หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรในพิธีกรรม

1091ในพิธีกรรม พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้อบรมสั่งสอนความเชื่อของประชากรพระเจ้า เป็นผู้สร้างผลงานชิ้นเอกของพระเจ้า ซึ่งได้แก่ ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาใหม่ พระประสงค์และผลงานของพระจิตในหัวใจของพระศาสนจักรนั้นคือ ให้เราดำเนินชีวิตของพระ-  คริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ เมื่อพระองค์พบการตอบสนองด้วยความเชื่อที่พระองค์กระตุ้นให้เกิดขึ้นในตัวเรา ก็มีการให้ความร่วมมือแท้จริงเกิดขึ้น พิธีกรรมกลายเป็นผลงานร่วมกันของพระจิตเจ้าและพระศาสนจักรอันเนื่องมาจากการให้ความร่วมมือนี้

1092ในการแจกจ่ายศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้านี้ พระจิตเจ้าทรงกระทำด้วยวิธีการอันเดียวกันกับเวลาอื่นของแผนการแห่งความรอด พระองค์ทรงตระเตรียมพระศาสนจักรให้พบองค์พระผู้เป็นเจ้า ทำให้ระลึกถึงและสำแดงพระคริสตเจ้าต่อความ-เชื่อของที่ประชุม ด้วยอำนาจการเปลี่ยนแปลงของพระองค์ ทรงทำให้ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าปรากฏที่นี่และขณะนี้ ท้ายสุด พระจิตเจ้าทรงรวมพระศาสนจักรให้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตและภารกิจของพระคริสตเจ้า

พระจิตเจ้าทรงตระเตรียมเพื่อต้อนรับพระคริสตเจ้า

1093พระจิตเจ้าทรงทำให้คำพูดในพันธสัญญาเดิมสมบูรณ์ไปในแผนการณ์เกี่ยวกับศีล-ศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าได้รับการตระเตรียมอย่างน่าพิศวงตลอดมาในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลและในพันธสัญญาเดิม (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 2) พิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงอนุรักษ์องค์ประกอบของการถวายเครื่องบูชาของพันธ-สัญญาเดิม เสมือนเป็นอันเดียวกันและไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ และรับเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน กล่าวคือ

* การอ่านพันธสัญญาเดิม
* การสวดบทสดุดี * เหนือสิ่งอื่นใด การระลึกถึงเหตุการณ์แห่งความรอดและความจริงที่ปรากฏ ซึ่งพบความสมบูรณ์ในธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า (ได้แก่ คำสัญญาและพันธสัญญา การอพยพและปัสกา พระราชัยและพระวิหาร การเนรเทศและการกลับมา)

1094ความกลมกลืนของพันธสัญญาทั้งสองทำให้เกิดคำสอนด้านปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า 14-16; ลก.24:13-49) คำสอนของบรรดาอัครสาวกและบรรดาปิตา-จารย์ของพระศาสนจักร คำสอนนี้เปิดเผยสิ่งซึ่งยังคงซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ตัวอักษรของพันธสัญญาเดิม นั่นคือธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า เรียกกันว่าเป็นลักษณะที่เป็นรูปแบบ (TYPOLOGICAL) เพราะว่ามันเปิดเผยสิ่งใหม่ของพระคริสตเจ้าบนพื้นฐาน  "รูปแบบ" (FIGURES, TYPES) ซึ่งได้ป่าวประกาศพระองค์ไปในกิจการต่างๆ คำพูดและสัญลักษณ์ของพันธสัญญาแรก รูปแบบต่างๆ เหล่านั้นได้ถูกเปิดเผย โดยการอ่านใหม่ในจิตตารมณ์แห่งความจริงโดยเริ่มจากพระคริสตเจ้า (เทียบ 2คร.3:14-16)  ดังนี้ น้ำมหาวินาศและเรือใหญ่ของโนอาห์เป็นรูปแบบล่วงหน้าถึงความรอดโดยอาศัยศีลล้างบาป (เทียบ 1ปต. 3:21) เมฆและการข้ามทะเลแดงก็เช่นเดียวกัน น้ำจากก้อนหินเป็นรูปแบบถึงพระพรฝ่ายจิตของพระคริสตเจ้า และมานนาในทะเลทรายเป็นรูปแบบล่วงหน้าของศีลมหาสนิท "ขนมปังแท้จากสวรรค์" (ยน.6:32 เทียบ 1คร.10:1-6)

1095ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงเอาเหตุการณ์ทั้งปวงของประวัติศาสตร์แห่งความรอดมาอ่านและนำมาปฏิบัติในพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสต-เจ้า เทศกาลมหาพรต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนปัสกา แต่สิ่งนี้ยังเรียกร้องให้การสอนคำสอนช่วยผู้มีความเชื่อให้เปิดตนเองต่อความเข้าใจด้านจิตวิญญาณของระบบแห่งความรอด ตามที่พิธีกรรมของพระศาสนจักรสำแดงให้ประจักษ์ และเราสามารถนำมาดำเนินชีวิตได้

1096พิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของคริสตชน เป็นสิ่งที่ดีมากที่จะรู้จักความเชื่อและชีวิตทางศาสนาของประชาชนชาวยิวได้ค่อนข้างดี ซึ่งยังคงมีการประกาศและใช้ชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยให้เข้าใจบางแง่มุมของพิธีกรรมคริสตชนได้ดีขึ้น พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมสำหรับชาวยิวและคริสตชน ได้แก่ การประกาศพระวาจาของพระเจ้า การตอบสนองพระวาจานี้ การอธิษฐานเพื่อสรรเสริญและอ้อนวอนเพื่อผู้ที่มีชีวิตอยู่และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การเข้ามาขอความเมตตากรุณาของพระเจ้า วจนพิธีกรรมมีโครงสร้างพิเศษ ซึ่งมาจากการภาวนาของชาวยิว การทำวัตรและบทสวดอื่นๆ และสวดตามสูตร ทั้งหมดนี้ก็เป็นการภาวนาที่เราให้ความเคารพ  รวมทั้งบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็คล้ายกับบทภาวนาของชาวยิว บทอนุโมทนาคุณศีลมหาสนิทก็ได้รับการดลใจจากธรรมประเพณีของชาวยิวเหมือนกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมของชาวยิวกับคริสตชนนั้น แม้มีความแตกต่างกันในเนื้อหาสาระอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานฉลองใหญ่ๆ ของปีพิธีกรรม ตัวอย่างเช่น ปัสกา  คริสตชนและชาวยิวต่างฉลองปัสกา สำหรับชาวยิว การฉลองปัสกา คือการฉลองปัสกาในประวัติศาสตร์ที่มุ่งสู่อนาคต  สำหรับคริสตชน เป็นการฉลองปัสกาที่สมบูรณ์ไปในการสิ้นพระชนม์และการเสด็จกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า แม้ในการรอคอยความครบถ้วนสมบูรณ์สุดท้าย

1097ทุกกิจการทางพิธีกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉลองศีลมหาสนิทและศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในพิธีกรรมของพันธสัญญาใหม่นั้นเป็นการพบกันระหว่างพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร การชุมนุมทางพิธีกรรมได้รับความเป็นหนึ่งเดียวกันเฉพาะโดย "การมีส่วนร่วมกันของพระจิตเจ้า" ผู้รวบรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าในพระกายเดียวของพระคริสตเจ้า การชุมนุมนั้นอยู่เหนือความเกี่ยวพันใดๆ ของมนุษย์ ทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและสังคม

1098ชุมนุมนั้นต้องเตรียมตัวเพื่อพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นประชากรที่เตรียมพร้อมอย่างดี การตระเตรียมหัวใจนี้เป็นงานร่วมกันของพระจิตเจ้าและของที่ประชุม โดยเฉพาะของศาสนบริกร พระหรรษทานของพระจิตเจ้านั้นพยายามจะกระตุ้นความเชื่อ  การกลับใจและการยึดถือน้ำพระทัยของพระบิดาเจ้า การจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นเพื่อรับพระหรรษทานอื่นๆ ที่เสนอให้ในการฉลองนั้นเองและเพื่อผลของชีวิตใหม่ที่ตั้งใจให้บังเกิดในเวลาต่อมา

พระจิตเจ้าทำให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

1099พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรประสานงานกันเพื่อสำแดงพระคริสตเจ้า และงานแห่งความรอดของพระองค์ในพิธีกรรม พิธีกรรมคือการรำลึกถึงธรรมล้ำลึกแห่งความรอด    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิทและในลักษณะที่เปรียบเทียบกันในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ พระจิตเจ้าคือความทรงจำที่มีชีวิตของพระศาสนจักร (เทียบ ยน.14:26)

1100พระวาจาของพระเจ้า ก่อนใดหมดพระจิตเจ้าทรงทำให้ระลึกถึงความหมายของเหตุการณ์แห่งความรอดในเบื้องแรกต่อที่ประชุมพิธีกรรม โดยให้ชีวิตแก่พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรประกาศเพื่อให้ที่ประชุมรับฟังและนำไปปฏิบัติในชีวิต

"พระคัมภีร์สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบพิธีกรรม เพราะว่าพระคัมภีร์เป็นที่มาของบทอ่านต่างๆ ที่ใช้อ่านและอธิบายคำเทศน์ และเพลงสดุดีที่ใช้ขับร้อง คำอธิษฐานภาวนา บทวิงวอน เพลงขับร้องในพิธีกรรม ล้วนเอาเนื้อความที่เตือนใจมาจากพระคัมภีร์ทั้งสิ้น กิจกรรมและสัญลักษณ์สำคัญต่างๆ ก็ได้ความหมายมาจากพระคัมภีร์ด้วย" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 24)

1101พระจิตเจ้าทรงประทานความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าแก่ผู้อ่านและผู้ฟังตามความพร้อมของหัวใจเขา พระองค์ทรงจัดให้บรรดาผู้มีความเชื่อและศาสนบริกรมีความสัมพันธ์ที่มีชีวิตชีวากับพระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์และพระฉายาลักษณ์ของพระบิดาโดยอาศัยถ้อยคำ กิจการและสัญลักษณ์ ซึ่งสร้างโครงร่างของงานฉลอง เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตตามความหมายของสิ่งที่ได้ฟัง คิดรำพึง และกระทำในพิธีฉลองนั้น

1102"ความเชื่อนั้น...หล่อเลี้ยงอยู่ในหัวใจของผู้มีความเชื่ออันเนื่องมาจากพระวาจาที่ช่วยให้รอดของพระเจ้า ความเชื่อที่ทำให้กลุ่มคริสตชนเริ่มต้นและเติบโตขึ้น" (การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 4) การประกาศพระวาจาของพระเจ้าไม่จำกัดแค่การสั่งสอนอบรม พระวาจานั้นเร่งเร้าให้ตอบสนองด้วยความเชื่อเสมือนเป็นความยินยอมเต็มใจและอุทิศตน    โดยมุ่งไปที่พันธสัญญาระหว่างพระเจ้าและประชากรของพระองค์ ยังเป็นพระจิตเจ้าที่ทรงประทานพระหรรษทานแห่งความเชื่อ ทรงทำให้เข้มแข็งและทรงทำให้เจริญงอกงามในชุมชน การชุมนุมทางพิธีกรรมนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกของกลุ่มชนที่มีความเชื่อเหมือนกัน

1103บทระลึกถึง (Anamnesis) การฉลองทางพิธีกรรมมักอ้างถึงการเข้ามาช่วยให้รอดของพระเจ้าในประวัติศาสตร์เสมอ     "แผนการณ์ของการเผยแสดงนี้สำเร็จไปด้วยกิจการและพระวาจาซึ่งรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ส่วนพระวาจาก็บอกและอธิบายกิจการและข้อเร้นลับในกิจการเหล่านั้น" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 2) พระจิตเจ้าทรงทำให้ที่ประชุมระลึกถึงทุกสิ่งซึ่งพระคริสตเจ้าได้ทรงกระทำเพื่อเราในภาควจนพิธีกรรม การเฉลิมฉลองนั้นทำให้รำลึกถึงสิ่งน่าพิศวงของพระเจ้า   โดยบทระลึกถึงที่ได้พัฒนามาแล้วไม่มากก็น้อยตามธรรมชาติของกิจการทางพิธีกรรมและธรรมประเพณีของจารีตของพระศาสนจักร พระจิตเจ้าทรงกระตุ้นความจำของพระศาสนจักร และดลใจให้ขอบพระคุณและสรรเสริญ (ในบทยอพระเกียรติ Doxology)

พระจิตเจ้าทรงทำให้ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าเป็นปัจจุบัน

1104พิธีกรรมของคริสตชนไม่เพียงแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งช่วยเราให้รอดเท่านั้น แต่พิธีกรรมทำให้เหตุการณ์นั้นเป็นจริง  ทำให้เป็นปัจจุบันอีกด้วย  เราฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ไม่ได้ทำซ้ำ แต่เป็นการเฉลิมฉลองที่ทำซ้ำ และในการฉลองแต่ละครั้ง พระจิตเจ้าทรงทำให้ธรรมล้ำลึกเดียวกันนั้นเป็นปัจจุบัน

1105บทวอนขอพระจิต (Epiclesis = การวอนขอความช่วยเหลือจากเบื้องบน) เป็นการวอน-ขอความช่วยเหลือ ซึ่งพระสงฆ์วอนขอพระบิดาให้ส่งพระจิตผู้ทรงทำให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ของถวายกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า และเพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อที่ไปรับศีลมหาสนิทนั้นกลายเป็นของถวายที่มีชีวิตแด่พระเจ้า (เทียบ รม.12:1)

1106บทระลึกถึง (Anamnesis) และ บทวอนขอพระจิต (Epiclesis) เป็นหัวใจของการฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท

ท่านวอนขอให้แผ่นปังกลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า และเหล้าองุ่นกลายเป็นพระ-โลหิตของพระคริสตเจ้านั้น เราขอบอกท่านดังนี้ พระจิตทรงเสด็จมา ทำให้ทุกคำพูดและทุกความคิดเป็นจริง... เป็นการเพียงพอสำหรับท่านที่จะทราบว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระจิตเจ้า เช่นเดียวกับพระนางพรหมจารีมารีย์ โดยพระองค์และในพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงรับเอากาย (น.ยอห์น ดามัสซีส PG 94,1145A.)

1107พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมนั้นทำให้พระราชัยและธรรมล้ำลึกแห่งความรอดสำเร็จผลเร็วขึ้น   พระองค์ทรงทำให้เรามีส่วนร่วมในความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่เรากำลังรอคอยด้วยความหวัง พระบิดาผู้ได้ยินเราภาวนาขอพระจิต ทรงส่งพระจิตมาประทานชีวิตแก่ผู้ที่ยอมรับพระองค์ และแม้ปัจจุบันนี้เป็นมัดจำของมรดกที่เราจะได้รับ (เทียบ อฟ.1:14; 2คร.1:22)

การร่วมเป็นหนึ่งเดียวเดชะพระจิต

1108ในทุกกิจการทางพิธีกรรม พระจิตเจ้าถูกส่งมาเพื่อนำเราให้เข้าไปมีสัมพันธ์กับพระคริสต-เจ้า และเพื่อสร้างพระกาย (พระศาสนจักร) ของพระองค์   พระจิตเจ้าทรงเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงเถาองุ่นของพระบิดา ซึ่งบังเกิดผลที่กิ่งก้านสาขา (เทียบ ยน.15:1-17; กท.5:22) พระจิตเจ้าทรงร่วมงานกับพระศาสนจักรในพิธีกรรมพระจิตเจ้า ผู้เป็นจิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยังคงอยู่ในพระศาสนจักรอย่างไม่มีบกพร่อง ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ของการมีชีวิตร่วมกันแบบพระเจ้า ซึ่งรวบรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าที่กระจัดกระจายไปให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพ และความสัมพันธ์กันฉันพี่น้องนี้เป็นผลของพระจิตเจ้าในพิธีกรรม (เทียบ 1ยน.1:3-7)

1109บทวอนขอพระจิต (Epiclesis) เป็นการอธิษฐานเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของที่ประชุมกับธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าบังเกิดผลสมบูรณ์ "ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้าสถิตอยู่กับทุกท่านเทอญ" (2คร.13:13) ต้องคงอยู่กับเราเสมอและก่อให้เกิดผลนอกเหนือไปจากการฉลองศีลมหาสนิท ดังนั้น พระศาสนจักรจึงวอนขอพระบิดาให้ส่งพระจิตเจ้า เพื่อทำให้ชีวิตของผู้มีความเชื่อเป็นบูชาที่มีชีวิตแด่พระเจ้า โดยการเปลี่ยนแปลงฝ่ายจิตของพวกเขาให้เป็นพระฉายาลักษณ์ของพระคริสตเจ้า โดยสนใจสร้างเอกภาพของพระศาสนจักร และโดยมีส่วนร่วมกับภารกิจของพระศาสนจักร ด้วยการเป็นประจักษ์พยานและบริการรับใช้ด้วยเมตตาจิต