หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ย่อหน้าที่ 1พระศาสนจักรในแผนการของพระเจ้า

1. ชื่อและภาพลักษณ์ต่างๆ ของพระศาสนจักร

751คำว่า "พระศาสนจักร" (Church) (ภาษาลาติน ecclesia ภาษากรีก ek-kalein เรียกไปข้างนอก) หมายถึง "การเรียกประชุม" หรือ "การชุมนุม" บ่งถึงการชุมนุมกันของประชากร โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นเรื่องของทางศาสนา (เทียบ กจ.19:39) เป็นคำซึ่งใช้อยู่บ่อยครั้งในพระธรรมคัมภีร์เก่าของกรีก สำหรับการชุมนุมของประชากรที่ได้รับเลือกสรรต่อพระพักตร์พระเจ้า โดยเฉพาะสำหรับการชุมนุมที่ภูเขาซีนาย ซึ่งอิสราเอลได้รับพระบัญญัติ และได้รับการสถาปนาจากพระเจ้า ให้เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ (เทียบ อพย.19) ในการเรียกตนเองว่า "พระศาสนจักร" ชุมชนแรกของคนทั้งหลายที่เชื่อในพระคริสต์ตระหนักว่าตนคือทายาทของชุมนุมนี้ ในพระศาสนจักร พระเจ้า "ทรงเรียกประชุม" ประชากรของพระองค์จากทุกเขตแดนแผ่นดิน จากภาษากรีก "kyriake" จากภาษาอังกฤษ Church จากภาษาเยอรมัน Kirche หมายถึง "เขา (เพศหญิง) ผู้เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า"

752ในภาษาของชาวคริสต์ คำว่า "พระศาสนจักร" หมายถึงการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรม (เทียบ 1คร.11:18; 14:19,28,34,35) แต่ก็หมายถึงชุมชนท้องถิ่น (เทียบ 1คร.1:2; 16:1) หรือชุมชนชาวโลกทั้งหมดผู้มีความเชื่ออีกด้วย (เทียบ 1คร.15:9; กท.1:13; ฟป.3:6) ความหมายทั้งสามประการนี้ แท้จริงแล้ว แยกจากกันไม่ได้ "พระศาสนจักร" คือประชากรที่พระเจ้าทรงรวบรวมเข้าด้วยกันทั่วโลก   พระศาสนจักรมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งหลาย  และสัมฤทธิ์ผลในฐานะเป็นการชุมนุมทางพิธีกรรม โดยเฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทพระศาสนจักรดำรงชีวิตอยู่ด้วยพระวาจาและพระกายของพระคริสต์ และกลายเป็นพระกายของพระคริสต์เองด้วยประการฉะนี้

สัญลักษณ์ทั้งหลายของพระศาสนจักร

753ในพระคัมภีร์ เราจะพบภาพลักษณ์และโฉมหน้าเป็นจำนวนมากมาย ที่เชื่อมโยงอยู่ระหว่างกัน ซึ่งการเผยแสดงได้อาศัยในการพูดถึงธรรมล้ำลึกอันไม่รู้จักหมดสิ้นของพระศาสนจักร ภาพลักษณ์ที่ยกมาจากพันธสัญญาเดิม ประกอบกันขึ้นเป็นข้อคิดหลักอันลึกซึ้งในรูปแบบหลากหลายต่างๆ กัน คือข้อคิดเรื่อง "ประชากรของพระเจ้า" ในพันธสัญญาใหม่ ภาพ-ลักษณ์เหล่านี้ทั้งหมดได้พบศูนย์กลางใหม่จากข้อเท็จจริงที่ว่า พระคริสต์ได้กลายมาเป็น "ศีรษะ" ของประชากรดังกล่าว ซึ่งนับแต่นั้นมา ก็ได้กลายมาเป็นพระกายของพระองค์ (เทียบ อฟ.1:22; คส.1:18; พระศาสนจักร ข้อ 9) รอบๆ ศูนย์กลางอันนี้ ก็คือกลุ่มภาพลักษณ์ต่างๆ "ซึ่งได้มาจากชีวิตชนบท หรือไม่ก็ชีวิตในท้องไร่ท้องนา หรือมิฉะนั้นก็จากงานก่อสร้าง หรือจากครอบครัวและงานสมรส" (พระศาสนจักร ข้อ 6)

754จริงแท้ พระศาสนจักรเปรียบประดุจ "คอกแกะ" ซึ่งพระคริสต์เป็นทางเข้าหนึ่งเดียวอันจำเป็น    พระศาสนจักรยังเป็นฝูงแกะด้วย ซึ่งพระเจ้าได้ทรงประกาศพระองค์เองไว้ล่วงหน้า   ว่าจะทรงเป็นนายชุมพาบาล ซึ่งบรรดาชุมพาทั้งหลาย แม้จะมีนายชุมพาที่เป็นมนุษย์เป็นหัวหน้านำฝูงอยู่ แต่ก็ได้รับการนำพาและเลี้ยงดูตลอดมาจากพระคริสต์ ผู้ทรงเป็นนายชุมพาที่ดี และเจ้าแห่งนายชุมพาบาลทั้งหลาย ผู้ได้อุทิศชีวิตพระองค์เองเพื่อแกะของพระองค์" (พระศาสนจักร ข้อ 6 เทียบ ยน.10:1-10; อสย.40:11; อสค.34:11-31; ยน.10:11; 1ปต.5:4; ยน.10:11-16)

755"พระศาสนจักรคือพื้นที่เพาะปลูก เป็นทุ่งนาของพระเจ้า" (1คร.3:9) ในทุ่งนานี้ มีต้นมะกอกเก่าแก่ขึ้นอยู่ ซึ่งบรรดาอัยกาคือรากอันศักดิ์สิทธิ์ และในต้นมะกอกนี้ การคืนดีระหว่างชาวยิวและคนต่างศาสนาก็เกิดขึ้น และจะเกิดต่อไป การคืนดีนี้ได้รับการปลูกโดยเจ้าของไร่องุ่นแห่งสรวงสวรรค์ ในฐานะเป็นต้นองุ่นที่ได้รับการเลือกสรร ต้นองุ่นที่แท้จริงคือพระคริสต์ พระองค์เป็นผู้ประทานชีวิตและความอุดมสมบูรณ์แก่กิ่งก้าน ซึ่งก็คือเราทั้งหลาย อาศัยพระศาสนจักร เราพำนักอยู่ในพระองค์ชีวิตและความอุดมสมบูรณ์แก่กิ่งก้าน ซึ่งก็คือเราทั้งหลาย อาศัยพระศาสนจักร เราพำนักอยู่ในพระองค์ ซึ่ง -หากปราศจากพระองค์- เราก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย (ยน.15:1-5)

756"บ่อยครั้งเช่นกัน พระศาสนจักรได้ชื่อว่าเป็น "สิ่งก่อสร้าง" ของพระเจ้า (1คร.3:9) องค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เอง ทรงเปรียบเทียบว่าพระองค์เป็นดุจศิลาที่ช่างก่อสร้างโยนทิ้งแล้ว และกลายเป็นศิลามุมเอก (มธ.21:42) บนรากฐานอันนี้ พระศาสนจักรได้รับการสร้างขึ้นมาโดยบรรดาอัครสาวก (1คร.3:11) และจากรากฐานอันนี้ พระศาสนจักรก็ได้รับทั้งความหนักแน่นมั่นคง และการเชื่อมนัยกันอย่างเหนียวแน่น สิ่งก่อสร้างดังกล่าวนี้ ได้รับการขนานนามต่างๆ กันออกไป เช่น เคหาของพระเจ้า (1ทธ.3:15) ซึ่งในนั้นเป็นที่พำนักแห่งครอบครัวของพระองค์ ที่ประทับของพระเจ้าในพระจิต (อฟ.2:19-22)   ที่พำนักของพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์ (วว.21:3) และโดยเฉพาะวิหารศักดิ์สิทธิ์ ซึ่ง -เมื่อแสดงออกในรูปลักษณ์ของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างด้วยศิลาก็เป็นที่สรรเสริญสดุดีของบรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และอุปมาไว้อย่างถูกต้องในพิธีกรรมว่าเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ คือเยรูซาเล็มใหม่จริงแท้ เราอยู่ในนครเยรูซาเล็มใหม่บนแผ่นดิน ประดุจก้อนศิลามีชีวิตที่แทรกตัวอยู่ในสิ่งก่อสร้าง (1ปต.2:5) นครศักดิ์สิทธิ์ ยอห์นได้พิศเพ่งเล็งเห็นลอยเลื่อนลงมาจากจากสวรรค์และจากพระเจ้า ในยามที่โลกจะรื้อฟื้นขึ้นใหม่ จัดเตรียมไว้พร้อมเหมือนคู่หมั้นสาวแต่งกายไว้คอยต้อนรับคู่สมรสของเธอ (วว.21:1-2)

757"พระศาสนจักรยังมีชื่ออีกว่า "เยรูซาเล็มจากเบื้องบน" และ "มารดาของเรา" (กท.4:26) พระศาสนจักรได้รับการบรรยายลักษณะว่าเป็นประดุจเจ้าสาวนิรมลขององค์ชุมพานิรมล (วว.19:7; 21:2.9; 22:17) ซึ่งพระคริสต์ได้ "ทรงรัก และทรงมอบองค์เพื่อเจ้าสาวผู้นี้ เพื่อว่าจะได้ทำให้เธอศักดิ์สิทธิ์" (อฟ.5:25-26) ทรงผูกสัมพันธ์กับเธอด้วยขัอสัญญาอันเลิกล้มมิได้ ทรง "เลี้ยงดูและทะนุถนอมดูแลด้วยความเอาใจใส่" (อฟ.5:29) อยู่มิได้ขาด