หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

มาตรา 1

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

  บุคคลและสังคม

1. ลักษณะที่อยู่เป็นกลุ่มชนของกระแสเรียกมนุษย์

1878มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้สู่จุดหมายเดียวกัน คือองค์พระเจ้า มีความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างเอกภาพของพระเจ้าและภราดรภาพ ซึ่งมนุษย์ต้องสร้างขึ้นท่ามกลางพวกเขาในความจริงและความรัก (เทียบ พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ 24.3) ความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั้นไม่อาจแยกจากความรักต่อพระเจ้าได้

1879มนุษย์จำเป็นต้องดำเนินชีวิตในสังคม สังคมไม่ใช่บางสิ่งที่เสริมเติมเข้ามาสำหรับมนุษย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องของธรรมชาติของเขา โดยทางความสัมพันธ์กับคนอื่น การบริการซึ่งกันและกัน และการสนทนากับพี่น้อง มนุษย์ก็พัฒนาศักยภาพของตนและก็ตอบสนองต่อกระแสเรียกของตน (เทียบ พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 25.1)

1880สังคมเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกันอย่างมีระเบียบ โดยหลักการแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งอยู่เหนือแต่ละคน ดังเช่นที่ประชุมที่พร้อมเพรียงทั้งทางจิตใจและเห็นได้ว่าเป็นสังคมที่คงอยู่ในกาลเวลามันรวบรวมอดีตและตระเตรียมสำหรับอนาคต มนุษย์แต่ละคนตั้งขึ้นมา "เป็นทายาท" อันเนื่องมาจากสังคมและรับ "ความสามารถ" ซึ่งเพิ่มเอกลักษณ์ของตนและเขาต้องพัฒนาผล (เทียบ ลก.19:13, 15)     แต่ละคนต้องอุทิศตนให้กับกลุ่มชนซึ่งตนเองมีส่วนอย่างชอบธรรม และให้ความเคารพต่อผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบในหน้าที่รักษาความดีส่วนรวม

1881แต่ละชุมชนถูกให้คำจำกัดโดยอาศัยจุดมุ่งหมาย และผลที่ตามมาก็ถือตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ แต่"เพราะบุคคลมนุษย์ ซึ่งโดยธรรมชาติต้องการเป็นสังคมอย่างเด็ดขาดนั้น ย่อมเป็นและต้องเป็นหัวใจและจุดมุ่งหมายของสถาบันสังคมทุกอย่าง" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 25)

1882แน่นอน สังคมเช่นครอบครัวและรัฐที่เจริญแล้ว ตอบสนองต่อธรรมชาติของมนุษย์ได้โดยตรง เป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกในชีวิตของสังคม  ควรสนับสนุนในการสร้างสมาคมและสถาบัน   "ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติที่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมในการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม กับการกีฬา สาขาอาชีพต่างๆ และกิจกรรมทางการเมือง" (พระสมณสารทัศนคติใหม่ทางปัญหาสังคม ข้อ 60) สังคมประกิต (Socialization) เช่นนี้แสดงออกถึงแนวโน้มตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งผลักดันผู้ที่เป็นมนุษย์นั้นให้คบหาสมาคมกันเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดหมายซึ่งอยู่เหนือความสามารถรายบุคคล สังคมนั้นพัฒนาความสามารถต่างๆ ของบุคคล โดยเฉพาะจิตตารมณ์แห่งการริเริ่มสร้างสรรและความหมายของการรับผิดชอบ สังคมก็ร่วมมือกันปกป้องสิทธิของตน (เทียบ พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ25.2; การเฉลิมฉลองปีที่ 100 ข้อ 12)

1883สังคมประกิตยังนำมาซึ่งภัยอันตรายต่างๆ การเข้ามาก้าวก่ายมากเกินไปของรัฐอาจขู่เข็ญเสรีภาพและความคิดริเริ่มส่วนบุคคลได้ คำสอนของพระศาสนจักรนั้นได้วางหลักการที่เรียกว่า หลักแห่งการช่วยเหลือกัน (Subsidiarity)  ตามหลักการนั้น "สังคมที่มีระเบียบเหนือกว่าต้องไม่เข้ามาแทรกแซงชีวิตภายในของสังคมที่มีระเบียบด้อยกว่า โดยทำให้ขาดการแข่งขัน แต่ต้องช่วยเหลือในกรณีจำเป็นและช่วยประสานงานการปฏิบัติการกับหน่วยอื่นๆ ทางสังคมเพื่อความดีร่วมกัน" (การเฉลิมฉลองปีที่ 100 ข้อ 48.4)

1884พระเจ้าไม่ทรงพระประสงค์สงวนการใช้อำนาจทั้งปวงไว้แต่ผู้เดียว พระองค์ทรงมอบอำนาจหน้าที่ต่างๆ ให้สิ่งสร้างทั้งหมดซึ่งอยู่ในระดับที่จะใช้ตามความสามารถของธรรมชาติของตน วิธีการปกครองนี้ควรปฏิบัติในชีวิตทางสังคม วิถีปฏิบัติของพระเจ้าในการปกครองโลกนั้น   ซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงการให้การปกป้องอย่างที่สุดกับเสรีภาพของมนุษย์ ดลใจความเฉลียวฉลาดของบรรดาผู้ซึ่งปกครองชุมชนมนุษย์ พวกเขาควรปฏิบัติเหมือนผู้ให้บริการแห่งพระญาณสอดส่องของพระเจ้า

1885หลักการให้ความช่วยเหลือกันนี้ขัดแย้งกับรูปแบบทั้งหลายแห่งลัทธิการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม (Collectivism) หลักการนั้นเจาะจงขอบเขตการเข้ามาก้าวก่ายของรัฐ ต้องมุ่งที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างรายบุคคลและสังคมให้เกิดความกลมกลืนกัน มีแนวโน้มจะสร้างระเบียบแท้จริงระหว่างนานาชาติ