หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. "จงกราบไหว้องค์พระเจ้า พระเจ้าของเจ้าเท่านั้น"

2095คุณธรรมทางเทววิทยาแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรัก ให้ข้อมูลและทำให้คุณธรรมทางศีลธรรมมีชีวิต เพราะเหตุนี้ ความรักก็นำเราให้คืนสิ่งที่เราเป็นหนี้พระองค์ในฐานะสิ่งสร้างแด่พระองค์ตามความยุติธรรมทั้งมวล  คุณธรรมด้านศาสนาทำให้เรามีทัศนคติที่จะทำเช่นนั้น

การนมัสการ

2096การนมัสการเป็นกิจการแรกแห่งคุณธรรมทางศาสนา การนมัสการพระเจ้าเป็นการยอมรับพระองค์ในฐานะพระผู้สร้าง พระผู้ช่วยให้รอด พระเป็นเจ้า และเจ้านายแห่งสรรพสิ่งที่มีอยู่ องค์ความรักนิรันดร์และเมตตา "จงนมัสการพระเป็นเจ้าของเจ้า และบริการพระองค์แต่ผู้เดียว" (ลก.4:8) พระเยซูเจ้าตรัส โดยอ้างอิงถึงในหนังสือเลวีนิติ

2097การนมัสการพระเจ้า เป็นการยอมรับรู้ "ความว่างเปล่าของสิ่งสร้าง" ซึ่งไม่มีอยู่ นอกจากเพื่อพระเจ้า  ในการให้ความเคารพและการอยู่ใต้อำนาจโดยเด็ดขาด  การนมัสการพระเจ้าเป็นการสรรเสริญพระองค์ ถวายพระพรแด่พระองค์ และวางตนด้วยความสุภาพอ่อนน้อมดังเช่นพระนางมารีอา ในบทวิญญาณข้าฯ ถวายสดุดี (Magnificat) โดยการสารภาพด้วยความกตัญญูรู้คุณว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งยิ่งใหญ่และพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ การนมัสการพระเจ้าแต่ผู้เดียวปลดปล่อยมนุษย์จากการแสวงหาตนเอง การเป็นทาสของบาป และการนับถือรูปปฏิมาของโลก

การอธิษฐานภาวนา

2098กิจการแห่งความเชื่อ ความหวัง และความรัก ที่พระบัญญัติประการแรกกำหนดไว้นั้นกระทำสำเร็จไปในการอธิษฐานภาวนา การยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงการนมัสการบูชาพระเจ้าของเรา การอธิษฐานภาวนา เพื่อสรรเสริญ ขอบคุณ วอนขอ และขอโทษ การอธิษฐานภาวนาเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อสามารถที่จะนบนอบต่อพระบัญญัติของพระเจ้า "เราควรอธิษฐานภาวนาเสมอ โดยไม่ท้อแท้" (ลก.18:1)

การถวายบูชา

2099เป็นการเหมาะสมที่เราควรจะถวายบูชาแด่พระเจ้า อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการนมัสการและขอบพระคุณ การร้องขอวิงวอนและการมีส่วนร่วม "ทุกกิจการที่กระทำสำเร็จไปเพื่อยึดติดกับพระเจ้าเป็นเครื่องบูชาแท้จริง โดยที่ยังคงมีส่วนร่วมในพระองค์และสามารถจะมีความปิติยินดีเช่นนั้น" (นักบุญออกัสติน)

2100การถวายบูชาภายนอกต้องเป็นการแสดงออกถึงการถวายบูชาฝ่ายจิต เพื่อให้เป็นของแท้ "จิตใจที่ตรมตรอมนั้นคือเครื่องบูชา..." (สดด.51:19) บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมมักจะโจมตีเรื่องการถวายบูชาที่กระทำโดยปราศจากการมีส่วนร่วมภายใน หรือแยกออกจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์พระเยซูเจ้าอ้างถึงถ้อยคำของประกาศกโฮเชยา "เราต้องการความเมตตากรุณา ไม่ใช่เครื่องบูชา" (มธ.9:13; 12:7) การถวายบูชาเดียวที่สมบูรณ์คือ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน โดยการถวายตัวพระองค์เองแด่ความรักของพระบิดา เพื่อความรอดของเรา  เราสามารถทำให้ชีวิตของเราเป็นการถวายบูชาแด่พระเจ้าได้ โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับการถวายบูชาของพระองค์

คำสัญญาและการปฏิญาณ

2101คริสตชนถูกเรียกร้องให้ทำสัญญากับพระเจ้า เช่น ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง     ศีลสมรส และศีลบรรพชา สิ่งเหล่านี้ยังคงปฏิบัติกันอยู่ คริสตชนยังสามารถทำสัญญาที่จะทำการใดๆ กับพระเจ้าได้เป็นการส่วนตัว เช่น การอธิษฐานภาวนา การทำบุญทำทาน การจาริกแสวงบุญ และอื่นๆ ความซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาที่ทำกับพระเจ้านั้นเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือ ที่ต้องมีต่อพระองค์ในฐานะเจ้านายและความรักของพระองค์  ผู้สัตย์ซื่อ

2102คำปฏิญาณ คือ คำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าที่จะกระทำสิ่งดีงามที่เป็นไปได้  และทำให้ดีขึ้น โดยตั้งใจและเสรี ต้องทำให้สำเร็จเพราะเห็นแก่คุณธรรมทางศาสนา การปฏิญาณเป็นกิจการแห่งการอุทิศตน ที่บรรดาคริสตชนมอบตนเองแด่พระเจ้า หรือสัญญากับพระองค์ว่าจะกระทำความดี ฉะนั้น เขาจึงกระทำตามสัญญาและมอบตนแด่พระเจ้าโดยยึดมั่นในคำปฏิญาณนั้น  ในหนังสือกิจการอัครสาวกได้แสดงให้เราเห็นว่านักบุญเปาโล เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้คำปฏิญาณของท่านสำเร็จไป

2103พระศาสนจักรรับรู้คุณค่าที่เป็นแบบฉบับต่อคำปฏิญาณที่จะปฏิบัติข้อแนะนำแห่งพระวรสาร

พระศาสนจักรผู้เป็นมารดา จึงรู้สึกชื่นชมเมื่อมองเห็นว่า ในอุระของท่านมีบุคคลจำนวนมาก  ทั้งบุรุษและสตรีเจริญชีพอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นตามพระแบบฉบับนั้น เขาถือตัวเป็นเปล่าตามพระผู้ไถ่ เขาแสดงออกให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น แม้ในฐานะบุตรของพระเจ้า เขาเป็นอิสระ ถึงกระนั้น เขายอมรับเอาความยากจนและยอมสละทิ้งน้ำใจของตนเอง อันเป็นสิทธิ์เฉพาะของเขา กล่าวคือ เขายอมมอบตนเองให้อยู่ใต้อำนาจของคนด้วยกัน ทั้งนี้เพราะเห็นแก่พระเป็นเจ้า ในแง่ของความดีครบถ้วน และยอมปฏิบัติเกินเลยไปเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อจะทำตนเองให้ละม้ายคล้ายพระคริสตเจ้าผู้ทรงเชื่อฟังให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป (พระศาสนจักร ข้อ 42)

ในบางกรณี พระศาสนจักรสามารถยกเลิกให้พ้นจากการปฏิญาณและคำมั่นสัญญาได้ ถ้ามีเหตุผลที่เหมาะสม

หน้าที่ทางสังคมของศาสนา และสิทธิต่อเสรีภาพทางศาสนา

2104"มนุษย์ทุกคนจำต้องแสวงหาความจริง เฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้า และพระศาสนจักรของพระองค์ และเมื่อรู้จักแล้วครั้งหนึ่งก็จำต้องรับและถือตามความจริงนั้น" (เสรีภาพในการถือศาสนา สิทธิของบุคคลและของคณะบุคคลที่จะมีเสรีภาพทางสังคมและบ้านเมืองในเรื่องศาสนา ข้อ 1) เป็นหน้าที่ที่มาจาก "ธรรมชาติ" ของมนุษย์นั่นเอง ไม่มีการขัดแย้งกับ "ความเคารพนับถือจริงใจ" สำหรับศาสนาที่แตกต่างกัน    "แต่บ่อยครั้ง ก็นำแสงจากองค์ความจริงมาให้ ซึ่งฉายแสงสว่างแก่มนุษย์ทุกคน" (ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักร กับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา ข้อ 2) ต้องไม่ขัดแย้งกับข้อเรียกร้องของความรักเมตตาจิต  ซึ่งผลักดันคริสตชน "ให้ปฏิบัติการด้วยความรัก ความฉลาดรอบคอบ และความเพียรต่อผู้ที่อยู่ในความลุ่มหลงและไม่รู้จักความเชื่อ" (คำแถลง ข้อ 14)

2105หน้าที่ที่จะถวายบูชาแท้จริงแด่พระเจ้านั้นเป็นหน้าที่ส่วนตัวและส่วนรวม เป็นประเพณีของคาทอลิก ที่สอนเกี่ยวกับหน้าที่ทางศีลธรรมในระดับส่วนตัวและส่วนรวม ด้านศาสนาที่เที่ยงแท้และพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า โดยการประกาศพระวรสารแก่มวลมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อน ซึมซาบจิตตารมณ์ คริสตชนในเรื่องจิตใจและประเพณี กฎหมาย และโครงสร้างของชุมชนที่เขาอยู่ หน้าที่ทางสังคมของคริสตชนคือ ให้ความเคารพและปลุกเร้าความรักในสิ่งที่แท้จริงและสิ่งดีงามในตัวมนุษย์ทุกคน เรียกร้องพวกเขาให้ทำความรู้จักคารวกิจ ศาสนาเที่ยงแท้แต่ศาสนาเดียว ซึ่งมีอยู่ในพระศาสนจักร ซึ่งเป็นสากลและสืบจากอัครสาวก  ดังนั้น บรรดาคริสตชนจึงถูกเรียกให้เป็นแสงสว่างของโลก พระศาสนจักรแสดงถึงความเป็นกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า เหนือการสร้างทั้งมวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหนือสังคมมนุษย์

2106"กลุ่มบุคคลในสังคมและอำนาจของมนุษย์ใดๆ ก็ดี ไม่สามารถบังคับให้ปฏิบัติฝ่าฝืนมโนธรรมในเรื่องศาสนา หรือขัดขวางมิให้ปฏิบัติตามมโนธรรมในขอบเขตอันยุติธรรมได้ ไม่ว่าในสถานที่เอกชน หรือในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าเมื่อเขาปฏิบัติคนเดียว หรือปฏิบัติร่วมกับคนอื่น" (คำแถลง ข้อ 2)สิทธินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์    ซึ่งศักดิ์ศรีของบุคคลนั้นทำให้ยึดความจริงของพระเจ้าอย่างเสรี ซึ่งอยู่เหนือกฎเกณฑ์ชั่วคราว เพราะเหตุนี้ "มนุษย์ทุกคนจำต้องยึดถือความจริงนั้น และกำกับชีวิตของตนตามที่ความจริงนั้นจะเรียกร้องให้ทำ"

2107"ถ้าหากว่าเพราะสภาพแวดล้อมพิเศษในบางชนชาติ กฎหมายของบ้านเมืองรับรองนิกายศาสนานิกายหนึ่งเป็นพิเศษ ก็เป็นการจำเป็นที่ในขณะเดียวกันพลเมืองทุกคนและนิกายศาสนาทุกนิกายควรได้รับการยอมรับนับถือ และเคารพในสิทธิที่จะมีเสรีภาพในเรื่องศาสนาด้วย" (คำแถลง ข้อ 6)

2108สิทธิเสรีภาพในเรื่องศาสนานั้นไม่ใช่เป็นการอนุญาตทางศีลธรรม ที่จะยึดถือความหลงผิด หรือถือสิทธิในการทำผิด แต่เป็นสิทธิของมนุษย์ตามธรรมชาติต่อเสรีภาพของพลเมือง นั่นคือ ต่อการปลอดจากการบังคับเคี่ยวเข็ญภายนอก ภายในขอบเขตที่ถูกต้องในเรื่องศาสนา จากฝ่ายอำนาจทางบ้านเมือง สิทธิตามธรรมชาตินี้ต้องได้รับการยอมรับนับถือในกฎหมายของสังคม จนถือเป็นสิทธิของพลเมือง

2109สิทธิเสรีภาพในเรื่องศาสนา ในตัวเองไม่อาจจะได้รับการจำกัดขอบเขต และอยู่ในขอบเขตตามธรรมดา โดย "กฎสาธารณะ" ตามความเข้าใจตามเกณฑ์ของลัทธิธรรมชาตินิยม "ขอบเขตที่ถูกต้อง" ซึ่งติดอยู่กับสิทธิเช่นนั้น ต้องกำหนดไว้เพื่อทุกสถานการณ์ทางสังคมด้วยความรอบคอบทางการเมืองตามข้อเรียกร้องของประโยชน์ส่วนรวม และได้รับการให้สัตยาบันโดยเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง ตาม "กฎหมายที่สอดคล้องกับกฎระเบียบทั่วไปทางศีลธรรม" (คำแถลง ข้อ 7)