หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระจิตและพระวาจาของพระเจ้า ในยุคแห่งคำมั่นสัญญา

702ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึง "บูรณภาพแห่งกาลเวลา" (กท.4:4) พันธกิจร่วมของพระวจนาตถ์และพระจิตของพระบิดา ยังคงซ่อนเร้นอยู่ แต่ก็ลงมือปฏิบัติแล้ว พระจิตของพระเจ้าทรงตระเตรียมกาลเวลาแห่งพระเมสสิยาห์ และทั้งสองพระองค์ โดยที่ยังมิได้รับการเผยแสดงอย่างเต็มที่ก็เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสัญญาแก่มนุษย์แล้วว่าจะทรงส่งลงมา เพื่อจะได้เป็นการที่รอคอยและต้อนรับเมื่อทรงสำแดงพระองค์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระศาสนจักรอ่านพันธ-สัญญาเดิม พระศาสนจักรก็จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าพระจิต "ผู้ตรัสมาโดยทางประกาศกทั้งหลาย" ทรงปรารถนาจะตรัสแก่เราเกี่ยวกับพระคริสต์ (เทียบ 2คร.3:14; ยน.5:39,46)

โดยคำว่า "ประกาศก" ความเชื่อของพระศาสนจักรหมายความ ณ ที่นี้ถึงทุกคนที่พระจิตได้ทรงดลใจ ในการประกาศที่มีชีวิตและในการประพันธ์หนังสือศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ธรรมประเพณีของชาวยิวแบ่งออกเป็นหมวดธรรมบัญญัติ (ห้าเล่มแรกที่เรียกว่า Pentateuque) หมวดประกาศก (หนังสือของเราในส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์และการพยากรณ์) และหมวดข้อเขียนต่างๆ (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปรีชาญาณ และบทสดุดีเป็นพิเศษ) (เทียบ ลก.24:44)

ในสิ่งสร้าง

703พระวาจาของพระเจ้า และลมปราณของพระองค์ เป็นบ่อเกิดแห่งการดำรงอยู่ และชีวิตของสิ่งสร้างทั้งมวล (เทียบ สดด.33:6; 104:30; ปฐก.1:2; 2:7; อสค.37:10)

สำหรับองค์พระจิต เป็นการเหมาะสมที่จะทรงครอบครอง โปรดให้สิ่งสร้างศักดิ์สิทธิ์และมีชีวิตชีวา เนื่องจากว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดาและพระบุตร... อำนาจเหนือชีวิตเป็นของพระองค์ เพราะ -ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า- พระองค์ทรงพิทักษ์รักษาสิ่งสร้างไว้ในพระบิดา โดยอาศัยพระบุตร (พิธีกรรมไบเซนไทน์)

704"ฝ่ายมนุษย์นั้น พระเจ้าทรงปั้นขึ้นมาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง (คือพระบุตรและพระจิต ...) และทรงวาดรูปทรงของพระองค์เองลงบนเนื้อหนังที่ทรงปั้นขึ้นมา ในลักษณะที่ว่า แม้สิ่งที่จะมองเห็นด้วยตา ก็จะมีรูปทรงคล้ายคลึงกับพระเจ้า" (น.อีเรเน Dem. ap.11:Sch 62, 48-49)

พระจิตแห่งคำมั่นสัญญา

705มนุษย์ -เมื่อเสียโฉมผิดรูปผิดร่างไปเพราะบาปและความตายแล้ว- ก็ยังดำรงความเป็น "พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า" อยู่ ตามพระฉายาลักษณ์ขององค์พระบุตร แต่ "หมดสิทธิ์ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า" (รม.3:23 หมดสิทธิใน "ความคล้ายคลึง" กับพระเจ้า    คำสัญญาที่พระเจ้าประทานไว้แก่อับราฮัมเป็นการเริ่มระบบแห่งความรอด ซึ่ง -ในการดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น พระบุตรพระองค์เองจะทรงรับเอา "พระฉายาลักษณ์" (เทียบ ยน.1:14; ฟป.2:7) นั้น และจะทรงกู้คืนขึ้นใหม่ให้ "คล้ายคลึง" กับพระบิดา โดยให้ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ พระจิต "ผู้ประทานชีวิต"

706โดยที่มนุษย์ไม่เคยคาดฝันมาก่อน พระเจ้าทรงสัญญาแก่อับราฮัมว่า จะให้มีทายาทสืบ- เชื้อสาย อันเป็นผลจากความเชื่อและอานุภาพของพระจิต (เทียบ ปฐก.18:1-15; ลก.1:26-38; 54-55; ยน.1:12-13; รม.4:16-21) ในเชื้อสายของอับราฮัมนี้ ประชาชาติทั้งหลายทั่วโลกจะได้รับพระพร เชื้อสายของอับราฮัมต่อมาก็คือพระคริสต์ (เทียบ ปฐก.12:3; กท.3:16) ซึ่งในพระคริสต์พระองค์นี้ กระแสพระจิตที่แผ่กระจายออกมา จะทำให้เกิด "เอกภาพในหมู่บุตรพระเจ้าที่แตกฉานซ่านเซ็นอยู่" (เทียบ ยน.11:52) ในการผูกมัดพระองค์ด้วยคำปฏิญาณดังกล่าว เท่ากับพระเจ้าได้ทรงผูกมัดพระองค์แล้วว่าจะประทานพระบุตรสุดรักของพระองค์ลงมา และประทาน "พระจิตแห่งคำมั่นสัญญา... ซึ่งจะเป็นผู้เตรียมการไถ่กู้ประชากร ซึ่งพระเจ้าได้ทรงรับไว้เป็นของพระองค์" (อฟ.1:13-14)

ในการสำแดงพระองค์ (Theophanies) และธรรมบัญญัติ

707การสำแดงพระองค์ของพระเจ้า เป็นการจุดมรรคาแห่งคำมั่นสัญญาให้สว่างไสว นับตั้งแต่บรรดาอัยกาถึงโมเสส   และจากโยชูวาถึงภาพนิมิตซึ่งเป็นการเบิกพันธกิจของประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย  ธรรมประเพณีทางคริสตศาสนาได้ยอมรับเสมอว่าในการสำแดงพระองค์ดังกล่าวนี้  พระวจนาตถ์ของพระเจ้าจะสำแดงพระองค์ให้มองเห็นและได้ยิน  เป็นการเผยแสดงไปพร้อมๆ กับการ "อยู่ในเงามืด" ในก้อนเมฆของพระจิตเจ้า

708วิธีการสั่งสอนของพระเจ้านี้ ปรากฏเป็นพิเศษในการประทานธรรมบัญญัติ (เทียบ อพย.19-20; ฉธบ.1-11;29-30) พระเจ้าได้ประทานธรรมบัญญัตินั้นประดุจ "ครูพี่เลี้ยง" เพื่อชักนำประชากรไปสู่พระคริสต์ (กท.3:24) แต่การขาดพละกำลังแห่งธรรมบัญญัติในการช่วยมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไม่ได้รับ "ความคล้ายคลึง" กับพระเจ้าและตามด้วยการเจริญเติบโตในการับรู้เรื่องบาป (เทียบ รม.3:20) อันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกขาดความเมตตาจากพระจิตเจ้าที่เขาปรารถนา คำคร่ำครวญในบทสดุดีเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้ดี

ในพระอาณาจักรและการถูกเนรเทศ

709ธรรมบัญญัติ เครื่องหมายแห่งคำมั่นสัญญาและสัมพันธภาพ สมควรจะได้ครอบครองดวงใจและสถาบันทั้งหลายของประชากร ซึ่งเกิดจากความเชื่อของอับราฮัม "ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังเสียงเรา และรักษาพันธสัญญาของเราไว้ เราจะถือว่าเจ้าทั้งหลายเป็นอาณาจักรปุโรหิต เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา" (อพย.19:5-6)   แต่หลังการครองราชย์ของกษัตริย์ดาวิด อิสราเอลก็พ่ายแพ้แก่การประจญล่อลวง กลายเป็นอาณาจักรเช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ แต่พระอาณาจักรอันเป็นเป้าหมายของคำมั่นสัญญาที่ได้ประทานมาแก่กษัตริย์ดาวิด (เทียบ   2ซมอ.7; สดด.89; ลก.1:32-33) นั้น    จักเป็นผลงานของพระจิต พระอาณาจักรจะตกเป็นของคนยากจนในแบบของพระจิต

710การหลงลืมธรรมบัญญัติ และการไม่ซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาไปจบลงที่ความหมายซึ่งก็คือการถูกเนรเทศ มองอย่างผิวเผิน นั่นคือความล้มเหลวในการถือคำมั่นสัญญา แท้จริง คือความซื่อตรงอย่างล้ำลึกของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอด และเป็นการเริ่มต้นการฟื้นฟูตามที่ได้สัญญาไว้ แต่จะต้องเป็นไปตามพระจิต จำเป็นที่ประชากรของพระเจ้าจะต้องผ่านการทนทุกข์ เพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์ (เทียบ ลก.24:26) การถูกเนรเทศมีเงามืดแห่งมหากางเขนรำไรอยู่แล้วในแผนการของพระเจ้า และคนยากจนที่เหลือซึ่งกลับมาจากถูกเนรเทศ ก็เป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ที่โปร่งใสที่สุดของพระศาสนจักร

การรอคอยพระเมสสิยาห์และพระจิตของพระองค์

711"ดูเถิด เรากำลังกระทำสิ่งใหม่" (อสย.43:19) เส้นพยากรณ์สองเส้นกำลังจะวาดขึ้นมาเส้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องการรอคอยพระเมสสิยาห์ อีกเส้นหนึ่งเป็นเรื่องการประกาศถึงพระจิตใหม่ และสองเส้นนี้มาบรรจบกัน ในส่วนที่เหลือเพียงเล็กน้อย คือประชาผู้ยากจน ซึ่งเฝ้ารอ "ความบรรเทาใจแห่งอิสราเอล" และ "การไถ่กรุงเยรูซาเล็มให้เป็นอิสระ" (เทียบ ศฟย.2:3; ลก.2:25,38) อยู่ในความหวัง

เราได้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่า พระเยซูได้ทรงทำให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์สำเร็จไปอย่างไร ณ ที่นี้ เราจะจำกัดอยู่แค่คำพยากรณ์ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างพระเมสสิยาห์ และพระจิตของพระองค์ปรากฏให้เห็นมากกว่าที่อื่น

712ลักษณะโฉมพระพักตร์ของพระเมสสิยาห์     ซึ่งรอคอยกันอยู่เริ่มปรากฏในบทที่พูดถึงเอ็มมานูเอล (เมื่ออิสยาห์มองเห็นพระสิริของพระคริสต์ ยน.12:41) โดยเฉพาะใน หนังสืออิสยาห์ บทที่ 11:1-2

จะมีหน่อแตกออกมาจากตอแห่งเจสซี

จะมีกิ่งงอกออกมาจากรากทั้งหลายของเขา

และพระจิตของพระเจ้าจะประทับอยู่บนท่านนั้น

คือจิตแห่งปรีชาญาณและสติปัญญา

จิตแห่งการตักเตือนและพลานุภาพ

จิตแห่งความรู้และความยำเกรงพระเจ้า

713ลักษณะของพระเมสสิยาห์ได้รับการเผยแสดงอยู่ในบทเพลงของผู้รับใช้ (เทียบ อสย.42:1-9; เทียบ มธ.12:18-21; ยน.1:32-34)    บทเพลงเหล่านี้ประกาศความหมายแห่งมหาทรมานของพระเยซู และบ่งบอกด้วยประการฉะนี้ ถึงวิธีการที่พระองค์จะกระจายพระจิตออกไป เพื่อให้ปวงชนได้มีชีวิตชีวาขึ้นมา มิใช่ฐานะบุคคลภายนอก แต่โดยการยอมรับ "สภาพดุจทาส กลายเป็นมนุษย์ดุจเรา" ของเรา (ฟป.2:7) เนื่องจากทรงรับแบกความตายของเรา พระองค์จึงสามารถที่จะสื่อพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์เองมายังเรา

714ด้วยเหตุนี้ พระคริสต์จึงทรงเป็นผู้ประกาศข่าวดี  โดยรับเอาข้อความในคำพยากรณ์ของประกาศกอิสยาห์มาเป็นของพระองค์ (ลก.4:18-19)

พระจิตแห่งพระเป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า

เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้

พระองค์ได้ทรงส่งข้าพเจ้าให้นำข่าวดีไปยังคนยากจน

รักษาแผลหัวใจที่บอบช้ำ

ประกาศนิรโทษกรรมแก่บรรดาเชลย

และประกาศอิสรภาพแก่บรรดานักโทษ

ประกาศปีแห่งการอภัยโทษจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

715บทความพยากรณ์ที่เกี่ยวโดยตรงกับการส่งพระจิตลงมา เป็นคำทำนายซึ่งพระเจ้าตรัสแก่ใจแห่งประชากรของพระองค์ ในวิธีพูดแบบให้คำมั่นสัญญา โดยทรงเน้นในเรื่อง"ความรักและความซื่อสัตย์" (เทียบ อสค.11:19; 36:25-28; 37:1-14; ยรม.31:31-34; เทียบ ยอล.3:1-5) ซึ่งนักบุญเปโตร จะประกาศความสัมฤทธิ์ผลในเช้าวันจิตตาคม (เทียบ กจ.2:17-21) ตามคำมั่นสัญญาเหล่านี้ ใน "ยุคสุดท้าย" พระจิตแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าจะรื้อฟื้นใจมนุษย์ โดยจารึกบัญญัติใหม่ไว้ในใจเหล่านั้น พระจิตจะทรงรวบรวมและโปรดให้มีการคืนดีในหมู่ประชากรที่กระจัดกระจายและแตกแยกจากกัน  พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งสร้างดั้งเดิม และพระเจ้าจะประทับอยู่กับมนุษย์ในสันติสุข

716ประชากร "ผู้ยากจน" (เทียบ ศฟย.2:3; สดด.22:27; 34:3; อสย.49:13; 61:1) ผู้ต่ำต้อยและอ่อนโยน ซึ่งมอบตนไว้ให้เป็นไปตามแผนการอันลึกล้ำของพระเจ้าแห่งตน เขาผู้รอคอยความชอบธรรม มิใช่จากมนุษย์ แต่จากพระเมสสิยาห์ สุดท้ายก็คือ กิจการอันยิ่งใหญ่แห่งพันธกิจที่เร้นอยู่ของพระจิตเจ้า ในช่วงเวลาแห่งคำมั่นสัญญาเพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระจิตนั้นเอง ที่แสดงออกอยู่ในบทสดุดี ในคนยากจนเหล่านี้เองที่พระจิตทรงเตรียม "ชนชาติหนึ่งไว้ให้สมแก่พระเจ้า" (ลก.1:17)