หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. เราประกอบพิธีกรรมอย่างไร

 เครื่องหมายและสัญลักษณ์

1145การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นประกอบด้วยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ ความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้นหยั่งรากลึกลงในงานการสร้างโลก และในวัฒนธรรมมนุษย์ซึ่งเป็นวิธีที่พระเจ้าทรงใช้อบรมมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องความรอด โดยเฉพาะในเหตุการณ์ต่างๆ ของพันธสัญญาเดิม และได้รับการเผยแสดงอย่างสมบูรณ์ในพระบุคคลและงานของพระ- คริสตเจ้า

1146เครื่องหมายต่างๆ ของโลกมนุษย์ ในชีวิตมนุษย์ เครื่องหมายและสัญลักษณ์มีบทบาทสำคัญ ในแง่ที่เป็นเรื่องร่างกายและจิตใจเวลาเดียวกัน มนุษย์แสดงออกและรับความเป็นจริงฝ่ายจิตผ่านทางเครื่องหมายและสัญลักษณ์ทางวัตถุ ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ต้องการเครื่องหมายและสัญลักษณ์เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนอื่นโดยอาศัยภาษา   ท่าทาง กิจการต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน

1147พระเจ้าตรัสกับมนุษย์อาศัยการสร้างโลกที่แลเห็นได้   จักรวาลที่เป็นวัตถุสำแดงตนแก่ปัญญาของมนุษย์นั้นเพื่อให้มนุษย์สามารถอ่านร่องรอยของพระเจ้าพระผู้สร้าง (เทียบ ปชญ.13:1; รม.1:19-20; กจ.14:17) แสงสว่างและความมืด ลมและไฟ น้ำและแผ่นดิน ต้นไม้และผลไม้ต่างๆ กล่าวถึงพระเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ถึงความยิ่งใหญ่และความใกล้ชิดของพระองค์

1148ในฐานะที่เป็นสิ่งสร้าง ความจริงที่แลเห็นได้เหล่านี้แสดงถึงกิจการของพระเจ้า ผู้ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสื่อแสดงกิจการของมนุษย์ผู้ถวายสักการะบูชาแด่พระเจ้า ในทำนองเดียวกัน เครื่องหมายและสัญลักษณ์จากชีวิตสังคมของมนุษย์ (ได้แก่ การชำระ-ล้างและการเจิม การบิปังและการดื่มจากถ้วยกาลิกซ์เดียวกัน) ก็สามารถแสดงถึงการประทับอยู่ของผู้ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ และแสดงความกตัญญูรู้คุณของมนุษย์ต่อพระผู้-สร้าง

1149ศาสนาสำคัญใหญ่ๆ ของมนุษยชาติเป็นประจักษ์พยานถึงความหมายของศาสนพิธีด้านจักรวาลและสัญลักษณ์ พิธีกรรมของพระศาสนจักรทำให้องค์ประกอบต่างๆ ตั้งแต่การสร้างโลกและวัฒนธรรมของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์และสมบูรณ์ โดยการให้ศักดิ์ศรีแห่งเครื่อง-หมายพระหรรษทานของการสร้างโลกใหม่ในพระเยซูคริสตเจ้า

1150เครื่องหมายแห่งพันธสัญญา ประชากรผู้เลือกสรรได้รับเครื่องหมายและสัญลักษณ์เฉพาะจากพระเจ้า ซึ่งกำหนดชีวิตทางพิธีกรรม ฉะนั้นเครื่องหมายดังกล่าวนี้ไม่เป็นเพียงพิธีเฉลิมฉลองวัฎจักรในจักรวาลหรือแสดงลักษณะท่าทีของสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญา เป็นสัญลักษณ์ของกิจการยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ ท่ามกลางบรรดาเครื่องหมายทางพิธีกรรมแห่งพันธสัญญาเดิมนั้นมีหลายอย่างเช่น พิธีเข้าสุหนัต การเจิมและการอภิเษกแต่งตั้งกษัตริย์และพระสงฆ์ การปกมือ เครื่องบูชา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉลองปัสกา  พระศาสนจักรรับรู้รูปแบบล่วงหน้าของศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาใหม่ในบรรดาเครื่องหมายเหล่านี้

1151เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงใช้ในการประกาศเทศนานั้น พระเยซูคริสตเจ้าทรงใช้เครื่องหมายของสิ่งสร้าง เพื่อสำแดงธรรมล้ำลึกของพระอาณาจักรของพระเจ้า (เทียบ ลก. 8:10) พระองค์ทรงรักษาโรคและทรงใช้ตัวอย่างในการอธิบายเทศน์สอน โดยใช้เครื่อง-หมายทางกายภาพ หรือท่าทางที่เป็นสัญลักษณ์ (เทียบ ยน.9:6; มก.7:33-35; 8:22-25) พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์และเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอพยพและปัสกา เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายทั้งปวงเหล่านี้

1152เครื่องหมายทางศีลศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่วันสมโภชพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรงทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป โดยอาศัยเครื่องหมายทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรไม่ลบล้างแต่ชำระให้บริสุทธิ์ และรวมความหมายมากมายของเครื่อง-หมายและสัญลักษณ์ที่มาจากโลกและจากชีวิตสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้  ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังสนองตอบรูปแบบและภาพลักษณ์ของพันธสัญญาเดิม แสดงออกและทำให้ความรอดที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิบัติไว้เป็นปัจจุบัน และบอกล่วงหน้าเป็นภาพลักษณ์ถึงพระสิริรุ่งโรจน์บนสวรรค์

ถ้อยคำและกิจการ (ในพิธีกรรม)

1153พิธีกรรมทางศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งเป็นการพบกันระหว่างบุตรของพระเจ้ากับพระบิดา ในพระคริสตเจ้าและในพระจิตเจ้า การพบนั้นมีรูปแบบของการสนทนา โดยทางกิจการและวาจา กิจการที่เป็นสัญลักษณ์ในตัวเองเป็นภาษาอยู่แล้ว แต่พระวาจาของพระเจ้าและการตอบสนองของผู้มีความเชื่อต้องไปด้วยกัน และทำให้กิจการต่างๆ เหล่านี้มีชีวิตชีวา เพื่อให้เมล็ดแห่งพระราชัยเกิดผลในพื้นดินดี  พิธีกรรมแสดงให้เห็นสิ่งที่พระวาจาของพระเจ้ากล่าวถึง กล่าวคือ พระเจ้าทรงริเริ่มด้วยพระทัยดี และในทำนองเดียวกันก็ให้คำตอบความเชื่อของประชากรของพระองค์

1154วจนพิธีกรรม เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ เราควรเน้นเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยพระวาจาของพระเจ้า ต้องได้รับการเน้นเป็นพิเศษ   เพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อของผู้มีความเชื่อ เช่น แสดงหนังสือพระวาจา (หนังสือบทอ่านหรือหนังสือพระวรสาร) แสดงความเคารพต่อพระวาจา (ขบวนแห่ กำยาน เทียน)สถานที่ใช้ประกาศพระวาจา (ธรรมาสน์หรือที่อ่านบทอ่าน) การประกาศที่เข้าใจได้ชัดเจน คำ-เทศน์ของศาสนบริกร ซึ่งทำการประกาศพระวาจาต่อไป รวมทั้งการตอบรับของที่ประชุม (การร้องตอบ เพลงสดุดีใช้รำพึงบทภาวนาร่ำวิงวอนและบทยืนยันความเชื่อ)

1155คำพูดและกิจการทางพิธีกรรมไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะเป็นเครื่องหมายและคำ-สั่งสอน และเพราะที่ทำให้สิ่งซึ่งมีความหมายถึงเป็นจริง พระจิตเจ้าไม่จำกัดที่จะประทานความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าโดยการปลุกเร้าความเชื่อ แต่พระองค์ยังทรงทำให้สิ่งน่าพิศวงของพระเจ้าเป็นจริงผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ พระจิตเจ้าทรงทำให้บ้านของพระบิดาเจ้าปรากฏในปัจจุบัน และสำเร็จสมบูรณ์โดยอาศัยพระบุตรสุดที่รัก

การร้องเพลงและดนตรี

1156"ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรในเรื่องดนตรี    นับว่าเป็นขุมทรัพย์อันมีค่าเหลือจะประมาณได้ เป็นสิ่งประเสริฐเลิศยิ่งกว่าศิลปะใดๆ ที่เป็นเช่นนั้น เหตุผลสำคัญก็คือ เมื่อทำนองเข้ากับเนื้อร้อง ดนตรีก็เป็นส่วนที่จำเป็น ทำให้พิธีกรรมครบถ้วน สง่างาม" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 112) การขับร้อง โดยที่มีเครื่องดนตรีประกอบเป็นธรรมเนียมในการฉลองทางพิธีกรรมของพันธสัญญาเดิมมานานแล้ว พระศาสนจักรทำต่อเนื่องและพัฒนาธรรมประเพณีนี้ "จงร่วมใจกันขับร้องเพลงสดุดี เพลงสรรเสริญ และบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จงขับร้องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดจิตใจ" (อฟ.5:19)   "ใครร้องเพลง ก็เท่ากับภาวนาเป็นสองเท่า" (นักบุญออกัสติน PL 36,914; เทียบ คส.3:16)

1157บทเพลงและดนตรีทำหน้าที่ในฐานะเป็นเครื่องหมายในลักษณะที่มีความหมาย มากกว่าที่จะมีแต่คำพูด เมื่อ"มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกิจการทางพิธีกรรม" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 112.2) ตามเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ คือการภาวนาที่แสดงออกอย่างงดงาม การมีส่วนร่วมพร้อมใจกันของที่ประชุมในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ และลักษณะอันสง่างามของการฉลอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีส่วนร่วมกับเป้าหมายของคำพูดและกิจการทางพิธีกรรม กล่าวคือ เพื่อพระสิริของพระเจ้าและการทำให้ผู้มีความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ (เทียบ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 112)

ข้าพเจ้าร้องไห้ขณะที่ฟังเสียงเพลงนมัสการและเพลงสรรเสริญ ซึ่งแว่วเสียงมาอย่างนิ่มนวลในพระศาสนจักรของพระองค์ เป็นความรู้สึกรุนแรงที่ข้าพเจ้าได้ประสบ เสียงเน้นนั้นทำคลื่นเสียงสั่นสะเทือนในแก้วหูของข้าพเจ้าและกลั่นกรองความจริงในหัวใจของข้าพเจ้า มันเร้าให้เกิดความรู้สึกศรัทธาร้อนรน น้ำตาที่หลั่งไหลออกมาทำให้ข้าพเจ้าสบายใจ   (นักบุญออกัสติน PL 32,769-770)

1158ความกลมกลืนของเครื่องหมาย (บทเพลง ดนตรี ถ้อยคำ และกิจการ) จะมีความหมายและบังเกิดผลมากยิ่งขึ้น เมื่อได้แสดงออกในความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของประชากรของพระเจ้าที่ประกอบพิธีกรรม (เทียบ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 119)   เพราะเหตุนี้ "ให้ใช้วิธีอันฉลาดส่งเสริมการ้องเพลงศรัทธาของสัตบุรุษ เวลาปฏิบัติกิจศรัทธา หรือเวลามีการประกอบพิธีกรรม ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักร ให้ได้ยินเสียงของฆราวาสร้องเพลง" แต่ "เนื้อเพลงศาสนาจะต้องมีเนื้อความถูกต้องกับพระธรรมคำสอนคาทอลิก  และทางที่ดีควรอ้างมาจากพระคัมภีร์ หรือจากหนังสือพิธีกรรม" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 119,122)

รูปศักดิ์สิทธิ์ (Holy Images)

1159รูปศักดิ์สิทธิ์หรือรูปเกี่ยวกับพิธีกรรม ปกติเป็นรูปของพระคริสตเจ้า รูปภาพนั้นไม่อาจแทนพระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นและไม่อาจเข้าใจได้ แต่การรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้าได้นำสู่ "ระบบ" (Economy) ใหม่ของรูปนั้น

เมื่อก่อนนี้ พระเจ้าผู้ไม่มีทั้งร่างกายและใบหน้า ไม่สามารถแทนได้ด้วยรูปภาพใดอย่างเด็ด-ขาด แต่มาบัดนี้ พระองค์ทรงทำให้แลเห็นได้ในเนื้อหนังและได้ทรงดำเนินชีวิตอยู่กับมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงสามารถสร้างรูปภาพของสิ่งซึ่งข้าพเจ้าแลเห็นเกี่ยวกับพระเจ้า... และคิดรำพึงถึงพระสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้าในพระพักตร์ที่ไม่ปิดบังของพระองค์ (น.ยอห์น ชาวดามัสกัส, De imag. 1,16; PG 96;1245A)

1160การเขียนภาพของพระคริสตเจ้า     ถ่ายทอดข่าวสารของพระวรสารด้วยรูปภาพเช่นเดียวกันกับพระคัมภีร์ ที่เล่าสืบต่อกันมาโดยอาศัยคำพูด รูปภาพและคำพูดนั้นต่างให้ความกระจ่างซึ่งกันและกัน

เราประกาศว่า เราตั้งใจเฝ้ารักษาธรรมประเพณีทั้งปวงของพระศาสนจักรไว้อย่างหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือปากเปล่า หนึ่งในธรรมประเพณีเหล่านี้ประกอบด้วยผลผลิตของงานศิลป์ที่มีความหมายถึงประวัติศาสตร์ของการประกาศพระวรสาร เพราะมันยืนยันว่าการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่จินตนาการ และให้ประโยชน์แก่เรา เพราะความจริงเหล่านั้นที่แสดงโดยใช้ภาพประกอบกันและกัน ย่อมสะท้อนความหมายของกันโดยไม่ต้องสงสัย (สังคายนานีเชอา II (787) COD III)

1161เครื่องหมายต่างๆ ในการประกอบพิธีกรรมต่างอ้างอิงถึงพระคริสตเจ้า   เช่นรูปของพระมารดาของพระเจ้าและของนักบุญต่างๆ ด้วย    รูปเหล่านั้นหมายถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับพระสิริในพวกเขา รูปเหล่านั้นแสดงให้เห็นชัดแจ้งถึง "พยานต่างๆ จำนวนมากห้อมล้อมอยู่" (ฮบ.12:1) ผู้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการช่วยโลกให้รอดและเป็นผู้ที่เราได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยรูปภาพ ของพวกเขาทั้งหลาย มนุษย์ผู้หนึ่งได้ปรากฏขึ้น "ตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า" ในที่สุดได้จำแลงกาย "ในภาพลักษณ์ของพระองค์" (เทียบ รม.8:29) ผู้ถูกเผยแสดงแก่ความเชื่อของเรา เหมือนเช่นบรรดาเทวดาด้วย พวกเขารวมอยู่ด้วยกันในพระคริสตเจ้าโดยทางรูปต่างๆ เหล่านี้

ตามการสอน (ที่ได้รับการเผยแสดงจากพระเจ้า) ของบรรดาปิตาจารย์ และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรทอลิกนั้น (เรารู้ว่าธรรมประเพณีเหล่านี้มาจากพระจิตเจ้า ผู้ประทับอยู่ในพระศาสนจักร) เราให้คำจำกัดความอย่างถูกต้องและด้วยความมั่นใจ ภาพศักดิ์สิทธิ์และน่าเคารพของพระเยซูคริสตเจ้า แม่พระ เทวดา นักบุญและผู้ชอบธรรมทั้งหลาย  ไม่ว่าจะวาด ทำเป็นโมเซอิค หรือวัตถุอื่นใดที่เหมาะสม ต้องนำมาตั้งไว้ในวัด บนภาชนะศักดิ์สิทธิ์ อาภรณ์ กำแพงและฝาผนัง ในบ้านและตามถนน (สังคายนานีเชอา II : DS 600)

1162 "ความงดงามของรูปต่างๆ เป็นแรงกระตุ้นให้ข้าพเจ้ารำพึงเหมือนเป็นอาหารตา และกระตุ้นเร้าใจข้าพเจ้าให้ถวายพระสิริแด่พระเจ้า" (น.ยอห์น ชาวดามัสกัส) ในทำนองเดียวกัน การคิดรำพึงพิจารณารูปศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับการรำพึงถึงพระวาจาของพระเจ้า และการร้องเพลงสรรเสริญทางพิธีกรรมนั้นสอดคล้องกันกับเครื่องหมายต่างๆ ของการฉลอง เพื่อว่าธรรมล้ำลึกที่เราเฉลิมฉลองนั้นถูกประทับให้ทรงจำในใจและแสดงออกในชีวิตใหม่ของผู้มีความเชื่อ