หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. ความสมัครใจในการแต่งงาน

 1625ผู้ที่จะกล่าวคำสัญญาแต่งงานคือ ชายและหญิงที่ได้รับศีลล้างบาป มีอิสระที่จะทำสัญญาแต่งงานและแสดงความสมัครใจอย่างอิสระ "เป็นอิสระ" หมายความว่า

* ไม่ได้ถูกบังคับ

* ไม่มีอุปสรรคขัดขวางตามกฎธรรมชาติ หรือของพระศาสนจักร

1626พระศาสนจักรถือว่า การสอบถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวเป็นองค์ประกอบที่จะขาดเสียมิได้ "ซึ่งทำให้เกิดการแต่งงาน" (กฎหมายพระศาสนจักร ม.1057 ข้อ 1) ถ้าขาดความยินยอมก็ไม่เป็นการแต่งงาน

1627ความสมัครใจประกอบอยู่ใน "การกระทำของมนุษย์ ซึ่งด้วยการกระทำนี้ สามีภรรยาต่างให้และรับซึ่งกันและกัน" "ผมรับคุณเป็นภรรยาของผม"-"ฉันรับเธอเป็นสามีของฉัน" การยินยอมนี้เชื่อมโยงคู่บ่าวสาวทั้งสองเข้าด้วยกัน ให้พบความสมบูรณ์ที่ว่าทั้งสองกลายเป็น "เนื้อเดียวกัน" (ปฐก.2:24; เทียบ มก.10:8; อฟ.5:31)

1628การยินยอมนี้ต้องเป็นการกระทำตามความสมัครใจของผู้ทำสัญญาแต่ละคน เป็นอิสระจากการถูกบังคับ หรือความกลัวจากการบีบบังคับที่ร้ายแรงกายนอก (เทียบ กฎหมาย ม.1103) ไม่มีอำนาจของมนุษย์ผู้ใดสามารถทดแทนความยินยอมนี้ (เทียบ กฎหมาย ม.1057.1) ถ้าอิสรภาพเช่นนั้นขาดไป การแต่งงานถือเป็นโมฆะ

1629ด้วยเหตุนี้ (หรือด้วยเหตุผลอื่นที่ทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ) หลังจากที่มีการตรวจสอบจากศาลของพระศาสนจักรแล้ว พระศาสนจักรสามารถประกาศ "การเป็นโมฆะของการแต่งงาน" มีอำนาจหน้าที่จะกล่าวว่าการแต่งงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้น ในกรณีนี้ผู้ที่ตกลงทั้งสองฝ่ายจะเป็นอิสระจากการเป็นสามีภรรยากัน พ้นจากข้อผูกมัดตามธรรมชาติอันสืบเนื่องมาจากการเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อก่อนนั้น (เทียบ กฎหมาย ม.1071)

1630พระสงฆ์ (หรือสังฆานุกร) ที่อยู่ในพิธีสมรส รับความสมัครใจของคู่บ่าวสาวในนามของพระศาสนจักร และให้พรในนามของพระศาสนจักร การอยู่ของศาสนบริกรของพระ-ศาสนจักร (และเป็นพยานด้วย) แสดงออกถึงสิ่งที่เห็นได้ว่าเป็นพระศาสนจักรที่แท้จริง

1631ด้วยเหตุนี้ โดยปกติพระศาสนจักรเรียกร้องให้สัตบุรุษปฏิบัติตามรูปแบบของพระ-ศาสนจักรสำหรับพิธีสมรสตามเหตุผลดังนี้

* ศีลสมรสเป็นกิจการทางพิธีกรรม ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่จะประกอบพิธีตามพิธีกรรมของพระศาสนจักร

* ศีลสมรสนำผู้หนึ่งเข้ามามีลำดับขั้นตอน ตามแบบของพระศาสนจักรและทำให้ได้รับสิทธิ และหน้าที่ในพระศาสนจักรระหว่างคู่สมรสและบรรดาบุตร

* เนื่องด้วยศีลสมรสเป็นวิถีชีวิตของพระศาสนจักร จึงจำเป็นที่จะต้องมีความแน่ใจในศีลสมรสนี้ (ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีพยานในพิธี)

* ลักษณะการแสดงการสมัครใจในพิธีสมรส "ข้าพเจ้า..." ที่กล่าวอย่างเปิดเผย และช่วยให้คู่บ่าวสาวซื่อสัตย์ต่อสัญญานี้

1632เพื่อให้การแสดงการยินยอมของคู่บ่าวสาวเป็นการกระทำที่อิสระและรับผิดชอบ และเพื่อว่าพันธสัญญาแห่งศีลสมรสเป็นที่มั่นคง เป็นแบบมนุษย์และมีพื้นฐานคริสตชน การเตรียมคู่สมรสจึงมีความสำคัญอันดับแรก

ตัวอย่างและการสอนของพ่อแม่และครอบครัวเป็นสิ่งที่จะคงอยู่ในการก้าวเข้าสู่การเตรียมตัวนี้

บทบาทของผู้อภิบาลและกลุ่มคริสตชนเป็นเสมือน "ครอบครัวของพระเป็นเจ้า"  เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะถ่ายทอดคุณค่าของมนุษย์และคริสตชนเพื่อการสมรสและครอบครัว  (เทียบ กฎหมาย ม.1063) และจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะคนหนุ่มสาวมากมายต้องประสบกับปัญหาในครอบครัว ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่ใจในการเริ่มต้นนี้

"ต้องสอนเยาวชนในเวลาอันควรและอย่างเหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรสอนในครอบครัวเองให้รู้ว่า ความรักของสามีภรรยามีศักดิ์ศรีอย่างไร มีหน้าที่อะไรและต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อสอนให้เขาถือความบริสุทธิ์ดังนี้ และเมื่ออายุอันสมควรแล้ว เขาจะได้แต่งงาน หลังจากได้ทำการหมั้นอย่างมีเกียรติ" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 49)

การแต่งงานที่ผสมผสานกัน (Mixed Marriage and disparity of cult)

1633ในหลายประเทศมีสถานการณ์การแต่งงานที่ผสมผสานกันค่อนข้างบ่อย (ระหว่างคาทอลิกและผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปที่ไม่ใช่คาทอลิก) สถานการณ์เช่นนี้เรียกร้องความสนใจพิเศษของคู่สามีภรรยาและบรรดาผู้อภิบาลสัตบุรุษ กรณีการแต่งงานที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม (ระหว่างคาทอลิกและผู้ไม่รับศีลล้างบาป) เรียกร้องการตรวจสอบพิจารณามากขึ้นอีก

1634ความแตกต่างด้านความเชื่อระหว่างคู่สามีภรรยา  ไม่สร้างอุปสรรคที่ไม่อาจเอาชนะได้สำหรับการแต่งงาน เมื่อเขาพยายามเอาสิ่งที่เขาแต่ละคนได้รับในชุมชนของตนมาไว้ร่วมกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกันถึงวิธีที่แต่ละคนดำเนินชีวิต ซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า แต่ปัญหาการแต่งงานที่ผสมผสานกันต้องไม่ถูกตีคุณค่าต่ำ ปัญหานั้นต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า การแบ่งแยกของคริสตชนยังไม่ได้รับการแก้ไข คู่บ่าวสาวเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความสลดใจที่พวกคริสตชนแตกแยกกันอยู่ภายในบ้าน ในครอบครัวเขาเอง ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมสามารถทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นอีกในเวลาต่อไป ความแตกต่างด้านความเชื่อ แนวความคิดเรื่องการแต่งงานและจิตตารมณ์ทางศาสนาที่แตกต่างกัน อาจเป็นสาเหตุของความตึงเครียดในการแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้การศึกษาบุตร แล้วก็จะเกิดแนวโน้มเรื่องหนึ่งขึ้นมา คือ ความเฉยเมยทางด้านศาสนา

1635ตามกฎหมายในพระศาสนจักรลาติน การแต่งงานที่ผสมผสานกันจำต้องมีการขออนุญาตจากผู้มีอำนาจในพระศาสนจักร (เทียบ กฎหมาย ม.1124) เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายพระศาสนจักร ในกรณีที่แตกต่างด้านวัฒนธรรม มีการเรียกร้องให้มีการขออนุญาตเพื่อให้การแต่งงานถูกต้อง (เทียบ กฎหมาย ม.1086) การอนุญาตนี้แสดงว่า ทั้งสองฝ่ายรู้จักและไม่ละเลยจุดหมายและคุณสมบัติที่สำคัญของการแต่งงาน ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายคาทอลิกต้องยืนยันข้อบังคับ ซึ่งฝ่ายที่มิใช่คาทอลิกรับทราบ เรื่องการรักษาความเชื่อของตน การโปรดศีลล้างบาปและการอบรมลูกในพระศาสนจักรคาทอลิก (เทียบ กฎหมาย ม.1125)

1636ในหลายภูมิภาค คริสตชุมชนมีการเสวนาการฟื้นฟูเอกภาพระหว่างคริสตจักร สามารถจัดการอภิบาลร่วมกันสำหรับการแต่งงานที่ผสมผสานกันได้ หน้าที่ของเขาคือช่วยคู่สมรสเหล่านี้ให้ดำเนินชีวิตในสถานการณ์พิเศษตามแสงสว่างแห่งความเชื่อ การอภิบาลนี้ยังต้องช่วยเขาให้ชนะความตึงเครียดท่ามกลางข้อบังคับของคู่สามีภรรยาของกันและกัน และต่อคริสตชุมชนของเขาด้วย ต้องให้กำลังใจสนับสนุนการพัฒนาสิ่งซึ่งเป็นของร่วมกันในความเชื่อ และให้ความเคารพสิ่งซึ่งทำให้เขาแตกต่างกัน

1637คู่สมรสที่เป็นคาทอลิกมีหน้าที่พิเศษในการแต่งงานที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม อันที่จริง "เพราะสามีที่ไม่ใช่คริสตชนได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางภรรยา และภรรยาที่มิใช่คริสตชนก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า โดยทางสามีคริสตชน" (1คร.7:14) ความยินดียิ่งใหญ่สำหรับฝ่ายคริสตชนและสำหรับพระศาสนจักร ถ้า "ฝ่ายที่ได้รับการเจิม" สามารถทำให้คู่ของตนกลับใจอย่างอิสระมาสู่ความเชื่อคริสตชน  ความรักจริงใจของคู่สามีภรรยา  การปฏิบัติที่สุภาพถ่อมตน ความอดทนของคุณธรรมทางการครองเรือนและการอธิษฐานที่สม่ำเสมอ  สามารถตระเตรียมคู่สามีหรือภรรยาที่ไม่เชื่อให้รับพระหรรษทานมาสู่การกลับใจ