หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

5. เครื่องบูชาศีลศักดิ์สิทธิ์ การขอบพระคุณ การรำลึก การประทับอยู่

1356ถ้าบรรดาคริสตชนประกอบพิธีมิสซาตั้งแต่เริ่มแรก และในรูปแบบซึ่งในสาระสำคัญไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแม้จะมีความแตกต่างมากในด้านของเวลา และก็เพราะว่า เราทราบว่าเรามีสายสัมพันธ์จากพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ให้ไว้ก่อนวันรับพระทรมานว่า "จงทำดังนี้ เพื่อระลึกถึงเราเถิด" (1คร.11:24-25)

1357เราเชื่อฟังคำบัญชานี้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยการประกอบพิธีรำลึกถึงบูชาของพระองค์ โดยกระทำเช่นนี้ เราถวายสิ่งที่พระองค์เองได้ให้แก่เราแด่พระบิดา คือของประทานจากสิ่งสร้าง ปังและเหล้าองุ่น ซึ่งกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า      โดยอาศัยพระอานุภาพของพระจิตเจ้าและพระวาจาของพระคริสตเจ้า ดังนั้น พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริงและอย่างลึกลับด้วยวิธีนี้

1358เหตุฉะนี้เราต้องพิจารณาศีลมหาสนิทว่า

เป็นการขอบคุณและการสรรเสริญพระบิดาเจ้า

เป็นการรำลึกถึงเครื่องบูชาของพระคริสตเจ้าและพระกายของพระองค์

เป็นการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า อันเนื่องมาจากพระอานุภาพพระวาจาของพระองค์และของพระจิตเจ้า การขอบพระคุณและการสรรเสริญพระบิดา

1359การโมทนาคุณเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอดที่สำเร็จไป โดยที่พระคริสตเจ้าได้ทรงทำบนไม้กางเขน ยังเป็นเครื่องบูชาแห่งการสรรเสริญเพื่อการขอบพระคุณเพราะผลงานแห่งการสร้าง ในพิธีบูชามิสซา สิ่งสร้างทั้งปวงที่พระเจ้าทรงรักนั้นได้ถูกนำเสนอแด่พระบิดาเจ้าโดยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า อาศัยพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรสามารถถวายเครื่องบูชาแห่งการสรรเสริญเพื่อขอบพระคุณสำหรับทุกสิ่งซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำในสิ่งที่ดี ที่งดงาม และที่ยุติธรรมในการสร้างโลกและในมนุษยชาติ

1360ศีลมหาสนิทเป็นเครื่องบูชาแห่งการขอบพระคุณพระบิดา เป็นการอวยพรซึ่งพระ-ศาสนจักรแสดงความกตัญญูต่อพระเจ้าสำหรับสิ่งดีงามทั้งมวลของพระองค์  สำหรับทุกสิ่งซึ่งพระองค์ได้กระทำโดยทางการสร้าง การไถ่และการทำให้ศักดิ์สิทธิ์  มิสซาหมายถึงก่อนอื่นใดหมดคือ "การขอบพระคุณ"

1361มิสซายังเป็นเครื่องบูชาแห่งการสรรเสริญ ซึ่งพระศาสนจักรร้องเพลงถวายเกียรติพระเจ้าในนามของสิ่งสร้างทั้งมวล เครื่องบูชาแห่งการสรรเสริญนั้นเป็นไปได้อย่างเดียวโดยทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น พระองค์ทรงรวบรวมบรรดาผู้มีความเชื่อกับพระบุคคลของพระองค์ ในการสรรเสริญและการวอนขอของพระองค์ เพื่อว่าการบูชาแห่งการสรรเสริญที่เราถวายแด่พระบิดาโดยอาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระองค์ และจะได้รับการยอมรับในพระองค์

การรำลึกถึงเครื่องบูชาของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักร พระกายของพระองค์

1362มิสซาเป็นการระลึกถึงปัสกาของพระคริสตเจ้า เป็นการทำให้เครื่องบูชาเดียวทางพิธีกรรมของพระองค์นั้นเป็นปัจจุบัน ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์ บทขอบพระคุณ (ในมิสซา) เราพบการอธิษฐานที่เรียกว่าบทรำลึกถึง (anamnesis)  ภายหลังถ้อยคำของการตั้งศีล

1363ตามความคิดในพระคัมภีร์   การรำลึกไม่เพียงเป็นการระลึกจดจำถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น แต่เป็นการประกาศสิ่งมหัศจรรย์ที่พระเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อมวลมนุษย์ (เทียบ อพย. 13:3) เหตุการณ์นี้ทางพิธีกรรมส่งผลให้ยังคงอยู่และเป็นปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ชาวอิสราเอลจึงเข้าใจถึงการได้รับอิสรภาพจากชาวอียิปต์ ทุกครั้งที่มีการฉลองปัสกา เหตุการณ์ต่างๆ ของช่วงการอพยพก็มาปรากฏอยู่จริงในความทรงจำของบรรดาผู้มีความเชื่อ เพื่อเขาจะได้ทำให้ชีวิตของเขาสอดคล้องกับเหตุการณ์เหล่านั้น

1364ในพันธสัญญาใหม่ การระลึกนั้นได้รับความหมายใหม่ เมื่อพระศาสนจักรประกอบพิธีมิสซา ก็ทำการรำลึกถึงปัสกาของพระคริสตเจ้าและทำให้เป็นปัจจุบัน เป็นเครื่องบูชาที่พระคริสตเจ้าได้ทรงถวายบนไม้กางเขนเพียงครั้งเดียว แต่คงอยู่เป็นปัจจุบันตลอดไป (เทียบ ฮบ.7:25-27) ทุกครั้งที่เครื่องบูชาแห่งกางเขน ซึ่ง "พระคริสตเจ้า องค์ปัสกาของเราถูกถวายเป็นบูชาบนพระแท่น งานการกอบกู้ชาวเราสำเร็จไป" (พระศาสนจักร ข้อ3 ; เทียบ 1คร.5:7)

1365ศีลมหาสนิทยังเป็นเครื่องบูชาในแง่ที่เป็นการระลึกถึงปัสกาของพระคริสตเจ้า ลักษณะที่เป็นเครื่องบูชาของศีลมหาสนิทนั้นสำแดงออกมาในถ้อยคำของการตั้งศีลนี้เองที่ว่า "นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย" และ "ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเรา ซึ่งถูกหลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย" (ลก.22:19-20) ในศีลมหาสนิทนั้น พระคริสตเจ้าทรงประทานพระกายของพระองค์ ซึ่งได้ทรงมอบเพื่อเราบนไม้กางเขน พระองค์ทรงประทานพระโลหิตเดียวกันนั้นซึ่งพระองค์ "หลั่งออกมาสำหรับคนจำนวนมาก" (มธ.26:28)

1366เหตุฉะนั้น มิสซาจึงเป็นเครื่องบูชา เพราะว่าทำให้เครื่องบูชาบนกางเขนเป็นปัจจุบันอยู่อีก (re-presents) เพราะเป็นการระลึกถึงและเพราะศีลมหาสนิทประทานพระพรให้

(พระคริสตเจ้า) องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของเรา ได้ถวายพระองค์เองแด่พระบิดา โดยการสิ้นพระชนม์บนพระแท่นของไม้กางเขนเพื่อการไถ่บาปให้สำเร็จผลถาวร แต่เพราะสังฆภาพของพระองค์มิได้จบพร้อมกับการสิ้นพระชนม์ ในอาหารค่ำมื้อสุดท้าย คืนซึ่งพระองค์ทรงถูกทรยศ ทรงพระประสงค์ที่จะมอบเครื่องบูชาที่แลเห็นได้ให้กับพระศาสนจักร เจ้าสาวสุดที่รักของพระองค์ (ตามที่ธรรมชาติมนุษย์เรียกร้อง) ซึ่งมีความหมายถึงเครื่องบูชาที่หลั่งเลือดนั้น ซึ่งคงจะได้ถวายครั้งเดียว แต่มีผลสำหรับทุกคนตลอดไปบนไม้กางเขน ทำให้เป็นปัจจุบันอีกครั้ง เป็นการสานต่อการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้นจนจวบสิ้นโลก และโดยการประยุกต์ใช้ประสิทธิผลแห่งความรอดกับการยกบาปในชีวิตประจำวันของเรา (สังคายนาแห่งเตร็นท์ ปี 1562 เทียบ 1คร.11:23; ฮบ.7:24,27)

1367การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าและการถวายบูชาศีลมหาสนิทเป็นการถวายบูชาเดียวกัน "อันที่จริง เป็นบูชายัญที่เหมือนกันทุกอย่าง และเป็นองค์พระเยซูเจ้าเองที่ทรงถวายอาศัยศาสนบริกรของสงฆ์ ผู้มอบตนเองบนไม้กางเขน เพียงแต่วิธีการมอบตนเองเท่านั้นแตกต่างกัน" และเพราะในสักการะบูชาที่เราเรียกว่ามิสซานี้ "พระคริสตเจ้าพระองค์เองซึ่งทรงถวายตนเพียงครั้งเดียวในวิธีหลั่งเลือดบนพระแท่นแห่งไม้กางเขน ทรงประทับอยู่และถูกถวายแบบไม่หลั่งเลือด... บูชานี้ทำให้เกิดสันติสุขจริงๆ" (สังคายนาแห่งเตร็นท์ ปี 1562; DS 1743 เทียบ ฮบ.9:14,27)

1368ศีลมหาสนิทยังเป็นการถวายบูชาของพระศาสนจักร พระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระคริสตเจ้ามีส่วนร่วมกับการถวายของศีรษะ พระศาสนจักรเองได้ถวายตนทั้งครบพร้อมกับพระองค์ พระศาสนจักรรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการวอนขอความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้าต่อพระบิดาเพื่อมนุษย์ทุกคน ในมิสซานั้นการบูชาพระคริสตเจ้ากลายเป็นเครื่องบูชาของสมาชิกของพระกายของพระองค์ด้วย ชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อ     คำสรรเสริญของเขา ความทุกข์ทรมาน การอธิษฐานและการทำงานรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับของพระคริสตเจ้าและการถวายตนทั้งครบของพระองค์ และในวิธีนี้ก็ได้คุณค่าใหม่ เครื่องบูชาพระคริสตเจ้าที่อยู่บนพระแท่นนั้นเสนอความเป็นไปได้ที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับการถวายของพระองค์แก่คริสตชนทุกยุคทุกสมัย

ในอุโมงค์ฝังศพ (catacomb) นั้น พระศาสนจักรใช้รูปแทนพระศาสนจักรเป็นผู้หญิงที่กำลังอธิษฐาน กางแขนออก อยู่ในท่าของผู้ที่กำลังสวดอธิษฐาน เหมือนพระ- คริสตเจ้าได้ทรงกางแขนบนไม้กางเขนอย่างไร พระศาสนจักรก็เสนอตนและวอนขอเพื่อมนุษย์ทุกคนโดยอาศัยพระองค์ พร้อมกับพระองค์และในพระองค์อย่างนั้น

1369พระศาสนจักรทั้งมวลรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับของถวายและคำภาวนาอ้อนวอนของ พระคริสตเจ้า พระสันตะปาปาได้ทำหน้าที่ศาสนบริกรของเปโตรในพระศาสนจักร ท่านรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพิธีมิสซา  ซึ่งในนั้นได้มีการเอ่ยนามว่าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์เป็นผู้รับใช้ของพระศาสนจักรสากล พระสังฆราชท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบมิสซาด้วย แม้เมื่อมีพระสงฆ์นั่งเป็นประธาน มีการเอ่ยนามของพระสังฆราชในที่ชุมนุมเพื่อให้มีความหมายว่า ท่านเป็นประธานของพระศาสนจักรท้องถิ่น โดยท่ามกลางคณะสงฆ์ของท่านและพร้อมกับมีสังฆานุกรช่วยเหลือ ชุมชนนั้นวอนขอสำหรับศาสนบริกรทุกคน ซึ่งถวายบูชามิสซา เพื่อพระศาสนจักรและพร้อมกับพระศาสนจักร

มิสซาซึ่งได้รับการเสกโดยพระสังฆราชหรือผู้ที่พระสังฆราชมอบอำนาจให้เท่านั้น จึงถือว่าถูกต้อง (น.อิกญาซีโอ แห่งอันติโอค)

"การปฏิบัติงานของพระสงฆ์ทำให้เครื่องบูชาฝ่ายจิตของสัตบุรุษดีพร้อม เมื่อร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเครื่องบูชาของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นคนกลางแต่ผู้เดียว เครื่องบูชาของพระองค์นั้นถวายโดยมือของพระสงฆ์ในมิสซา ในนามของพระศาสนจักรทั้งหมดในรูปแบบศีลศักดิ์สิทธิ์และไม่หลั่งเลือด จนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเองจะเสด็จมา" (การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 2 วรรค 4)

1370การถวายของพระคริสตเจ้าเป็นการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เพียงแต่สมาชิกซึ่งยังอยู่บนแผ่นดินโลกเท่านั้น แต่บรรดาผู้ซึ่งอยู่ในพระสิริบนสวรรค์ด้วย  อันที่จริง พระศาสนจักร ถวายเครื่องบูชาศีลมหาสนิทร่วมกับพระนางพรหมจารีมารีอาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง โดยทำการระลึกถึงพระนางเช่นเดียวกับนักบุญชายหญิงทั้งหลาย ในมิสซานั้นพระศาสนจักรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับของถวายและคำวอนขอของพระคริสตเจ้าพร้อมกับพระนางมารีอาเสมือนอยู่ที่แทบเชิงกางเขน

1371ยังมีการถวายบูชามิสซาเพื่อบรรดาผู้มีความเชื่อที่ล่วงลับไปแล้ว "ซึ่งล่วงลับไปในพระ- คริสตเจ้าและยังไม่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์" (สังคายนาแห่งเตรนต์ 1562; DS 1743) เพื่อให้สามารถเข้าสู่แสงสว่างและสันติสุขแห่งพระคริสตเจ้า

อย่าลำบากเพราะศพของแม่ ลูกจะฝังไว้ที่ไหนก็ได้ แม่ขอเพียงเรื่องเดียว จงระลึกถึงแม่ที่ใดก็ตามที่ลูกอยู่ที่พระแท่นขององค์พระผู้เป็นเจ้า (น.มอนิกา พูดกับ น.ออกัสติน)

ต่อมา (ในบทสร้อย) เรายังสวดอธิษฐานเพื่อพระสันตะปาปาและพระสังฆราชผู้ล่วงลับ และโดยทั่วไปสำหรับทุกคนผู้ซึ่งหลับพักผ่อนก่อนหน้าเรา มีความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้เป็นผล-ประโยชน์ยิ่งใหญ่สำหรับวิญญาณซึ่งได้มีการสวดอ้อนวอนอุทิศให้ ในขณะที่มีบูชายัญอันศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์และน่าเกรงขาม... ถวายคำภาวนาแด่พระเป็นเจ้าเพื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นคนบาปก็ตาม... เราถวายพระคริสตเจ้าที่ทรงถูกบูชาเพราะบาปของเรา เพื่อจะทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัยสำหรับเราทุกคนพระเจ้าผู้ทรงรักมนุษย์ (น.ซิริล แห่งเยรูซาเล็ม)

1372นักบุญออกัสติน ได้สรุปข้อความเชื่อนี้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งเชื้อเชิญเราให้มีส่วนเข้าร่วมกับเครื่องบูชาของพระมหาไถ่ของเรา ซึ่งเราฉลองกันในศีลมหาสนิทให้เต็มที่ยิ่งขึ้นเสมอ

นครที่ได้รับความรอดอย่างสมบูรณ์นี้ คือชุมชนและสังคมของบรรดานักบุญถวายเครื่องบูชาสากลแด่พระเจ้า โดยอาศัยมหาสมณะซึ่งได้ทรงอุทิศตนเองในพระมหาทรมานเพื่อเรา โดยทรงรับรูปแบบของทาสและตั้งเราให้เป็นกายของพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะที่มีความสำคัญยิ่งนัก... นี่คือเครื่องบูชาของบรรดาคริสตชน "แม้เราจะมีจำนวนมาก เราก็รวมเป็นร่างกาย-เดียวในพระคริสตเจ้า" (รม.12:5) และพระศาสนจักรรื้อฟื้นกายนี้อย่างต่อเนื่องในศีลศักดิ์สิทธ์บนพระแท่น อันเป็นที่รู้จักของผู้มีความเชื่อที่ซึ่งมีการแลเห็นว่าในของถวายนั้นคือพระ-ศาสนจักร (น.ออกัสติน; เทียบ รม.12:5)

การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าโดยพระอานุภาพแห่งพระวาจาของพระองค์และพระจิตเจ้า

1373"พระคริสตเยซูได้ทรงสิ้นพระชนม์ ทั้งยังได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ประทับอยู่เบื้องขวาของพระเจ้า ทรงอ้อนวอนแทนเราอีกด้วย" (รม.8:34; เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 48) พระองค์ประทับอยู่ในพระศาสนจักรหลายวิธีด้วยกัน กล่าวคือ ในพระวาจา ในการสวดอธิษฐานของพระศาสนจักร "ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา" (มธ.18:20) ในผู้ยากไร้ ในผู้ป่วยไข้ ในผู้ถูกจองจำ (เทียบ มธ.25:31-46) ในศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์เป็นผู้แต่งตั้ง ในบูชามิสซาและในศาสนบริกร แต่ "โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิท" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 7)

1374วิธีประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าภายใต้รูปปรากฏของศีลมหาสนิทนั้นไม่เหมือนใคร ทำให้ศีลมหาสนิทอยู่เหนือศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ทั้งหมดและเป็น "เสมือนความสมบูรณ์ของชีวิต-ฝ่ายจิตและจุดหมายซึ่งทุกศีลศักดิ์สิทธิ์มุ่งไปสู่" (นักบุญโทมัส อไควนัส) ในศีลมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนั้น "บรรจุพระกาย พระโลหิต พระวิญญาณ และพระเทวภาพของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างแท้จริง และดังนั้นจึงเป็นพระคริสตเจ้าทั้งครบ" (สังคายนาแห่งเตร็นท์ 1551 : DS 1651) "การประทับอยู่เช่นนี้เรียกกันว่า "จริง" (real) ไม่ได้มีเจตนาเสมือนกับว่าตัดการอยู่แบบอื่นๆ ว่าไม่จริง แต่เป็นการอยู่ที่สมบูรณ์เพราะว่าเป็นสาระสำคัญ (substantial) และอันเนื่องมาจากพระคริสตเจ้า มนุษย์-พระเจ้า ทรงประทับอยู่ทั้งครบ" (พระสันตะปาปา เปาโลที่ 6,  ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ข้อ 39)

1375พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยทางการเปลี่ยนปังและเหล้าองุ่นให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์   บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรเสมอมาในประสิทธิผลของพระวาจาแห่งพระคริสตเจ้า และเดชะการกระทำของพระจิตเจ้า นักบุญยอห์น คริสโซสโตมประกาศว่า

"ไม่ใช่มนุษย์ที่ทำให้ของถวายกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า แต่เป็นพระคริสตเจ้า พระองค์เองผู้ได้ถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา พระสงฆ์ ผู้รับบทบาทของพระคริสต-เจ้านั้นกล่าวถ้อยคำนั้น แต่อานุภาพและพระหรรษทานนั้นเป็นของพระเจ้า พระสงฆ์กล่าวว่า "นี่คือกายของเรา" และถ้อยคำนี้เปลี่ยนแปลงของถวาย"

และนักบุญอัมโบรส พูดถึงการเปลี่ยนนี้ว่า

"จงมั่นใจได้ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการภาวนาเสกศีล อานุภาพของการเสกเด่นกว่าธรรมชาติ เพราะการเสกเปลี่ยนธรรมชาติ พระวาจาของพระคริสตเจ้าซึ่งสามารถเนรมิตสิ่งที่ไม่มีอยู่ จะไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นมาก่อนหรือ ความสามารถที่จะให้ธรรมชาติต้นกำเนิดแก่สิ่งใดๆ ก็เท่ากับการเปลี่ยนธรรมชาติของสิ่งนั้น" (PL 16,422-423)

1376สังคายนาแห่งเตร็นท์ สรุปความเชื่อคาทอลิกโดยประกาศว่า "เนื่องจากพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราได้ตรัสไว้ว่า  สิ่งซึ่งถวายภายใต้รูปปรากฏของปังนั้นเป็นพระกายของพระองค์อย่างแท้จริง ในพระศาสนจักรของพระเจ้านั้นได้มีความเชื่อมั่นเสมอมา และพระสังคายนานี้ขอประกาศอีกว่า โดยการเสกปังและเหล้าองุ่นให้เปลี่ยนเป็นพระกายพระคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และสาระสำคัญทั้งมวลของเหล้าองุ่นนั้นเปลี่ยนเป็นสาระสำคัญของพระโลหิตของพระองค์ การเปลี่ยนแปลงนี้พระศาสนจักรคาทอลิกจึงเรียกว่าการเปลี่ยนแปลง (Transubstantiation) ในสาระจากสารัตถะหนึ่งไปเป็นสารัตถะหนึ่ง" (DS 1641; เทียบ มธ.26:26 ff; มก.14:22 ff; ลก.22:19 ff; 1คร.11:24 ff)

1377การประทับอยู่ในศีลมหาสนิทของพระคริสตเจ้านั้นเริ่มในขณะเสกศีล และต่อเนื่องจนถึงศีลมหาสนิทยังคงอยู่ พระคริสตเจ้านั้นประทับอยู่ทั้งหมดและครบครันในแต่ละปังตามส่วนนั้น ดังนั้น ในวิธีการนี้ การบิปังนี้จึงไม่แบ่งพระคริสตเจ้า (เทียบ สังคายนาแห่งเตร็นท์ DS 1641)

1378การนมัสการศีลมหาสนิท ในพิธีมิสซานั้นเราแสดงความเชื่อของเราในการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่นด้วยการคุกเข่าหรือด้วยการโค้งลงลึกๆ เป็นเครื่องหมายของการนมัสการต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า "พระศาสนจักรคาทอลิกเปิดโอกาสให้คริสตชนนมัสการศีลมหาสนิทไม่เพียงระหว่างเวลามิสซาเท่านั้น แต่ยังนอกเวลาการฉลองด้วย โดยเก็บรักษาศีลที่เสกไว้แล้วด้วยความเอาใจใส่สูงสุด โดยการนำแสดงให้บรรดาสัตบุรุษนมัสการอย่างสง่า และโดยการนำศีลนี้ไปในกระบวนแห่" (พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6, ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ข้อ 56)

1379ตู้ศีลนั้นในตอนเริ่มแรกกำหนดไว้ให้เก็บรักษาศีลมหาสนิทด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำไปให้ผู้ป่วยและผู้ที่ไม่มาร่วมพิธีนอกเวลามิสซา พระศาสนจักรตระหนักว่า การนมัสการบูชาองค์พระผู้-เป็นเจ้าที่ประทับอยู่ภายใต้ศีลมหาสนิทอย่างสงบเงียบยังมีความหมาย โดยเจาะลึกความเชื่อในการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท เพราะเหตุนี้ ตู้ศีลจึงต้องตั้งไว้เฉพาะในสถานที่เหมาะสมของวัด และต้องสร้างไว้ด้วยวิธีที่จะให้เห็นประจักษ์แจ้ง และสำแดงความจริงของการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้

1380เป็นการเหมาะสมยิ่งนักที่พระคริสตเจ้ามีพระประสงค์ที่จะประทับอยู่กับพระศาสนจักรของพระองค์ในรูปแบบนี้ เนื่องจากว่า พระคริสตเจ้าขณะที่ทรงกำลังจะจากสาวกของพระองค์ภายใต้แง่มุมที่แลเห็นประจักษ์ ได้ทรงพระประสงค์ประทานการประทับอยู่ทางศีลมหาสนิทแก่เรา และด้วยว่าพระองค์กำลังจะทรงมอบตนเองบนไม้กางเขนเพื่อความรอดของเรา ทรงพระประสงค์ให้เราได้ระลึกถึงความรักซึ่งพระองค์ได้ทรงรักเรา  "จนถึงที่สุด" (ยน.13:1) จนถึงกับเสียสละชีวิตของพระองค์ ในการประทับอยู่ของพระองค์ทางศีล-มหาสนิทนั้น อันที่จริง พระองค์ยังคงอยู่ท่ามกลางเราอย่างลึกลับเหมือนอย่างที่ผู้ซึ่งได้รักเราและได้มอบตนเองเพื่อเรา (เทียบ กท.2:20) และพระองค์ยังคงอยู่ภายใต้เครื่องหมายซึ่งแสดงออกและสื่อสารความรักนี้

พระศาสนจักรและโลกมีความต้องการนมัสการบูชาศีลมหาสนิทอย่างยิ่ง พระเยซูเจ้าทรงคอยเราในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรักนี้ ขอให้เราอย่าได้ปฏิเสธที่จะไปพบพระองค์ นมัสการพระองค์ รำพึงคิดถึงด้วยความเชื่ออันเต็มเปี่ยม และพร้อมที่จะแก้ไขความผิดหนักและอาชญากรรมของโลก การนมัสการของเราจะไม่หยุดเลย (พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2)

1381นักบุญโทมัส อไควนัส กล่าวว่า   "พระกายและพระโลหิตจริงของพระคริสตเจ้าอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ เราไม่สามารถเข้าใจด้วยเหตุผล แต่ด้วยความเชื่อเท่านั้น ซึ่งยึดเกาะติดพระอำนาจของพระเจ้า"  โดยแสดงความคิดเห็นถึงข้อความในพระวรสารนักบุญลูกา บทที่ 22 ข้อ 19 ว่า "นี่คือกายของเราที่ได้มอบไว้เพื่อท่าน" เพราะเหตุนี้ นักบุญซีริล กล่าวว่า "ไม่ต้องสงสัยว่าสิ่งนี้จริงหรือไม่ แต่จงรับพระวาจาของพระมหาไถ่ด้วยความเชื่อ เพราะว่า พระองค์นั้นคือองค์ความจริง ไม่หลอกลวง" (STH III, 75.1)

ข้าพเจ้ากราบไหว้พระองค์ด้วยศรัทธาร้อนรน โอ พระเจ้าที่ทรงซ่อนพระองค์เองอยู่ ที่ทรงซ่อนตนเองภายใต้รูปแบบนี้อย่างแท้จริง ดูซิ องค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่นี่เพื่อรับใช้เรา จงประหลาดใจในพระองค์

ดวงใจข้าพเจ้าขอมอบไว้ให้พระองค์ทั้งครบ

เนื่องจากว่า จะได้มารำพึงคิดถึงพระองค์ไม่น้อยไปกว่านี้

การเห็น การสัมผัส และรสชาตินั้นหลอกลวงกันได้

การเห็น การสัมผัส การลิ้มรส เป็นของหลอกลวง

จะกล่าวถึงการได้ยินและไว้ใจได้อย่างไร ที่จะเชื่อ

ข้าพเจ้าเชื่อทุกสิ่งที่พระบุตรพระเจ้าตรัสไว้:

องค์ความจริงย่อมตรัสความจริง มิฉะนั้นไม่มีอะไรเป็นจริง (น.โทมัส อไควนัส)