หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. ศีลกำลังในระบบแห่งความรอด

 1286ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกได้ประกาศว่า พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะอยู่เหนือพระเมสสิยาห์ที่คนรอคอยอยู่ เพื่อปฏิบัติภารกิจแห่งความรอดของพระองค์ (เทียบ อสย.11:2; 61:1; ลก.4:16-22)   การเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือพระเยซู ตอนที่พระองค์รับพิธีล้างจากยอห์น เป็นเครื่องหมายว่าเป็นพระองค์ซึ่งต้องเสด็จมา พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรแห่งพระเจ้า (เทียบ มธ.3:13-17; ยน.1:33-34) พระองค์ได้รับการปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ทั้งชีวิตและภารกิจของพระองค์ดำเนินไปด้วยความมีสัมพันธ์ครบครันกับพระจิตเจ้าซึ่งพระบิดาได้ทรงประทานให้แก่พระองค์ "อย่างไม่จำกัด" (ยน.3:34)

1287ความครบครันของพระจิตเจ้านี้ต้องไม่ค้างอยู่แต่ในพระเมสสิยาห์เท่านั้น  แต่ต้องมีการถ่ายทอดไปยังประชากรทั้งมวลแห่งพระเมสสิยาห์ (เทียบ อสค.36:25-27;ยอล.3:1-2) มีหลายครั้งที่พระคริสตเจ้าได้ทรงสัญญาเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระจิตเจ้า (เทียบ ลก.12:12; ยน.3:5-8; 7:37-39; 16:7-15; กจ.1:8) เป็นคำสัญญาที่พระองค์ได้ทรงทำให้เป็นจริงก่อนวันปัสกา และต่อๆ มา ด้วยวิธีที่น่าประหลาดใจ คือวันสมโภชพระจิตเจ้า (เทียบ ยน.20:22; กจ.2:1-4) บรรดาอัครสาวกเต็มเปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้าก็เริ่มประกาศ "กิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า" (กจ.2:11) และเปโตรยืนยันว่า การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเหนือบรรดาอัครสาวกนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งยุคพระเมสสิยาห์ (เทียบ กจ.2:17-18) บรรดาผู้ซึ่งได้เชื่อถึงการเทศนาของอัครสาวกและได้รับศีลล้างบาปก็ได้รับ "พระพรของพระจิตเจ้า" เช่นเดียวกัน (เทียบ กจ.2:38)

1288ตั้งแต่ยุคของบรรดาอัครสาวก การปกมือเหนือผู้ได้รับศีลล้างบาปใหม่ๆ เป็นการมอบพระพรของพระจิตเจ้าซึ่งทำให้พระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปสมบูรณ์ ตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ด้วยเหตุนี้ ในจดหมายถึงชาวฮีบรู ความเชื่อเกี่ยวกับศีลล้างบาปและการปกมือ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการอบรมคริสตชน ธรรมประเพณีคริสตชนถือว่าการปกมือเป็นต้นกำเนิดของศีลกำลัง ซึ่งให้พระหรรษทานของการสมโภชของพระจิตเจ้า ตลอดไปในพระศาสนจักร (เทียบ กจ.8:15-17; 19:5-6; ฮบ.6:2)

1289เพื่ออธิบายพระพรของพระจิตเจ้าให้ดีขึ้น ได้มีการเพิ่มเติมการเจิมด้วยน้ำมันหอม   (คริสมา) การเจิมน้ำมันเช่นนั้นอธิบายนาม "คริสตชน" ซึ่งหมายถึง "ผู้ได้รับการเจิม"  เช่นเดียวกับพระคริสตเจ้าพระองค์เอง ผู้ซึ่ง "พระเจ้าทรงทรงเจิมด้วยอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า" (กจ.10:38) พิธีการเจิมน้ำมันนี้ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก เพียงแต่ในพระศาสนจักรนิกายตะวันออก เรียกว่าศีลเจิมน้ำมัน (Chrismation) การเจิมด้วยน้ำมันคริสมา หรือไมรอน ซึ่งหมายความว่า "คริสมา"  ในพระศาสนจักรตะวันตก ใช้คำว่า ศีลกำลัง (Confirmation) บ่งบอกว่าศีลศักดิ์สิทธิ์นี้รับรองศีลล้างบาปและเสริมพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาป นั่นคือทั้งสองสิ่งนี้เป็นผลของพระจิตเจ้า

สองธรรมประเพณี : ตะวันออกและตะวันตก

1290ในศตวรรษแรกๆ โดยทั่วไป พระศาสนจักรประกอบพิธีศีลกำลังมักรวมเป็นพิธีเดียวพร้อมกับศีล- ล้างบาป โดยตั้งขึ้นเป็น "ศีลศักดิ์สิทธิ์คู่" ตามสำนวนของนักบุญซีเปรียน มีเหตุผลบางประการคือ มีการโปรดศีลล้างบาปสำหรับเด็กตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก การเพิ่มจำนวนโบสถ์ตามชนบท ซึ่งทำให้สังฆมณฑลเติบโตขึ้น พระสังฆราชจึงไม่สามารถอยู่ในพิธีโปรดศีลล้างบาปทุกครั้งได้   เนื่องจากพระศาสนจักรทางตะวันตกต้องการรักษาความสมบูรณ์ของศีลล้างบาปโดยให้พระสังฆราชอยู่ร่วมพิธี จึงเกิดการแยกสองศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ชั่วคราว พระศาสนจักรทางตะวันออกยังคงอนุรักษ์สองศีลศักดิ์สิทธิ์ให้รวมอยู่ในพิธีเดียวกัน ดังนั้น พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีล้างบาปจึงกระทำพิธีศีลกำลังด้วย     อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์สามารถทำได้ด้วยน้ำมัน (MYRON)ที่เสกโดยพระสังฆราชเท่านั้น (เทียบ กฎหมาย ม.695.1; 696:1)

1291ธรรมเนียมที่ปฏิบัติของพระศาสนจักรโรมัน ได้ให้ความสะดวกกับการพัฒนาการปฏิบัติของตะวันตก คือ การเจิมสองครั้งด้วยน้ำมันคริสมาศักดิ์สิทธิ์ภายหลังศีลล้างบาป พระสงฆ์เป็นผู้เจิมครั้งแรกให้กับผู้รับความเชื่อใหม่ พระสังฆราชเจิมครั้งที่สองที่หน้าผากของผู้รับศีลล้างบาปใหม่ การเจิมครั้งแรกด้วยน้ำมันคริสมาศักดิ์สิทธิ์โดยพระสงฆ์ก็ยังคงรวมอยูกับพิธีศีลล้างบาป มีความหมายว่าผู้รับศีล- ล้างบาปมีส่วนร่วมในหน้าที่ประกาศกสงฆ์และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า ถ้ามีการโปรดศีลล้างบาปให้กับผู้ใหญ่ก็มีการเจิมเพียงครั้งเดียวภายหลังศีลล้างบาป คือการเจิมของศีลกำลัง

1292การปฏิบัติของคริสตจักรตะวันออกนั้นให้เน้นเป็นพิเศษในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ อันเป็นความเป็นหนึ่งเดียวในการเริ่มชีวิตคริสตชน การปฏิบัติของคริสตจักรลาตินแสดงให้เห็นชัดเจนของการมีส่วนร่วมของคริสตชนใหม่กับพระสังฆราชของตน ในฐานะเป็นผู้รับรองและผู้รับใช้ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นสากลและการสืบต่อจากอัครสาวกของพระศาสนจักร และผลที่ตามมาคือ ความเชื่อมโยงกับต้นกำเนิดจากอัครสาวกในพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า