หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

ภาค 3

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ชีวิตในพระคริสตเจ้า

1691"โอ คริสตชนเอ๋ย จงรับรู้ศักดิ์ศรีของท่านเถิด และทำให้ตนมีส่วนร่วมกับธรรมชาติพระเจ้า  อย่ากลับไปสู่ความตกต่ำแต่เดิมด้วยการทำบาป   จงจดจำไว้ว่า ใครเป็นประมุขของท่าน และท่านเป็นสมาชิกขององค์ใด  อย่าลืมว่าใครช่วยชีวิตท่านจากอำนาจแห่งความมืดมาสู่แสงสว่างแห่งอาณาจักรพระเจ้า"  (นักบุญเลโอ องค์ใหญ่; PL 54,192 C)

1692สัญลักษณ์แห่งความเชื่อได้ประกาศความยิ่งใหญ่แห่งพรของพระเจ้าแก่มนุษย์ในผลงานการสร้าง และยิ่งกว่านั้นโดยทางการไถ่บาปและการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งซึ่งความเชื่อยืนยันนั้น ศีลศักดิ์สิทธิ์ได้แสดงความหมายคือ โดยอาศัย "ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเกิดใหม่" บรรดาคริสตชนได้กลายเป็น "บุตรของพระเป็นเจ้า" (ยน.1:12; 1ยน.3:1) "เข้ามามีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า" (2ปต.1:4)     บรรดาคริสตชนได้รับเรียกให้ประพฤติปฏิบัติ "คู่ควรกับข่าวดีของพระคริสตเจ้า"     (ฟป.1:27) พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตใหม่ได้   โดยอาศัยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าและพระพรของพระจิตเจ้า ซึ่งพวกเขาได้รับโดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์และการภาวนา

1693พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงกระทำสิ่งซึ่งเป็นที่พอพระทัยพระบิดาเจ้าเสมอ (เทียบ ยน. 8:29) พระองค์ได้ทรงเจริญชีวิตร่วมกับพระบิดาเจ้าโดยสมบูรณ์เสมอ ในทำนองเดียวกัน    บรรดาสาวกของพระองค์นั้นได้รับเชิญให้ดำเนินชีวิตภายใต้สาย-พระเนตรของพระบิดา "ผู้มองเห็นในที่เร้นลับ" (มธ.6:6) เพื่อที่จะได้กลายเป็น "คนดีบริบูรณ์ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีบริบูรณ์" (มธ.5:48)

1694ในศีลล้างบาป เราคริสตชนมีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า คริสตชนคือผู้ที่     "ได้ตายจากบาปแล้ว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู" (รม.6:11) ฉะนั้น จึงมีส่วนในชีวิตของพระเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ โดยติดตามพระคริสตเจ้า และร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ (เทียบ ยน.15:5) บรรดาคริสตชนสามารถวางตน "ทำตามแบบฉบับของพระเจ้า ประดุจบุตรสุดที่รักของพระองค์ จงดำเนินชีวิตในความรัก" (อฟ.5:1-2) ปรับเปลี่ยนแนวความคิด ถ้อยคำ และกิจการ ให้เหมือนอย่างที่ "พระคริสตเยซูทรงมีเถิด" (ฟป.2:5)  และเจริญรอยตามพระฉบับของพระองค์ (เทียบ ยน.13:12-16)

1695"ท่านได้รับความชอบธรรมแล้วเดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา" (1คร.6:11) "ผู้ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเยซู คือได้รับเรียกเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับทุกคนในทุกสถานที่" (1คร. 1:2)   คริสตชนกลายเป็น "วิหารของพระจิตเจ้า" (เทียบ 1คร.6:19) จิตตารมณ์ของพระบุตรนี้สอนเขาให้สวดอธิษฐานขอพระบิดาเจ้า (เทียบ กท.4:6) ทำให้เขาปฏิบัติในชีวิตเพื่อให้เกิด "ผลของพระจิตเจ้า" (เทียบ กท.5:22,25) โดยทางเมตตาจิต   พระจิตเจ้าทรงฟื้นฟูเราภายใน โดยการเปลี่ยนแปลงฝ่ายจิต (เทียบ อฟ.4:23) โดยการรักษาบาดแผลจากบาป พระองค์ส่องสว่างและทำให้เราเข้มแข็งเพื่อดำเนินชีวิตเยี่ยง "บุตรแห่งความสว่าง" (อฟ.5:8) โดยทาง "ความดี ความชอบธรรมและความจริงทุกประการ" (อฟ.5:8,9)

1696ทางของพระคริสตเจ้า "นำเราไปสู่ชีวิต" ส่วนหนทางตรงข้ามนั้น "นำไปสู่หายนะ" (มธ.7:13; เทียบ ฉธบ.30:15-20) นิทานเปรียบเทียบในพระวรสารเรื่องประตูสองทางนั้นมีอยู่ในคำสอนของพระศาสนจักรเสมอ นิทานนั้นชี้ให้เห็นความสำคัญของการตัดสินใจทางศีลธรรมเพื่อความรอดของเรา"มีสองทาง ทางหนึ่งนำไปสู่ชีวิต อีกทางหนึ่งนำไปสู่ความตาย ระหว่างทางสองสายนี้มีความแตกต่างกันมาก" (ดีดาเค 1,1)

1697การสอนคำสอนต้องเผยแสดงให้กระจ่างชัดถึงความปิติยินดี และข้อเรียกร้องในหนทางของพระคริสตเจ้า การสอนคำสอนสำหรับ "ชีวิตใหม่" (รม.6:4) ในพระองค์นั้นควรจะเป็น

คำสอนเกี่ยวกับพระจิตเจ้า พระอาจารย์แห่งชีวิตภายในตามพระคริสตเจ้า   แขกผู้อ่อนโยน และเพื่อนที่ดลบันดาลใจ ชักนำ ปรับปรุง ให้กำลังใจและทำให้ชีวิตนี้เข้มแข็ง

คำสอนเกี่ยวกับพระหรรษทาน เนื่องจากว่า โดยทางพระหรรษทานซึ่งเราได้รับความรอด และโดยทางพระหรรษทาน  งานของเราสามารถบังเกิดผลเพื่อชีวิตนิรันดร์ได้

คำสอนเกี่ยวกับความบรมสุข อันที่จริง หนทางของพระคริสตเจ้านั้นสรุปได้ในบุญลาภ หนทางเดียวที่มุ่งสู่ความสุขถาวร ซึ่งหัวใจมนุษย์ปรารถนา

คำสอนเรื่องบาปและการให้อภัย เนื่องจากว่า ถ้าไม่มีการยอมรับว่าเป็นคนบาป มนุษย์ก็ไม่สามารถรู้จักความจริงเกี่ยวกับตนเอง เงื่อนไขของการกระทำที่ถูกต้องและปราศจากการให้อภัยบาปก็ไม่อาจเกิดผลตามความจริงนี้ได้

คำสอนเรื่องคุณธรรมของมนุษย์ ซึ่งชักนำให้บุคคลหนึ่งรับความงดงาม มีความปรารถนาและความพร้อมที่ถูกต้องที่จะทำความดี

คำสอนเกี่ยวกับคุณธรรมคริสตชน ได้แก่ ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ซึ่งแบบอย่างของบรรดานักบุญดลใจเราอย่างมาก

คำสอนเรื่องพระบัญญัติแห่งความรักสองประการที่พัฒนาขึ้นมาจากพระบัญญัติสิบประการ

คำสอนของพระศาสนจักร  เพราะว่า เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยน "สิ่งประเสริฐฝ่ายจิตใจ ใน"สหพันธ์นักบุญ"   ซึ่งชีวิตคริสตชนสามารถเจริญงอกงามพัฒนาขึ้นมาและติดต่อสื่อสารกันได้

1698การอ้างอิงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของคำสอนนี้ก็คือพระเยซูคริสตเจ้าเอง     ผู้เป็น "หนทาง ความจริง และชีวิต" (ยน.14:6) บรรดาคริสตชนสามารถไว้วางใจได้ว่า พระองค์เองทำให้คำสัญญาต่างๆ เป็นจริงในพวกเขา และโดยรักพระองค์ แบบที่พระองค์ทรงรักพวกเขา พวกเขาสามารถปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของพวกเขา

"เราวิงวอนท่านให้พิจารณาว่า พระเยซูคริสตเจ้า องค์พระเจ้าของเราเป็นประมุขแท้จริงของท่าน และท่านก็เป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกของพระองค์ พระองค์เป็นของท่านเสมือนศีรษะต่ออวัยวะ ทุกสิ่งที่เป็นของพระองค์ก็เป็นของท่าน จิตใจของพระองค์ ดวงหทัยของพระองค์ พระกายของพระองค์ พระวิญญาณและความสามารถอื่นๆ ของพระองค์ ท่านต้องใช้ประโยชน์เสมือนว่าเป็นของท่านเอง  เพื่อบริการรับใช้ สรรเสริญ รักและถวายพระสิริแด่พระเจ้า ท่านเป็นของพระองค์ เสมือนอวัยวะเป็นของศีรษะ ในทำนองเดียวกัน พระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะใช้ทุกสิ่งที่อยู่ในตัวท่านเพื่อให้บริการและเพื่อพระสิริของพระบิดา เสมือนเป็นสิ่งที่เป็นของพระองค์" (นักบุญยอห์น เอิ๊ด)

สำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสตเจ้า (ฟป.1:21)