หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. เราประกอบพิธีกรรมเมื่อไร

 เทศกาลตามพิธีกรรม

1163"พระศาสนจักร มารดาศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นหน้าที่ของตนจะต้องฉลองการที่พระคริสตเจ้าทรงไถ่ คือเตือนความศรัทธาให้ระลึกถึงการไถ่นี้ ในวันที่กำหนดในระหว่างปีหนึ่งๆ ทุกๆ สัปดาห์ในวันที่เรียกว่า "วันพระเจ้า"  พระศาสนจักรรำลึกถึงการกลับคืนชีพของพระ-คริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรยังสรรเสริญธรรมล้ำลึกนี้อีกปีละครั้งพร้อมกับการรับทรมานของพระองค์ในวันสมโภชปัสกา ซึ่งสำคัญที่สุดในรอบปี ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังนำธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่เป็นตอน... เตือนให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกการไถ่ดังนี้ เพื่อเปิดพระคลังฤทธิ์อำนาจและบุญกุศลของพระคริสตเจ้าให้แก่สัตบุรุษ ฤทธิ์อำนาจและบุญกุศลเหล่านี้กลับเป็นปัจจุบันเสมอไป สัตบุรุษสามารถรับพระคุณเหล่านี้ จิตใจของเขาจึงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานที่ช่วยให้รอด" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 102)

1164ตั้งแต่สมัยกฎของโมเสส  ประชากรของพระเจ้าได้ทำวันฉลองต่างๆ ในวันที่กำหนดไว้แน่นอน โดยเริ่มด้วยปัสกา เพื่อรำลึกถึงกิจการต่างๆ ที่น่าพิศวงของพระเจ้าพระมหาไถ่ เพื่อขอบพระคุณพระองค์ เพื่อจดจำไว้ตลอดไปและสั่งสอนลูกหลานให้ปฏิบัติตนตามนั้น ในยุคของพระศาสนจักร ยุคที่กำหนดไว้ระหว่างปัสกาของพระคริสตเจ้าที่ได้ทำสำเร็จสมบูรณ์ไปแล้วครั้งเดียวสำหรับทุกคนตลอดไป  และการสิ้นสุดสมบูรณ์ในอาณาจักรพระเจ้านั้น พิธีกรรมที่ฉลองกันในวันที่กำหนดไว้มีความหมายใหม่แห่งธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า

1165เมื่อพระศาสนจักรฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้านั้น มีคำอธิษฐานที่เน้นอยู่คำหนึ่งคือ "วันนี้" เป็นเสียงสะท้อนคำภาวนาที่พระคริสตเจ้าทรงสอน และเป็นการเชิญพระจิตเจ้า (เทียบ มธ.6:11; ฮบ.3:7-4:11; สดด.95:7) คำว่า "วันนี้" ของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตซึ่งเรียกมนุษย์ให้เข้ามาหานั้น เป็น "วาระ" ปัสกาของพระเยซูเจ้าซึ่งทรงสัมผัสประวัติศาสตร์ทั้งมวลตลอดไป และทรงเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์

ชีวิตแผ่ไปสู่ทุกสิ่ง และประทานแสงสว่างแก่สิ่งเหล่านั้นอย่างเต็มเปี่ยม ตะวันออกแห่งบรรดาตะวันออกนั้นได้บุกรุกจักรวาลและพระองค์ผู้ซึ่งเคยเป็นอยู่ก่อนดาวประจำรุ่งและก่อนดวงดาวอื่นๆ ผู้เป็นอมตะและยิ่งใหญ่ คือพระคริสตเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทรงเปล่งแสงเจิดจ้ากว่าดวงอาทิตย์ เหนือสิ่งที่เป็นอยู่ทั้งปวง ดังนั้น เพราะเราเชื่อในพระองค์ แสงของวันจะพุ่งขึ้นยาวนานไม่สิ้นสุด คือธรรมล้ำลึกปัสกา (นักบุญฮิปโปลีตูส เกี่ยวกับปัสกา 1-2 :SCH 27,117)

วันพระเจ้า

1166"ตามธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมาจากสมัยบรรดาอัครธรรมทูต     ที่มีต้นกำเนิดในวันที่พระคริสตเจ้ากลับคืนชีพ  พระศาสนจักรฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาทุกๆ วันที่เจ็ด  ซึ่งคริสตชนยังเรียกอย่างเหมาะสมว่า วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า" (พิธีกรรม ข้อ 106) วันกลับ-คืนชีพของพระคริสตเจ้า เป็นทั้งวันแรกแห่งการสร้างหรือวันอาทิตย์ และ "วันที่แปด" ที่พระคริสตเจ้า หลังจากได้พักผ่อน ในวันเสาร์ ทรงเริ่ม "วันที่พระเจ้าทรงสร้าง" วันซึ่งจะไม่มีดวงอาทิตย์ตกดิน (พิธีกรรมบิเซนไทน์) อาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากว่าชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อทั้งหมดพบปะองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงกลับเป็นขึ้นมาผู้ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้มางานเลี้ยงของพระองค์ (เทียบ ยน.21:12;ลก.24:30)

วันพระเจ้า วันกลับคืนชีพ วันของบรรดาคริสตชน  เป็นวันของเรา เรียกกันว่าเป็นวันพระเจ้า เพราะเหตุนี้โดยเฉพาะคือ เพราะว่าในวันนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จขึ้นไปประทับอยู่กับพระบิดาอย่างผู้มีชัย ถ้าคนต่างศาสนาเรียกว่าเป็นวันของพระอาทิตย์ เราตกลงโดยเต็มใจด้วย เพราะวันนี้แสงสว่างแห่งโลกได้ขึ้นมาแล้ว วันนี้ดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรมได้ปรากฏมาแล้วซึ่งรัศมีของมันนั้นนำเราไปสู่ความรอด (นักบุญเยโรม CCL 78,550)

1167วันอาทิตย์เป็นวันชุมนุมทางพิธีกรรมได้ดีเลิศ ในวันนั้น สัตบุรุษต้องมาประชุมกันเพื่อฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า และร่วมในพิธีสักการบูชาขอบพระคุณ คิดถึงพระทรมาน การกลับคืนชีพ และสิริโรจนาของพระเยซูเจ้า และขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ผู้ "ได้บังเกิดเราใหม่เพื่อความหวังอันมีชีวิตอาศัยการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 106)

โอ พระคริสตเจ้า เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายคิดรำพึงถึงสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นไปในวันนี้ วันอาทิตย์แห่งการกลับเป็นขึ้นมาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ข้าพเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า วันอาทิตย์เป็นวันชื่นชม เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเริ่มสร้างโลกในวันนั้น... ความรอดของโลก... การฟื้นฟูมนุษยชาติ...ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกต่างชื่นชมยินดีในวันนั้นและจักรวาลทั้งมวลได้รับแสงส่องสว่างอย่างเต็มเปี่ยม วันอาทิตย์เป็นวันมีบุญ เพราะว่าประตูสวรรค์ได้เปิดอ้าออกในวันนั้น เพราะอาดัมและผู้ถูกเนรเทศสามารถเข้าไปได้โดยปราศจากความเกรงกลัว (พิธีของซีเรีย แห่งอันติโอค VI, 193B)

 ปีพิธีกรรม

1168ยุคใหม่แห่งการกลับคืนชีพทำให้ช่วงปีพิธีกรรมมีความหมายสมบูรณ์ขึ้น ด้วยการเริ่มต้นตรีวารปัสกา ในฐานะเป็นต้นกำเนิดแห่งแสงสว่าง  พิธีกรรมทำให้ช่วงปีมีภาพชัดเจนขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าในด้านใดของต้นกำเนิดนี้ มันเป็น "ปีแห่งพระเมตตาของพระเจ้า" อย่างแท้จริง (ลก.4:19) แผนการณ์แห่งความรอดดำเนินการในกรอบเวลา แต่สำเร็จสมบูรณ์โดยปัสกาของพระเยซูเจ้า และการเสด็จมาของพระจิตเจ้า เราได้ชิมลางความสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์ล่วงหน้า และอาณาจักรพระเจ้าเข้าสู่กาลเวลาของเรา

1169เพราะเหตุนี้ ปัสกา (Easter) จึงไม่เป็นเพียงแต่การฉลองงานหนึ่งท่ามกลางงานฉลองอื่นๆ ทั่วไป แต่เป็น"งานฉลองของการฉลองทั้งหลาย" เป็นสมโภชแห่งการสมโภชทั้งหลาย  ดังเช่นศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย (เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญมาก) นักบุญอาทานาสเรียกปัสกาว่า "วันอาทิตย์อันยิ่งใหญ่" (ค.ศ. 329 ep.fest.1:PG 24,1336)  และพระศาสนจักรตะวันออกเรียกสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ว่า "สัปดาห์อันยิ่งใหญ่" ธรรมล้ำลึกแห่งการกลับคืนชีพ เมื่อพระคริสตเจ้าได้สลายความตายไปแล้ว ได้ประทานพลังทรงอานุภาพแก่ช่วงเวลาเก่าของเรา จนกระทั่งทุกสิ่งจะอยู่ใต้พระองค์

1170สังคายนาแห่งนีเชอา ในปี ค.ศ. 325 กลุ่มคริสตจักรทั้งหลายเห็นพ้องกันให้ปัสกาของชาวคริสต์ฉลองในวันอาทิตย์ถัดจากวันเพ็ญแรก (14 นีซาน) หลังจากวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (Vernal Equinox) เพราะวิธีการคำนวณวันที่ 14 เดือนนีซานแตกต่างกัน วันปัสกาของคริสตจักรตะวันตกและตะวันออก จึงไม่เหมือนกันเสมอไป ด้วยเหตุนี้ คริสตจักรต่างๆ กำลังแสวงหาข้อตกลงเพื่อกลับไปฉลองวันกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าให้เป็นวันเดียวกัน

1171แง่มุมด้านต่างๆ ของธรรมล้ำลึกปัสกา เปิดเผยชัดขึ้นในช่วงปีพิธีกรรม รวมทั้งกรณีวงจรวันฉลองที่เกี่ยวกับธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า กล่าวคือ เทวดาแจ้งสาร พระคริสตสมภพ พระคริสต์แสดงองค์ วันต่างๆ เหล่านี้ช่วยเราให้ระลึกถึงผลแรกของธรรมล้ำลึกปัสกา

การฉลองนักบุญในปีพิธีกรรม

1172"เมื่อฉลองธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระคริสตเจ้าตามลำดับประจำปีเช่นนี้ พระศาสนจักรแสดงความเคารพนับถือด้วยความรักเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์ พระชนนีของพระเจ้าซึ่งร่วมกับพระบุตรมิได้ขาดในการไถ่ พระศาสนจักรเชิดชูและยกย่องพระนางมารีย์ว่า เป็นผลอันประเสริฐของการไถ่ เมื่อพระศาสนจักรเพ่งดูพระนางด้วยความชื่นชม    พระศาสนจักรก็เห็นว่าพระนางเป็นรูปอันบริสุทธิ์ยิ่งสำหรับพระศาสนจักรเอง ซึ่งปรารถนาและหวังที่จะเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์เช่นนั้นด้วย" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 103)

1173ตลอดปี พระศาสนจักรยังอ้อนวอนแบบอย่างของนักบุญให้เราคิดถึงมรณสักขีและนักบุญอื่นๆ พระศาสนจักรประกาศธรรมล้ำลึกปัสกาในพวกเขา "ผู้ได้ทนทรมาน และได้รับสิริ-โรจนาการกับพระองค์ พระศาสนจักรเสนอให้สัตบุรุษถือตามแบบฉบับของท่าน ซึ่งดึงดูดทุกคนไปหาพระบิดาทางพระคริสตเจ้า กับวอนขอพระคุณของพระเป็นเจ้า อาศัยบุญกุศลของท่าน" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 104; เทียบ ข้อ 108,111)

พิธีกรรมทำวัตร

1174ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า การบังเกิดเป็นมนุษย์และปัสกาของพระองค์นั้น ซึ่งเราฉลองในมิสซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่คริสตชนประชุมวันอาทิตย์ ซึมซาบและเปลี่ยนแปลงกาลเวลาของแต่ละวัน โดยทางพิธีกรรมทำวัตร "ทำวัตรสรรเสริญพระ" (เทียบ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ บทที่ 4,83-101) การที่สัตบุรุษเชื่อถือคำเตือนของบรรดาอัครธรรมทูตที่ว่า "จงภาวนาอย่างไม่หยุดหย่อน" (เทียบ 1ธส.5:17; อฟ.6:18) การฉลองนี้ "จัดขึ้นในแบบที่ทำให้เวลาทั้งวันทั้งคืน เพื่อเราจะรับความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสรรเสริญพระเป็นเจ้า" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 84) "ในการภาวนาส่วนรวมของพระศาสนจักร" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 98) บรรดาผู้มีความเชื่อ (ได้แก่ พระสงฆ์ นักพรตและฆราวาส) ทำหน้าที่ของกษัตริย์และสงฆ์เมื่อได้รับศีล-ล้างบาป "เมื่อสัตบุรุษสวดตามรูปแบบที่พระศาสนจักรรับรอง เมื่อนั้นพิธีกรรมทำวัตรก็เป็นเสียงเจ้าสาว (พระศาสนจักร) พูดกับเจ้าบ่าว (พระคริสตเจ้า) อย่างแท้จริง อีกนัย-หนึ่ง เป็นคำภาวนาที่พระคริสตเจ้าพร้อมกับพระกายของพระองค์ถวายแด่พระบิดาเจ้า" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 84)

1175พระศาสนจักรมุ่งหมายให้การทำวัตรเป็นการอธิษฐานของประชากรของพระเจ้าทั้งมวล   ในการทำวัตรนั้นพระคริสตเจ้าเองทรง "ทำต่อเนื่องหน้าที่สมณะโดยอาศัยพระศาสนจักรของพระองค์" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 83)  สมาชิกของพระศาสนจักรร่วมทำส่วนของตนตามบทบาท ซึ่งมีอยู่ในพระศาสนจักรและตามสภาพแวดล้อมของชีวิตตน เช่น พระสงฆ์อุทิศตนในงานอภิบาล เพราะพระเจ้าเรียกพระสงฆ์ให้ซื่อสัตย์ในการอธิษฐานภาวนาและทำหน้าที่บริการพระวาจา บรรดานักพรต (ก็ปฏิบัติเช่นกัน) ซึ่งได้รับพระคุณพิเศษของชีวิตที่อุทิศถวายตัว บรรดาผู้มีความเชื่อทั้งหลาย (ก็ปฏิบัติเช่นกัน) ตามความสามารถ ดังที่พระสังคายนาวาติกันที่ 2 สอนว่า "บรรดาผู้อภิบาลสัตบุรุษควรเอาใจใส่ให้มีการประกอบพิธีบทสวดประจำยามสำคัญ เป็นต้นทำวัตรเย็น (เวสเปรัส) ในวันอาทิตย์และในวันฉลองใหญ่ ขอแนะเตือนฆราวาสให้สวดภาวนาบททำวัตรสรรเสริญพระโดยสวดร่วมกับพระสงฆ์ หรือสวดในหมู่พวกเดียวกันเอง หรือจะสวดคนเดียวก็ได้" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 100 เทียบ 86,96,98; Po 5)

1176การทำวัตรนั้นเรียกร้องให้การภาวนาด้วยปาก ประสานเสียงกับหัวใจในการอธิษฐานให้เข้ากัน แต่ "เขาควรศึกษาพิธีกรรมและพระคัมภีร์เฉพาะอย่างยิ่งเพลงสดุดีให้รู้ดียิ่งขึ้น"   (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 90)

1177บทเพลง (Hymns) และบทร่ำวิงวอน (Litanies) ของการทำวัตรนั้นทำให้เพลงสดุดีสมบูรณ์ขึ้นในยุคของพระศาสนจักร โดยการแสดงออกด้วยสัญลักษณ์ตามเวลาของวัน   เทศกาลพิธีกรรมหรือการฉลอง นอกเหนือจากนี้ การอ่านพระวาจาของพระเจ้าแต่ละช่วงเวลา (พร้อมด้วยการตอบรับตามบทอ่าน) และในบางช่วงเวลามีบทอ่านของบรรดาปิตาจารย์และอาจารย์ฝ่ายชีวิตจิตเผยแสดงความหมายของธรรมล้ำลึกที่ฉลองกันด้วยวิธีลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้เข้าใจบทสดุดีและเตรียมภาวนาอย่างเงียบๆ พระวาจาของพระเป็นเจ้า (Lectio Divina) ที่เราอ่านและรำพึงพระวาจาของพระเป็นเจ้า และรำพึงจนกระทั่งกลายเป็นการภาวนา เป็นรากฐานแห่งการฉลองพิธีกรรม

1178พิธีกรรมทำวัตรซึ่งต่อเนื่องจากมิสซา มิได้มีการตัดออก แต่เรียกร้องให้เพิ่มความศรัทธาของประชากรของพระเป็นเจ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการนมัสการและเคารพศีลมหาสนิท