หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. ประกอบพิธีศีลล้างบาปอย่างไร?

การเริ่มชีวิตคริสตชน

1229ตั้งแต่สมัยอัครสาวก การเข้าเป็นคริสตชนเรียกร้องการเดินทางและการริเริ่มหลายขั้นตอน การเดินทางนี้อาจไปได้รวดเร็วหรือช้าก็ได้ ในทุกกรณี ต้องปฏิบัติตามองค์ประกอบสำคัญดังนี้ การประกาศพระวาจา การยอมรับพระวรสารซึ่งเรียกร้องการกลับใจ การประกาศยืนยันความเชื่อ ศีลล้างบาป การรับพระจิตเจ้าและการรับศีลมหาสนิท

1230การเริ่มชีวิตคริสตชนนี้ได้ใช้รูปแบบมากมายในแต่ละศตวรรษตามแต่สถานการณ์ ในศตวรรษแรกของพระศาสนจักร เราเห็นถึงการพัฒนาการเริ่มชีวิตคริสตชน ระยะเวลาเตรียมตัวเป็นคริสตชน (Catechumenate) มีลำดับพิธีเตรียมตัวและการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเริ่มชีวิตคริสตชน

1231ที่ซึ่งศีลล้างบาปของทารกโดยทั่วไปกลายเป็นแบบที่คุ้นเคยของการรับศีลศักดิ์สิทธิ์   เป็นกิจการเดียวซึ่งทำให้ขั้นตอนตระเตรียมการเริ่มชีวิตคริสตังสมบูรณ์ครบครันในลักษณะที่สั้นมาก ศีลล้างบาปสำหรับทารกเรียกร้องให้มีการสอนคำสอนภายหลังศีลล้างบาปตามสภาพของผู้รับศีลล้างบาปนั้นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นของการสอนอบรมภายหลังศีลล้างบาปเท่านั้น แต่ยังจำเป็นเพื่อรับพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาปในการพัฒนาบุคคลด้วย

1232สภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ได้ปรับปรุงใหม่สำหรับพระศาสนจักรลาตินว่า "การเรียนคำสอนของผู้ใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้น" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 64) พิธีเหล่านี้พบได้ในหนังสือพิธีรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (Rite of Christian Initiation of Adults (RCIA) : 1972) นอกเหนือจากนี้ สภายังได้อนุญาตให้ "ประเทศมิสซัง มีบางชาติที่มีพิธีเข้าศาสนาของตนใช้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะรับเอาบางส่วนในจารีตที่มีใช้อยู่ในแต่ละชาติ มารวมกับจารีตเตรียมตัวรับศีลล้างบาปที่มีอยู่แล้วในประเพณีคริสตชนก็ได้" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 65)

1233ปัจจุบันนี้ ทุกพิธีทั้งลาตินและทางตะวันออก การเริ่มชีวิตคริสตชนของผู้ใหญ่เริ่มพร้อมกับการมาเรียนคำสอน และสิ้นสุดด้วยการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลมหา-สนิท (เทียบ AG 14; CIC 851; 865; 866)  ในพิธีทางตะวันออก การเริ่มชีวิตคริสตชนของทารกเริ่มด้วยศีลล้างบาปและต่อด้วยศีลกำลังและศีลมหาสนิททันที ขณะที่พิธีโรมันมีการสอนคำสอนหลายปี ก่อนจะให้รับศีลกำลังและศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นสุดยอดของการรับเข้าเป็นคริสตชน (เทียบ CIC 851; 868) 

พิธีรับศีลล้างบาป

1234ความหมายและพระหรรษทานของศีลล้างบาปปรากฏอย่างชัดเจนในพิธีของการฉลอง ผู้มีความเชื่อเริ่มเข้าสู่ความร่ำรวยที่ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้หมายถึง และนำพระพรมาให้ผู้รับศีล-ล้างบาปใหม่แต่ละคน ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจในท่าทางและถ้อยคำของพิธีนี้

1235การทำเครื่องหมายกางเขนตอนแรกเริ่มพิธี แสดงถึงตราแห่งพระคริสตเจ้าเหนือผู้เป็นของพระองค์ และหมายถึงพระหรรษทานของการไถ่บาปซึ่งพระคริสตเจ้าได้ไถ่เราโดยอาศัยกางเขนของพระองค์

1236การประกาศพระวาจาของพระเจ้า   ให้ความกระจ่างแก่ผู้สมัครและที่ประชุมด้วยความจริงที่ได้รับการเผยแสดงและกระตุ้นการตอบสนองที่เป็นความเชื่อที่ไม่อาจแยกจากศีลล้างบาปได้    อันที่จริง ศีลล้างบาปเป็น "ศีลแห่งความเชื่อ" ในลักษณะพิเศษ เนื่องจากว่าเป็นเครื่องหมายการเข้าสู่ชีวิตความเชื่อ

1237ขณะที่ศีลล้างบาปหมายถึงการปลดปล่อยเป็นอิสระจากบาปและจากผู้ล่อลวง คือผีปีศาจ จึงมีการประกาศขับไล่ปีศาจจากผู้สมัคร แล้วจึงมีการเจิมน้ำมันผู้เรียนคำสอนหรือปกมือเหนือเขา และเขาประกาศละทิ้งปีศาจอย่างชัดเจน เมื่อเตรียมเช่นนี้แล้ว ก็สามารถประกาศความเชื่อของพระศาสนจักรซึ่งจะได้ "มอบให้" โดยทางศีลล้างบาป (เทียบ รม.6:17)

1238น้ำที่จะใช้ล้างบาป ได้รับการเสกโดยการสวดเชิญพระจิต (ณ ขณะนั้นเอง หรือ ในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) พระศาสนจักรอ้อนวอนขอพระอานุภาพของพระจิตเจ้าเสด็จลงเหนือน้ำโดยอาศัยพระบุตรของพระองค์ ผู้ได้รับศีลล้างบาปทุกคน "เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า" (ยน.3:5)

1239แล้วตามด้วยพิธีสำคัญของศีลนี้ ศีลล้างบาปที่ตั้งชื่อไว้อย่างเหมาะสมนี้มีความหมายถึงการตายต่อบาป และเข้าสู่ชีวิตของพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง คล้ายกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนชีพ  ศีลล้างบาปสำเร็จสมบูรณ์โดยการจุ่มลงในน้ำศีลล้างบาปสามครั้ง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เราสามารถเทน้ำบนศีรษะของผู้สมัครสามครั้งก็ได้

1240ในพระศาสนจักรลาติน ขณะที่เทน้ำสามครั้ง ศาสนบริกรกล่าวคำว่า "ชื่อนักบุญ... ข้าพเจ้าล้างท่าน ในนามของพระบิดา พระบุตรและพระจิต" ในพิธีกรรมทางตะวันออกขณะที่ผู้เรียนคำสอนหันหน้าไปทางตะวันออกพระสงฆ์ก็กล่าวว่า "ผู้รับใช้ของพระเจ้า ชื่อ... ได้รับศีลล้างบาปในนามของพระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้า" และขณะที่เอ่ยพระนามพระบุคคลของพระตรีเอกภาพนั้นก็จุ่มผู้รับศีลลงในน้ำและยกขึ้นมา

1241การเจิมด้วยน้ำมันคริสมา ซึ่งพระสังฆราชเสกเรียบร้อยแล้ว   หมายถึงพระพรของพระจิตเจ้าที่ให้กับผู้รับศีลคนใหม่ เขากลายเป็นคริสตชน กล่าวคือ "ได้รับการเจิม" ด้วยพระจิตเจ้า ได้เข้าร่วมกับพระคริสตเจ้า ผู้ได้รับการเจิมเป็นสงฆ์ ประกาศกและกษัตริย์ (เทียบ หนังสือพิธีกรรมโรมัน พิธีโปรดศีลล้างบาปเด็ก ข้อ 62)

1242ในพิธีกรรมทางพระศาสนจักรตะวันออก การเจิมภายหลังการรับศีลล้างบาปถือเป็นการโปรดศีลกำลัง ส่วนในพิธีกรรมโรมัน พระสังฆราชจะเจิมอีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยน้ำมัน-คริสมา กล่าวคือ เป็นการ "ยืนยัน" และทำให้การเจิมของศีลล้างบาปสมบูรณ์

1243ชุดขาวหมายความว่า ผู้รับศีลล้างบาปนั้นได้ "สวมพระคริสตเจ้า" (กท.3:27) เขาก็กลับเป็นขึ้นมาพร้อมกับพระคริสตเจ้า เทียนที่จุดจากเทียนปัสกาหมายความว่า พระคริสตเจ้าได้ทรงส่องสว่างผู้กลับใจใหม่ ในพระคริสตเจ้านั้นผู้รับศีลล้างบาปเป็น "แสงสว่างของโลก" (มธ.5:14)

บัดนี้ ผู้รับศีลล้างบาปใหม่เป็นบุตรพระเจ้าในพระบุตรแต่พระองค์เดียว จึงสามารถสวดบทอธิษฐานของบุตรพระเจ้าว่า "ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย"

1244การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก เมื่อกลายเป็นบุตรของพระเจ้า สวมชุดงานเลี้ยง ผู้กลับใจใหม่ก็ได้รับอนุญาตเข้าสู่ "งานเลี้ยงของพระชุมพาน้อย" (วว.19:9) และรับอาหารแห่งชีวิตใหม่ คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรตะวันออกยังคงอนุรักษ์ความสำนึกแห่งเอกภาพของการเริ่มชีวิตคริสตชนอย่างมีชีวิตชีวา โดยการให้ศีลมหาสนิทกับผู้รับศีลล้างบาปใหม่และศีลกำลังทุกคน แม้แต่เด็ก โดยระลึกถึงพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า "ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย" (มก.10:14) พระศาสนจักรลาตินอนุญาตให้รับศีลมหาสนิทได้เฉพาะผู้ที่ได้บรรลุถึงวัยการใช้เหตุผล ซึ่งอธิบายได้ว่า ศีลล้างบาปนำไปสู่ศีลมหาสนิทโดยพาผู้รับศีลล้างบาปใหม่ที่เป็นเด็กไปใกล้พระแท่นเพื่อสวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย

1245การอวยพรอย่างสง่าเป็นการปิดท้ายพิธีโปรดศีลล้างบาป  ในโอกาสรับศีลล้างบาปของผู้เกิดใหม่นั้น การอวยพรมารดาของเด็กมีความหมายสำคัญเช่นกัน