หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

มาตรา 1

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

การประกอบพิธีกรรมของพระศาสนจักร

1. ใครเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม

1136พิธีกรรมคือ "กิจการ" ของพระคริสตเจ้าทั้งครบ (Christus totus)   บรรดาผู้ประกอบพิธีกรรมโดยไม่ใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์และเครื่องหมายก็คือ ผู้ที่ร่วมพิธีกรรมอยู่บนสวรรค์แล้ว ซึ่งการร่วมฉลองนั้น โดยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างสมบูรณ์

ผู้ทำการประกอบพิธีกรรมในสวรรค์

1137หนังสือวิวรณ์ของนักบุญยอห์น ที่อ่านในพิธีกรรมของพระศาสนจักร เผยให้เราเห็นเป็นครั้งแรกเป็นภาษาสัญลักษณ์ว่า "ในสวรรค์นั้นมีพระบัลลังก์ตั้งอยู่ และมีพระองค์หนึ่งผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์นั้น" (วว.4:2)    "พระเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า" (อสย.6:1) ต่อมาลูกแกะพระเจ้า "ผู้ทรงยืนแม้ถูกประหารแล้ว" (วว.5:6)    คือพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนและกลับเป็นขึ้นมา มหาสมณะสูงสุดแต่องค์เดียวแห่งพระวิหารที่แท้จริง (เทียบ ฮบ.4:14-15; 10:19-21) เป็นองค์เดียวกันกับที่เป็นผู้ถวายและเป็นเครื่องบูชา ผู้ให้และถูกให้ (วว.5:6; เทียบ ยน.1:29) ในที่สุด "แม่น้ำแห่งชีวิต... ซึ่งออกจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าและของลูกแกะ" (วว.22:1) เป็นสัญลักษณ์ที่งดงามที่สุดหมายถึงพระจิตเจ้า (วว.22:1; เทียบ 21:6;  ยน.4:10-14)

1138ทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสตเจ้านั้น มีส่วนในการรับใช้และสรรเสริญพระเจ้า ในความสำเร็จสมบูรณ์ของแผนการพระองค์ กล่าวคือ อานุภาพสวรรค์ การสร้างโลกทั้งมวล (ผู้มีชีวิตทั้งสี่) ผู้รับใช้พันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ (ผู้อาวุโสยี่สิบสี่องค์) ประชากรใหม่ของพระเจ้า (หนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน) โดยเฉพาะบรรดามรณสักขีที่ถูกประหารเพราะเห็นแก่พระวาจาของพระเจ้า พร้อมกับพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า (สตรีนั้น) เจ้าสาวของพระชุมพา (วว.6:9-11; เทียบ 12;21:9) ท้ายสุด ผู้คนจำนวนมากมายเหลือคณานับ มาจากทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ และทุกภาษา (วว.7:9)

1139เป็นอันว่า ในพิธีกรรมตลอดนิรันดร์นี้ พระจิตเจ้าและพระศาสนจักรทำให้เรามีส่วนร่วมทุกครั้ง เมื่อเราฉลองธรรมล้ำลึกแห่งความรอดในศีลศักดิ์สิทธิ์

ผู้ประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์

1140ชุมชนทั้งครบฉลองพิธีกรรม กล่าวคือ พระกายของพระคริสตเจ้าที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับศีรษะ พิธีกรรมมิใช่กิจกรรมส่วนบุคคล แต่เป็นกิจการของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น "เครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่ง" กล่าวคือประชากรศักดิ์สิทธิ์รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และจัดพิธีกรรมตั้งขึ้นภายใต้อำนาจของบรรดาพระสังฆราช เพราะฉะนั้นพิธีกรรมจึงเป็นของพระศาสนจักรทั้งหมด แสดงพระศาสนจักร และเกิดผลในพระศาสนจักร แต่พิธีกรรมเกี่ยวข้องกับสมาชิกแต่ละคนของพระศาสนจักรในวิธีต่างๆ กัน ตำแหน่งหน้าที่ บทบาทและการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 26) เพราะเหตุนี้ "ทุกครั้งที่จารีตต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละจารีตอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน โดยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมด้วยแล้ว ให้ประกอบพิธีกรรมร่วมกันเช่นนี้ ดีกว่าที่จะให้แต่ละคนประกอบพิธีกรรมเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้เท่าที่จะทำได้" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 27)

1141ผู้ที่ประชุมประกอบพิธีกรรมนั้นเป็นหมู่คณะผู้ได้รับศีลล้างบาป ซึ่ง "เขาเหล่านี้โดยการเกิดใหม่และโดยการเจิมของพระจิตเจ้า เขาได้รับเจิมเป็นวิหารฝ่ายจิตและเป็นสมณะราชตระกูลศักดิ์สิทธิ์...ว่าโดยอาศัยงานต่างๆของคริสตชน พวกเขาอาจถวายบูชาทางจิตใจ" (พระศาสนจักร ข้อ 10 เทียบ 1ปต.2:4-5) ความเป็นพระสงฆ์ร่วมกันนี้เป็นสังฆภาพสามัญ เพราะว่าพระคริสตเจ้าเป็นสมณะแต่ผู้เดียวและทุกคนมีส่วนร่วมในพระองค์(พระศาสนจักร ข้อ 10,34 การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 2)

พระศาสนจักรผู้เป็นมารดาปรารถนาอย่างยิ่งให้ผู้มีความเชื่อทั้งปวงได้เข้าใจว่าต้องมีส่วนร่วมฉลองทางพิธีกรรมอย่างเต็มเปี่ยม รู้ตัวและกระตือรือร้น ซึ่งแสดงออกอย่างเต็มที่อันเป็นพิธีกรรมนั้นที่เรียกร้อง และไปสู่สิ่งซึ่งประชากรคริสตชน "เชื้อชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้เป็นสมณะราชตระกูล เป็นชาติที่ได้รับการไถ่กู้ เป็นประชาชาติที่ศักดิ์สิทธิ์" มีสิทธิและหน้าที่อันเนื่องมาจากศีลล้างบาป (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 14,เทียบ 1ปต.2:9; 2:4-5)

1142แต่ "ร่างกายของเรามีองค์ประกอบหลายส่วน และส่วนต่างๆ เหล่านี้ไม่มีหน้าที่เดียวกันฉันใด"(รม.12:4) บางคนนั้นพระเจ้าทรงเรียกให้บริการรับใช้พิเศษต่อชุมชนในพระศาสนจักรและผ่านทางพระศาสนจักร ผู้ให้บริการเหล่านี้ได้รับเลือกและได้รับเจิมโดยศีลบรรพชา  ซึ่งโดยศีลนี้พระจิตเจ้าทรงทำให้พวกเขาเหมาะสมที่จะปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระ- คริสตเจ้า - ผู้ทรงเป็นศีรษะ เพื่อรับใช้สมาชิกอื่นๆ ของพระศาสนจักร (เทียบ การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 2,15) ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชเป็นเสมือนรูปแบบของสงฆ์พระคริสต-เจ้า เนื่องจากว่าพระศาสนจักรเป็นเครื่องหมายและสื่ออย่างชัดเจนในศีลมหาสนิท    โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีลศักดิ์สิทธิ์นั้นถือว่าศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสำแดงหน้าที่ศาสนบริกรของพระสังฆราชและของคณะสงฆ์ และสังฆานุกรในพิธีกรรม     โดยมีพระสังฆราชเป็นประธาน

1143นอกเหนือจากนี้ยังมีหน้าที่ศาสนบริกรพิเศษอื่นๆ โดยมีจุดหมายเพื่อบริการ ทำหน้าที่ต่างๆ ของการเป็นสังฆภาพสามัญของบรรดาผู้มีความเชื่อ หน้าที่บริการเหล่านี้ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยศีลบรรพชา หน้าที่ของเขานั้นเป็นพระสังฆราชกำหนดไว้ตามธรรมประเพณีทางพิธีกรรมและความจำเป็นด้านการอภิบาล   "ผู้ช่วยพิธี ผู้อ่าน ผู้อธิบาย และคณะนักขับร้อง ต่างมีส่วนในพิธีกรรมอย่างแท้จริง" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 29)

1144ในการฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ ที่ประชุมทั้งหมดเป็นผู้ทำพิธีกรรม (Leitourgos) แต่ละคนทำตามหน้าที่ของตน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระจิตเจ้าซึ่งปฏิบัติการในทุกคน "ในพิธีกรรม แต่ละคน ทั้งผู้ประกอบพิธีและฆราวาสซึ่งมีหน้าที่ที่จะปฏบัติ ต้องทำหน้าที่นั้นทั้งหมด และเฉพาะหน้าที่นั้น ซึ่งเป็นของตนตามลักษณะของจารีต และตามหลักการของพิธีกรรม" (พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 29)