หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

ตอนที่ 2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระบัญญัติสิบประการ

"พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำอะไร...?"

2052"พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?" พระเยซูเจ้าทรงตอบชายหนุ่มที่มุ่งถามคำถามนี้ และตรัสตอบโดยอ้างอิงถึงความจำเป็นที่ต้องยอมรับรู้จักพระเจ้าว่าทรงเป็น "ผู้ที่ดีมีแต่ผู้เดียวเท่านั้น" ว่าเป็นสิ่งประเสริฐเลิศและเป็นที่มาแห่งสิ่งดีงามทั้งปวง แล้วพระเยซูเจ้าตรัสว่า "ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิต จงปฏิบัติตามพระบัญญัติ" และพระองค์ทรงลำดับพระบัญญัติโดยมุ่งถึงความรักต่อเพื่อนบ้าน "อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักทรัพย์ อย่าเป็นพยานเท็จ จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของตน"     ท้ายสุด พระเยซูเจ้าทรงสรุปพระบัญญัติเหล่านี้เป็นสูตรถือปฏิบัติว่า "จงรักเพื่อนบ้านของท่านเหมือนรักตัวท่านเอง" (มธ.19:16-19)

2053พระองค์ทรงเพิ่มพระบัญญัติที่สองทันทีต่อจากคำตอบแรกนี้ "ถ้าท่านอยากเป็นคนดีบริบูรณ์ จงขายข้าวของทั้งหมดที่มี แจกจ่ายแก่คนยากจน  ดังนี้ท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงมาติดตามเรา" (มธ.19:21)   พระบัญญัติประการนี้ไม่ลบล้างข้อบัญญัติประการแรก ผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าหมายถึงการถือตามพระบัญญัติต่างๆ พระองค์มิได้มาลบล้างธรรมบัญญัติ (เทียบ มธ.5:17) แต่มนุษย์ได้รับเชิญให้ค้นพบในพระบุคคลของพระอาจารย์ซึ่งทรงเป็นความสมบูรณ์ครบครัน    ในพระวรสารสหทรรศน์ 3 เล่ม การเรียกของพระเยซูเจ้าต่อชายหนุ่มร่ำรวยให้ติดตามพระองค์โดยการนบนอบเชื่อฟังแบบสานุศิษย์ และถือตามพระบัญญัตินั้นเป็นการเชิญชวนให้ถือความยากจนและความบริสุทธิ์ (เทียบ มธ.19:6-12,21,23-29) ข้อแนะนำให้ดำเนินชีวิตตามพระวรสารนั้นไม่อาจแยกออกจากพระบัญญัติเหล่านี้

2054พระเยซูเจ้าได้ทรงย้ำพระบัญญัติสิบประการ แต่ก็ได้สำแดงพลังของพระจิตเจ้าว่ายังเป็นจริงตามตัวอักษร พระองค์ได้ทรงเทศนา "ความชอบธรรม" ซึ่งอยู่เหนือ "ความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และพวกฟารีสี" (มธ.5:20) และความชอบธรรมของคนต่างศาสนาด้วย (เทียบ มธ.5:46-47) พระองค์ได้ทรงให้ความกระจ่างความจำเป็นทั้งหลายของพระบัญญัติ พวกท่านเคยได้ยินคำกล่าวแต่โบราณว่า "อย่าฆ่าคน... แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ถ้าผู้ใดโกรธเคืองพี่น้อง ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าศาลแขวงด้วย" (มธ.5:21-22)

2055เมื่อมีคนถามพระองค์ว่า "พระบัญญัติไหนเป็นเอกกว่าหมด" (มธ.22:36) พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า "จงรักพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าสุดดวงใจ สุดวิญญาณ และสุดสติปัญญาของเจ้า  นี่แหละคือพระบัญญัติเอกประการแรก พระบัญญัติประการที่สองก็คล้ายประการแรก คือ จงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเองบทบัญญัติและคำสอนของประกาศกต่างๆ ก็สรุปอยู่ในบัญญัติสองประการนี้" (มธ.22:37-40; เทียบ ฉธบ.6:5; ลนต.19:18) พระบัญญัติสิบประการ ด้วยพระบัญญัติแห่งความรักสองลักษณะนี้ จึงถือว่าบัญญัติที่สมบูรณ์

พระบัญญัติกล่าวว่า อย่าทำผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีกก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ความรักจึงเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน (รม.13:9-10)

พระบัญญัติสิบประการในพระคัมภีร์

2056คำว่า "Decalogue" มีความหมายตามตัวอักษรว่า "ถ้อยคำสิบคำ" (อพย.34:28; ฉธบ. 4:13;10:4) "ถ้อยคำสิบคำ" นี้ พระเจ้าได้ทรงเผยแสดงแก่ประชากรของพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ได้ทรงจารึกไว้ด้วย "นิ้วพระหัตถ์" ของพระองค์ (อพย.31:18; ฉธบ.5:22) แตกต่างจากพระบัญญัติอื่นๆ ที่โมเสสเขียนไว้ (เทียบ ฉธบ.31:9,24) พระบัญญัติเหล่านี้คือถ้อยคำพระวาจาล้ำเลิศของพระเจ้า ได้รับการถ่ายทอดในหนังสืออพยพ (เทียบ อพย.20:1-17) และเฉลยธรรมบัญญัติ (เทียบ ฉธบ.5:6-22) พระคัมภีร์ได้อ้างอิงถึง  "ถ้อยคำสิบคำนี้" มาตั้งแต่พันธสัญญาเดิม (เทียบ ตัวอย่าง ฮชย.4:2; ยรม.7:9; อสค.18:5-9) แต่ในพันธสัญญาใหม่นั้น โดยทางพระเยซูเจ้าก็ได้มีการเผยแสดงความหมายที่สมบูรณ์

2057เราต้องเข้าใจพระบัญญัติสิบประการในบริบทของหนังสืออพยพ  ว่าเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่พระเจ้ากอบกู้ประชากรของพระองค์เป็นศูนย์กลางของพันธสัญญาเดิม ถึงแม้พระบัญญัติเหล่านั้นกำหนดเรียบเรียงเป็นสูตรในใจความเป็นข้อห้าม หรือสั่งให้ปฏิบัติ (เช่น จงนับถือให้เกียรติบิดามารดา) "สิบถ้อยคำนั้น" ก็แสดง เงื่อนไขของชีวิตที่ช่วยไถ่เราให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป        พระบัญญัติสิบประการจึงเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

เราบัญชาท่านให้รักองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของท่าน และทำตามบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์ ท่านจะเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นชาติที่มีประชากรมากมาย (ฉธบ.30:16)

พลังปลดปล่อยให้เป็นอิสระของพระบัญญัติสิบประการนี้ดูเหมือนเป็นคำบัญชา   ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการพักผ่อนในวันสับบาโตกำหนดไว้ให้สำหรับคนต่างถิ่นและทาสด้วย

จงนึกเสมอว่า พวกเจ้าก็เคยตกเป็นทาสในประเทศอียิปต์มาก่อน และเราผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าช่วยเจ้าให้พ้นด้วยฤทธานุภาพ และพลังอันยิ่งใหญ่ของเรา" (ฉธบ.5:15)

2058"ถ้อยคำสิบคำ" สรุปและประกาศเป็นบัญญัติของพระเจ้า "นี่แหละเป็นธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่พวกท่านทุกคน เมื่อมาชุมนุมกันอยู่ที่ภูเขานั้น พระองค์ไม่ได้ตรัสมากไปกว่านี้ เมื่อตรัสด้วยสุรเสียงดังมาจากไฟ และจากเมฆทึบ แล้วพระองค์ทรงจารึกธรรมบัญญัติไว้บนศิลาสองแผ่นมอบให้แก่ข้าพเจ้า" (ฉธบ.5:22) เพราะฉะนั้น ศิลาสองแผ่นนี้เรียกว่า "ประจักษ์พยาน" อันที่จริง ศิลาสองแผ่นนั้นบรรจุมาตราต่างๆ แห่งพันธสัญญาที่สรุปรวมไว้ระหว่างพระเจ้าและประชากรของพระองค์ "แผ่นศิลาแห่งการเป็นประจักษ์พยานนี้" (อพย.31:18; 32:15; 34:29) ต้องเก็บไว้ใน "หีบพันธสัญญา" (อพย.25:16; 31:18; 32:15; 34:29; 40:1-2)

2059พระเจ้าทรงประกาศ "ถ้อยคำสิบคำ" นี้ ระหว่างการประจักษ์ของพระเจ้า "องค์พระเจ้าได้ตรัสบนภูเขาจากไฟต่อหน้าพวกท่าน" (ฉธบ.5:4) พระวจนะเหล่านี้เป็นการเผยแสดงซึ่งพระเจ้าทรงกระทำให้พระองค์และพระสิริของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ พระพรแห่งพระบัญญัตินั้นเป็นพระพรของพระเจ้าเองและน้ำพระทัยของพระองค์   พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เองแก่ประชากรของพระองค์โดยทรงทำให้น้ำพระทัยของพระองค์เป็นที่รู้จัก

2060พระพรแห่งพระบัญญัติและธรรมบัญญัตินั้นเป็นส่วนของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงสรุปไว้กับประชากรของพระองค์ ในหนังสืออพยพนั้น การเผยแสดง "ถ้อยคำสิบคำ" ได้รับการยอมรับระหว่างข้อเสนอของพันธสัญญา (เทียบ อพย.19)  และข้อสรุป ภายหลังที่ประชากรได้สัญญาว่าจะ "ทำ" ทุกสิ่งซึ่งองค์พระเจ้าได้ตรัส และที่จะ "นบนอบ" (เทียบ อพย.24:7)  พระบัญญัติสิบประการไม่ได้รับการถ่ายทอดเลยถ้าไม่มีการระลึกถึงพันธสัญญาครั้งแรก    (องค์พระเจ้าของเราได้ทรงตั้งพันธสัญญากับเราบนเขาโฮเร็บ (ฉธบ.5:2)

2061พระบัญญัตินั้นได้รับความหมายสมบูรณ์ในพันธสัญญา ตามพระคัมภีร์ ชีวิตด้านศีลธรรมของมนุษย์มีความหมายทั้งหมดในและโดยทางพันธสัญญา  พระวจนะแรกในบรรดา  "สิบพระวจนะ" เตือนใจเราว่า พระเจ้าเป็นผู้ที่รักประชากรของพระองค์ก่อน

เนื่องจากว่ามนุษย์ได้ตกเป็นทาสของบาป จึงได้ออกมาจากสวนสวรรค์แห่งอิสรภาพไปสู่ความเป็นทาสของโลกนี้ เพราะเหตุนี้ พระวจนะแรกของพระบัญญัติสิบประการ    คำแรกในพระบัญญัติของพระเจ้า เกี่ยวข้องกับอิสรภาพโดยตรัสว่า "เราเป็นพระเจ้าของเจ้า เป็นผู้นำพวกเจ้าออกมาจากประเทศอียิปต์ ให้พ้นจากเป็นทาส" (โอรีเจน เทียบ อพย.20:2; ฉธบ.5:6)

2062พระบัญญัติที่กล่าวไว้มาอันดับสอง พระบัญญัตินี้แสดงถึงความหมายของการเป็นของพระเจ้าที่ได้ตั้งขึ้นโดยพันธสัญญา การมีอยู่ทางศีลธรรมนั้นเป็นการตอบสนองต่อการริเริ่มความรักขององค์พระเจ้า เป็นการยอมรับรู้ การถวายพรแด่พระเจ้าและการสักการะบูชาแสดงการขอบพระคุณ เป็นการให้ความร่วมมือต่อแผนการซึ่งพระเจ้าทรงดำเนินการในประวัติศาสตร์

2063พันธสัญญาและการสนทนาระหว่างพระเจ้าและมนุษย์นั้นยังคงมีประจักษ์พยานจากข้อเท็จจริงที่ว่า การออกคำสั่งทั้งหลายนั้นทำในบุคคลที่หนึ่ง ("เราคือองค์พระเจ้า...") และมุ่งถึงผู้รับอีกคนหนึ่ง("เจ้า...")   ในพระบัญญัติทั้งหลายของพระเจ้านั้นมีบุรุษสรรพนามเอกพจน์ที่หมายถึงคนที่รับสาร พระเจ้าทรงทำให้น้ำพระทัยของพระองค์เป็นที่รู้จักแก่ประชากรทั้งมวลและในเวลาเดียวกันแก่แต่ละคนเป็นรายบุคคล

องค์พระเจ้าทรงบัญชาความรักต่อพระเจ้าและทรงสอนความยุติธรรมต่อเพื่อนบ้านเพื่อให้มนุษย์เป็นผู้ยุติธรรม เป็นผู้เหมาะสมกับพระเจ้า เพราะฉะนั้น โดยอาศัยพระบัญญัติสิบประการ พระเจ้าทรงตระเตรียมมนุษย์ให้กลายเป็นเพื่อนและเจริญชีวิตสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์... พระวจนะแห่งพระบัญญัติสิบประการยังคงถูกต้องสำหรับเราคริสตชน พระวจนะเหล่านั้นห่างไกลจากการได้รับการลบล้าง มีความหมายและได้รับการพัฒนาโดยการเสด็จมาขององค์พระเจ้าในเนื้อหนัง (นักบุญอีเรเน แห่งลีอองส์)

พระบัญญัติสิบประการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร

2064ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรได้ยอมรับรู้ความสำคัญ และความหมายขั้นพื้นฐานของพระบัญญัติสิบประการ   โดยสัตย์ซื่อต่อพระคัมภีร์และสอดคล้องกับแบบฉบับของพระเยซูเจ้า

2065นับตั้งแต่สมัยนักบุญออกัสติน เป็นต้นมา "พระบัญญัติสิบประการ" มีลักษณะที่เด่นชัดในคำสอนของผู้สมัครรับศีลล้างบาปและของสัตบุรุษ ในศตวรรษที่สิบห้า ได้มีการทำพระบัญญัติสิบประการให้เป็นสูตร ให้จดจำได้ง่ายและในรูปแบบด้านบวก ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้   หนังสือคำสอนของพระศาสนจักรมักจะอธิบายขยายความศีลธรรมของคริสตชนโดยถืออันดับตาม "พระบัญญัติสิบประการ"

2066การแบ่งและการนับจำนวนพระบัญญัตินั้นมีความแตกต่างกันในช่วงที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ หนังสือคำสอนนี้ถือตามการแบ่งพระบัญญัติที่นักบุญออกัสตินกำหนดไว้ และกลายเป็นธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิก รวมทั้งนิกายลูเธอร์แรนท์ด้วย ส่วนบรรดาปิตาจารย์กรีกได้ทำการแบ่งที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งพบได้ในพระศาสนจักรออร์โธด๊อกและนิกายโปรแตสแตนท์อื่นๆ

2067พระบัญญัติสิบประการประกาศนี้ยืนยันสิ่งที่ความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เรียกร้อง พระบัญญัติสามประการแรกเกี่ยวกับความรักต่อพระเจ้าเป็นสำคัญ และพระบัญญัติอีกเจ็ดประการอื่นๆ เกี่ยวกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์

เพราะความรักประกอบด้วยพระบัญญัติสองประการ ที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่าสัมพันธ์กับพระบัญญัติแห่งความรักสองประการนั้น ธรรมบัญญัติทั้งหมดและคำสอนของบรรดาประกาศก... ดังนั้น พระบัญญัติสิบประการนี้ก็ได้ให้ไว้ในศิลาสองแผ่น อันที่จริง กล่าวกันว่า สามพระบัญญัติถูกจารึกไว้ในแผ่นศิลาหนึ่งและอีกเจ็ดประการอยู่ในศิลาอีกแผ่นหนึ่ง (นักบุญออกัสติน บทเทศน์ 33,2,2 : PL 38,208)

2068สังคายนาแห่งนครเตรนโต สอนไว้ว่า พระบัญญัติสิบประการเป็นข้อบังคับสำหรับบรรดาคริสตชนและยังสอนว่าคนชอบธรรมก็ถือปฏิบัติด้วย (DS 1569-1570)   สังคายนาวาติกันที่ 2 ยืนยันว่า"บรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากอัครสาวก ท่านได้รับหน้าที่จากพระสวามีเจ้า...พระองค์นี้ได้มีพระบัญชาสั่งให้พวกท่านไปสั่งสอนนานาชาติทั้งหลาย และให้ประกาศ   พระวรสารแก่สิ่งสร้างทั้งมวล เพื่อให้มนุษย์ทุกผู้ทุกคนบรรลุถึงความรอดพ้นโดยอาศัยความเชื่อ ศีลล้างบาป และการประพฤติปฏิบัติตามพระบัญญัติ" (พระศาสนจักร ข้อ 24)

ความเป็นหนึ่งเดียวของพระบัญญัติสิบประการ

2069พระบัญญัติสิบประการตั้งขึ้นมาทั้งหมดไม่อาจแยกออกจากกันได้ ทุกประการอ้างอิงถึงบัญญัติประการอื่นๆ และทั้งหมด พระวจนะเหล่านี้เป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน ศิลาสองแผ่นนั้นให้ความกระจ่างซึ่งกันและกัน สร้างขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเป็นระบบ การละเมิดพระบัญญัติประการหนึ่งเป็นการละเมิดพระบัญญัติอื่นๆ ทั้งหมด (เทียบ ยก.2:10-11) คนหนึ่งอาจไม่อาจเคารพนับถือบุคคลอื่นๆ ได้โดยปราศจากการถวายพระพรแด่พระเจ้า พระผู้สร้าง   คนหนึ่งไม่อาจกราบไหว้พระเจ้าได้โดยไม่รักเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นสิ่งสร้างของพระองค์  พระบัญญัติสิบประการนี้ทำให้ชีวิตศาสนาและชีวิตทางสังคมของมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน

พระบัญญัติสิบประการและกฎธรรมชาติ

2070พระบัญญัติสิบประการเป็นเรื่องของการเผยแสดงความจริงของพระเจ้า ในขณะเดียวกันก็สอนเราถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับภาระหน้าที่สำคัญ และดังนั้นทำให้เข้าใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดมากับธรรมชาติของบุคคลมนุษย์โดยทางอ้อม พระบัญญัติสิบประการบรรจุสำนวนที่เป็นสิทธิพิเศษของ "กฎธรรมชาติ"

ตั้งแต่เริ่มแรก พระเจ้าได้ทรงวางรากพระบัญญัติแห่งกฎธรรมชาติลงในดวงใจมนุษย์ แล้วพระองค์พอพระทัยเตือนใจมนุษย์ให้ปฏิบัติตามพระบัญญัติ คือพระบัญญัติสิบประการ    (นักบุญเอเรเน แห่งลีอองส์)

2071แม้ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นที่ยอมรับได้ตามเหตุผลเท่านั้น กฎเกณฑ์แห่งพระบัญญัติสิบประการนั้นได้รับการเผยแสดงไว้ เพื่อบรรลุถึงความเข้าใจครบถ้วนและแน่นอน ตามข้อเรียกร้องของกฎธรรมชาติ  มนุษยชาติซึ่งเป็นคนบาปก็มีความต้องการการเผยแสดงนี้

การอธิบายชี้แจงพระบัญญัติสิบประการที่สมบูรณ์ครบถ้วนนั้นมีความจำเป็นในภาวะเงื่อนไขที่ตกในบาป เพราะว่าแสงสว่างแห่งเหตุผลนั้นมืดมัวลงและน้ำใจนั้นก็เบี่ยงเบนออกไป   

(นักบุญบอนาแวนตูรา)

เรารู้จักพระบัญญัติของพระเจ้าโดยทางการเผยแสดงของพระองค์ซึ่งได้เสนอแก่เราในพระศาสนจักร และโดยอาศัยเสียงแห่งจิตสำนึกทางศีลธรรม

ข้อบังคับของพระบัญญัติสิบประการ

2072เนื่องจากว่า พระบัญญัติสิบประการประกาศภาระหน้าที่ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ พระบัญญัติสิบประการจึงเผยแสดงถึงข้อบังคับฉกรรจ์ในเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ พระบัญญัตินั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในสาระสำคัญและเป็นข้อบังคับเสมอและในทุกแห่ง ไม่มีใครอาจละเว้นไม่ปฏิบัติได้ พระบัญญัติสิบประการนั้นพระเจ้าได้ทรงจารึกไว้ในดวงใจของการเป็นมนุษย์แล้ว

2073การนบนอบเชื่อฟังต่อพระบัญญัตินั้นหมายถึงการถือตามข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องที่เบาด้วย ดังนั้นการใช้ช่องโหว่ด้านภาษาไปประพฤติหาประโยชน์ในทางผิด (abuse language) จึงถือว่าผิดพระบัญญัติประการห้า แต่อาจเป็นความผิดหนัก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือความตั้งใจของคนที่กระทำ

"ปราศจากเราแล้ว ท่านทำอะไรไม่ได้เลย"

2074พระเยซูเจ้าตรัสว่า "เราคือลำต้น ท่านเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่อยู่ในเรา และเราสนิทอยู่ในผู้นั้น ก็จะเกิดบังผลมาก ด้วยว่าถ้าปราศจากเรา ท่านก็มิอาจทำอะไรได้เลย" (ยน.15:5) ผลที่อ้างถึงในถ้อยคำนี้คือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่สมบูรณ์โดยความผูกพันกับพระคริสตเจ้า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า เราก็ติดต่อสื่อสารกับธรรมล้ำลึกของพระองค์และถือปฏิบัติพระบัญญัติของพระองค์ พระผู้ไถ่เองก็เสด็จมารักพระบิดาและพี่น้องของพระองค์ในตัวเรา พระบิดาของเราและพี่น้องของเรา พระบุคคลของพระองค์กลายเป็นกฎเกณฑ์ภายในที่มีชีวิตในกิจกรรมของเราโดยอาศัยพระจิตเจ้า "นี่คือบัญญัติของเรา คือ ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนอย่างที่เรารักท่าน" (ยน.15:12)