หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. การก่อตั้งพระฐานานุกรมของพระศาสนจักร

เพราะเหตุใดจึงต้องมีศาสนบริการของฝ่ายสงฆ์

874พระคริสต์พระองค์เอง คือต้นกำเนิดแห่งศาสนบริการในพระศาสนจักร พระองค์ทรงจัดตั้งพระศาสนจักร  ทรงมอบอำนาจหน้าที่และพันธกิจให้   รวมทั้งทรงแนะแนวทิศทางและจุดหมายสุดท้าย

พระคริสต์ผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ประชากรของพระเจ้าได้มั่นใจว่ามีผู้อภิบาล และมีวิธีที่จะจำเริญเติบโต จึงได้ทรงก่อตั้งตำแหน่งหน้าที่ศาสนบริการหลากหลายขึ้นในพระศาสนจักรของพระองค์ซึ่งแต่ละตำแหน่งหน้าที่ ต่างก็มุ่งไปสู่การสร้างคุณประโยชน์ให้แก่พระกายอย่างครบครัน แท้จริงแล้ว บรรดาศาสนบริกรซึ่งกอปรด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ล้วนมีไว้เพื่อรับใช้พี่น้องทั้งหลายทั้งสิ้น เพื่อให้ทุกคนที่เป็นประชากรพระเจ้า... จะได้รับความรอดโดยทั่วกัน (พระศาสนจักร ข้อ 18)

875"พวกเขาจะเชื่อได้อย่างไรถ้าไม่เคยได้ยิน? และพวกเขาจะได้ยินได้อย่างไรถ้าไม่มีใครประกาศสอน? จะมีผู้ประกาศสอนได้อย่างไรถ้าไม่มีใครบัญชา?" (รม.10:14-15) ไม่มีผู้ใด ปัจเจกชนคนใด หรือชุมชนไหน จะประกาศพระวรสารแก่ตนเองได้ "ความเชื่อเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการได้ฟัง" (รม.10:17) ไม่มีผู้ใดจะมอบหมายหน้าที่และพันธกิจให้ตนเองออกไปประกาศ พระวรสารได้ ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมา พูด และกระทำ มิใช่ด้วยอำนาจของชุมชนในพระนามของพระคริสต์ ไม่มีใครจะสามารถโปรดพระหรรษทานให้แก่ตนเองได้ พระหรรษทานเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานและทรงเสนอมา ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีทูตผู้นำพระหรรษทานมา เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจและความเหมาะสมจากพระคริสต์ จากพระคริสต์นั้นเองที่บรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์ได้รับภาระหน้าที่และคุณสมบัติ (อำนาจศักดิ์สิทธิ์) ที่จะปฏิบัติแทนองค์พระคริสต์ ผู้เป็นศีรษะ บรรดาสังฆานุกรได้รับหน้าที่ให้รับใช้ประชากรของพระเจ้าในการบริการด้านพิธีกรรม พระวาจาและความรัก ในความสัมพันธ์กับพระสังฆราชและคณะสงฆ์ ศาสนบริการดังกล่าว ซึ่งผู้ที่พระคริสต์ทรงส่งมา ปฏิบัติและให้โดยอาศัยพระคุณจากพระเจ้า ในสิ่งซึ่งตัวเขาเองทำไม่ได้และให้ก็ไม่ได้ด้วยตนนี้ ธรรมประเพณีของพระ-ศาสนจักรเรียกว่า "ศีลศักดิ์สิทธิ์"      ศาสนบริการของพระศาสนจักรมอบให้โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์ประการหนึ่งโดยเฉพาะ

876ที่ผูกพันในเนื้อหาอย่างแท้จริงอยู่กับธรรมชาติการเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนบริการของผู้เป็นสงฆ์ ก็คือลักษณะการรับใช้   จริงแท้ บรรดาศาสนบริกร ซึ่งขึ้นอยู่อย่างเต็มที่กับพระคริสต์ ผู้ประทานทั้งพันธกิจและอำนาจนั้น คือ "ผู้รับใช้ของพระคริสตเยซู" โดยแท้ (รม.1:1) ตามพระฉายาของพระคริสต์ ผู้ได้ทรงรับ "สภาพดุจทาส" อย่างอิสระ เพื่อเห็นแก่เรา (ฟป.2:7) เพราะว่าถ้อยคำและพระหรรษทานซึ่งพวกเขาเป็นทูตนำมา มิใช่ของพวกเขาเอง แต่เป็นของพระคริสต์ ผู้ได้ทรงมอบหมายให้เขานำมาเพื่อผู้อื่น เขาจึงยอมเป็นทาสรับใช้คนทุกคนอย่างอิสระ (เทียบ 1คร.9:19)

877ในทำนองเดียวกัน เป็นธรรมชาติเชิงศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนบริการของผู้เป็นสงฆ์ที่ว่าจะต้องมีลักษณะเป็นหมู่คณะ อันที่จริง นับตั้งแต่เริ่มศาสนบริการของพระองค์แล้วพระเยซูเจ้าก็ทรงแต่งตั้งสานุศิษย์ 12 คน "พืชพันธุ์แห่งอิสราเอลใหม่ และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นบ่อเกิดแห่งพระฐานานุกรมอันศักดิ์สิทธิ์" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 5) สานุศิษย์เหล่านี้เมื่อได้รับเลือกมาพร้อมกัน ก็ถูกส่งตัวไปพร้อมกันด้วย และเอกภาพฉันพี่น้องของพวกเขา ก็จะรับใช้ความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันฉันพี่น้องของสัตบุรุษทุกคน จะเป็นเสมือนเงาสะท้อนและประจักษ์พยานถึงความสนิทสัมพันธ์แห่งพระบุคคลทั้งสามของพระเจ้า (เทียบ  ยน.17:21-23) ด้วยเหตุนี้ พระสังฆราชทุกองค์จึงปฏิบัติศาสนบริการของท่าน จากท่ามกลางคณะพระสังฆราช ในความสนิทสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งโรม ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมาจากนักบุญเปโตรหัวหน้าของหมู่คณะ พระสงฆ์ทั้งหลายก็ปฏิบัติศาสนบริการของตนท่ามกลางคณะสงฆ์ประจำสังฆมณฑล ภายใต้การชี้นำของพระสังฆราช

878สุดท้าย เป็นธรรมชาติเชิงศีลแห่งศาสนบริการของผู้เป็นสงฆ์ ที่จะต้องมีลักษณะเป็นส่วนบุคคล ศาสนบริกรทั้งหลายของพระคริสต์นั้น แม้จะปฏิบัติงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็ปฏิบัติในลักษณะเป็นส่วนตัวด้วยเสมอ แต่ละคนได้รับเรียกมาเป็นส่วนตัว "ส่วนเจ้าจงตามเรามาเถิด" (ยน.21:22) เพื่อเป็นประจักษ์พยานส่วนบุคคล -ในพันธกิจร่วมกัน- มีความรับผิด-ชอบเป็นส่วนตัวต่อพระพักตร์พระองค์ ผู้ประทานพันธกิจให้ปฏิบัติ"แทนพระองค์" และเพื่อบุคคลทั้งหลาย "เราโปรดศีลล้างบาปให้ท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต..." "เราอภัยให้ท่าน..."

879ศาสนบริการเชิงศีลศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร จึงเป็นบริการที่กระทำในนามของพระคริสต-เจ้า มีลักษณะส่วนบุคคลและแบบหมู่คณะ ซึ่งปฏิบัติในพระนามของพระคริสต์ เรื่องนี้จะพิสูจน์ความจริงได้ในความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างคณะพระสังฆราชและหัวหน้าคณะ    คือทายาทผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร     และในความเกี่ยวพันระหว่างความรับผิดชอบเชิงอภิบาลของพระสังฆราชต่อพระศาสนจักรเฉพาะของตน และความห่วงใยร่วมกันของคณะพระสังฆราชต่อพระศาสนจักรสากลถ

คณะพระสังฆราชและหัวหน้าคณะ คือสมเด็จพระสันตะปาปา

880พระคริสต์ -ในการแต่งตั้งสานุศิษย์ 12 คน- ก็ได้ "ประทานรูปแบบให้พวกเขาทำงานเป็นหมู่คณะ กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่มีเสถียรภาพมั่นคง และทรงตั้งเปโตรซึ่งเลือกขึ้นมาจากบรรดาสานุศิษย์เหล่านั้น ให้เป็นหัวหน้าของพวกเขา" (พระศาสนจักร ข้อ 19 เทียบ ลก.6:13; ยน.21:15-17) "นักบุญเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ -อาศัยการแต่งตั้งจากพระเยซูผู้เป็นเจ้า- ประกอบกันขึ้นเป็นคณะอัครสาวกหนึ่งเดียวฉันใด พระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงโรม คือสมเด็จพระ-สันตะปาปา ผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และบรรดาพระสังฆราชทั้งหลาย ผู้สืบตำแหน่งจากอัครสาวก ก็รวมกันเข้าเป็นคณะหนึ่งเดียวฉันนั้น" (พระศาสนจักรข้อ 22 เทียบ CIC, can.330)

881พระเยซูผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้ซีมอนคนเดียว ซึ่งพระองค์ประทานนามว่าเปโตร เป็นศิลาแห่งพระศาสนจักรของพระองค์ พร้อมกับทรงมอบกุญแจไว้ให้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเปโตรให้เป็นนายชุมพาบาลดูแลฝูงชุมพาทั้งฝูง (เทียบ มธ.16:18-19; ยน.21:15-17) "แต่ภาระของ "การผูก" และ "การแก้" ซึ่งประทานไว้แก่เปโตรนั้น ก็ได้ประทานเช่นกัน -อย่างไม่มีอะไรต้องสงสัย- แก่คณะอัครสาวกซึ่งร่วมเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับหัวหน้าของตน" (พระศาสนจักร ข้อ 22.2) ภาระหน้าที่เชิงอภิบาลของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ นี้ นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของพระ-ศาสนจักร และได้รับการสืบเนื่องต่อมาโดยพระสังฆราชทั้งหลาย ภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา

882สมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชเจ้าแห่งโรม และทายาทสืบต่อจากนักบุญเปโตร "คือบ่อเกิดตลอดกาลซึ่งเห็นได้ด้วยตา   และรากฐานแห่งเอกภาพซึ่งเชื่อมโยงทั้งพระสังฆราชทั้งหลายและมวลสัตบุรุษเข้าด้วยกัน" (พระศาสนจักร ข้อ 23) "แท้จริง พระสังฆราชเจ้าแห่งโรม -อาศัยอำนาจหน้าที่การเป็นผู้แทนพระคริสต์และนายชุมพาบาลของพระศาสนจักรทั้งมวล- มีอำนาจเต็มเหนือพระศาสนจักร เป็นอำนาจสูงสุด และครอบคลุมไปทั่วสากลโลก ซึ่งพระองค์ท่านสามารถใช้อำนาจนี้ได้อย่างอิสระเสมอ" (พระศาสนจักร ข้อ 22เทียบ CD 2,9)

883"คณะหรือองค์กรพระสังฆราช จะมีอำนาจก็ต่อเมื่อองค์กรนี้รวมอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับพระ-สันตะปาปา ผู้สืบตำแหน่งมาจากนักบุญเปโตร ผู้เป็นหัวหน้า ในฐานะนี้ คณะพระสังฆราช "ก็เป็นองค์กรที่ทรงอำนาจสูงสุด และมีอำนาจเต็มเหนือพระศาสนจักรทั้งหมด อย่างไรก็ดี อำนาจนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากองค์พระสันตะปาปา" (พระศาสนจักร ข้อ 22 เทียบ CIC, can.336)

884"คณะพระสังฆราชใช้อำนาจเหนือพระศาสนจักรทั้งหมดได้อย่างสง่า ในการประชุมสภาสังคายนาสากล" (CIC, can. 337.1) "การประชุมสภาสังคายนาสากลจะมีขึ้นไม่ได้ หากมิได้รับการยืนยันในฐานะนั้น หรืออย่างน้อย ก็เป็นที่ยอมรับจากสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร" (พระศาสนจักร ข้อ 22)

885"จากองค์ประกอบที่มีอยู่หลายรูปแบบ คณะพระสังฆราชก็แสดงออกซึ่งความหลากหลายและสากลภาพแห่งประชากรของพระเจ้า คณะพระสังฆราชนี้ จากการรวมตัวกันอยู่ภายใต้หัวหน้าเพียงคนเดียว ยังแสดงถึงเอกภาพแห่งฝูงชุมพาของพระคริสต์อีกด้วย"(พระศาสนจักร ข้อ 22)

886"พระสังฆราชทั้งหลายนั้น -แต่ละคนในส่วนของตนเอง- คือบ่อเกิดและรากฐานแห่งเอก-ภาพภายในพระศาสนจักรของตนโดยเฉพาะ" (พระศาสนจักร ข้อ 23) ในฐานะนี้ พระสังฆราช "ใช้อำนาจหน้าที่เชิงอภิบาลเหนือส่วนเสี้ยวแห่งประชากรพระเจ้า ซึ่งตนได้รับมอบหมายมา" (พระศาสนจักร ข้อ 23) โดยมีพระสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ช่วย แต่ -ในฐานะสมาชิกของคณะพระสังฆราช- แต่ละคนก็มีส่วนในความกังวลห่วงใยต่อพระศาสนจักรทุกแห่ง ซึ่งบรรดาพระสังฆราชอบรมสั่งสอนอยู่ แรกทีเดียว "โดยการปกครองพระศาสนจักรของตนให้ดี ในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากล" ให้เรียกได้ว่าได้มีส่วนช่วยในการสร้าง "คุณประโยชน์ให้แก่พระรหัสกายทั้งหมด ซึ่งก็คือกายของพระศาสนจักรทั้งหลายด้วยนั้นเอง" (พระศาสนจักร ข้อ 23) ความกังวลห่วงใยนี้ จะแผ่ออกไปเป็นพิเศษถึงคนยากจน (เทียบ กท.2:10) คนที่ถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ ตลอดจนธรรมทูตทั้งหลายที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วแผ่นดิน

887พระศาสนจักรท้องถิ่นเฉพาะแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมกันเข้าเป็นแขวงสงฆ์ หรือชุมนุมที่กว้างยิ่งขึ้น เรียกว่าชุมนุมสังฆัยกา (patriarcates) หรือภาค (เทียบ Canon of the Apostles 34) พระสังฆราชในชุมนุมดังกล่าว สามารถรวมตัวกันเป็นสภาพระสังฆราช (synods) หรือสภาพระสังฆราชแขวง "ในทำนองเดียวกัน สภาพระ-สังฆราชทุกวันนี้ ก็สามารถมีส่วนช่วยได้หลายแบบหลายวิธีการ และบังเกิดผลงดงาม ในอันที่จะสนับสนุนให้จิตตารมณ์การรวมตัวเป็นหมู่คณะสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาในเชิงรูปธรรม" (พระศาสนจักร ข้อ 23.3)

ภาระหน้าที่การสอน

888บรรดาพระสังฆราช ร่วมกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของพระสังฆราช "มีหน้าที่ประการแรกอยู่ที่การประกาศพระวรสารของพระเจ้าแก่มนุษย์ทุกคน" ตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า (การปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 4 เทียบ มธ.16:15) พระสังฆราชทั้งหลายคือ "ผู้ป่าวประกาศความเชื่อ ซึ่งนำสานุศิษย์ใหม่ๆ เข้ามาสู่พระคริสต์ เป็นปราชญ์ที่ถ่องแท้" แห่งความเชื่อของอัครสาวก "โดยได้รับอำนาจหน้าที่จากพระคริสต์" (พระศาสนจักร ข้อ 25)

889เพื่อธำรงพระศาสนจักรไว้ให้มั่นคงในความบริสุทธิ์แห่งความเชื่อ ซึ่งถ่ายทอดมาโดยอัครสาวกทั้งหลาย พระคริสต์ผู้เป็นองค์แห่งความจริง ได้ทรงปรารถนาที่จะโปรดให้พระศาสนจักรของพระองค์ได้มีส่วนในความผิดพลาดไม่ได้ของพระองค์ อาศัย "สำนึกเหนือธรรมชาติในความเชื่อ" ประชากรของพระเจ้าก็ "ผูกพันอยู่กับความเชื่ออย่างไม่มีวันจบสิ้น" (พระศาสนจักร ข้อ 12 เทียบ การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 10)  ภายใต้การชี้นำของอำนาจคำสั่งสอนอันทรงชีวิตของพระศาสนจักร

890ภารกิจแห่งอำนาจคำสั่งสอนของพระศาสนจักรนี้ ผูกพันอยู่กับลักษณะอันเด็ดขาดของพันธ-สัญญา ซึ่งพระเจ้าได้วางรากฐานไว้กับประชากรของพระองค์ในพระคริสต์  งานหนักของคำสั่งสอนของพระศาสนจักรคือ การปกปักรักษาประชากรของพระเป็นเจ้าให้รักษาคำสั่งสอนนี้ไว้ให้พ้นจากความเบี่ยงเบน และความบกพร่องผิดพลาดทั้งหลายและเป็นหลักประกันความเป็นไปได้ในเชิงวัตถุวิสัย ให้แก่อำนาจคำสั่งสอนนี้  ที่จะประกาศยืนยันความเชื่อที่ถ่องแท้โดยปราศจากความผิดพลาด ภาระหน้าที่เชิงอภิบาลแห่งอำนาจคำสั่งสอนของพระ-ศาสนจักร จึงถูกจัดระเบียบไว้ให้คอยเฝ้าดูแลประชากรของพระเจ้า ให้ตั้งอยู่ในความจริงซึ่งปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่บริการอันนี้ได้สำเร็จ พระคริสต์ได้ทรงโปรดให้สงฆ์ผู้อภิบาลได้รับพระพรพิเศษแห่งความไม่รู้ผิดพลาด ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและขนบประเพณี การใช้พระพรพิเศษประการนี้ อาจกระทำได้ในหลายรูปแบบ

891"พระสังฆราชเจ้าแห่งโรม หัวหน้าพระสังฆราช ได้รับพระพรพิเศษในการผิดพลาดมิได้นี้จากภาระหน้าที่ของพระองค์เอง เมื่อ -ในฐานะนายชุมพาบาลสูงสุดและอาจารย์แห่งสัตบุรุษทั้งหลาย และในฐานะที่มีหน้าที่ยืนยันความเชื่อแก่พี่น้องทั้งปวง- พระองค์ทรงประกาศจุดใดจุดหนึ่งในหลักคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อและขนบประเพณี...   ออกมาเป็นข้อตกลงอย่างเด็ดขาด ความผิดพลาดมิได้ซึ่งพระคริสต์ทรงสัญญาไว้แก่พระศาสนจักรนี้ มีอยู่ในองค์กรพระสังฆราชด้วยเช่นกัน เมื่อคณะพระสังฆราชใช้อำนาจคำสั่งสอนสูงสุดนี้ ร่วมกับองค์พระสันตะปาปา  ผู้เป็นทายาทสืบเนื่องมาจากนักบุญเปโตร   โดยเฉพาะในการประชุมสภาสังคายนาสากล" (พระศาสนจักร ข้อ 25 เทียบ DS 3074)    เมื่อใดที่ -อาศัยอำนาจคำสั่งสอนสูงสุดนี้- พระศาสนจักรเสนอสิ่งใดก็ตาม   "ให้เชื่อในฐานะเป็นสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงเผยแสดง" (การเผยของพระเป็นเจ้า ข้อ 10.2)    และในฐานะที่เป็นคำสั่งสอนของพระคริสต์ "ก็จำเป็นต้องยึดมั่นด้วยความนบนอบในความเชื่อต่อคำจำกัดความดังกล่าวนั้น" (พระศาสนจักร ข้อ 25.2) การไม่มีวันผิดพลาดนี้ แผ่ขยายไปไกลเท่าที่การเผยแสดงของพระเจ้าจะกระจายไปถึง (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 25)ถ

892ความช่วยเหลือก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พระเจ้าประทานแก่ผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก ซึ่งสั่งสอนร่วมอยู่ในน้ำหนึ่งใจเดียวกับทายาทผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร และโดยเฉพาะเป็นพิเศษกับพระสังฆราชเจ้าแห่งโรม นายชุมพาบาลของพระศาสนจักรทั้งหมด เมื่อใดก็ตามที่ โดยไม่ถึงขั้นที่จะให้คำจำกัดความอย่างไม่มีผิดพลาด และโดยที่ยังไม่ตัดสินใจ"ในลักษณะเด็ดขาด" บรรดาผู้สืบตำแหน่งเสนอคำสั่งสอนที่นำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นในการเผยแสดงส่วนที่เกี่ยวกับความเชื่อและขนบประเพณี โดยการใช้อำนาจคำสั่งสอนของพระศาสนจักรโดยปกติ ต่อคำสั่งสอนอย่างปกติธรรมดานี้ สัตบุรุษจักต้อง "ให้ความเห็นชอบด้วยศรัทธาจากจิตแห่งตน" (พระศาสนจักร ข้อ 25) ซึ่ง -แม้การยอมรับนี้จะแตกต่างจากการยอมรับความเชื่อ  ก็ยังเป็นการสานต่อคำสั่งสอนนั้นให้ยืนยาวออกไป

ภาระหน้าที่ในการทำให้ศักดิ์สิทธิ์

893พระสังฆราชยังมีหน้าที่ "รับผิดชอบอีกด้วยในการแจกจ่ายพระหรรษทานแห่งสังฆภาพสูงสุด" (พระศาสนจักร ข้อ 26) โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท ซึ่งพระสังฆราชถวายด้วยตนเอง หรือจัดให้บรรดาพระสงฆ์ผู้ร่วมงานของตนเป็นผู้ถวายศีลบูชานั้น เนื่องจากว่าศีลมหาสนิทคือศูนย์กลางแห่งชีวิตของพระศาสนจักรเฉพาะแห่ง พระสังฆราชและพระสงฆ์ทั้งหลายทำให้พระ-ศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยคำภาวนาและการทำงานของพวกเขา และโดยอาศัยการให้ศาสนบริการด้วยวาจาและด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ พระสังฆราชและพระสงฆ์ทำให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยแบบฉบับของตัวเขาเอง "มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ" (1ปต.5:3) โดยวิธีนี้แหละ ที่พระสังฆราชและพระสงฆ์จะไปถึงชีวิตนิรันดร พร้อมกับฝูงชุมพาที่ตนได้รับมอบหมายไว้ให้ดูแล (พระศาสนจักร ข้อ 26.3)

ภาระหน้าที่ในการปกครอง

894"พระสังฆราชทั้งหลายอำนวยงานปกครองพระศาสนจักรเฉพาะแห่งตน ในฐานะตัวแทนและทูตของพระคริสต์ โดยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และเป็นแบบฉบับที่ดี แต่พร้อมกันก็ต้องใช้อำนาจหน้าที่ และใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์แห่งตนด้วย" ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติดังนี้ เพื่อช่วยยกจิตใจสัตบุรุษให้สูงขึ้น ด้วยจิตตารมณ์ที่จะรับใช้ ซึ่งเป็นจิตตารมณ์แห่งพระอาจารย์เจ้าของพวกเขา (พระศาสนจักร ข้อ 27 เทียบ ลก.22:26-27)

895"อำนาจซึ่งบรรดาพระสังฆราชใช้เป็นส่วนตัวในพระนามของพระคริสต์นี้ เป็นอำนาจเฉพาะปกติธรรมดาและมีผลทันทีทันใด อย่างไรก็ตาม อำนาจนี้ในการใช้ ก็ยังขึ้นอยู่กับกำหนดระเบียบครั้งสุดท้ายของอำนาจหน้าที่สูงสุดแห่งพระศาสนจักร" (พระศาสนจักร ข้อ 7) แต่เราจะต้องไม่ถือว่าพระสังฆราชทั้งหลายเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งอำนาจหน้าที่ปกติและโดยตรงเหนือพระศาสนจักรทั้งหมด มิใช่เป็นการเพิกถอน  แต่ตรงข้าม เป็นการยืนยันและปกป้องอำนาจของบรรดาพระสังฆราช อำนาจของบรรดาพระสังฆราชนี้ จักต้องใช้ในลักษณะที่ร่วมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรทั้งหมด ภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา

896นายชุมพาบาลที่ดีจะเป็นตัวอย่าง และรูปแบบแห่งภาระหน้าที่เชิงอภิบาลของพระสังฆราช ด้วยสำนึกในความอ่อนแอของตน "พระสังฆราชอาจแสดงตนว่าอ่อนโยนและกรุณาต่อผู้ไม่รู้และผู้หลงทาง ไม่รังเกียจที่จะฟังเขาทั้งหลายที่ขึ้นอยู่กับตน โดยดูแลพวกเขาเสมือนเป็นบุตรชายแท้ๆ ของตน... ส่วนสัตบุรุษนี้ ก็สมควรจะผูกพันกับสังฆราชของตนเหมือนพระศาสนจักรผูกพันกับพระเยซูคริสตเจ้า     และเหมือนพระเยซูคริสตเจ้าทรงผูกพันอยู่กับพระบิดา" (พระศาสนจักร ข้อ 27.2)

ท่านทั้งหลายจงติดตามพระสังฆราช เหมือนพระเยซูคริสตเจ้า (ทรงติดตาม) พระบิดา และติดตามคณะสงฆ์เหมือนบรรดาอัครสาวก ส่วนสังฆานุกรนั้น จงเคารพพวกเขาเหมือนบัญญัติของพระเจ้า ขออย่าให้มีผู้ใดทำสิ่งที่เกี่ยวกับพระศาสนจักร นอกเหนืออำนาจของพระสังฆราชแต่อย่างใด" (น.อิกญาซีโอ แห่งอันทิโอก Ad Smyrn.8, I:AF II,2,309)