายร้อยทหารโรมัน    และหญิงชาวคานาอัน (เทียบ มธ.8:10; 15:28)

2611 การภาวนาที่มีความเชื่อนั้นไม่เพียงประกอบด้วยการกล่าวว่า "พระเจ้าข้า   พระเจ้าข้า จะได้เข้าในอาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามน้ำพระทัยพระบิดาของเรา"  (มธ.7:21) พระเยซูเจ้าทรงเตือนสาวกของพระองค์ให้มีความต้องการที่จะให้ความร่วมมือกับแผนการของพระเจ้าในการภาวนาด้วย (เทียบ มธ.9:38; ลก. 10:2; ยน.4:34)

2612 ในพระเยซูเจ้านั้น "พระราชัยของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว" (มก.1:15)  พระองค์เรียกผู้ฟังให้กลับใจและให้มีความเชื่อ แต่ก็ยังเรียกร้องให้มีการตื่นเฝ้าด้วย ในการภาวนา บรรดาอัครสาวกตื่นเฝ้ารอคอยพระผู้เป็นและผู้ที่จะมา ในการรำลึกถึงการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ในความสุภาพถ่อมตนของเนื้อหนัง และในความหวังรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองในพระสิริ (เทียบ มก.13; ลก.21:34-36)การภาวนาของบรรดาอัครสาวกโดยมีส่วนร่วมกับพระอาจารย์เจ้า เป็นการต่อสู้และตื่นเฝ้าภาวนาเพื่อมิให้ตกอยู่ในการทดลอง (เทียบ ลก.22:40,46)

2613 นิทานเปรียบเทียบสามเรื่องเกี่ยวกับการภาวนาที่มีความสำคัญพิเศษ มีการถ่ายทอดต่อมาโดยนักบุญลูกา นิทานเปรียบเทียบเรื่องแรก "เพื่อนที่สร้างความรำคาญ" (เทียบ ลก.11:5-13) เตือนถึงการภาวนาที่ให้หมั่นภาวนาไม่หยุดยั้ง "จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดให้" พระบิดาบนฟ้าสวรรค์ "จะทรงประทานทุกสิ่งที่เขามีความจำเป็น" ให้กับผู้ที่สวดขอเช่นนั้น และโดยเฉพาะพระจิตเจ้าซึ่งทรงถือพระพรทุกชนิดเตรียมไว้แล้ว

นิทานเปรียบเทียบเรื่องที่สอง "หญิงม่ายที่กวนใจ" (เทียบ ลก.18:1-8)  นับเป็นคุณสมบัติเด่นข้อหนึ่งของการภาวนา จะต้องภาวนาเป็นนิตย์โดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยความอดทนในความเชื่อ "แต่บุตรแห่งมนุษย์จะทรงพบความเชื่อบนแผ่นดินโลกเมื่อจะเสด็จมาหรือ"

 นิทานเปรียบเทียบเรื่องที่สาม  "ฟาริสีและคนเก็บภาษี" (เทียบ ลก18:9-14) มุ่งถึงความสุภาพถ่อมตนของดวงใจที่ภาวนา "พระเจ้าข้า โปรดเมตตากรุณาข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด" พระศาสนจักรไม่หยุดยั้งที่จะทำการภาวนาแบบนี้ว่า "ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพระกรุณาเทอญ" (Kyrie eleison!)

2614เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมอบธรรมล้ำลึกแห่งการภาวนาต่อพระบิดาเจ้าให้แก่บรรดาสาวกอย่างเปิดเผย ทรงเผยแสดงให้เขาว่า การภาวนาของเขาและของเราต้องเป็นแบบใด ณ เวลาที่พระองค์จะกลับไปอยู่กับพระบิดาในความเป็นมนุษย์ที่ได้รับพระสิรินั้น  สิ่งใหม่ก็คือการวอนขอในนามของพระองค์ (ยน.14:13) ความเชื่อในพระบุตรนั้นนำบรรดาอัครสาวกให้รู้จักพระบิดาเจ้าเพราะว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น "หนทาง ความจริง และชีวิต" (ยน.14:6) ความเชื่อนั้นนำผลมาในความรัก เฝ้ารักษาถ้อยคำของพระองค์  พระบัญญัติของพระองค์ การอยู่กับพระองค์ในพระบิดาซึ่งทรงรักเรามากถึงกับพระองค์มาประทับอยู่กับเรา ในพันธสัญญาใหม่ ความแน่ใจที่คำอ้อนวอนของเราจะได้รับตอบสนองนั้นมีพื้นฐานอยู่ที่การภาวนาของพระเยซูเจ้า (เทียบ ยน.14:13-14)

2615ยิ่งกว่านี้ เมื่อการภาวนาของเรารวมเป็นหนึ่งเดียวกับของพระเยซูเจ้าแล้ว  พระบิดาก็ทรงประทาน "พระผู้บรรเทาอีกองค์หนึ่งซึ่งจะอยู่กับเราเสมอเป็นนิตย์ เป็นพระจิตแห่งความจริง" (ยน.14:16-17)   มิติใหม่ของการภาวนาและสภาพแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ปรากฎอยู่ที่คำปราศรัยอำลา (เทียบ ยน.14:23-26; 15:7, 16; 16:13-15, 23-27) ในพระจิตเจ้านั้น การภาวนาแบบคริสตชนเป็นความสัมพันธ์แห่งความรักกับพระบิดา  ไม่เพียงแต่โดยอาศัยพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์ด้วย "จนบัดนี้ ท่านยังมิได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิดและท่านจะได้รับ  เพื่อความชื่นชมยินดีของท่านจะเต็มบริบูรณ์" (ยน.16:24)