หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

5. เจ้าหน้าที่ในสังคมบ้านเมือง

 2234พระบัญญัติพระเจ้าประการสี่สั่งเราให้นับถือทุกคน ผู้ที่ได้รับอำนาจในสังคมจากพระเจ้า เพื่อประโยชน์ของเรา พระบัญญัติประการนี้แจกแจงหน้าที่ของผู้ที่ใช้อำนาจและผู้รับประโยชน์จากหน้าที่นี้

หน้าที่ของผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง

2235บรรดาผู้ซึ่งได้รับอำนาจมา ควรใช้อำนาจนั้นในการให้บริการ "ในพวกท่านใครอยากเป็นใหญ่ ก็ต้องวางตัวเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น" (มธ.20:26) การใช้อำนาจทางศีลธรรมนั้นมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ มีแหล่งที่มาจากพระเจ้า ธรรมชาติของการใช้อำนาจนี้มีเหตุผลและมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ ไม่มีใครสามารถสั่งหรือตั้งสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับศักดิ์ศรีของบุคคลและกฎธรรมชาติได้

2236การใช้อำนาจนั้นหมายถึง การแสดงออกภายนอกต่อการจัดลำดับที่ถูกต้องของค่านิยม เพื่อเอื้อต่อการใช้เสรีภาพและความรับผิดชอบของทุกคน ผู้มีอำนาจควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมและฉลาดรอบคอบ โดยยึดถือความต้องการและการให้ความร่วมมือของแต่ละคน ยึดหลักความปรองดองและสันติสุข พวกเขาควรจัดการดูแลให้กฎเกณฑ์และมาตรการที่พวกเขารับผิดชอบ ไม่เป็นเหตุแห่งการทดลอง ให้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวมาขัดแย้งกับผลประโยชน์ของส่วนรวม

2237เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองต้องเคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคลมนุษย์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมโดยให้ความเคารพนับถือสิทธิของแต่ละคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งของครอบครัวและผู้ด้อยโอกาส

สิทธิทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองสามารถและต้องยอมรับกันตามข้อเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อำนาจผิดกฎหมายและเหตุผลไม่สมควร การใช้สิทธิทางการเมืองนั้นกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและของชุมชนมนุษย์

หน้าที่พลเมือง

2238บรรดาผู้ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจนั้น ควรจะถือเจ้าหน้าที่เหมือนตัวแทนของพระเจ้าซึ่งได้ทรงตั้งเขาขึ้นเป็นผู้จัดการพระพรของพระองค์ (เทียบ รม.13:1-2) "เพราะความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จงอ่อนน้อมทุกคนที่มีอำนาจปกครอง… จงประพฤติตนดุจคนอิสระ อย่าใช้อิสรภาพเป็นข้ออ้างเพื่อจะทำความชั่ว แต่จงประพฤติดุจผู้รับใช้ของพระเจ้า" (1ปต.2:13,16) การให้ความร่วมมือจริงใจของพลเมืองนั้นก่อให้เกิดสิทธิ บางครั้งเป็นหน้าที่ที่จะวิจารณ์อย่างยุติธรรมต่อสิ่งซึ่งดูเหมือนจะทำร้ายศักดิ์ศรีของบุคคลและผลประโยชน์ของชุมชน

2239เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่จะให้การสนับสนุนอำนาจบ้านเมือง เพื่อประโยชน์ของสังคมด้วยจิตตารมณ์แห่งความจริง ความยุติธรรม ความเป็นปึกแผ่นและเสรีภาพ ความรักและการรับใช้ประเทศชาตินั้นมาจากหน้าที่ จากความกตัญญูและความรัก การอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจที่ถูกต้อง และการรับใช้ประโยชน์ส่วนรวมนั้น เรียกร้องพลเมืองให้กระทำหน้าที่ของตนในชีวิตของประชาคมทางการเมือง

2240การยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้นเรียกร้องทางศีลธรรมให้เสียภาษี ให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และการป้องกันประเทศชาติ

จงให้ทุกคนตามสิทธิของเขา จงเสียภาษีแก่ผู้มีสิทธิรับภาษี จงเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้มีสิทธิ์เก็บค่าธรรมเนียม จงเกรงกลัวผู้ที่ควรเกรงกลัว จงให้เกียรติแก่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ (รม.13:7)

บรรดาคริสตชน อาศัยอยู่ในประเทศของตนแต่อยู่อย่างผู้จาริกแสวงบุญ มีส่วนร่วมกับชีวิตทางบ้านเมืองเสมือนพลเมืองแต่ก็ไม่ติดใจเกาะติดกับสิ่งใดเหมือนคนแปลกหน้า เคารพกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แต่ก็เจริญชีวิตอยู่เหนือกกฎหมายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น  ตำแหน่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เขานั้นจึงดีเลิศและไม่เป็นการถูกต้องที่จะละทิ้งตำแหน่งนั้นไป

ท่านอัครสาวกได้ตักเตือนเราให้สวดอธิษฐานและแสดงความขอบคุณ เพื่อกษัตริย์และเพื่อผู้มีอำนาจ เราจะได้มีชีวิตที่สงบสุขราบรื่น เป็นชีวิตที่มีเกียรติด้วยความเคารพรักพระเจ้า      (1ทธ.2:2)

2241ชนชาติที่ร่ำรวยกว่า ต้องรับคนต่างด้าวที่แสวงหาความปลอดภัยและแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อชีวิตที่เป็นไปได้ โดยที่เขาไม่อาจพบได้ในประเทศที่จากมา อำนาจทางบ้านเมืองจะดูแลให้มีการเคารพสิทธิตามธรรมชาติซึ่งให้ผู้มาเยือนได้รับความคุ้มครองตามที่เขารับไว้

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรดูแลว่าคนต่างด้าวได้รับสิทธิตามธรรมชาติในสถานที่ที่รับเขามาอยู่ในความคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้สิทธิให้อพยพเข้า ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายที่แตกต่างกันได้โดยยึดประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลักซึ่งเขารับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะการให้ความเคารพหน้าที่ของผู้อพยพต่อประเทศที่รับพวกเขาไว้ ผู้อพยพต้องให้ความเคารพกตัญญูมรดกทางวัตถุและฝ่ายจิตใจของประเทศที่รับตนไว้ ให้ความเคารพเชื่อฟังกฎหมาย และมีส่วนร่วมรับแบกภาระต่างๆ

2242ด้วยจิตสำนึกทางมโนธรรม พลเมืองต้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เมื่อคำสั่งเช่นนั้นขัดแย้งกับข้อเรียกร้องของกฎศีลธรรม ต่อสิทธิพื้นฐานของบุคคล หรือต่อคำสอนของพระวรสาร การปฏิเสธที่จะนบนอบเชื่อฟังต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเมื่อข้อเรียกร้องของพวกเขาขัดกับมโนธรรมที่ถูกต้อง ประชาชนต้องแยกแยะความแตกต่างกันระหว่างการรับใช้พระเจ้ากับการรับใช้ประชาคมทางการเมือง "จงคืนของซีซาร์แก่ซีซาร์ และคืนของพระเป็นเจ้าแก่พระเป็นเจ้า" (มธ.22:21) ต้องทำตามหน้าที่พระเจ้าบัญชา ไม่ใช่ทำตามคำสั่งมนุษย์ (กจ.5:29)

ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำเกินอำนาจและกดขี่พลเมือง พลเมืองก็ยังต้องเชื่อฟังเท่าที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม    แต่ให้ถือเป็นการชอบที่จะป้องกันสิทธิของตนและพลเมืองด้วยกัน ต่อต้านการใช้อำนาจในทางที่ผิดโดยปฏิบัติอยู่ในขอบเขตที่กฎธรรมชาติและกฎพระวรสารกำหนดไว้ (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 74)

2243การต่อต้านการกดขี่ของอำนาจทางการเมืองด้วยการใช้อาวุธเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ยกเว้นเมื่อมีเงื่อนไขต่อไปนี้ทั้งหมดด้วยกัน ได้แก่  (1) ในกรณีการฝ่าฝืนสิทธิพื้นฐานที่ฉกรรจ์และยืดเยื้อ (2) ภายหลังจากที่ได้ทดลองหนทางอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว    (3) การต่อต้านนั้นจะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายยิ่งกว่าอีก (4) มีความหวังจะประสพความสำเร็จ (5) ถ้าไม่อาจมองเห็นวิธีแก้ปัญหาดีกว่านี้

ประชาคมการเมืองและพระศาสนจักร

2244คติภาพ (vision) และชะตากรรม (destiny) ของมนุษย์ดลใจทุกสถาบัน อย่างน้อยโดยปริยาย (คติภาพนี้) มาจากเกณฑ์การตัดสิน การลำดับค่านิยมต่างๆ และแนวทางความประพฤติ สังคมส่วนใหญ่หล่อหลอมสถาบันต่างๆ ให้เน้นมนุษย์เหนือสิ่งของ เพียงศาสนาที่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้าเท่านั้นที่สำนึกถึงต้นกำเนิดและชะตากรรมของมนุษย์ ในพระเป็นเจ้าพระผู้สร้างและพระมหาไถ่ พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ให้พิจารณาการตัดสินและการตัดสินที่ขัดต่อความจริงที่ได้รับการเผยแสดงเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์

สังคมต่างๆ ซึ่งไม่ยอมรับรู้คติภาพนี้หรือปฏิเสธ ไม่ขึ้นกับพระเจ้า   จะแสวงหาเกณฑ์และเป้าหมายในตนเอง หรือยืมจากแนวความคิดอื่น เพราะพวกเขาไม่ยอมรับว่า บุคคลหนึ่งสามารถปกป้องเกณฑ์แห่งความดี และความชั่ว พวกเขาอวดอ้างอำนาจเด็ดขาดเหนือมนุษย์ และชะตากรรมของเขาอย่างชัดเจนหรือโดยปริยาย ตามที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่ (เทียบ การเฉลิมฉลองปีที่100 ข้อ 45,46)

2245พระศาสนจักรไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะภาระหน้าที่และความสามารถ (แตกต่างกัน) พระศาสนจักรเป็นทั้งเครื่องหมายและผู้เฝ้ารักษาลักษณะเหนือธรรมชาติของมนุษย์ไว้ "พระศาสนจักรเคารพและสนับสนุนเสรีภาพทางการเมืองและความรับผิดชอบของพลเมือง" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 76.3)

2246เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของพระศาสนจักรที่จะ "ทำการวินิจฉัยทางศีลธรรม แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เมื่อสิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลหรือความรอดของวิญญาณเรียกร้องให้ทำ โดยใช้วิธีทุกอย่างและเฉพาะที่ถูกต้องกับพระวรสารและสอดคล้องกับสาธารณประโยชน์เท่านั้น ตามเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 76.3)