หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

มาตรา 2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 การมีส่วนร่วมในชีวิตสังคม

1. อำนาจ (Authority)

1897"สังคมมนุษย์นั้นไม่อาจจัดให้มีระเบียบและสมบูรณ์ได้ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจที่ถูกต้องรักษาสถาบันนั้น และอุทิศตนเองทำงานเท่าที่สามารถ และเอาใจใส่เพื่อความดีของทุกคน" (สันติสุข ณ แผ่นดินข้อ 46)

โดย "ผู้มีอำนาจ" ที่ประกอบด้วยคุณธรรม บุคคลหรือสถาบันก็ออกกฎหมายและให้คำสั่งแก่คนทั้งหลายและหวังที่จะให้พวกเขานบนอบเชื่อฟัง

1898ทุกชุมชนมนุษย์จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง พื้นฐานของผู้มีอำนาจอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ มีความจำเป็นสำหรับความเป็นหนึ่งเดียวกันของรัฐที่เจริญแล้ว หน้าที่ของรัฐคือ รักษาความดีส่วนรวมของสังคมเท่าที่จะทำได้

1899ระเบียบทางศีลธรรมที่มาจากพระเจ้าเรียกร้องให้มีเจ้าหน้าที่บ้านเมือง "ให้ทุกคนนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง เพราะไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า  และอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่ก็ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ที่ต่อต้านอำนาจก็ขัดสู้กับพระบัญชาของพระเจ้า และผู้ที่ขัดขืนก็จะถูกตัดสินลงโทษ" (รม.13:1-2)

1900หน้าที่ที่ต้องนบนอบเชื่อฟังนั้นเรียกร้องทุกคนให้เกียรติแก่ผู้มีอำนาจปกครอง และให้เคารพนับถือด้วยความกตัญญูและเต็มใจ ตามที่เขาควรได้รับ

พระสันตะปาปา เคลเมนต์ แห่งกรุงโรม ได้แต่งบทภาวนาที่เก่าแก่ที่สุดของพระศาสนจักรสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง "โอ องค์พระเจ้า โปรดประทานสุขภาพอนามัย สันติสุข ความปรองดองกันและความมั่นคงเพื่อให้สามารถใช้อำนาจของกษัตริย์โดยปราศจากอุปสรรค   โอ องค์พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์บนฟ้าสวรรค์นับศตวรรษซึ่งประทานเกียรติมงคล ยศศักดิ์ อำนาจบนแผ่นดินโลกแก่ลูกๆ ของมวลมนุษย์ เพราะฉะนั้น โอ องค์พระเจ้า      โปรดอำนวยการให้การตัดสินใจของเขาเพื่อกระทำสิ่งดีงามและเป็นที่พอพระทัยพระองค์ เพื่อพวกเขาเหมาะสมกับพระเมตตากรุณาของพระองค์ ด้วยการใช้อำนาจที่พระองค์ประทานให้อย่างศรัทธา ในสันติสุขและความอ่อนโยน"

1901ถ้าผู้มีอำนาจปฏิเสธระเบียบที่พระเจ้าตั้งไว้ "การเลือกระบอบการเมืองกับการเลือกผู้ปกครองบ้านเมืองนั้นให้เป็นเรื่องที่พลเมืองทำโดยเสรี" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 74)

 ความแตกต่างของระบอบการปกครองทางการเมืองยอมรับได้ทางศีลธรรม ขอแต่ให้ระบอบการปกครองนั้นไปด้วยกันได้กับประโยชน์ของชุมชนอย่างถูกต้อง ถ้าใช้ระบอบการปกครองตรงข้ามกับกฎธรรมชาติ ขัดแย้งกับระเบียบสาธารณะและสิทธิพื้นฐานของบุคคลแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุความดีส่วนรวมของนานาชาติซึ่งถูกกำหนดไว้

1902เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องไม่กำหนดความถูกต้องทางธรรมจากตัวเอง ต้องไม่ประพฤติตนอย่างเผด็จการ แต่ต้องดำเนินการเพื่อความดีส่วนรวมเสมือนเป็น "กำลังฝ่ายธรรมที่ขอพึ่งอำนาจเสรีภาพและความสำนึกถึงภาระหน้าที่ที่ได้รับ" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ 74.2)

นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวว่า "กฎหมายของมนุษย์นั้นมีลักษณะของกฎหมาย ถ้าสอดคล้องกับเหตุผลที่ถูกต้อง และได้รับจากธรรมบัญญัติถาวร ถ้าหากขาดเหตุผล ก็กล่าวได้ว่าไม่เป็นกฎหมายที่ยุติธรรม ดังนั้น จึงไม่มีธรรมชาติของกฎหมายมากมายนัก ค่อนข้างจะเป็นรูปแบบของความรุนแรง (STH 1-11,93,3,ad 2)

1903การใช้อำนาจอย่างถูกต้องคือการแสวงหาความดีส่วนรวมเพื่อกลุ่มด้วยความรอบคอบ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ต้องนำเอากฎทางศีลธรรมมาใช้ ถ้าปรากฏว่าผู้ปกครองนำเอากฎที่ไม่เป็นธรรมออกมาใช้  และใช้มาตราการตรงข้ามกับกฎทางศีลธรรม  การดำเนินการเช่นนั้นไม่ยึดกับมโนธรรม กรณีเช่นนั้น "ผู้มีอำนาจก็เลิกดำรงตำแหน่งต่ออย่างชัดเจน และรับผลของการใช้อำนาจในทางที่ผิด" (สมณสารสันติภาพบนโลก ข้อ 51)

1904"เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่อำนาจแต่ละฝ่ายก็ถ่วงให้เกิดดุลต่อกัน และโดยมิติด้านอื่นๆ ของความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยให้อำนาจอยู่ในขอบเขตที่ถูกต้อง นี่เป็นหลักการของ "กฎของกฎหมาย" ซึ่งกฎหมายเป็นอธิปไตย และไม่ใช่เป็นเจตจำนงของปัจเจกชนที่จะทำอะไรก็ได้" (การเฉลิมฉลองปีที่ 100 ข้อ44)