หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. สัญลักษณ์และพิธีของศีลกำลัง

1293ในพิธีของศีลกำลังนี้ เป็นการเหมาะสมที่จะพิจารณาสัญลักษณ์ของการเจิมน้ำมัน และสิ่งซึ่งการเจิมนั้นหมายถึงและประทับตราไว้ คือตราฝ่ายจิตใจ

ในสัญลักษณ์ทางพระคัมภีร์และสมัยเก่า การเจิมน้ำมันมีความหมายหลายประการ กล่าวคือ น้ำมันเป็นเครื่องหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และความปิติยินดี (เทียบ ฉธบ.11:14; สดด.23:5; 104:15) ชำระให้บริสุทธิ์ (การเจิมน้ำมันก่อนและหลังการอาบน้ำ) ทำให้รื่นคล่องแคล่ว (การเจิมน้ำมันนักกีฬาและนักสู้) น้ำมัน เป็นเครื่องหมายของการรักษาเยียวยา เนื่องจากว่าน้ำมันช่วยเยียวยารอยฟกช้ำและรอยแผล (เทียบ อสย.1:6; ลก.10:34) และทำให้เป็นเงางาม มีอนามัยและมีพละกำลัง

1294การเจิมด้วยน้ำมันมีความหมายเหล่านี้ทุกประการในชีวิตทางศีลศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ การเจิมน้ำมันก่อนศีลล้างบาปของคริสตชนสำรอง (Catechumens) มีความหมายถึงการชำระตนให้บริสุทธิ์และการทำให้เข้มแข็ง การเจิมคนไข้แสดงถึงการเยียวยารักษาและการให้ความบรรเทาใจ  การเจิมด้วยน้ำมันคริสมาภายหลังศีลล้างบาปในศีลกำลังและศีลบรรพชาเป็นเครื่องหมายของการเจิมแต่งตั้งของพระเจ้า บรรดาคริสตชนผู้ซึ่งได้รับการเจิมในศีลกำลังมีส่วนร่วมกับภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างสมบูรณ์และรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อว่าชีวิตของพวกเขาจะส่ง "กลิ่นหอมของพระคริสตเจ้า" (2คร.2:15)

1295อาศัยการเจิม ผู้ได้รับการเจิมน้ำมันในศีลกำลังก็ได้รับ "เครื่องหมาย" ตราของพระจิตเจ้า ตรานั้นเป็นสัญลักษณ์ของบุคคล เป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจของบุคคล หรือความเป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เทียบ ปฐก.38:18,41,42; ฉธบ.32:34; พซม.8:6) ดังเช่นบรรดาทหารมีตราของผู้นำ และทาสมีตราของเจ้านายของตน ตราประทับแสดงความถูกต้องตามกฎหมายของกิจการหรือเอกสาร และในบางโอกาสการประทับตราทำให้เป็นเรื่องลับ (เทียบ 1พกษ. 21:8; ยรม.32:10; อสย.29:11)

1296พระคริสตเจ้าทรงประกาศว่าพระบิดาได้ประทับตรามอบอำนาจแก่พระองค์แล้ว (เทียบ ยน. 6:27)   คริสตชนก็เช่นกันได้ถูกประทับตราแล้ว "ผู้ที่ทรงตั้งเราและท่านทั้งหลายในพระ-คริสตเจ้า และได้ทรงเจิมเรานั้นคือพระเจ้า พระองค์ทรงประทับตราเราด้วยตราของพระองค์ และประทานพระจิตเจ้าไว้ในดวงใจของเราเป็นเครื่องประกันด้วย" (2คร.1:21-22, เทียบ อฟ.1:13, 4:30) ตราแห่งพระจิตเจ้านี้ เป็นเครื่องหมายการเป็นเจ้าของทั้งครบแก่พระ- คริสตเจ้าโดยสิ้นเชิง เป็นผู้รับใช้ตลอดไป แต่ก็เป็นพระสัญญาที่พระเจ้าจะทรงปกป้องในการทดลองครั้งใหญ่ในอวสานกาล (เทียบ วว.7:2-3; 9:4; อสค.9:4-6)

การประกอบพิธีศีลกำลัง

1297การเสกน้ำมันคริสมาศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นตอนสำคัญที่ต้องกระทำก่อนพิธีศีลกำลัง แต่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองศีลกำลัง วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ระหว่างมิสซาเสกน้ำมัน      พระสังฆราชเสกน้ำมันคริสมาเพื่อใช้ในสังฆมณฑล ในคริสตจักรตะวันออกก็เช่นกัน  การเสกนี้สงวนไว้สำหรับพระอัยกา

พิธีกรรมอันติโอกแสดงออกถึงการสวดอ้อนวอนพระจิตเจ้าเพื่อเสกน้ำมันคริสมาด้วยถ้อยคำเหล่านี้"ข้าแต่พระบิดา...โปรดส่งพระจิตของพระองค์เหนือข้าพเจ้าทั้งหลาย และเหนือน้ำมันนี้ซึ่งอยู่ต่อหน้าเราและบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทุกคนที่ได้รับการเจิมและได้รับประทับตราด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เป็นสงฆ์ เป็นกษัตริย์ เป็นการเจิมด้วยความปิติยินดี เป็นอาภรณ์ส่องสว่าง เสื้อคลุมแห่งความรอดพระพรฝ่ายจิต เป็นการทำให้วิญญาณและร่างกายศักดิ์สิทธิ์ ความสุขถาวร เป็นตราที่ไม่อาจลบล้างได้ เป็นโล่ห์แห่งความเชื่อและหมวกเหล็กที่ไม่หวั่นเกรงการต่อสู้กับกิจการต่างๆ ของศัตรู"

1298เมื่อมีการประกอบพิธีศีลกำลังแยกออกจากศีลล้างบาปอย่างที่เกิดขึ้นในพิธีโรมัน พิธีกรรมของศีล-กำลังเริ่มด้วยการให้ผู้รับศีลรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป และประกาศยืนยันความเชื่อ แสดงชัดเจนว่า ศีลกำลังตามหลังศีลล้างบาป (เทียบ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 71) เมื่อผู้ใหญ่ได้รับศีล- ล้างบาปแล้ว ก็ได้รับศีลกำลังทันทีและเข้าร่วมรับศีลมหาสนิท (เทียบ กฎหมาย ม.866)

1299ในพิธีโรมันนั้น พระสังฆราชยื่นมือออกไปเหนือกลุ่มผู้รับศีลกำลัง ตั้งแต่สมัยอัครสาวก การปกมือนี้เป็นเครื่องหมายประทานพระพรแห่งพระจิตเจ้า พระสังฆราชภาวนาประทานพระจิตเจ้าด้วยถ้อยคำต่อไปนี้

ข้าแต่พระพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ พระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้า

พระองค์ได้ทรงโปรดให้ข้ารับใช้เหล่านี้เกิดใหม่ด้วยน้ำและพระจิต

ช่วยเขาให้พ้นบาป แล้วโปรดส่งพระจิตเจ้ามาประทับอยู่กับเขา

โปรดให้เขามีความปรีชาและสติปัญญา

ความคิดอ่านและความเข้มแข็ง

ความรู้และความเลื่อมใสศรัทธา

อีกทั้งโปรดให้เขารับใช้พระองค์ด้วยความเคารพ

ทั้งนี้ อาศัยพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย (จารีตศีลกำลัง ข้อ 25)

1300จารีตพิธีที่จำเป็นที่สุดของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อจากนั้น ในพิธีลาตินนั้น "ศีลกำลังโปรดให้โดยทางการเจิมน้ำมันคริสมาบนหน้าผากซึ่งทำพร้อมกับการปกมือ และพลางกล่าวว่า "จงรับเครื่องหมายพระจิตเจ้า ซึ่งพระบิดาประทานให้"   แต่ทางคริสตจักรตะวันออกของบิซันไทน์ มีหลังจากบทภาวนาวอนขอพระจิตเจ้า มีการเจิมร่างกายส่วนที่มีความหมาย ได้แก่ หน้าผาก ตา จมูก หู ริมฝีปาก หน้าอก หลัง มือและเท้า การเจิมทุกครั้งกล่าวว่า "ตราของพระพรของพระจิตเจ้า"

1301การมอบสันติสุขที่สรุปพิธีศีลกำลังนี้มีความหมาย     และแสดงถึงความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับพระสังฆราช และกับผู้มีความเชื่อทุกคน