หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระเยซูเจ้าทรงภาวนา

2599พระบุตรของพระเจ้าผู้ได้กลายเป็นบุตรของพระนางพรหมจารีได้ทรงเรียนรู้การภาวนาตามหัวใจแบบมนุษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงเรียนรู้จักภาวนาจากพระมารดาผู้ทรงเก็บรักษาในพระทัยและหมั่นรำพึงทุก "สิ่งที่ยิ่งใหญ่" ที่พระผู้ทรงสรรพฤทธิ์ได้ทรงกระทำ (เทียบ ลก 1:49; 2:19; 2:51) พระองค์ทรงเรียนรู้ในถ้อยคำและจังหวะของการภาวนาจากประชากรของพระองค์  ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ และพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม   แต่การภาวนาของพระองค์นั้นออกมาจากท่อธารที่เร้นลับ ตามที่พระองค์ได้กล่าวตอนพระชนมายุสิบสองพรรษาว่า "ลูกต้องทำภารกิจของพระบิดา" (ลก.2:49)ณ ที่นี้ เป็นการเริ่มเผยแสดงถึงความใหม่แห่งการภาวนาในยุคไพบูลย์ของการภาวนาในฐานะบุตร ซึ่งพระบิดาทรงรอคอยจากลูกๆ ของพระองค์ ในที่สุด ได้มีการนำมาปฏิบัติในชีวิตโดยพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์ในความเป็นมนุษย์ พร้อมกับและเพื่อมวลมนุษย์

2600พระวรสารของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการภาวนาในศาสนบริการของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงภาวนาก่อนเข้าสู่ช่วงที่แน่นอนแห่งภารกิจของพระองค์ ก่อนที่พระบิดาทรงให้ประจักษ์พยานตอนรับพิธีล้าง และตอนประจักษ์พระวรกาย และก่อนที่จะทำให้แผนการณ์แห่งความรักของพระบิดาเป็นจริงโดยทางพระมหาทรมาน (เทียบ ลก3:21; 9:28; 22:41-44) พระองค์ยังทรงภาวนาก่อนเริ่มภารกิจของคณะอัครสาวก กล่าวคือ ตอนเลือกและเรียกสาวกสิบสององค์ ก่อนที่เปโตร สารภาพว่าพระองค์คือ "พระคริสต์ของพระเจ้า"   และเพื่อให้ความเชื่อของหัวหน้าอัครสาวกไม่ลดน้อยถอยลงในการถูกทดลอง (เทียบ ลก6:12; 9:18-20; 22:32) การภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเริ่มภารกิจการช่วยให้รอด  ซึ่งพระบิดาทรงเรียกให้พระองค์กระทำให้สำเร็จสมบูรณ์ เป็นการยึดมั่นอยู่ในความสุภาพและความไว้ใจด้วยน้ำใจมนุษย์ของพระองค์ ต่อน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา

2601"วันหนึ่ง  พระเยซูเจ้าทรงภาวนาอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อจบแล้ว คนหนึ่งในบรรดาศิษย์ได้ทูลพระองค์ว่า พระอาจารย์เจ้าข้า ช่วยสอนพวกเราให้ภาวนาเถิด"  (ลก.11:1) เมื่อเห็นพระอาจารย์ของตนภาวนา บรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าจึงเกิดความต้องการที่จะภาวนา ดังนั้น โดยการรำพึงภาวนาและฟังพระบุตรผู้เป็นอาจารย์แห่งการภาวนา ลูกๆ จึงเรียนรู้ที่จะภาวนาถึงพระบิดา

2602พระเยซูเจ้าทรงหลบปลีกตัวออกมาบ่อยๆ ในที่เปลี่ยวบนภูเขาเวลากลางคืนเพื่อภาวนา (เทียบ มก1:35; 6:46 ลก5:16) พระองค์ทรงนำมวลมนุษย์มาไว้ในการภาวนาของพระองค์ เนื่องจากว่าพระองค์ได้ทรงรับเอาความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยมในการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์ และพระองค์ทรงนำมาถวายแด่พระบิดาโดยมอบถวายตัวพระองค์เอง พระเยซูนั้นเป็นพระวจนาตถ์  "กลายเป็นมนุษย์" ในการภาวนาแบบมนุษย์ของพระองค์นั้น มีส่วนร่วมกับทุกสิ่งในประสบการณ์ของ  "พี่น้องของพระองค์" (ฮบ.2:12) ทรงมีความกรุณาต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยของเขาเพื่อปลดเปลื้องเขาจากความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เพราะเหตุนี้  พระบิดาจึงได้ทรงส่งพระองค์มา พระวาจาและกิจการต่างๆ  ของพระองค์นั้นควบคู่กันไปเสมือนเป็นการแสดงถึงการภาวนา "ในที่ลับ"

2603ผู้เขียนพระวรสารได้นำเอาการภาวนาสองบทที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสในระหว่างภารกิจของพระองค์อย่างชัดเจน บทภาวนาแต่ละบทเริ่มด้วยการกล่าวขอบ-พระคุณ ในตอนแรก พระเยซูเจ้าทรงสารภาพต่อพระบิดา ทรงยอมรับรู้จักพระองค์และทรงถวายพระพรพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงซ่อนธรรมล้ำลึกแห่งพระราชัยจากบรรดาผู้ที่คิดว่าพวกเขาเป็นนักปราชญ์และได้ทรงเผยแสดงแก่ "ผู้ต่ำต้อย" บรรดาผู้ยากไร้ในมหาบุญลาภ (เทียบ มธ11:25-27; ลก10:21-23) การที่พระองค์เริ่มภาวนาว่า  "ใช่ พระบิดาเจ้า" แสดงถึงความลึกล้ำแห่งดวงหทัยของพระองค์ การยึดมั่นต่อความปรารถนาดีของพระบิดา เสมือนเสียงสะท้อนต่อ "ขอให้เป็นไป" (FIAT) ของพระมารดา เวลาที่พระองค์ปฏิสนธิและเป็นการเบิกฤกษ์สิ่งซึ่งพระองค์จะทรงกล่าวต่อพระบิดาระหว่างเข้าตรีทูต   การภาวนาทั้งหมดของพระเยซูเจ้านั้นเป็นความรักที่ยึดดวงใจมนุษย์ของพระองค์กับ "ธรรมล้ำลึกแห่งน้ำพระทัยของพระบิดา" (เทียบ อฟ.1:9)

2604บทภาวนาที่สองนั้นนักบุญยอห์นได้อ้างอิงไว้ ก่อนการทำให้ลาซารัสกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา (เทียบ ยน11:41-42) การขอบพระคุณมาก่อนเหตุการณ์นั้น "พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระองค์ที่ได้ทรงสดับฟังข้าพเจ้า" ซึ่งหมายความว่า พระบิดาทรงฟังคำอ้อนวอนของพระองค์เสมอ  และพระเยซูเจ้าก็เสริมทันทีว่า "ข้าพเจ้าทราบว่า พระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอมา" ซึ่งหมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงร้องขอสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น  การภาวนาของพระเยซูเจ้าที่ขึ้นต้นโดยการกล่าวขอบพระคุณนั้น เผยแสดงแก่เราว่าจะขออย่างไร ก่อนที่จะได้รับพระพร พระเยซูเจ้าทรงอุทิศพระองค์เองแด่ผู้นั้นซึ่งทรงประทานพระองค์เองเป็นของขวัญ  ผู้ประทานพระพรนั้นมีค่ายิ่งกว่าพระพรที่มอบให้พระองค์เป็น "สมบัติ" และดวงหทัยของพระบุตรของพระองค์ในตัวพระองค์ พระพรนั้นได้มอบให้ "เสริมเติมขึ้นมา" (มธ.6:21,33)

 "การภาวนาในฐานะสงฆ์" ของพระเยซูเจ้านั้น ถือเป็นเอกในระบบแห่งความรอด (เทียบ ยน.17) จะมีการรำพึงบทภาวนานี้ในส่วนท้ายของภาคแรก  ในความเป็นจริง บทภาวนานั้นเผยแสดงการภาวนาที่เป็นจริงเสมอของพระมหาปุโรหิตของเรา และในเวลาเดียวกัน มีเนื้อหาใจความเดียวกับที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสอนไว้ในการภาวนาต่อพระบิดา ซึ่งจะมีการพัฒนาความคิดเห็นในส่วนที่สอง

2605 เมื่อถึงเวลาซึ่งพระองค์จะทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จสมบูรณ์นั้น พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้เห็นความล้ำลึกที่ไม่อาจหยั่งถึงของการภาวนาในฐานะบุตร ไม่เพียงแต่ก่อนยอมมอบตัวโดยเต็มใจเท่านั้น  "พระบิดา...ไม่ใช่...น้ำใจของข้าพเจ้า แต่เป็นน้ำพระทัยของพระองค์" (ลก.22:42)   แต่ในถ้อยคำสุดท้ายบนไม้กางเขน ที่นั่น ที่ซึ่งการภาวนาและการมอบถวายตนเองนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน "ข้าแต่พระบิดา โปรดยกโทษแก่เขาเถิด เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร" (ลก.23:34) "เราบอกว่าวันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในสวรรค์" (ลก.23:43) "สตรีเอ๋ย นี่แนะลูกของท่าน" "นี่แน่ะแม่ของเจ้า" (ยน.19:26-27) "เรากระหาย" (ยน.19:28) "ข้าแต่พระเป็นเจ้า ข้าแต่พระเป็นเจ้า ทำไมละทิ้งข้าพเจ้าเล่า"  (มก.15:34; เทียบ สดด.22:2) "ทุกสิ่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว" (ยน.19:30)  "พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบจิตใจไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์"  (ลก.23:46) จนกระทั่งถึง "ร้องเสียงดัง" ขณะที่พระองค์สิ้นพระชนม์โดยมอบจิตวิญญาณคืนแด่พระบิดา (เทียบ มก15:37; ยน19:30ข)

2606ความปวดร้าวทั้งปวงของมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย เป็นทาสของบาปและความตาย การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือทั้งปวงของประวัติศาสตร์แห่งความรอดสรุปอยู่ในเสียงร้องของพระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย  และนี้แหละที่พระบิดาทรงรับไว้และนอกเหนือไปจากความหวังทั้งปวง ก็ทรงโปรดให้พระบุตรของพระองค์กลับเป็นขึ้นมา ดังนั้น การภาวนาในแผนการแห่งการสร้างโลกและความรอดสำเร็จสมบูรณ์และเรียบร้อย บทเพลงสดุดีเสนอเคล็ดลับการภาวนาแก่เราในพระคริสตเจ้า เป็นวันนี้เองที่ทรงกลับเป็นขึ้นมาซึ่งพระบิดาตรัสว่า "เจ้าคือบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดแก่เจ้า จงขอจากเรา แล้วเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของเจ้าตลอดจนทั้งแผ่นดินโลกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า" (สดด.2:7-8 เทียบ กจ.13:33)

บทจดหมายถึงชาวฮีบรูแสดงออกถึงถ้อยคำว่าการภาวนาของพระเยซูเจ้านั้นปฏิบัติการให้เกิดชัยชนะแห่งความรอดได้อย่างไร "เมื่อยังทรงอยู่ในโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงภาวนาทูลขอพระเจ้าผู้สามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้ พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงด้วยน้ำตา  แล้วพระเจ้าก็ทรงฟังพระเยซู   เนื่องจากพระองค์ทรงถ่อมพระองค์และอุทิศชีวิตถวายพระเจ้า   แต่แม้ว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าก็ตาม พระองค์ก็ทรงเชื่อฟัง ยอมรับทุกข์ทรมาน เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรที่ดีพร้อมทุกประการ ทรงเป็นผู้ทำให้ทุกคนที่เชื่อในพระองค์รอดพ้นบาปตลอดกาล" (ฮบ.5:7-9)