หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระศาสนจักรเป็นคาทอลิก

คำว่า "คาทอลิก" หมายความว่าอะไร

830คำว่า "คาทอลิก" แปลว่า "สากล" หมายถึง "ส่วนรวมทั้งหมด" หรือ "บูรณาการ"  พระศาสนจักรเป็นคาทอลิกในความหมายซ้อนสองประการคือ

พระศาสนจักรเป็นคาทอลิกเพราะในพระศาสนจักร พระคริสต์ประทับอยู่ "ณ ที่ใดซึ่งพระคริสตเยซูประทับอยู่ ณ ที่นั้นคือพระศาสนจักรคาทอลิก" (น.อิกญาซีโอ แห่งอันติโอก Ad Smyrn.8,2: AF II/2,331) ในพระศาสนจักร พระกายของพระคริสต์ดำรงอยู่ในบูรณภาพ เป็นหนึ่งเดียวกับ "ศีรษะ" ของพระกาย ซึ่งมีนัยหมายถึงว่าจากพระคริสต์ พระศาสนจักรได้รับ "บูรณภาพแห่งหนทางสู่ความรอด" (สากลสัมพันธภาพ ข้อ 3, งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 6,   อฟ.1:22-23) ซึ่งพระองค์ทรงปรารถนาคือ การยืนยันความเชื่ออย่างตรงไปตรงมาและครบบริบูรณ์  ชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างครบถ้วน และศาสนบริการที่จัดระเบียบไว้ตามที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวก  ในความหมายพื้นฐานประการนี้  พระศาสนจักรก็เป็นคาทอลิกตั้งแต่วันพระจิตเสด็จมา (เทียบ งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 4) และจะเป็นดังนี้เสมอไปจนถึงวันพระคริสต์เสด็จกลับมาในโรจนาการ

831พระศาสนจักรเป็นคาทอลิก  เพราะพระคริสตเจ้าทรงส่งให้ออกไปแพร่ธรรมแก่มนุษยชาติทั่วสากลโลก (เทียบ มธ.28:19)

มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้มามีส่วนในการเป็นประชากรพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ ประชากรพระเจ้าซึ่งมีเพียงหนึ่งและไม่มีประชากรใดเสมอเหมือน จึงถูกกำหนดให้ขยายตัวถึงขนาดกระจายออกไปทั่วจักรวาล และชั่วกัปชั่วกัลป์ เพื่อให้สำเร็จไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ดังที่ได้ทรงตั้งเจตจำนงไว้ โดยการทรงสร้างธรรมชาติมนุษย์ไว้แต่แรกเริ่มในเอกภาพ และทรงตัดสินพระทัยที่จะรวบรวมพระบุตรทั้งหลายของพระองค์ที่กระจัดกระจายอยู่ให้กลับเข้ามาสู่เอกภาพในที่สุด... ลักษณะแห่งสากลภาพที่ส่องรัศมีอยู่เหนือประชากรพระเจ้านี้ เป็นของประทานจากองค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง ซึ่งเดชะพระคุณประการนี้ พระศาสนจักรคาทอลิก -อย่างทรงประสิทธิผลและตลอดกาลนาน- จึงได้พยายามพิจารณาทบทวนมนุษยชาติทั้งหมดเสียใหม่ พร้อมด้วยทุกสิ่งอันเป็นสิ่งดีที่มนุษยชาติมีอยู่ภายใต้หัวหน้า คือพระคริสต์ ในเอกภาพแห่งพระจิตของพระองค์ (พระศาสนจักร ข้อ 13.1-2 เทียบ ยน.11:52)

แต่ละพระศาสนจักรเฉพาะแห่งก็เป็น "คาทอลิก"

832"พระศาสนจักรของพระคริสต์ปรากฏอยู่อย่างแท้จริง ในการรวมกลุ่มอย่างถูกต้องทุกกลุ่มของสัตบุรุษในท้องถิ่น ซึ่ง -โดยการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับพระสงฆ์ผู้อภิบาลของตน- ก็ได้รับชื่อว่าเป็นศาสนจักรด้วยเช่นกันในพันธสัญญาใหม่... ในศาสนจักรเหล่านี้สัตบุรุษรวมตัวกันอยู่โดยอาศัยการเทศนาสั่งสอนพระวรสารของพระคริสต์ ธรรมล้ำลึกแห่งการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระคริสต์ ก็ได้รับการเฉลิมฉลองด้วย... ในชุมชนเหล่านี้ ซึ่งเล็กและยากจนเสียจนอาจจะถูกทำให้แตกฉานซ่านเซ็นไปได้บ่อยครั้ง  พระคริสต์ก็ประทับอยู่ อาศัยพระบารมีของพระองค์ พระศาสนจักรก็ประกอบกันขึ้นเป็นหนึ่งศักดิ์สิทธิ์ สากลและสืบ-จากอัครสาวก" (พระศาสนจักร ข้อ 26)

833โดยคำว่า "ศาสนจักรเฉพาะแห่ง" ซึ่งก่อนใดหมดก็คือสังฆมณฑล (หรือเขตปกครอง) หรือชุมชนสัตบุรุษชาวคริสต์ ซึ่งสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันโดยอาศัยความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับพระสังฆราช ซึ่งได้รับการอภิเษกให้ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากอัครสาวก (เทียบ CD 11, CIC, cann. 368-369) ศาสนจักรเฉพาะแห่งเหล่านี้ "ก่อตั้งขึ้นตามรูปแบบของพระศาสนจักรสากล ในศาสนจักรเหล่านี้ และเริ่มจากศาสนจักรเหล่านี้เอง ที่พระศาสนจักรคาทอลิกดำรงอยู่ ในลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและไม่มีศาสนจักรใดเสมอเหมือน" (พระศาสนจักร ข้อ 23)

834ศาสนจักรเฉพาะแห่งเหล่านี้ เป็นคาทอลิกอย่างสมบูรณ์ โดยการสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับศาสนจักรหนึ่งในศาสนจักรทั้งหลาย คือพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม "ซึ่งเป็นผู้ดูแลในเรื่องของความรัก" (น.อิกญาซีโอ แห่งอันทิโอก Ad Rom.I,I: AF II/2, 192; เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 13) "เนื่องจากว่า พระศาสนจักรทั้งหลายทั้งมวลคือพระศาสนจักรทุกหนทุกแห่งจักต้องบำเพ็ญตนให้สอดคล้องกับพระศาสนจักรแห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นพระศาสนจักรที่มีบ่อเกิดสูงส่งยอดเยี่ยมที่สุด" (น.อีเรเน Adv. haeres.3,3,2: PG 7/1,849; เทียบ สังคายนาวาติกัน ที่ 1 DS 3057) แท้จริง "นับตั้งแต่พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ได้เสด็จมาสู่เราศาสนจักรชาวคริสต์ทุกแห่งก็ได้ยึดถือ และยังคงยึดถืออยู่ในปัจจุบันว่า พระศาสนจักรใหญ่ซึ่งอยู่ที่นี่ (คือที่กรุงโรม) คือพื้นฐานและรากฐานหนึ่งเดียว เนื่องจากว่า -ตามพระสัญญาขององค์พระผู้ช่วยให้รอด ประตูนรกไม่เคยเลยที่จะมีชัยเหนือพระศาสนจักรแห่งนี้" (St Maximus the Confessor, Opuscula theo: PG 91,137-140)

835"ให้เราระมัดระวังว่า พระศาสนจักรสากลไม่ควรถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงผลบวกธรรมดาๆ หรือสหพันธ์พระศาสนจักรเฉพาะแห่ง แต่ยิ่งกว่านั้นมากนัก พระศาสนจักรซึ่งมีลักษณะเป็นสากลโดยกระแสเรียกและพันธกิจที่ไดัรับมอบหมายมานั้น หยั่งรากฝังโคนลงบนพื้นที่หลายหลากแตกต่างกัน ทั้งในเชิงวัฒนธรรม สังคม และมนุษยธรรม โดยมีโฉมหน้าและรูปแบบการแสดงออกต่างๆ กันไปในแต่ละส่วนของโลก" (การประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน ข้อ 62) ความหลายหลากอย่างมากมายของวินัยสงฆ์ จารีตพิธีกรรม มรดกทางเทววิทยา และจิตวิญญาณเฉพาะของแต่ละศาสนจักรท้องถิ่น "แสดงให้เห็นอย่างเจิดจ้ายิ่งขึ้น -จากการมุ่งเข้าสู่จุดเดียวกันในเอกภาพ- ถึงความเป็นสากลของพระศาสนจักรที่เป็นของส่วนรวมและแบ่งแยกมิได้" (พระศาสนจักร ข้อ 23)

ใครเป็นคนของพระศาสนจักรคาทอลิก

836"มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกมาสู่เอกภาพอันเป็นสากลแห่งประชากรพระเจ้า... ผู้ที่ขึ้นอยู่กับเอกภาพดังกล่าว ภายใต้รูปแบบต่างๆ กันหรือถูกกำหนดมา ได้แก่สัตบุรุษชาวคาทอลิก และทุกผู้ทุกคนที่มีความเชื่อในพระคริสต์ ณ ที่อื่นๆ  และสุดท้าย มนุษย์ทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้นซึ่งพระหรรษทานของพระเจ้าเรียกเข้ามาสู่ความรอด" (พระศาสนจักร ข้อ 13)

837"ผู้ที่รวมอยู่อย่างสมบูรณ์เต็มที่ในสมาคมพระศาสนจักรคือ ผู้ที่ -เมื่อมีพระจิตของพระคริสต์- ก็ยอมรับการจัดระเบียบองค์กรและหนทางแห่งความรอดทุกรูปแบบที่สถาปนาขึ้นในพระ-ศาสนจักรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และนอกจากนี้ อาศัยสายสัมพันธ์ซึ่งเกิดจากการยืนยันความเชื่อ ศีลศักดิ์สิทธิ์ การปกครองสงฆ์ และการร่วมใจสนิทเป็นหนึ่งเดียว  บุคคลเหล่านี้ก็ร่วมอยู่ -ในพระศาสนจักรทั้งหมดที่เห็นได้ด้วยตา- กับพระคริสต์ซึ่งเป็นผู้ชี้ทางให้แก่พระ-ศาสนจักร โดยผ่านทางสมเด็จพระสันตะปาปาและพระสังฆราชทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมอยู่ในพระศาสนจักรไม่มีเป็นหลักประกันว่าจะได้ความรอด สำหรับผู้ที่ -เพราะขาดความพากเพียรในเรื่องของความรัก- จึงยังคงอยู่ในอ้อมอกของพระศาสนจักร เพียง "ด้วยกาย" มิใช่ "ด้วยใจ" (พระศาสนจักร ข้อ 14)

838"บุคคลที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว ก็ได้ชื่ออันงดงามว่าคริสตชน โดยที่ถึงอย่างไรก็มิได้ยืนยันความเชื่ออย่างครบบริบูรณ์ หรือมิได้รักษาเอกภาพแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไว้กับสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากนักบุญเปโตร พระศาสนจักรทราบดีว่ามีความเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ" (พระศาสนจักร ข้อ 15)   "ผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ และได้รับศีลล้างบาปแล้วอย่างถูกต้อง เรียกได้ว่ามีการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวอยู่พอสมควร แม้จะไม่สมบูรณ์กับพระศาสนจักรคาทอลิก" (สากลสัมพันธภาพ ข้อ 3) สำหรับบรรดาคริสตจักรออร์โธด๊อกซ์นั้น การร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวลึกซึ้งอย่างยิ่งจนรู้สึกว่า "ยังขาดอยู่น้อยเหลือเกินก็จะขึ้นถึงบูรณภาพที่อนุญาตให้มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทของพระคริสต์ผู้เป็นเจ้าได้ร่วมกัน" (พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 สุนทรพจน์วันที่ 14 ธค. 1975 เทียบ สากลสัมพันธภาพ  ข้อ 13-18)

พระศาสนจักร และผู้ที่มิใช่ชาวคริสต์

839"ส่วนผู้ที่มิได้รับพระวรสาร ในรูปแบบต่างๆ กันออกไป เขาเหล่านี้ก็ถือว่าได้รับการกำหนดให้เข้ามาเป็นประชากรพระเจ้าเช่นกัน" (พระศาสนจักร ข้อ 16)

การติดต่อสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับประชากรชาวยิว พระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่ เมื่อพิจารณาธรรมล้ำลึกของตนเองอย่างถี่ถ้วน ก็พบว่าตนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับประชากรชาวยิว  (เทียบ ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา ข้อ 4) "ซึ่งพระเจ้าได้ตรัสแก่พวกเขาเป็นกลุ่มแรก" (มิสซาโรมัน) ความเชื่อของชาวยิวนั้นต่างกับศาสนาอื่นๆ ที่มิใช่คริสต์ กล่าวคือ เป็นการตอบรับการเผยแสดงของพระเจ้าแล้วตั้งแต่ในพันธสัญญาเดิม ประชากรชาวยิวนั้นเอง "ที่ได้รับการทรงโปรดให้เป็นบุตรพระเจ้า ได้รับพระสิริโรจนา บรรดาพันธสัญญา ธรรมบัญญัติ พิธีนมัสการบูชา   พระสัญญา และอัยกาทั้งหลาย และพระคริสต์ก็ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในเชื้อชาติของเรา" (รม.9:4-5) เนื่องจากว่า "พระเจ้ามิได้ทรงนึกเสียพระทัยในการที่ได้ทรงให้ของประทาน และทรงมีพระกระแสเรียกเลือกสรรพวกเขาไว้" (รม.11:29)

840ในด้านอื่น เมื่อเราพิจารณาอนาคตจะเห็นว่าประชากรพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมและประชากรใหม่ของพระเจ้า มุ่งไปสู่จุดหมายที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการรอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ แต่ในการรอคอยนั้น ฝ่ายหนึ่งเป็นการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระเมสสิยาห์ ซึ่งสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนชีพแล้ว เป็นการยอมรับว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระบุตรของพระเจ้า อีกฝ่ายหนึ่งรอการเสด็จมาของพระ-เมสสิยาห์ -ซึ่งลักษณะยังคลุมเครือไม่ชัดเจน- ในวาระสุดท้ายแห่งกาลเวลา เป็นการรอคอยที่ควบคู่ไปกับโศกนาฏกรรมแห่งอวิชชา หรือการไม่ยอมรับนับถือพระคริสตเยซู

841ความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับชาวมุสลิม "แผนการแห่งความรอดครอบคลุมเช่นกัน ไปถึงผู้ที่ยอมรับนับถือพระผู้สร้าง กลุ่มแรกสุดก็มีชาวมุสลิมซึ่งประกาศยืนยืนความเชื่อของท่านอับราฮัม และร่วมกับเราในการนมัสการบูชาพระเจ้าหนึ่งเดียว ผู้มีพระทัยเมตตาและจะเสด็จมาพิพากษามนุษย์ทั้งหลายในวันสุดท้าย"   (พระศาสนจักร ข้อ 16 เทียบ ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา ข้อ 3)

842สายสัมพันธ์ของพระศาสนจักรกับศาสนาทั้งหลายที่ไม่ใช่คริสต์ ก่อนอื่น เป็นสายสัมพันธ์แห่งบ่อเกิดและจุดหมายสุดท้ายร่วมกันของมนุษยชาติ

จริงแท้ ประชากรทุกหมู่เหล่าประกอบกันขึ้นเป็นชุมชนเดียวกัน มีบ่อเกิดอันเดียวกัน   ในเมื่อพระเจ้าได้ทรงโปรดให้ชาติพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดพำนักอยู่บนพื้นผิวของแผ่นดิน พวกเขามีจุดหมายสุดท้ายเดียวกัน คือพระเจ้าผู้ซึ่งมีพระญาณที่อาทร -อันเป็นประจักษ์พยานแห่งพระทัยกรุณา และแผนการแห่งความรอด- แผ่ไปยังมนุษย์ทุกคน จนกว่าผู้ชอบธรรมที่ได้รับเลือกแล้ว มารวมกันอยู่ในนครศักดิ์สิทธิ์ (ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา  ข้อ 1)

843ในศาสนาอื่นๆ พระศาสนจักรยอมรับการแสวงหาพระเจ้าของเขา เป็นพระเจ้าที่ไม่มีใครรู้จัก แต่อยู่ใกล้ๆ ในเมื่อเป็นพระองค์เองที่ประทานชีวิต ลมปราณ และทุกสิ่งแก่ทุกคน และในเมื่อพระองค์ทรงปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอด แม้ว่าการแสวงหาดังกล่าว "จะยังอยู่ในเงามืดและภายใต้ภาพลักษณ์ต่างๆ" ดังนั้น พระศาสนจักรจึงพิจารณาทุกสิ่งที่เป็นความดีและความจริง ซึ่งอาจจะพบได้ในศาสนาเหล่านั้น "ในฐานะเป็นการเตรียมรับพระวรสาร และเป็นของขวัญจากองค์ผู้ประทานความสว่างแก่มนุษย์ทุกคน เพื่อว่า -ในที่สุด- เขาจะได้มาซึ่งชีวิต"    (พระศาสนจักร ข้อ 16 เทียบ ความสัมพันธ์แห่งพระศาสนจักรกับบรรดาศาสนาที่มิใช่คริสตศาสนา ข้อ 2, การประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน ข้อ 53)

844แต่ในการบำเพ็ญปฏิบัติทางศาสนาของเขาเหล่านั้น มนุษย์ก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีขีดจำกัดและมีความบกพร่อง ซึ่งทำให้พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าในตัวเขาผิดรูปผิดร่างไป

บ่อยครั้งทีเดียว เมื่อถูกปีศาจเจ้าเล่ห์หลอกลวง พวกเขาก็จะหลงทางไปในการคิดหาเหตุผลของตน ยอมแลกเปลี่ยนสัจธรรมของพระเจ้ากับความโกหกมดเท็จ โดยรับใช้สิ่งสร้างที่ตนพอใจแทนที่จะรับใช้องค์พระผู้สร้าง หรือมิฉะนั้นก็ดำรงชีวิตอยู่ และตายไปโดยปราศจากพระเจ้าในโลกนี้ หมิ่นเหม่ต่อการตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวังถึงที่สุด (พระศาสนจักร ข้อ 16 เทียบรม.1:21,25)

845ก็เพื่อรวบรวมบุตรทั้งหลายของพระองค์ ซึ่งบาปได้ทำให้กระจัดกระจายและหลงทางไปนั้นเอง ที่พระบิดาได้ทรงปรารถนาที่จะเชิญชวนมนุษยชาติทั้งมวลเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรแห่งพระบุตรของพระองค์ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเป็นแหล่งซึ่งมนุษยชาติจะต้องได้พบเอกภาพและความรอดแห่งตน พระศาสนจักรคือ "โลกที่ได้มาคืนดีกัน" พระศาสนจักรคือนาวาที่ "แล่นลิ่วไปในโลกนี้ด้วยลมปราณขององค์พระจิต ภายใต้ใบเรือที่ติดลมเต็มที่แห่งกางเขนของพระเยซูเจ้า" ตามภาพลักษณ์อีกภาพหนึ่ง ซึ่งบรรดาปิตาจารย์ของพระ-ศาสนจักรรักมาก คือภาพเรือของโนอาห์ซึ่งเป็นลำเดียวที่รอดมาจากน้ำวินาศ(น.ออกัสติน Sermo 96,7,9: PL 38,588; น.อัมโบรส De virg. 18,118: PL 16,311; เทียบ 1ปต.3:20-21)

นอกพระศาสนจักร ไม่มีความรอดพ้น

846เราควรจะเข้าใจอย่างไรถึงคำยืนยันดังกล่าว ซึ่งบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรย้ำอยู่เสมอๆ (เทียบ น.ซีเบรียน Ep.73,21: PL 3,1169; De unit: PL 4,509-536) หากอธิบายกันในเชิงบวก ก็หมายความว่าความรอดพ้นทั้งหมดมาจาก "ศีรษะ" คือพระคริสต์ โดยอาศัยพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์

อาศัยหลักฐานจากพระคัมภีร์และธรรมประเพณี สภาสังคายนาสอนว่าพระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่บนแผ่นดินนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความรอดพ้น จริงแท้ พระคริสต์คือองค์สื่อกลางพระองค์เดียว และเป็นหนทางแห่งความรอดพ้น อนึ่ง พระองค์ประทับอยู่กับเราในพระกายของพระองค์ คือในพระศาสนจักร และในการทรงสอนเราอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อและรับศีลล้างบาป ก็หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพระศาสนจักรนั้นเอง ซึ่งมนุษย์จะเข้าไปได้ทางประตูแห่งศีลล้างบาป ที่พระองค์ทรงยืนยันแก่เราในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดก็ตามที่ปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมในพระศาสนจักรคาทอลิก หรือไม่ยอมพากเพียรที่จะทำดังนั้น ในเมื่อเขารู้ว่าพระศาสนจักรคาทอลิกได้รับการก่อตั้งจากพระเจ้าโดยพระคริสตเยซู ในฐานะเป็นความจำเป็น ผู้นั้นก็มิอาจเอาตัวรอดได้ (พระศาสนจักร ข้อ 14 เทียบ มก.16:16; ยน.3:5)

847คำยืนยันนี้ไม่มุ่งเป้าไปที่บุคคลทั้งหลาย  ผู้ซึ่ง -โดยที่มิใช่ความผิดของเขาเลย-มิได้รู้จักพระคริสต์และพระศาสนจักรของพระองค์

จริงแท้ ผู้ซึ่ง -โดยมิใช่ความผิดของตัวเขา- มิได้รู้จักพระคริสต์และพระศาสนจักรของพระองค์ แต่กระนั้น ก็ยังพยายามแสวงหาพระเจ้าด้วยใจจริงและพยายาม -ภายใต้อิทธิพลแห่งพระหรรษทานของพระองค์- ปฏิบัติตนอย่างที่ให้สำเร็จไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ ตามที่มโนสำนึกของเขาเผยแสดงและบงการให้กระทำ เขาเหล่านี้จะสามารถไปถึงความรอดนิรันดร (พระศาสนจักร ข้อ 6 เทียบ DS 3866-3872)

848"สำหรับมนุษย์บางคนที่ไม่รู้ข่าวดีโดยไม่ใช่ความผิดของเขา แม้ว่าพระเป็นเจ้าทรงสามารถใช้วิธีที่พระองค์รู้ นำเขามาถือความเชื่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นที่สบพระทัยพระเป็นเจ้าได้ พระศาสนจักรก็มีความจำเป็นและขณะเดียวกันก็มีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ต้องประกาศข่าวดีด้วย" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 7 เทียบ ฮบ.11:6; 1คร.9:16)

งานธรรมทูต - ข้อเรียกร้องจากความเป็นสากลของพระศาสนจักร

849งานธรรมทูตที่ได้รับหมายมา "เมื่อถูกส่งโดยพระเจ้าออกไปยังชาติต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายของความรอดทั่วสากลโลก พระศาสนจักร -อาศัยข้อเรียกร้องภายในจากความเป็นสากลของพระศาสนจักรเอง และด้วยความนบนอบต่อบัญชาขององค์พระผู้ก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นมา- ก็ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเทศนาสั่งสอนพระวรสารแก่มนุษย์ทุกคน" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 1 เทียบ มธ.16:15)   "เหตุฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา ให้เขาได้รับศีลล้างบาปในพระนามแห่งพระบิดา และพระบุตร และพระจิต และสอนพวกเขาให้ถือตามทุกสิ่งที่เราได้บัญญัติไว้แก่พวกเจ้า แล้วเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นโลก" (มธ.28:19-20)

850บ่อเกิดและจุดหมายแห่งกิจการแพร่ธรรม งานธรรมทูตที่พระเยซูผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายมานั้น มีต้นกำเนิดสุดท้ายอยู่ที่ความรักอันนิรันดรของพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์ "โดยธรรมชาติของพระศาสนจักร ระหว่างที่จาริกอยู่บนแผ่นดินนี้ พระศาสนจักรเป็นธรรมทูต เพราะมีบ่อเกิดมาจากพันธกิจของพระบุตรและพันธกิจของพระจิต ตามแผนการของพระเจ้าพระบิดา" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 2) และจุดหมายสุดท้ายแห่งพันธกิจอันนี้ก็มิใช่อื่นใด นอกจากเป็นการเอื้อให้มนุษย์ได้มีส่วนร่วมในความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวที่มีอยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตร ในพระจิตแห่งความรัก (เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 23)

851มูลเหตุแห่งการแพร่ธรรม จากความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทั้งหลายนั้นเอง    ที่พระศาสนจักรได้รับพันธะและพลังมาทุกยุคทุกสมัยในการพุ่งเข้าสู่งานแพร่ธรรม "เพราะความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเราอยู่..." (2คร.5:14) แท้จริง "พระองค์มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและเข้าถึงการรู้ความจริงอันสมบูรณ์" (1ทธ.2:4) ความรอดนั้นมีอยู่ในสัจธรรม ผู้ที่นอบน้อมเชื่อฟังข้อเสนอของพระจิตแห่งความจริง ย่อมอยู่บนเส้นทางแห่งความรอดแล้ว แต่พระศาสนจักรซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายความจริงนั้น จะต้องเดินไปหาเพื่อสนองความต้องการของเขาเหล่านั้น และนำสัจธรรมไปให้เขา เพราะพระศาสนจักรเชื่อในแผนการแห่งความรอดทั่วสากลแบบนี้ พระศาสนจักรจึงต้องเป็นผู้แพร่ธรรม

852หนทางในการแพร่ธรรม    "พระจิตคือองค์ผู้นำสำคัญแห่งพันธกิจการแพร่ธรรมของพระ-ศาสนจักร" (พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 21) เป็นพระจิตเองที่ทรงนำพระศาสนจักรไปบนเส้นทางแห่งการแพร่ธรรม พระศาสนจักร "เป็นผู้สืบต่อและพัฒนาพันธกิจของพระคริสต์ -ผู้ทรงถูกส่งมา เพื่อประกาศข่าวดีแก่คนยากจน- มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น บนเส้นทางเดียวกันกับที่พระคริสต์ทรงดำเนินมาแล้วนี่เองที่พระศาสนจักรต้องเดินไป ภายใต้การผลักดันแห่งพระจิตของพระคริสต์ กล่าวคือ บนเส้นทางแห่งความยากจนความนบนอบเชื่อฟัง การรับใช้ และการเสียสละอุทิศตนเป็นเครื่องบูชา จนกระทั่งถึงมรณา ซึ่งพระคริสต์เสด็จกลับออกมาอย่างมีชัย อาศัยการฟื้นคืนชีพของพระองค์" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 5) "โลหิตแห่งบรรดามรณสักขีจึงเป็นการหว่านพืชพันธุ์คริสตชน"ด้วยประการฉะนี้ (Tertullian, Apol. 50,13:PL 1,603)

853แต่ในการจาริกไปบนแผ่นดิน พระศาสนจักรก็ได้มีประสบการณ์อีกด้วยในเรื่อง "ระยะห่างที่กั้นอยู่ระหว่างสารที่พระศาสนจักรเผยแสดง และความอ่อนแอแบบมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้น  ซึ่งพระวรสารได้ถูกมอบหมายไว้ให้" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ 43.6)     อาศัยการเดินก้าวไปบนหนทาง "แห่งการใช้โทษบาปและการฟื้นฟูขึ้นใหม่" และ "อาศัยหนทางอันแสนแคบแห่งมหากางเขน" เท่านั้น ที่ประชากรของพระเจ้าจะสามารถขยายพระอาณาจักรของพระคริสต์ออกไป (พระศาสนจักร ข้อ 8.3,15; พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 1.3 เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 12-20)   จริงแท้ ดุจเดียวกับที่พระคริสต์ทรงปฏิบัติการไถ่กู้ในความยากจน และท่ามกลางการเบียดเบียน พระศาสนจักรก็ได้รับเรียกเช่นกันให้เข้าสู่เส้นทางเดียวกันนี้ เพื่อสื่อผลแห่งความรอดให้แก่มนุษย์ทั้งปวง (พระศาสนจักร ข้อ 8.3)

854อาศัยพันธกิจการแพร่ธรรมนี้เอง ที่ "พระศาสนจักรเดินทางร่วมไปกับมนุษยชาติทั้งมวล  และมีส่วนแบ่งปันชะตากรรมของโลกบนแผ่นดิน พระศาสนจักรเป็นเหมือนเชื้อฟู และเรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณแห่งสังคมมนุษย์ ซึ่งได้รับเรียกให้มารื้อฟื้นตนเองขึ้นใหม่ในพระคริสต์ และแปรรูปเป็นครอบครัวของพระเจ้า" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 40.2)    ความพยายามในการแพร่ธรรมจึงเรียกร้องให้มีความพากเพียรอดทน  เริ่มจากการประกาศพระวรสารแก่ประชากรทั้งหลายและกลุ่มคนซึ่งยังไม่เชื่อในพระคริสต์ (เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 42-47) ดำเนินงานติดตามต่อไปในการก่อตั้งชุมชนชาวคริสต์ ที่เป็นประดุจ "หมายสำคัญแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลกนี้" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 15.1) และในการก่อตั้งพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งหลาย (เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 48-49) อุตสาหะพยายามดังกล่าวนี้ หมายถึงว่าจะต้องมีกระบวนการแทรกตัวเข้าไปในวัฒนธรรม เพื่อบำเพ็ญตนตาม พระวรสารให้เห็นจริงเห็นจัง ในวัฒนธรรมของประชากรเหล่านั้น(เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 52-54) สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ จะต้องเจอกับความล้มเหลวด้วยเช่นกัน "ในส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์ กลุ่มชน และประชากรทั้งหลาย พระศาสนจักรจะเข้าไปติดต่อและศึกษาให้รู้จักอย่างลึกซึ้ง ก็แต่ตามลำดับขั้นตอน และจะรับพวกเขาเข้ามาสู่บูรณภาพแห่งพระศาสนจักรคาทอลิกก็แต่ในลักษณะนี้" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 6.2)

855พันธกิจการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร    เรียกร้องให้มีการใช้ความพยายามเพื่อสร้างเอกภาพในหมู่คริสตชน (เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 50) เป็นความจริงที่ว่า "การแตกแยกระหว่างคริสตชนด้วยกัน เป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้พระศาสนจักรบรรลุความสำเร็จในการสร้างบูรณภาพแห่งความเป็นสากล -อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระศาสนจักรเอง- ขึ้นในหมู่ลูกๆ ของพระศาสนจักร ซึ่ง -แน่นอน- ขึ้นอยู่กับพระศาสนจักรโดยทางศีลล้างบาป แต่ก็แตกแยกออกไปจากความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น สำหรับพระศาสนจักรเอง ก็เป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะแสดงออกถึงบูรณภาพแห่งความเป็นสากล ในความเป็นจริงแห่งชีวิตของพระศาสนจักรเอง ในทุกแง่ทุกมุม" (สากลสัมพันธภาพ ข้อ 4.8)

856ภาระหน้าที่ในการแพร่ธรรม มีนัยหมายถึงว่าจะต้องมีการเสวนาด้วยความเคารพกับบุคคลทั้งหลายที่ยังไม่ยอมรับพระวรสาร (เทียบ พันธกิจองค์พระผู้ไถ่ ข้อ 55) ผู้มีความเชื่อสามารถแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองได้จากการเสวนาดังกล่าว โดยการเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักให้ดีขึ้นกับ "ทุกสิ่งที่เป็นสัจธรรมและหรรษทานที่มีอยู่แล้วในประชาชาติเหล่านั้น ประหนึ่งเป็นการปรากฏพระองค์อย่างไม่เปิดเผยของพระเจ้า" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 9) ผู้มีความเชื่อนั้น หากจะมีการประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่ไม่สนใจใยดีในข่าวนี้ ก็เพื่อเสริมให้แข็งแกร่ง ทำให้สมบูรณ์ และเชิดชูไว้ซึ่งสัจธรรมและความดีที่พระเจ้าได้ทรงกระจายออกไปที่ท่ามกลางมนุษย์และประชากรทั้งหลาย และเพื่อชำระเขาเหล่านี้ให้บริสุทธิ์พ้นจากความผิดพลาดและความชั่วร้าย "เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้า เพื่อให้ปีศาจสับสนได้อาย และมนุษย์ได้อยู่เย็นเป็นสุข" (งานธรรมทูตแห่งพระศาสนจักร ข้อ 9)