หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. สัตบุรุษ

897"ภายใต้ชื่อว่า "ฆราวาส" ณ ที่นี้ เราหมายถึงกลุ่มคริสตชนทั้งหลาย ยกเว้นสมาชิกที่ได้รับศีลอนุกรมศักดิ์สิทธิ์ และที่อยู่ในสภาพนักพรตซึ่งพระศาสนจักรรับรองแล้ว กล่าวคือ เป็น คริสตชนซึ่ง -เมื่อได้ร่วมอยู่ในพระกายของพระคริสต์ด้วยศีลล้างบาป- ได้เข้าร่วมอยู่เป็นส่วนหนึ่งแห่งประชากรของพระเจ้า และได้รับการโปรดให้มีส่วนร่วมตามแบบวิธีของตน ในตำแหน่งหน้าที่สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสต์แล้ว ก็ปฏิบัติภารกิจอันเป็นส่วนของตน ภายในพระศาสนจักรและภายในโลก ซึ่งก็คือภารกิจของประชากรชาวคริสต์ทั้งหมดนั้นเอง" (พระศาสนจักร ข้อ 31)

กระแสเรียกแห่งฆราวาส

898"กระแสเรียกเฉพาะของฆราวาสอยู่ที่การแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยการทำงานกิจธุระต่างๆ ในโลก และจัดระเบียบให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า เป็นหน้าที่ในลักษณะพิเศษของฆราวาส ที่จะส่องสว่างเข้าไปในข้าวของต่างๆ ของโลก ที่เราเกี่ยวข้องด้วยอย่างแนบแน่น และเขาทำให้ข้าวของฝ่ายโลกนั้นเกิดมีขึ้น และเจริญงอกงามขึ้นตาม พระคริสตเจ้าเรื่อยๆ ไป    และจะเป็นการซ้องสาธุการพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่อีกด้วย"  (พระศาสนจักร ข้อ 31.2)

899ความคิดริเริ่มของคริสตชนผู้เป็นฆราวาส เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะ เมื่อถึงคราวที่จะต้องค้นให้พบ หรือคิดประดิษฐ์ลู่ทางที่จะทำให้สภาพความเป็นจริงในสังคม การเมืองและเศรษฐกิจซึมซาบในข้อเรียกร้องแห่งหลักคำสอนและชีวิตของคริสตชน ความคิดริเริ่มดังกล่าวเป็นปัจจัยปกติในชีวิตของพระศาสนจักรถ
สัตบุรุษฆราวาสนั้น อยู่ตรงแนวหน้าสุดของชีวิตพระศาสนจักร อาศัยสัตบุรุษเหล่านี้      พระศาสนจักรจึงเป็นหลักสำคัญแห่งชีวิตของสังคม   ด้วยเหตุนี้ สัตบุรุษฆราวาส โดยเฉพาะจึงควรจะต้องมีมโนสำนึกที่กระจ่างใสยิ่งขึ้นทุกที  มิใช่เพียงในการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรเท่านั้น แต่ในการเป็นพระศาสนจักรเอง กล่าวคือ เป็นชุมชนสัตบุรุษบนแผ่นดิน ภายใต้การนำของหัวหน้าร่วมกัน คือสมเด็จพระสันตะปาปา และพระสังฆราชทั้งหลายที่ร่วมสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวอยู่กับองค์พระสันตะปาปา ซึ่งร่วมกันเข้าทั้งหมดเป็นพระศาสนจักร (พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12)

900เพราะว่า -เช่นเดียวกับสัตบุรุษทั้งหลาย- ฆราวาสได้รับภาระหน้าที่ในการเป็นสาวกแพร่ธรรมจากพระเจ้า อาศัยอำนาจจากศีลล้างบาปและศีลกำลัง ฆราวาสจึงมีพันธะและมีสิทธิ -ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และในฐานะกลุ่มคนที่รวมกันเข้าเป็นสมาคม- ที่จะทำงานเพื่อให้สาระของพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องความรอดได้เป็นที่รู้จัก และได้รับโดยมนุษย์ทุกคนทั่วพื้นแผ่นดิน พันธะอันนี้ยิ่งเร่งด่วนหนักขึ้น เมื่ออาศัยพวกเขาเท่านั้นที่มนุษย์จะสามารถได้ยินได้ฟังพระวรสาร  และรู้จักพระคริสต์ในชุมชนพระศาสนจักร กิจการของพวกเขาเป็นเรื่องจำเป็นเสียจนกระทั่ง -หากปราศจากกิจการของพวกเขา- การแพร่ธรรมของบรรดาผู้อภิบาล ส่วนใหญ่แล้วอาจไม่ได้รับผลอย่างเต็มที่ก็เป็นได้ (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 33)

การมีส่วนร่วมของฆราวาสในภาระหน้าที่สงฆ์ของพระคริสต์

901"บรรดาฆราวาส อาศัยอำนาจจากการที่เขาได้ถวายตัวแด่พระคริสต์ และได้รับการเจิมจากพระจิตแล้ว ก็ได้รับกระแสเรียกที่น่าชื่นชม และได้รับหนทางที่สนับสนุนพระจิตให้ผลิตผลอุดมยิ่งขึ้นทุกทีในตัวเขา   จริงแท้ กิจกรรมของพวกเขาทั้งหมด คำภาวนาและกิจการแพร่ธรรมของพวกเขา ชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัวของพวกเขา กิจการงานประจำวันของพวกเขา การพักผ่อนหย่อนใจ และร่างกายของพวกเขา หากดำเนินชีวิตอยู่ในพระจิตของพระเจ้า และแม้กระทั่งความทุกข์ยากในชีวิต ขอเพียงให้ยอมรับแบกด้วยความพากเพียรอดทน ทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็น "ของถวายฝ่ายจิต เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า โดยอาศัยพระเยซูคริสต์" (1ปต.2:5) และในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ของถวายเหล่านี้ ก็จะไปรวมเข้ากับศีลบูชา คือพระกายของพระเยซูผู้เป็นเจ้า เพื่อยกถวายด้วยจิตอันเปี่ยมด้วยศรัทธาต่อพระบิดา ด้วยประการฉะนี้แหละที่ฆราวาสถวายโลกเลยทีเดียวแด่พระเจ้า เป็นการประกอบพิธีนมัสการบูชา ถวายพระเจ้าทุกแห่งหนในศักดิ์สิทธิภาพแห่งชีวิตของพวกเขา" (พระศาสนจักร ข้อ 34 เทียบ ข้อ 10, 1ปต.2:5)

902โดยเฉพาะ บิดามารดาก็มีส่วนในภาระหน้าที่ของการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ "เมื่อบิดามารดาดำเนินชีวิตสมรสตามจิตตารมณ์ของคริสตชน และจัดการให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาแบบคริสตชน" (CIC, can. 835.4)

903ฆราวาสนั้น มาตรแม้นมีคุณสมบัติดังที่ต้องการ ก็อาจได้รับอนุญาตอย่างมั่นคงตลอดไปให้ทำหน้าที่เป็น "ผู้อ่าน" และเป็น "ผู้ช่วยพิธี" ได้ (เทียบ CIC, can. 230.1)     ณ ที่ใดก็ตามที่ความต้องการของพระศาสนจักรเรียกร้องเพราะขาดศาสนบริกร ฆราวาสก็สามารถเช่นกัน -แม้เขาจะไม่ได้เป็นทั้ง "ผู้อ่าน" หรือ "ผู้ช่วยพิธี"- ที่จะทำหน้าที่แทนในบางกิจการได้ เช่น ทำหน้าที่ศาสนบริการด้านพระวาจา เป็นผู้นำการภาวนาในพิธีกรรม โปรดศีลล้างบาป และแจกศีลมหาสนิท   ทั้งนี้ แล้วแต่ข้อกำหนดตามกฎของพระศาสนจักร" (CIC, can.230.3)

การมีส่วนร่วมของฆราวาสในภาระหน้าที่การเป็นประกาศกของพระคริสต์

904"พระคริสต์... ทรงปฏิบัติหน้าที่ประกาศกของพระองค์สำเร็จไป มิเพียงแต่โดยอาศัยพระ-ฐานานุกรม... แต่ยังอาศัยฆราวาสอีกด้วย ซึ่งพระองค์ทรงโปรดให้เป็นประจักษ์พยานในการนี้ โดยให้มีสำนึกในความเชื่อและมีพระหรรษทานในการพูดจา" (พระศาสนจักรข้อ 35)

การสอนใครสักคนเพื่อชักนำเขาเข้ามาสู่ความเชื่อ เป็นภาระหน้าที่ของนักเทศน์แต่ละคน และผู้มีความเชื่อแต่ละคนด้วย (น.โทมัส อไควนัส Sth III,71,4,ad 3.)

905พันธกิจในด้านการเป็นประกาศกนั้น ฆราวาสทั้งหลายยังปฏิบัติอีกด้วย โดยการแพร่พระ- วรสาร "กล่าวคือเป็นการประกาศถึงพระคริสต์ โดยเป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิตของตนเองและด้วยวาจา" สำหรับฆราวาส "กิจการแพร่พระวรสารนี้... มีลักษณะเฉพาะและมีประสิทธิผลเป็นพิเศษจากความจริงที่ว่า กิจการนี้กระทำในสภาพเงื่อนไขร่วมกันแห่งศตวรรษนี้" (พระศาสนจักร ข้อ 35.1,2)

กิจการแพร่ธรรมนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับการเป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิตแต่อย่างเดียว สาวกแพร่ธรรมที่แท้จริง จักต้องแสวงหาโอกาสที่จะประกาศถึงพระคริสต์ด้วยถ้อยคำ ไม่ว่าจะแก่ผู้ไม่มีความเชื่อ... หรือแก่ผู้ที่ถือซื่อสัตย์ต่อพระคริสต์แล้ว (AA 6.3; เทียบ งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 15)

906สัตบุรุษฆราวาสผู้ใดที่มีความสามารถในเรื่องนี้ และกำลังรับการอบรมอยู่    ยังสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ด้วยในเรื่องการอบรมเพื่อสอนคำสอน สอนศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งนี้ โดยอาศัยวิธีการสื่อสารที่ใช้อยู่ในสังคม (เทียบ CIC, can. 229;774;776;780;823.1)

907"แล้วแต่หน้าที่ สมรรถภาพ และเกียรติภูมิที่เขามีอยู่   บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและแม้กระทั่งหน้าที่ในบางครั้ง ที่จะให้ความคิดเห็นแก่สงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้อภิบาลเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนจักร และให้สัตบุรุษคนอื่นๆ ได้รู้เรื่องความคิดเห็นนี้ด้วย  ทั้งนี้ จะต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนถึงความถูกต้องเที่ยงตรงของความเชื่อและขนบประเพณี รวมทั้งความคารวะที่พึงให้แก่ท่านผู้อภิบาลทั้งหลาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันและศักดิ์ศรีของตัวบุคคลด้วย" (CIC, can. 212.3)

การมีส่วนร่วมของฆราวาสในภาระหน้าที่การเป็นกษัตริย์ของพระคริสต์

908จากการที่ทรงนบนอบจนกระทั่งถึงสิ้นพระชนม์ (เทียบ ฟป.2:8-9) พระคริสต์ได้ทรงสื่อพระคุณแห่งเสรีภาพเยี่ยงกษัตริย์ให้แก่สานุศิษย์ของพระองค์ "เพื่อให้สานุศิษย์เหล่านั้นกระชากอำนาจบาปที่ครอบงำอยู่ในตัวเขาออกไป   โดยอาศัยการเสียสละและการดำเนินชีวิตในศักดิ์สิทธิภาพ" (พระศาสนจักร ข้อ 36)ถ
ผู้ใดสามารถปราบร่างกายของตน และปกครองวิญญาณแห่งตนได้   โดยไม่ปล่อยตัวให้จมอยู่ภายใต้ราคะตัณหา ย่อมเป็นนายของตนเอง เขาอาจได้รับสมัญญาว่ากษัตริย์ เพราะเขาสามารถปกครองตัวเขาเองได้ เขามีอิสระและเป็นเอกเทศ และไม่ปล่อยตนให้ถูกกักขังอยู่ในสภาพทาสอันเป็นความผิดบาป (น.อัมโบรส Psal.118,14,30: PL 15,1403A)

909"นอกจากนี้ ขอให้ฆราวาสทั้งหลายรวมพลังเข้าด้วยกัน นำความปกติสุขอันเหมาะสมมาสู่สถาบันและสภาพชีวิตภายในโลก เมื่อสถาบันและสภาพชีวิตเหล่านั้น ก่อให้เกิดความบาป เพื่อว่าสถาบันและสภาพชีวิตดังกล่าวจะได้บำเพ็ญตนสอดคล้องต่อกฎแห่งความชอบธรรม และเอื้ออำนวยให้ปฏิบัติคุณธรรมได้ แทนที่จะทำตนเป็นอุปสรรค ในการกระทำดังนี้ ฆราวาสทั้งหลายก็จะสามารถทำให้คุณค่าเชิงจริยธรรมซึมซาบเข้าไปในวัฒนธรรม   และกิจการของมนุษย์ได้" (พระศาสนจักร ข้อ 36.3)

910"ฆราวาสอาจรู้สึกว่าตนได้รับเรียก หรืออาจได้รับเรียกให้เข้ามาร่วมงานกับสงฆ์ผู้อภิบาล เพื่อรับใช้ชุมชนพระศาสนจักร เพื่อความเจริญเติบโตและชีวิตของชุมชนดังกล่าว โดยปฏิบัติศาสนบริการหลากหลายต่างๆ กัน แล้วแต่พระหรรษทานและพระพรพิเศษซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาจะมอบไว้ในตัวเขา" (การประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน ข้อ73)

911ในพระศาสนจักร "สัตบุรุษฆราวาสสามารถให้ความร่วมมือตามกฎหมายในการใช้อำนาจปกครอง" (CIC, can.129.2) เช่นเดียวกับสามารถปรากฎตัวในการประชุมสภาพิเศษในการประชุมสภาพระสังฆราชของสังฆมณฑล สภาอภิบาล ในการปฏิบัติหน้าที่อภิบาลในเขตวัด ให้ความร่วมมือทำงานกับสภากิจการเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในศาลยุติธรรมของสงฆ์

912ฆราวาสจักต้อง "เข้าใจความแตกต่างให้ดี ระหว่างสิทธิและหน้าที่อันเป็นของตนในฐานะสมาชิกของพระศาสนจักร และสิทธิและหน้าที่อันเป็นของตน ในฐานะสมาชิกของสังคมมนุษย์ ขอให้ฆรวาสพยายามทำให้สถานะของตนทั้งสองด้านสอดคล้องประสานกลมกลืนกันเป็นอันดี โดยรำลึกไว้ว่ามโนธรรมแบบคริสต์ จักต้องเป็นเครื่องนำทางในทุกวงการฝ่ายโลก เนื่องจากว่าไม่มีกิจใดของมนุษย์   หากว่าขึ้นอยู่กับฝ่ายโลก  จะหลบลี้ให้พ้นไปจากอำนาจปกครองของพระเจ้าได้" (พระศาสนจักร ข้อ 36.4)

913"ดังนี้ ฆราวาสทุกคน อาศัยพระคุณทั้งหลายทั้งปวงที่พระประทานมา จึงเป็นประจักษ์พยาน และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมืออันทรงชีวิตแห่งพันธกิจของพระศาสนจักรเอง "ตามขนาดที่พระคริสต์ประทานมา" (อฟ.4:7)