หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

7. พระหรรษทานของศีลล้างบาป

1262ผลที่แตกต่างกันของศีลล้างบาปมีความหมายโดยองค์ประกอบที่แลเห็นได้ของพิธีทางศีล-ศักดิ์สิทธิ์ การจุ่มลงไปในน้ำเป็นเครื่องหมายถึงมิใช่แค่ความตายและการชำระตนให้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และการฟื้นฟู ดังนั้น ผลสำคัญสองประการได้แก่ การชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาปและการเกิดใหม่ในพระจิตเจ้า (เทียบ กจ.2:38; ยน.3:5)

เพื่อยกบาป

1263บาปทุกข้อได้รับการยกโดยอาศัยศีลล้างบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวทุกข้อและโทษของบาปทุกประการด้วย (DS 1361) อันที่จริง ไม่มีสิ่งใดเลยที่ขัดขวางผู้ได้รับศีลล้างบาปให้เข้าสู่พระราชัยของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นบาปของอาดัม บาปส่วนตัว หรือผลที่ตามมาของบาปที่หนักที่สุดคือการแยกจากพระเจ้าก็ตาม

1264อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาชั่วคราวบางประการของบาปยังคงมีอยู่ในตัวผู้รับศีลล้างบาป เช่นความทุกข์ทรมาน การเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย หรือความเปราะบางติดอยู่กับชีวิต เช่นความอ่อนแอทางอุปนิสัยใจคอ และอื่นๆ และความโน้มเอียงไปทางบาป ซึ่งธรรม-ประเพณีเรียกความใคร่หรือตัณหา "แรงกระตุ้นแห่งบาป" (fomes peccati) สิ่งนี้ไม่สามารถทำร้ายบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยที่สิ่งนี้ได้ถูกทิ้งไว้เพื่อการทดลองและผู้ที่ต่อสู้ด้วยพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้า (DS 1515) ยิ่งกว่านั้น "นักกีฬาก็เช่นกัน ไม่มีใครจะได้ชัยชนะนอกจากจะได้แข่งขันตามกติกา" (2ทธ.2:5)

"สิ่งสร้างใหม่"

1265ศีลล้างบาปไม่เพียงแต่ชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาปทุกชนิดเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้กลับใจใหม่เป็น "สิ่งสร้างใหม่" (2คร.5:17) เป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า (เทียบ กท.4:5-7) ซึ่งกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมกับพระธรรมชาติของพระเจ้า เป็นสมาชิกของพระคริสตเจ้า และมีส่วนรับมรดกพร้อมกับพระองค์ (เทียบ 1คร6:19) และเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า (เทียบ 1คร.6:19)

1266พระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ทรงประทานพระหรรษทานที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้รับศีล-ล้างบาป พระหรรษทานแห่งความชอบธรรม ซึ่ง

* ทำให้สามารถเชื่อในพระเจ้า    ที่จะไว้ใจในพระองค์และที่จะรักพระองค์โดยอาศัยคุณธรรมเหนือธรรมชาติ

* ทรงประทานความสามารถที่จะดำเนินชีวิตและปฏิบัติการภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า โดยอาศัยพระพรของพระจิตเจ้า

* ทรงอนุญาตให้เจริญเติบโตในความดีโดยอาศัยคุณธรรมทางศีลธรรม

โครงสร้างทั้งมวลของชีวิตเหนือธรรมชาติของคริสตชนมีรากฐานในศีลล้างบาป เรามีอินทรีย์ฝ่ายกายฉันใด เราก็มีชีวิตเหนือธรรมชาติฉันนั้น

เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร พระกายพระคริสตเจ้า

1267ศีลล้างบาปทำให้เราเป็นส่วนของพระกายพระคริสตเจ้า "ดังนั้น... เราต่างเป็นเสมือนอวัยวะของกันและกัน" (อฟ.4:25) ศีลล้างบาปทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งในพระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าแห่งพันธสัญญาใหม่บังเกิดจากอ่างน้ำศีลล้างบาป   ซึ่งอยู่เหนือข้อจำกัดตามธรรมชาติหรือข้อจำกัดภาษามนุษย์ของมวลมนุษยชาติ วัฒนธรรม เชื้อชาติและเพศ "เดชะพระจิตเจ้าองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน" (1คร.12:13)

1268ผู้รับศีลล้างบาปกลายเป็น "ศิลาที่มีชีวิต" ถูกสร้างเป็นวิหารฝ่ายจิต เป็นปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ (1ปต.2:5) โดยอาศัยศีลล้างบาป เขามีส่วนร่วมในสังฆภาพของพระคริสตเจ้าในพันธกิจด้านประกาศกและกษัตริย์ (ผู้รับใช้) ของพระองค์ พวกเขาเป็น "ชาติที่ได้ทรงเลือกสรรไว้เป็นสมณราชตระกูล เป็นชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า เพื่อจะได้ประกาศพระฤทธานุภาพของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านจากความมืดสู่ความสว่างอันน่าพิศวงของพระองค์" (1ปต.2:9) ศีลล้างบาปทำให้มีส่วนในสังฆภาพสากลของทุกคนที่มีความเชื่อ

1269ผู้รับศีลล้างบาปไม่เป็นเจ้าของตนเองอีกต่อไป แต่กลายเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร เป็นของพระองค์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับเป็นขึ้นมาเพื่อเรา (เทียบ 1คร.6:19, 2คร.5:15) นับแต่นี้ไป พวกเขาจึงได้รับเรียกให้ยอมอยู่ใต้ผู้อื่น ให้บริการรับใช้ในหมู่คณะของพระ-ศาสนจักร ให้ "เชื่อฟัง" และ "อยู่ในโอวาท" ผู้นำของพระศาสนจักรฉันใด (ฮบ.13:17) และให้ปฏิบัติต่อเขา "ด้วยความเคารพและความรัก" (เทียบ อฟ.5:21; 1คร.16:15-16; ยน.13:12-15; 1ธส.5:12-13) ผู้ได้รับศีลล้างบาปถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบและมีหน้าที่ต่อพระศาสนจักร  ฉันใด ในทำนองเดียวกัน ศีลล้างบาปนำเขามาอยู่ในพระศาสนจักร เขามีสิทธิที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรฉันนั้น  คือที่จะได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้าและได้รับความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความช่วยเหลือทางด้านวิญญาณของพระศาสนจักร (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 37, กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 208-223)

1270"เขาเกิดใหม่เป็นบุตรของพระเป็นเจ้า เขาได้รับความเชื่อจากพระเป็นเจ้า โดยผ่านทางพระศาสนจักร เขาจึงมีหน้าที่ต้องแสดงความเชื่อนั้นให้ปรากฏต่อหน้ามวลมนุษย์"    (พระศาสนจักร ข้อ 11) และมีส่วนร่วมงานอภิบาลและธรรมทูตของประชากรของพระเจ้า

สายสัมพันธ์ทางศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชน

1271ศีลล้างบาปตั้งขึ้นเป็นพื้นฐานของชีวิตร่วมกันท่ามกลางบรรดาคริสตชนทุกคน รวมทั้งบรรดาผู้ที่ยังไม่อยู่ในชีวิตร่วมกันกับพระศาสนจักรคาทอลิก "ที่จริง ผู้ที่เชื่อในคริสตเจ้า และได้รับศีลล้างบาปอย่างถูกต้อง ย่อมถือได้ว่ายังคงอยู่ในความร่วมอันหนึ่งอันเดียวอยู่บ้าง แม้ว่าไม่สมบูรณ์ กับพระศาสนจักรคาทอลิก... เป็นผู้ชอบธรรมด้วยความเชื่อ ซึ่งเขาได้รับเมื่อล้างบาป และได้ร่วมเข้ากับพระคริสตเจ้าแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นคริสตชนโดยถูกต้อง และเป็นบุตรของพระศาสนจักรคาทอลิก ยอมรับนับถือเขาเป็นพี่น้องกันในพระ-คริสตเจ้า" (สากลสัมพันธภาพ ข้อ 3) ดังนั้น "ศีลล้างบาปจึงเป็นเครื่องผูกพันแห่งเอกภาพ ซึ่งมีอยู่ในระหว่างผู้ที่เกิดใหม่ด้วยศีลล้างบาป" (สากลสัมพันธภาพ ข้อ 22:2)

ตราฝ่ายจิตที่ลบล้างไม่ได้

1272โดยอาศัยศีลล้างบาป เรารวมเข้าเป็นกายเดียวกับพระคริสตเจ้า   ผู้รับศีลล้างบาปเป็นรูปแบบของพระคริสตเจ้า  ศีลล้างบาปประทับตราคริสตชนด้วยเครื่องหมายฝ่ายจิตใจที่ลบล้างไม่ได้ว่าเป็นของพระคริสตเจ้า ตรานี้ไม่สามารถลบล้างโดยบาปชนิดใดๆ แม้บาปขัดขวางศีลล้างบาปที่ให้ผลแห่งความรอด (เทียบ รม.8:29) เราไม่สามารถรับศีลล้างบาปซ้ำได้อีกเมื่อได้รับมาแล้วครั้งหนึ่งก็คงอยู่ตลอดไป

1273โดยอาศัยศีลล้างบาป เรารวมเข้ากับพระศาสนจักร ผู้มีความเชื่อได้รับลักษณะทางศีล-ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำให้ผู้รับศักดิ์สิทธิ์เพราะเครื่องบูชาทางศาสนาของคริสตชน (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 2) ตราศีลล้างบาปทำให้คริสตชนมีความสามารถและมีภาระหน้าที่ที่จะรับใช้พระเจ้า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมที่มีชีวิตชีวาในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร  และ "ใช้สังฆภาพ" แห่งศีลล้างบาป  "ด้วยการครองชีพอย่างศักดิ์สิทธิ์ เป็นพยานยืนยันถึงความรัก... ด้วยการออกแรงทำกิจกรรมแสดงเมตตาจิต" (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 10)

1274พระจิตเจ้าได้ตราประทับเราด้วย "ตราประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า" สำหรับวันแห่งการไถ่กู้ (อฟ.4:30) "อันที่จริง ศีลล้างบาปเป็นตราแห่งชีวิตนิรันดร" (น.อีเรเน) คริสตชนผู้ซื่อสัตย์ผู้ได้ "เฝ้ารักษาตรา" จนถึงที่สุด กล่าวคือ จะยังคงซื่อสัตย์ต่อข้อเรียกร้องของศีลล้างบาปเอง จะสามารถสละชีพใน "เครื่องหมายแห่งความเชื่อ" ด้วยความเชื่อของศีลล้างบาปนั้นเอง ในการรอคอยการแลเห็นพระเจ้าอย่างผาสุก -การยืนหยัดในความเชื่อ- และในความหวังการกลับเป็นขึ้นมา