หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. ศีลล้างบาปในแผนการณ์แห่งความรอด

 รูปแบบล่วงหน้าของศีลล้างบาปที่ปรากฏในพันธสัญญาเดิม

1217ในพิธีกรรมคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเสกน้ำที่ใช้ในการโปรดศีลล้างบาป พระศาสนจักรทำการระลึกอย่างสง่าถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งเป็นรูปแบบล่วงหน้าถึงธรรมล้ำลึกแห่งศีลล้างบาป

ข้าแต่พระเจ้า  พระองค์ทรงประทานพระหรรษทานอาศัยเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกาศพระอานุภาพอันน่าอัศจรรย์ที่มองไม่เห็นของพระองค์ ในศีลล้างบาปเราใช้น้ำเป็นของประทานของพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้ทำให้เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายมากมายทางศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ (พิธีวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ 42 : พิธีเสกน้ำล้างบาป)

1218ตั้งแต่เริ่มแรกของโลก น้ำซึ่งเป็นสิ่งสร้างที่ต่ำต้อยน่าพิศวงและสุภาพนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ พระคัมภีร์บรรยายว่า พระจิตของพระเจ้าอยู่เหนือพื้นน้ำ (เทียบ ปฐก.1:2)

"พระจิตของพระองค์ได้ร่อนอยู่เหนือน้ำในตอนแรกที่สร้างโลก เพื่อให้น้ำเริ่มมีฤทธิ์ที่จะ บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ได้ตั้งแต่เวลานั้น" (พิธีวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ 42 : พิธีเสกน้ำล้างบาป)

1219โดยอาศัยศีลล้างบาป พระศาสนจักรเข้าใจว่าเรือใหญ่ของโนอาห์เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความรอด เพราะว่า"เพียงแปดชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำวินาศ" (1ปต.3:20)

พระองค์ได้โปรดให้น้ำวินาศเป็นรูปหมายถึงการบังเกิดใหม่ด้วยศีลล้างบาป เพื่อให้น้ำนี่เองเป็นจุดจบของความชั่วช้า และเป็นจุดเริ่มของคุณธรรมทั้งปวง (พิธีวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ 42 : พิธีเสกน้ำล้างบาป)

1220ถ้าน้ำพุ่งออกจากโลกเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต น้ำทะเลก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย เพราะเหตุนี้ หมายถึงธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขน อาศัยการเปรียบเทียบนี้ ศีลล้างบาปจึงหมายถึงการมีชีวิตสนิทสัมพันธ์กับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า

1221แต่เหนือสิ่งอื่นใด การข้ามทะเลแดงของชาวอิสราเอลก็กล่าวล่วงหน้าถึงการไถ่กู้ประชากรอิสราเอลให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงจากการเป็นทาสของอียิปต์ ซึ่งเป็นการประกาศว่าศีลล้างบาปเป็นการไถ่กู้เช่นกัน

พระองค์โปรดให้บุตรหลานของอับราฮัมเดินผ่านทะเลแดงบนหนทางแห้ง เพื่อให้ชนชาติที่หลุดพ้นจากการเป็นทาสของพระเจ้าฟาโรห์ เป็นรูปหมายถึงประชากรที่ได้รับศีลล้างบาป (พิธีวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ 42 : พิธีเสกน้ำล้างบาป)

1222ที่สุด การข้ามแม่น้ำจอร์แดนเป็นรูปหมายถึงศีลล้างบาป อาศัยการข้ามแม่น้ำนี้ ประชากรของพระเจ้าซึ่งได้รับพระพรแห่งดินแดนพระสัญญาที่ให้ไว้กับลูกหลานของ อับราฮัม แผ่นดินนี้จึงเป็นภาพของชีวิตนิรันดร ฉะนั้น พระสัญญาที่จะรับมรดกนี้ถูกทำให้สำเร็จสมบูรณ์ในพันธสัญญาใหม่

ศีลล้างบาปของพระคริสตเจ้า

1223 รูปแบบทั้งหลายที่กำหนดไว้ในพันธสัญญาเดิมนั้นสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเริ่มชีวิตต่อสาธารณชนหลังจากที่นักบุญยอห์น บัปติสต์ ได้ทำพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน (เทียบ มธ.3:13) และภายหลังพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ทรงมอบ-หมายภารกิจนี้ให้บรรดาอัครสาวก "จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปแก่เขา เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตรและพระจิต   จงสอนให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน  แล้วจงทราบเถิดว่า เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ" (มธ.28:19-20เทียบ มก.16:15-16)

1224องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงยอมรับพิธีล้างของนักบุญยอห์นโดยเต็มใจ ซึ่งพิธีล้างนั้นกำหนดไว้ให้สำหรับคนบาปเพื่อทำให้ "เป็นคนชอบธรรม" (มธ.3:15) แต่การยอมรับเพื่อให้ทุกสิ่งสำเร็จไปในพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าโดยการถ่อมองค์ลง (เทียบ ฟป.2:7) พระจิตเจ้าซึ่งทรงสถิตอยู่เหนือน้ำตอนสร้างโลกครั้งแรก บัดนี้ทรงอยู่เหนือพระคริสตเจ้า เพื่อแสดงการเริ่มของการสร้างใหม่ และพระบิดาทรงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าเป็น "บุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา" (มธ.3:16-17)

1225พร้อมกับปัสกาของพระคริสตเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงเปิดแหล่งน้ำแห่งศีลล้างบาปให้มวลมนุษย์ทุกคน อันที่จริง พระองค์ได้ตรัสถึงพระมหาทรมานของพระองค์แล้วว่า พระองค์จะต้องทนทุกข์ที่กรุงเยรูซาเล็ม เสมือนเป็น "ศีลล้างบาป" ซึ่งพระองค์ต้องได้รับการล้างโดยการหลั่งพระโลหิต (มก.10:38; เทียบ ลก.12:50) ซึ่งพระโลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากสีข้างที่ถูกแทงของพระเยซูผู้ถูกตรึงกางเขนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตใหม่ (เทียบ ยน.19:34; 1ยน.5:6-8) จากนั้นเป็นต้นมาจึงเป็นไปได้ที่จะ "เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า" (เทียบ ยน.3:5) เพื่อเข้าสู่พระราชัยสวรรค์

จงพิจารณาดูว่าท่านรับศีลล้างบาปที่ไหน ศีลล้างบาปมาจากไหน ถ้าไม่มาจากกางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ มีธรรมล้ำลึกอยู่ว่า พระองค์ทรงสิ้นพระ-ชนม์เพื่อเรา ในพระองค์เราได้รับการไถ่ให้รอด และในพระองค์เราได้รับการช่วยให้รอด (นักบุญอัมโบรส PL 16,444 เทียบ ยน.3:5)

ศีลล้างบาปในพระศาสนจักร

1226นับตั้งแต่วันสมโภชพระจิตเจ้า พระศาสนจักรได้ฉลองและจัดพิธีศีลล้างบาป  อันที่จริง นักบุญเปโตรประกาศแก่ฝูงชนด้วยการเทศน์สอนอันน่าพิศวงว่า "จงสำนึกผิด กลับใจเถิด แต่ละคนจงรับศีลล้างบาปเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อจะได้รับการอภัยบาป แล้วท่านจะได้รับพระพรของพระจิตเจ้า" (กจ.2:38) บรรดาอัครสาวกและผู้ร่วมงานของท่านเชื้อเชิญให้รับศีลล้างบาปถ้าหากเขามีความเชื่อในพระเยซูเจ้า คือชาวยิวผู้ยำเกรงพระเจ้า คนต่างศาสนา (เทียบ กจ.2:41; 8:12-13; 10:48; 16:15)   ศีลล้างบาปนั้นสัมพันธ์กับความเชื่อเสมอ นักบุญเปาโลพูดกับผู้คุมนักโทษที่ฟิลิปปี "จงวางใจในพระเยซูเจ้าเถิด แล้วคุณกับครอบครัวจะรอดพ้นบาป" และเรื่องเล่าต่อว่า "ทั้งครอบครัว (ผู้คุม) ก็ขอรับศีลล้างบาป"  (กจ.16:31-33)

1227นักบุญเปาโล อัครสาวกได้ให้ความหมายว่า โดยทางศีลล้างบาป ผู้มีความเชื่อ มีความสัมพันธ์กับความตายของพระคริสตเจ้า ถูกฝังและกลับเป็นขึ้นมาพร้อมกับพระองค์ 

"พวกท่านไม่รู้หรือว่า เราทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปเดชะพระคริสตเยซู ก็ได้รับศีลล้างบาปเข้าร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย ดังนั้น เราก็ได้ถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระองค์ อาศัยศีลล้างบาป เพื่อว่าพระคริสตเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาฉันใด เราก็จะได้ดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น" (รม.6:3-4 เทียบ คส.2:12) ผู้รับศีลล้างบาปได้สวม "พระคริสตเจ้า" (กท.3:27) ศีลล้างบาปเป็นการชำระให้บริสุทธิ์ ทำให้ศักดิ์สิทธิ์และทำให้ชอบธรรมโดยอาศัยพระจิตเจ้า (เทียบ 1คร.6:11; 12:13)

1228ดังนั้น ศีลล้างบาปเป็นการใช้น้ำชำระ ซึ่งเมล็ดอมตะแห่งพระวาจาของพระเจ้าบังเกิดผลที่ทำให้มีชีวิต (1ปต.1:23 เทียบ อฟ.5:26)  นักบุญออกัสตินกล่าวถึงศีลล้างบาปว่า "การล้างในศีลล้างบาปก็ทำด้วยน้ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติ แต่กลับเป็นเครื่องหมายแห่งพระหรรษทานของพระเป็นเจ้า" (นักบุญออกัสติน)