หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. คุณธรรมทางเทววิทยา

1812คุณธรรมแบบมนุษย์นั้นหยั่งรากลึกลงไปในคุณธรรมทางเทววิทยา ซึ่งทำให้ความสามารถของมนุษย์เหมาะสมที่จะมีส่วนในพระธรรมชาติของพระเจ้า (เทียบ 2ปต. 1:4) คุณธรรมทางเทววิทยานั้นสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยตรง คุณธรรมนั้นจัดเตรียมบรรดาคริสตชนให้เจริญชีวิตในความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ เสมือนหนึ่งจุดเริ่มต้นและที่มาของพระเจ้าหนึ่งเดียวและสามพระบุคคล

1813คุณธรรมทางเทววิทยาเป็นพื้นฐานการกระทำทางศีลธรรมของคริสตชน คุณธรรมทางเทววิทยานั้นเป็นตัวนำการกระทำ และให้คุณลักษณะพิเศษ คุณธรรมทางเทววิทยาชี้แนะและทำให้คุณธรรมทางศีลธรรมมีชีวิตชีวา พระเป็นเจ้าประทานวิญญาณของสัตบุรุษเพื่อทำให้สามารถปฏิบัติเยี่ยงบุตรของพระเจ้าและสมควรได้รับชีวิตนิรันดร คุณธรรมนั้นเป็นหลักประกันที่แสดงว่าพระจิตเจ้าทรงประทับอยู่และทรงปฏิบัติการในความสามารถของมนุษย์ คุณธรรมทางเทววิทยามีสามประการได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก (เทียบ 1คร.13:13)

ความเชื่อ (FAITH)

1814ความเชื่อเป็นคุณธรรมทางเทววิทยาที่ช่วยให้เราเชื่อในพระเจ้า   เชื่อในทุกสิ่งซึ่งพระองค์ตรัสและทรงเผยแสดงแก่เรา  และสิ่งซึ่งพระศาสนจักรสั่งสอน เพราะเป็นความจริงใจตัวเอง ด้วยความเชื่อนั้น "มนุษย์มอบตนเองทั้งหมดแด่พระเจ้าโดยเสรี" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 5) เพราะเหตุนี้ ผู้มีความเชื่อแสวงหาที่จะรู้จักและกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า "ผู้ชอบธรรมจะเจริญชีวิตโดยทางความเชื่อ" (รม.1:7) ความเชื่อที่มีชีวิตนั้น "เกิดผลโดยทางความรัก" (กท.5:6; รม.1:17)

1815"ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณย่อมตายแล้วฉันใด ความเชื่อที่ไม่มีการกระทำก็ย่อมตายฉันนั้น" (ยก.2:26) เมื่อเอาความเชื่อแยกจากความหวังและความรัก ความเชื่อก็ไม่สามารถทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งกับพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และไม่สามารถทำให้เขาเป็นสมาชิกที่มีชีวิตชีวาในพระกายของพระองค์

1816สาวกของพระคริสตเจ้านั้นต้องไม่เพียงแต่เฝ้ารักษาและเจริญชีวิตด้วยความเชื่อเท่านั้น แต่ยังต้องยืนยันความเชื่อด้วย เป็นประจักษ์พยานด้วยความมั่นใจ และเผยแพร่ความเชื่อ  "ทุกๆ คนต้องเตรียมพร้อมที่จะประกาศพระคริสตเจ้าต่อหน้ามวลมนุษย์ และต้องดำเนินตามพระองค์ท่านไปตามทางแห่งไม้กางเขน  ขณะถูกเบียดเบียนเคี่ยวเข็ญ ซึ่งภัยอย่างนี้ไม่เคยหมดสิ้นไปในพระศาสนจักร" (พระศาสนจักร ข้อ 42) การให้บริการรับใช้และเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อนั้น มีความจำเป็นเพื่อความรอด "ทุกคนที่รับรู้เราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะรับผู้นั้นต่อหน้าพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราด้วย และใครๆ ที่ไม่รับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับรู้ผู้นั้นต่อหน้าพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราด้วย" (มธ.10:32-33)

ความหวัง (HOPE)

1817ความหวังเป็นคุณธรรมทางเทววิทยา ซึ่งโดยทางนี้เราปรารถนาพระราชัยสวรรค์และชีวิตนิรันดร์ให้เป็นความสุขของเรา โดยมอบความมั่นใจไว้ในคำมั่นสัญญาของพระคริสตเจ้าและไม่วางใจในพละกำลังของเราเอง แต่ด้วยพระหรรษทานความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า "เราจงยึดมั่นโดยไม่หวั่นไหวในการประกาศความหวังที่เรามีอยู่ เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงประทานพระสัญญานั้นทรงซื่อสัตย์" (ฮบ. 10:23)   "พระองค์ได้ทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงเหนือเราอย่างอุดมโดยทางพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเรา  เพื่อพระหรรษทานของพระองค์จะได้บันดาลให้เรากลับเป็นผู้ชอบธรรม และเป็นทายาทในความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร คำสอนนี้ควรเชื่อถือ" (ทต.3:6-7)

1818คุณธรรมแห่งความหวังนั้นตอบสนองการดลใจให้ได้รับความสุขซึ่งพระเจ้าได้ทรงตั้งไว้ในใจมนุษย์ทุกคน ความหวังนั้นดลใจให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ชำระเขาให้บริสุทธิ์เพื่อนำเข้าสู่พระราชัยสวรรค์ ช่วยมนุษย์ให้ไม่ท้อแท้ ช่วยค้ำจุนในทุกขณะที่ถูกทอดทิ้ง เปิดใจให้กว้างเพื่อรอคอยบรมสุขถาวร ความหวังช่วยมนุษย์จากการเห็นแก่ตัวและนำไปสู่ความสุขที่หลั่งไหลมาจากความรัก

1819ความหวังของคริสตชนเกิดขึ้นและสมบูรณ์ในประชากรผู้ได้รับเลือกสรร ซึ่งเป็นบ่อเกิดและแบบฉบับในความหวังของอับราฮัม ผู้ได้รับพระพรอย่างอุดมสมบูรณ์ โดยพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานอิสอัค และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์โดยการทดลองให้ถวายเป็นเครื่องบูชา (เทียบ ปฐก.17:4-8,22:1-18) ท่านเชื่อพระเจ้าและหวังว่าจะเป็นไปตามสัญญา ทั้งๆ ที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นท่านจึงเป็น "บิดาของประชาชาติมากมาย" (รม.4:18)

1820ความหวังของคริสตชนนั้นเปิดเผยตั้งแต่การเริ่มเทศนาของพระเยซูเจ้า ในบทเทศน์บนภูเขา บรมสุขนั้น ก็ยกระดับความหวังของเราสู่ฟ้าสวรรค์เสมือนเป็นแผ่นดินใหม่ตามพระสัญญา  บรมสุขนั้นคือการเดินตามรอย  โดยผ่านทางการทดลองต่างๆ คอยบรรดาอัครสาวกของพระเยซูเจ้า แต่อาศัยผลบุญกุศลของพระเยซูคริสตเจ้าและมหาทรมานของพระองค์ พระเจ้าได้ทรงเฝ้ารักษาเราไว้ใน "ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง" (รม.5:5)   ความหวังนั้นเป็นประดุจ "สมอที่ยึดจิตใจเราให้ปลอดภัยและมั่นคง ความหวังนี้จะผ่าน..." "ที่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปล่วงหน้าเพื่อเห็นแก่เรา" (ฮบ. 6:19-20) ความหวังยังเป็นอาวุธซึ่งปกป้องเราในการต่อสู้เพื่อความรอด "เราจงรู้จักประมาณตน... จงมีความเชื่อและมีความรักเป็นเกราะป้องกันหน้าอก จงมีความหวังที่จะได้รับความรอดพ้นเป็นดังเกราะป้องกันศีรษะ" (1ธส.5:8) ความหวังนั้นให้ความปิติยินดีแก่เราแม้ในยามถูกทดลอง  "จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงมีความอดทนต่อความทุกข์ยาก" (รม.12:12) ความหวังมีการแสดงออกและหล่อเลี้ยงในการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เป็นโดยสรุปทั้งหมดที่ความหวังทำให้เราปรารถนา

1821เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถหวังในพระสิริบนฟ้าสวรรค์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับผู้ซึ่งรักพระองค์ และทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ (เทียบ รม.8:28-30; มธ.7:21) ในทุกสถานการณ์ ทุกคนต้องหวังที่จะพากเพียร "จนถึงที่สุด" (มธ.10:22) ด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า และได้รับความปิติยินดีแห่งสวรรค์  เสมือนเป็นรางวัลถาวรของพระเจ้าสำหรับผลงานที่ดีที่ได้กระทำไปสำเร็จด้วยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ในความหวังนั้น พระศาสนจักร อธิษฐานให้ "มนุษย์ทุกคนได้รับความรอด" (1ทธ.2:4)  พระศาสนจักรปรารถนาที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เจ้าบ่าวของตน ในพระสิริแห่งฟ้าสวรรค์ นักบุญเทเรซา แห่งอาวิลลา กล่าวว่า

วิญญาณข้าเอ๋ย จงหวัง ไว้ใจ เจ้าไม่รู้จักวันและเวลา จงตื่นเฝ้าระวัง เพราะทุกสิ่งผ่านไปในสายลม แม้ความไม่อดทนของเจ้าก็อาจทำให้ไม่แน่ใจสิ่งซึ่งแน่นอน เวลานั้นยาวนานก็ดูเหมือนสั้นให้คิดว่ายิ่งต่อสู้มากเท่าไร    ก็ยิ่งทดสอบความรักที่เจ้ามีเพื่อพระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะยิ่งชื่นชม สักวันหนึ่ง พร้อมคนรักของเจ้า ในความสุขและความปลาบปลื้มสูงสุดที่จะไม่มีที่สิ้นสุดเลย

ความรัก  (CHARITY)

1822 ความรักเป็นคุณธรรมทางเทววิทยา ซึ่งโดยทางนี้เราก็รักพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใดเพราะเห็นแก่พระองค์ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองเพราะความรักต่อพระเจ้า

1823พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักนี้เป็นพระบัญญัติใหม่ (เทียบ ยน.13:34) พระองค์ทรงรักสาวกของพระองค์ "จนถึงที่สุด" (ยน.13:1) พระองค์ทรงแสดงความรักซึ่งได้รับจากพระบิดา สาวกเลียนแบบความรักของพระเยซูเจ้าซึ่งพวกเขาได้รับมาเมื่ออยู่กับพระองค์โดยการรักซึ่งกันและกัน พระเยซูเจ้าตรัสว่า "พระบิดาของเราทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด" (ยน.15:9) และยังตรัสว่า "นี่คือบัญญัติของเรา คือ ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนอย่างที่เราได้รักท่าน" (ยน.15:12)

1824ความรัก ผลของพระจิตเจ้าและความไพบูลย์แห่งพระบัญญัติ ถือตามพระบัญญัติของพระเจ้าและพระคริสตเจ้า "จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านถือพระบัญญัติของเรา ท่านก็ดำรงอยู่ในความรักของเรา" (ยน.15:9-10; เทียบ  มธ.22:40; รม.13:8-10)

1825พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเรา แม้เรายังเป็น "ศัตรู" (รม.5:10) พระเป็นเจ้าทรงเรียกร้องเราให้รักเหมือนพระองค์ รวมถึงรักศัตรูของเราด้วย เป็นเพื่อนบ้านกับผู้ที่อยู่ห่างไกล รักเด็กๆ และคนยากไร้เหมือนรักพระคริสตเจ้าเอง

นักบุญเปาโล อัครสาวก   พรรณาถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่หาที่เปรียบมิได้ว่า  "ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง (1คร.13:4-7)

1826"ถ้าไม่มีความรัก" ท่านอัครสาวกยังกล่าวไว้อีก "ข้าพเจ้าก็ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด" และทุกสิ่งซึ่งเป็นสิทธิพิเศษ การบริการรับใช้ จนถึงคุณธรรม... ปราศจากความรักแล้ว   "ข้าพเจ้าก็มิได้รับประโยชน์อันใด" (1คร.13:1-3) ความรักอยู่เหนือคุณธรรมทั้งปวง เป็นคุณธรรมทางเทววิทยาที่มาอันดับแรก "ขณะนี้ยังมีความเชื่อ ความหวัง และความรัก อยู่ทั้งสามประการ    แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งหมดคือความรัก" (1คร.13:13)

1827การปฏิบัติคุณธรรมทั้งปวงนั้นได้รับชีวิตและการดลใจจากความรัก ซึ่ง "รวมเราไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์" (คส.3:14) เป็นรูปแบบของคุณธรรม ตั้งไว้และจัดระเบียบท่ามกลางคุณธรรม เป็นที่มาและจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติของคริสตชน ความรักรับประกันและชำระความสามารถที่จะรักแบบมนุษย์ให้บริสุทธิ์ ยกระดับความรักให้สมบูรณ์เหนือธรรมชาติแบบความรักของพระเจ้า

1828การฝึกฝนปฏิบัติชีวิตทางศีลธรรมที่หล่อเลี้ยงด้วยความรักนั้นให้อิสรภาพฝ่ายจิต ในฐานะเป็นบุตรพระเจ้าแก่คริสตชน  คริสตชนมิได้อยู่ต่อหน้าพระเจ้าเสมือนเป็นทาส ในความเกรงกลัวเยี่ยงทาส ไม่ใช่เป็นเหมือนลูกจ้างเพื่อต้องการเงินเดือน แต่เป็นเหมือนบุตรซึ่งตอบสนองความรักของผู้ซึ่ง "ได้ทรงรักเราก่อน"  (1ยน.4:19) นักบุญบาซิล กล่าวว่า

ถ้าเราออกห่างจากความชั่ว เนื่องจากกลัวถูกลงโทษ  เราก็อยู่ในฐานะทาส  ถ้าเราเห็นแค่ค่าจ้าง เราก็เหมือนกับลูกจ้าง ท้ายสุด ถ้าเราเชื่อ เพราะความดีแล้ว และเนื่องจากความรักพระองค์ผู้ทรงสั่งเรา... เราก็อยู่ในฐานะบุตร

1829ผลของความรักคือความปิติยินดี สันติสุข และความเมตตากรุณา ความรักเรียกร้องความใจกว้าง และการแก้ไขข้อบกพร่องแบบพี่น้อง เป็นความหวังดี กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในผลประโยชน์ เป็นมิตรภาพและความกลมเกลียวกัน นักบุญออกัสติน กล่าวว่า

ความรัก คือ ความสำเร็จสมบูรณ์ของกิจการที่เรากระทำ นี่เป็นจุดหมายของเรา เพราะเหตุนี้ เราจึงวิ่ง เราวิ่งสู่จุดหมายนี้ เมื่อเรามาถึง เราก็จะพบการพักผ่อน