หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. พระนาม สมัญญาที่เรียกขาน และสัญลักษณ์แห่งพระจิตเจ้าพระนามเฉพาะของพระจิต

691"พระจิตเจ้า" (Holy Spirit) คือพระนามเฉพาะขององค์พระผู้ซึ่งเราสักการะบูชาและถวายสิริโรจนาร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระศาสนจักรได้รับพระจิตมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และประกาศยืนยันในการโปรดศีลล้างบาป ให้แก่ลูกคนใหม่ๆ ของพระศาสนจักร (PG 45, 1321A-B)

คำว่า "จิต" (Spirit) เป็นคำแปลของคำภาษาฮีบรู Ruah    ซึ่งในความหมายแรก หมายถึงลมหายใจ อากาศ สายลม พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพลักษณ์ของลมที่รู้สึกได้อย่างถูกต้อง  เพื่อเสนอแนะแก่นิโคเดมัส   ถึงลักษณะใหม่อันโพ้นธรรมชาติขององค์พระผู้ทรงเป็นลมปรานของพระเจ้า พระจิตของพระเจ้าโดยพระองค์เอง (ยน.3:5-8)      ในอีกทางหนึ่ง จิตและความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ (Holy)   เป็นคุณสมบัติร่วมกันของพระเจ้าทั้งสามพระบุคคล แต่เมื่อรวมคำสองคำเข้าด้วยกันแล้ว พระธรรมคัมภีร์ พิธีกรรม และภาษาเทววิทยา ก็หมายถึงพระบุคคลอันเหลือที่จะพรรณนาได้ของพระจิตเจ้า โดยปราศจากความคลุมเครือใดๆ ที่จะไปปะปนกับการใช้คำว่า "จิต" และ "ศักดิ์สิทธิ์" นี้ในที่อื่นๆ

สมัญญาที่ใช้เรียกพระจิตเจ้า

692เมื่อพระเยซูเจ้าทรงประกาศและสัญญาว่าจะให้พระจิตเสด็จลงมานั้น พระองค์ทรงเรียกพระจิตว่า "Paraclete" แปลตามศัพท์ว่า "พระผู้ได้รับการเรียกมาให้อยู่ใกล้" ad-vocatus (ยน.14:16-26; 15:26; 16:7) คำว่า "Paraclete" ตามปรกติมักจะแปลกันว่า "ผู้ปลอบใจ" โดยที่พระเยซูคือองค์พระผู้ปลอบใจพระองค์แรก (เทียบ 1ยน.2:1) องค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์ทรงเรียกพระจิตเจ้าว่า "พระจิตแห่งความจริง" (ยน.16:13)

693นอกเหนือจากพระนามเฉพาะ ซึ่งใช้มากที่สุดในกิจการอัครสาวก   และในจดหมายของนักบุญเปาโลแล้ว ในข้อเขียนของนักบุญเปาโล เราจะพบสมัญญาต่อไปนี้ คือพระจิตแห่งคำมั่นสัญญา (กท.3:14; อฟ.1:13) พระจิตแห่งการรับเป็นบุตร (รม.8:15; กท.4:6)พระจิตแห่งพระ-คริสต์ (รม.8:9) พระจิตแห่งพระผู้เป็นเจ้า (2คร.3:17) พระจิตแห่งพระเจ้า(รม.8:9,14; 15:19; 1คร.6: 11; 7:40) และในข้อเขียนของนักบุญเปโตร เราจะพบคำว่า "พระจิตแห่งโรจนการ" (1ปต.4:14)

สัญลักษณ์แห่งพระจิตเจ้า

694น้ำ การใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการปฏิบัติงานของพระจิตในศีลล้างบาป ในเมื่อหลังการภาวนาอัญเชิญพระจิตแล้ว น้ำก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้ส่งผลให้มีการเกิดใหม่ ทำนองเดียวกับสภาพการปฏิสนธิในครรภ์ครั้งแรกของเราดำเนินไปในน้ำฉันใด น้ำแห่งศีลล้างบาปก็มีความหมายอย่างแท้จริงว่า การเกิดสู่ชีวิตพระของเรา ได้รับการประทานมาในพระจิต แต่เมื่อเรา"ได้รับศีลล้างในพระจิตองค์เดียวกัน" เราก็ได้ดื่มดับกระหาย "อิ่มอาบอยู่ด้วยพระจิตองค์เดียวกัน" นั้นด้วย (1คร.12:13) ดังนั้น พระจิต -โดยพระองค์เอง- จึงทรงเป็นสายน้ำที่พวยพุ่งออกมาจากพระคริสต์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน ประดุจจากต้นธาร และซึ่งกระจายออกมาเป็นชีวิตนิรันดรอยู่ในตัวเรา (เทียบ ยน.4:10-14; 7:38; อพย. 17:1-6; อสย.55:1; ศคย.14:8; 1คร.10:4; วว.21:6; 22:17)

695การเจิม การเจิมด้วยน้ำมัน เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระจิตเจ้าด้วยเช่นกัน (เทียบ 1ยน.2:20,27; 2คร. 1:21) ถึงขนาดที่กลายเป็นคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน ในการนำเข้าสู่คริสตศาสนา การเจิมด้วยน้ำมันเป็นเครื่องหมายแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ คือ ศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรภาคตะวันออก จะเรียกอย่างถูกต้องว่า "ศีลเจิมด้วยน้ำมันคริสมา" แต่เพื่อให้เข้าใจถึงมวลพลังที่มีอยู่ ก็จะต้องย้อนมาที่การเจิมครั้งแรก ซึ่งสำเร็จไปโดยพระจิต คือการเจิมพระเยซู คำว่า "คริสต์" ("เมสสิยาห์" ในภาษาฮีบรู) หมายถึง "ผู้ได้รับเจิม" จากพระจิตของพระเจ้า ในพันธสัญญาเดิม มี "ผู้ได้รับเจิม" จากองค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่หลายท่านที่สูงสุดคือกษัตริย์ดาวิด (เทียบ อพย.30:22-32; 1ซมอ.16:13) แต่พระเยซูเป็นผู้ได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้าในลักษณะหนึ่งเดียวไม่มีผู้ใดมาเทียบเทียมสภาวะมนุษย์ ซึ่งพระบุตรทรงรับไว้นั้นได้ "รับการเจิมจากพระจิตเจ้า" โดยสิ้นเชิง พระเยซูได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "พระคริสต์" โดยพระจิต (เทียบ ลก.4:18-19; อสย.61:1) พระนางพรหมจารีมารีอาทรงตั้งครรภ์พระคริสต์แห่งพระจิต ผู้ทรงประกาศถึงพระเยซู -โดยอาศัยเทวทูต- ว่าทรงเป็นพระคริสต์นับตั้งแต่ทรงบังเกิด และทรงผลักดันท่านสิเมโอนให้มาที่พระวิหาร เพื่อพบพระคริสต์แห่งพระผู้เป็นเจ้า (เทียบลก.2:11,26-27) พระจิตเป็นผู้ทรงทำให้พระคริสต์เปี่ยมล้นไปด้วยพระจิต และพระอานุภาพของพระจิต ก็สำแดงออกมาจากพระคริสต์ในกิจการรักษาผู้ป่วยไข้ให้หาย และในการช่วยให้รอดของพระองค์ (เทียบ ลก.4:1; 6:19; 8:46) สุดท้าย พระจิตนั้นเองเป็นผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย (เทียบ รม.1:4; 8:11) ดังนั้น เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "พระคริสต์" อย่างเต็มที่แล้วในสภาวะมนุษย์ผู้พิชิตความตาย พระเยซูเจ้าก็ทรงกระจายพระจิตออกไปอย่างมากมายล้นเหลือถึงขั้นที่ "ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย" ในการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะมนุษย์แห่งพระบุตรของพระเจ้า   ก็ได้ประกอบกันขึ้นเป็น  "มนุษย์สมบูรณ์พร้อม... ซึ่งบรรลุถึงบูรณภาพแห่งพระคริสต์" (อฟ.4:13)คือ "เป็นองค์พระคริสต์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิง" ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน

696ไฟ ในขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์แห่งชีวิต ที่ได้รับการประทานมาในพระจิต ไฟก็เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในกิจการของพระจิต  ประกาศกเอลียาห์ ผู้ "ลุกขึ้นมาดังอัคคี และมีวาจาที่แผดเผาร้อนแรงดังคบเพลิง" อาศัยการภาวนาของท่านก็ได้ดึงดูดไฟจากฟ้าลงมาบนเครื่องบูชาแห่งภูเขาคาร์แมล (บสร.48:1; เทียบ 1พกษ.18:38-39) คือภาพลักษณ์แห่งไฟของพระจิต ซึ่งเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไฟนั้นได้สัมผัส ยอห์น บัปติสต์ "ผู้เดินอยู่หน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า" ด้วย "จิต" และพลานุภาพของประกาศกเอลียาห์ (ลก.1:17) ได้ประกาศถึงพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้ "จะโปรดศีลล้างบาปในพระจิตศักดิ์สิทธิ์และในไฟ" (ลก.3:16) พระจิตซึ่งพระเยซูจะตรัสถึง มีใจความว่า "เรามาเพื่อให้ไฟบังเกิดขึ้นบนแผ่นดิน และเราต้องการเพียงไรที่จะให้ไฟนั้นจุดขึ้นแล้ว" (ลก.12:49) ภายใต้รูปลิ้น ซึ่ง "เราจะเรียกได้ว่าทำด้วยไฟ" ที่พระจิตเสด็จมาประทับเหนือบรรดาสานุศิษย์ในเช้าวันพระจิตตาคม และทำให้สานุศิษย์เหล่านั้นเปี่ยมไปด้วยพระองค์ (กจ.2:3-4) ธรรมประเพณีฝ่ายจิตจะยังคงยึดสัญลักษณ์รูปไฟนี้ไว้ในสัญลักษณ์หนึ่งของการปฏิบัติงานของพระจิตเจ้า ที่แสดงออกอย่างมีความหมายที่สุด (เทียบ     น.ยอห์น แห่งไม้กางเขน The living Flame of Love) "อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า" (1ธส.5:19)

697เมฆและแสงสว่าง สัญลักษณ์สองแบบนี้แยกจากกันไม่ได้ ในการสำแดงพระองค์ของพระจิต นับตั้งแต่การสำแดงองค์ในพันธสัญญาเดิมแล้ว เมฆ ซึ่งบางครั้งก็มืดมน  บางครั้งก็มีแสงสว่าง  จะเผยแสดงพระเจ้าผู้ทรงชีวิตและช่วยให้รอด โดยกำบังลักษณะโพ้นธรรมชาติแห่งพระสิริโรจนาของพระองค์เอาไว้ กับโมเสสบนภูเขาซีนาย (เทียบ อพย.24:15-18) ณ กระโจมนัดพบ (เทียบ อพย.33:9-10) และระหว่างการเดินทางในทะเลทราย (เทียบ อพย.40:36-38; 1คร.10:1-2) กับกษัตริย์ซาโลมอนในวาระที่มีการมอบถวายพระวิหาร (เทียบ 1พกษ.8:10-12) ภาพลักษณ์เหล่านี้ พระคริสต์ทรงปฏิบัติสำเร็จไปในพระจิต เป็นพระจิตที่เสด็จมาเหนือพระนางพรหมจารีมารีอา และทรงรับนางไว้ "ใต้ร่มเงา" ของพระองค์ เพื่อให้นางตั้งครรภ์ และให้กำเนิดแก่พระเยซูกุมาร (ลก.1:35) บนภูเขาที่มีการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เป็นพระจิตที่เสด็จมาในก้อนเมฆที่ปกคลุมพระเยซู โมเสสและเอลียาห์ เปโตร ยากอบและยอห์น ไว้ "ใต้ร่มเงาของพระองค์" และมีพระสุรเสียงออกมาจากก้อนเมฆนั้นว่า "ผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด" (ลก.9:34-35)  สุดท้าย เมฆก้อนเดียวกันนี้เองที่ "ปกคลุมพระเยซูให้พ้นไปจากสายตา" ของบรรดาสานุศิษย์ในวันที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ (กจ.1:9) และซึ่งจะเผยแสดงพระองค์ผู้เป็นบุตรแห่งมนุษย์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมา

698ตราประทับ เป็นสัญลักษณ์ใกล้เคียงกับการเจิม พระคริสต์นั้นเองที่ "พระเจ้าได้ทรงประทับตรามอบอำนาจให้" (ยน.6:27) และในพระคริสต์นี้เองที่พระบิดาทรงประทับตราเราด้วย (2คร.1:22; อฟ.1:13; 4:30) เพราะตราประทับเป็นการบ่งบอกผลกระทบที่ลบออกไม่ได้แง่การเจิมของพระจิตในศีลล้างบาป  ศีลกำลัง และศีลอนุกรม ภาพประทับจึงถูกใช้ในบางประเพณีทางเทววิทยา เพื่อแสดงถึง "คุณลักษณะ" ที่ลบไม่ได้ ซึ่งประทับไว้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการนั้น ซึ่งไม่อาจจะกระทำซ้ำอีกได้

699มือ โดยการปกพระหัตถ์นั้นเอง ที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วย และประทานพรแก่เด็กเล็กๆ (เทียบ มก. 6:5; 8:23; 10:16) ในพระนามของพระองค์ อัครสาวกทั้งหลายก็จะกระทำเช่นเดียวกัน (เทียบ มก. 16:18; กจ.5:12; 14:3) ดียิ่งกว่านั้นอีก โดยการปกมือของบรรดาอัครสาวกนี้เอง ที่ทำให้คนทั้งหลายได้รับพระจิต (เทียบ กจ.8:17-19; 13:3; 19:6)     จดหมายถึงชาวฮีบรูจัดวางการปกมือไว้ในจำนวน "หลักพื้นฐาน" ในคำสั่งสอน (เทียบ ฮบ.6:2) หมายสำคัญในการกระจายพระจิตอันทรงสรรพานุภาพนี้ พระศาสนจักรได้รักษาไว้ในการภาวนาอัญเชิญพระจิตในเวลาโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ด้วย

700นิ้ว "ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้านั้นเอง ที่ (พระเยซู) ทรงขับไล่ปีศาจ" (ลก.11:20) หากว่าพระบัญญัติของพระเจ้าถูกจารึกไว้บนศิลา "ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า" (อพย.31:18) "หนังสือของพระคริสต์" ซึ่งมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของบรรดาอัครสาวกนั้น "เขียนด้วยพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต มิได้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แต่จารึกไว้บนดวงใจของมนุษย์ ดุจจารึกบนแผ่นศิลา" (2คร.3:3) บทขับร้อง "เชิญเสด็จมา พระจิตเจ้าข้า" เป็นการอัญเชิญพระจิตในฐานะ "นิ้วพระหัตถ์เบื้องขวาของพระบิดา"

701นกพิราบ ในตอนปลายของน้ำวินาศ (สัญลักษณ์นี้เกี่ยวกับศีลล้างบาป) นกพิราบซึ่งโนอาห์เป็นผู้ปล่อยไปได้กลับมาพร้อมด้วยกิ่งมะกอกสดคาบอยู่ในปาก เป็นสัญญาณว่าแผ่นดินอยู่ในสภาพที่พำนักอาศัยได้แล้ว (เทียบ ปฐก.8:8-12) เมื่อพระคริสต์เสด็จขึ้นจากน้ำที่ทรงรับพิธีล้าง พระจิตภายใต้รูปของนกพิราบ ได้เสด็จลงมาเหนือพระองค์และประทับอยู่ ณ ที่นั้น (เทียบ มธ.3:16 และนิทานเปรียบเทียบ) พระจิตเสด็จลงมา และประทับอยู่ในหัวใจที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วของผู้ได้รับศีลล้างบาป ในบางวัด แผ่นศีล-มหาสนิทจะเก็บสำรองไว้ในภาชนะทำด้วยโลหะเป็นรูปนกพิราบแขวนไว้เหนือพระแท่น     สัญลักษณ์นกพิราบที่บ่งบอกถึงพระจิตนี้ เป็นประเพณีนิยมที่ใช้กันอยู่ในศิลปะการสร้างรูปปั้นของคริสตศาสนา