หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

4. ใครสามารถรับศีลล้างบาปได้?

 1246"ทุกคนและคนที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปเท่านั้นสามารถรับศีลล้างบาปได้" (กฎหมายพระ-ศาสนจักร ข้อ 864)

ศีลล้างบาปผู้ใหญ่

1247ตั้งแต่พระศาสนจักรเริ่มแรก การโปรดศีลล้างบาปแก่ผู้ใหญ่เป็นปรกติในที่ใหม่ที่มีการประกาศพระวรสาร การเตรียมตัวผู้จะรับศีลล้างบาป จึงเป็นงานสำคัญในการเริ่มเข้าสู่ความเชื่อและชีวิตคริสตชน ผู้เรียนคำสอนควรพร้อมรับพระพรของพระเจ้าในศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหาสนิท

1248การเตรียมผู้รับศีลล้างบาป หรือการอบรมผู้เรียนคำสอนนั้นมีเป้าหมายให้เขากลับใจและมีความเชื่อแบบผู้ใหญ่ เป็นการสนองตอบต่อการริเริ่มของพระเจ้าและมีความผูกพันกับชุมชนพระศาสนจักร การเตรียมผู้รับศีลล้างบาปนี้จึงเกี่ยวข้องกับ "การฝึกอบรมให้ถือชีวิตแบบคริสตชนอย่างครบถ้วน... ฝึกหัดให้สานุศิษย์มีความสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสตเจ้า พระอาจารย์ของตน   ฉะนั้น ผู้เรียนคำสอนต้องได้รับการแนะให้รู้จักธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดและปฏิบัติตามคำแนะนำแห่งพระวรสาร  อีกทั้งต้องแนะนำพวกเขาเข้าสู่ชีวิตแห่งความเชื่อ พิธีกรรมและความรักแห่งประชากรของพระเป็นเจ้าโดยผ่านขั้นตอนต่างๆ" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 14 เทียบ พิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ข้อ 19,98)

1249ผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป "รวมเข้าอยู่ในพระศาสนจักร และเป็นคนในพระเคหะของพระคริสตเจ้าแล้ว และบ่อยทีเดียวเขาดำรงชีวิตอย่างมีความเชื่อ ความไว้และความรัก" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 14)"พระศาสนจักรผู้มารดาก็ให้ความรักเอาใจใส่ โอบอุ้มเขาไว้แล้วเช่นกัน" (พระศาสนจักร ข้อ 14.3 เทียบ กฎหมายพระศาสนจักร 206 และ 788,3)

ศีลล้างบาปทารก

1250เนื่องจากว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับธรรมชาติมนุษย์ที่อ่อนแอ มีบาปกำเนิด บรรดาเด็กทารกก็ยังมีความจำเป็นต้องเกิดใหม่ในศีลล้างบาป เพื่อได้รับการปลดปล่อยจากอำนาจความมืดและเข้าสู่พระราชัยแห่งเสรีภาพเยี่ยงบุตรของพระเจ้า ซึ่งมนุษย์ทุกคนได้รับเรียก (เทียบ คส.1:12-14) พระหรรษทานแห่งความรอดนั้น สำแดงประจักษ์โดยเฉพาะในศีลล้างบาปทารก ดังนั้น พระศาสนจักรและผู้ปกครองจึงจะไม่ลังเลให้ทารกได้รับพระหรรษทาน กลายเป็นบุตรของพระเจ้า โดยรับศีลล้างบาปภายหลังการเกิดไม่นาน (เทียบ กฎหมายพระ-ศาสนจักร ข้อ 867)

1251บิดามารดาที่เป็นคริสตชนยอมรับว่า การปฏิบัติแบบนี้สนองตอบต่อบทบาทที่จะบำรุงเลี้ยงชีวิตซึ่งพระเจ้าได้ทรงมอบหมายไว้ให้เขาด้วย (เทียบ พระศาสนจักร 11,41)

1252การโปรดศีลล้างบาปให้ทารกนั้นเป็นธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนจักรมีหลักฐานการปฏิบัติชัดเจนตั้งแต่ศตวรรษที่สองเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเทศนาของบรรดาอัครสาวกเมื่อ "ครอบครัว" ทั้งหมดได้รับศีลล้างบาป เด็กทารกก็อาจได้รับศีลล้างบาปด้วย (เทียบ กจ.16:15; 33;  18:8; 1คร.1:16)

ความเชื่อและศีลล้างบาป

1253ศีลล้างบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ (เทียบ มก.16:16) แต่ความเชื่อจำเป็นต้องมีชุมชนของผู้มีความเชื่อ คริสตชนแต่ละคนเชื่อในคำสอนของพระศาสนจักรเพียงอย่างเดียว ความเชื่อที่เรียกร้องให้รับศีลล้างบาป ไม่ใช่ความเชื่อที่สมบูรณ์และเป็นผู้ใหญ่ แต่เป็นการเริ่มต้น ซึ่งต้องพัฒนา ในพิธีโปรดศีลล้างบาป พระสงฆ์จะถามผู้เตรียมตัวรับศีลล้าง-บาป หรือพ่อแม่อุปถัมภ์ว่า "ท่านขออะไรจากพระศาสนจักรของพระเจ้า" และเขาก็ตอบว่า "ความเชื่อ"

1254ผู้รับศีลล้างบาปทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต้องพัฒนาความเชื่อหลังจากรับศีลล้างบาป เพราะเหตุนี้ ทุกปีในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์พระศาสนจักรรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป การเตรียมตัวเพื่อรับศีลล้างบาปนั้นนำไปสู่ทางเข้าสู่ชีวิตใหม่เท่านั้น  ศีลล้างบาปเป็นบ่อเกิดชีวิตใหม่ในพระคริสตเจ้าซึ่งชีวิตคริสตชนทั้งครบไหลหลั่งออกมา

1255เพราะว่าพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปสามารถพัฒนาขึ้นได้ ความช่วยเหลือของพ่อแม่จึงมีความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของพ่อแม่ทูนหัวซึ่งต้องเป็นผู้มีความเชื่อมั่นคง มีความสามารถและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้รับศีลล้างบาปใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม  บนหนทางของชีวิตคริสตชน (เทียบ กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 872-874) หน้าที่ของเขาคือหน้าที่ของพระศาสนจักรที่แท้จริง ("officium") (เทียบ พิธีกรรม ข้อ 67)    ชุมชนพระศาสนจักรทั้งครบมีส่วนรับผิดชอบในการพัฒนา และการรักษาพระหรรษทานที่ได้รับในศีลล้างบาป