หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. เหตุการณ์จากแง่ประวัติศาสตร์ และความสูงล้นพ้นธรรมชาติ

639ธรรมล้ำลึกแห่งการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์ เป็นเหตุการณ์จริงซึ่งมีการสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งถูกพิสูจน์เชิงประวัติศาสตร์ ดังที่พันธสัญญาใหม่ยืนยัน ประมาณปี ค.ศ. 56 นักบุญเปาโลก็สามารถเขียนถึงชาวโครินธ์ได้ว่า "ข้าพเจ้าได้มอบธรรมประเพณีสำคัญที่สุดให้แก่ท่าน เป็นธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้รับมาอีกทอดหนึ่ง คือพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์    และทรงปรากฏแก่เคฟาส แล้วจึงทรงปรากฏแก่อัครสาวกทั้งสิบสอง" (1คร.15:3-4) อัครสาวกเปาโลพูด ณ ที่นี้ ถึงธรรมประเพณีอันทรงชีวิตแห่งการคืนพระชนมชีพของพระคริสต์ ซึ่งเขาได้เรียนรู้หลังจากการกลับใจใกล้ประตูเมืองดามัสกัส (เทียบ กจ.9:3-18)

คูหาว่างเปล่า

640"ทำไมท่านทั้งหลายแสวงหาผู้เป็นท่ามกลางผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว" (ลก.24:5-6) ในกรอบแห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันปัสกานั้น ส่วนประกอบที่เราพบก็คือคูหาว่างเปล่า นี่ไม่ใช่ข้อพิสูจน์โดยตรงในตัวของมันเอง การไม่มีพระกายของพระคริสต์อยู่ในเคหา อาจจะอธิบายเป็นอย่างอื่นได้ (เทียบ ยน.20:13; มธ.28:11-15) อย่างไรก็ดี สำหรับทุกคน คูหาที่ว่างเปล่าก็เรียกได้ว่าเป็นเครื่องหมายสำคัญ การพบคูหาว่างเปล่าโดยพวกสานุศิษย์ เป็นก้าวแรกซึ่งนำไปสู่การยอมรับความจริงเรื่องการคืนชีพของพระคริสต์ แรกทีเดียว ก็มีกรณีสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาก็เปโตร "สานุศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก" (ยน.20:2) ยืนยันว่า เมื่อเข้าไปในคูหาที่ว่างเปล่า และพบ "ผ้าตราสังวางอยู่ที่ดิน" (ยน.20:6) "เขาได้เห็นและเชื่อ" (ยน.20:8) นี่หมายถึงว่าเขาได้ตระหนักในสภาพของคูหาที่ว่างเปล่า ว่าการที่พระกายของพระเยซูมิได้อยู่ในนั้นแล้ว จะเป็นผลงานของมนุษย์ย่อมเป็นไปไม่ได้ และพระเยซูก็มิได้ทรงกลับคืนสู่ชีวิตบนแผ่นดินอย่างธรรมดาๆ เหมือนในกรณีของลาซารัสแต่อย่างใด (เทียบ ยน.11:44; 20:5-7)

การปรากฏองค์ของพระเยซูเมื่อฟื้นคืนพระชนมชีพแล้ว

641มารีย์ ชาวมักดาลา และสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายคนที่มาเพื่อจะอบร่ำพระกายของพระเยซูให้เสร็จเรียบร้อย เนื่องจากว่าพระศพได้ถูกนำไปฝังอย่างรีบด่วนในค่ำวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะวันสับบาโตกำลังจะมาถึงแล้ว เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้พบองค์พระผู้ทรงคืนพระชนมชีพ     (มก.16:1; ลก.24:1; ยน.19:31,42) ดังนั้น สตรีเหล่านี้จึงเป็นผู้สื่อข่าวการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์เป็นพวกแรกแก่บรรดาอัครสาวกเอง (ลก.24:9-10) ต่อมา พระเยซูเจ้าจึงทรงปรากฏพระองค์ต่ออัครสาวก เริ่มด้วยเปโตร ต่อมาก็อัครสาวกคนอื่นๆ  เปโตรเมื่อถูกเรียกมาให้ยืนยันความเชื่อของบรรดาพี่น้อง (เทียบ 1คร.15:5; ลก.22:31-32)  จึงเป็นบุคคลที่ได้เห็นพระคริสต์เมื่อคืนชีพแล้วก่อนคนอื่นๆ และจากการเป็นประจักษ์พยานของเปโตรนี้เอง ที่ชุมชนชาวคริสต์พากันร้องว่า "องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และได้ทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน" (ลก.24:34)

642ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเหล่านี้ ระหว่างปัสกา เป็นการผูกพันอัครสาวกแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปโตร ในการสรรค์สร้างยุคใหม่ซึ่งได้เริ่มขึ้นในเช้าวันปัสกา ในฐานะองค์พยานแห่งพระผู้ทรงฟื้นคืนพระชนมชีพ พวกเขาคือศิลาพื้นฐานแห่งพระศาสนจักรของพระองค์ ความเชื่อของชุมชนผู้มีความเชื่อกลุ่มแรก มีรากฐานอยู่ที่การเป็นประจักษ์พยานของมนุษย์ในเชิงรูปธรรม เป็นคนที่ชาวคริสต์ทั้งหลายรู้จัก และส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา "ประจักษ์พยานแห่งการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์" เหล่านี้   ก่อนอื่น ก็มีเปโตรและคณะอัครสาวก แต่มิได้มีแต่พวกเขาเท่านั้น  เปาโลพูดอย่างชัดเจนถึงบุคคลกว่า 500 คน  ที่พระเยซูเจ้าได้ปรากฏพระองค์ต่อพวกเขาในครั้งเดียวนอกเหนือไปจากยากอบและอัครสาวกทั้งปวง (1คร.15:4-8; เทียบ กจ.1:22)

643ต่อหน้าประจักษ์พยานเหล่านี้   เป็นไปไม่ได้ที่จะตีความการคืนชีพของพระคริสต์ออกไปนอกระเบียบเชิงกายภาพ และไม่ยอมรับรองในฐานะเป็นความจริงในเชิงประวัติศาสตร์ ผลจากเหตุการณ์เหล่านี้ก็คือว่า ความเชื่อของบรรดาสานุศิษย์ต้องผ่านการทดสอบอย่างรุนแรงจากมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ซึ่งพระองค์ได้เคยประกาศให้ทราบล่วงหน้าไว้แล้ว (เทียบ ลก.22:31-32) ความสะเทือนใจอันเกิดจากมหาทรมานของพระคริสต์ครั้งนั้น รุนแรงถึงขนาดที่พวกสานุศิษย์ (อย่างน้อยก็บางคนในหมู่พวกเขา) ไม่เชื่อในทันทีที่ได้ข่าวการฟื้นคืนชีพของพระองค์ แทนที่จะชี้ให้เราเห็นชุมชนที่ตื่นเต้นลิงโลดในใจอย่างที่มนุษย์อธิบายไม่ได้ พระวรสารกลับบรรยายให้เราเห็นสานุศิษย์ทั้งหลายในสภาพหดหู่ (ใบหน้าเศร้าหมอง ลก.24:17) และประหวั่นพรั่นพรึง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่เชื่อเหล่าสตรีศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่งกลับจากคูหาฝังพระศพ และสิ่งที่พวกเธอพูดกันนั้นพวกเขาถือว่าเป็น "เรื่องเหลวไหล" (ลก.24:11)  เมื่อพระเยซูเจ้าปรากฏพระองค์ต่ออัครสาวก 11คนในค่ำวันปัสกา "พระองค์ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อ มีใจแข็งกระด้าง เพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่ได้แลเห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว" (มก.16:14)

644แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าความจริงที่ว่าพระเยซูได้ทรงฟื้นคืนพระชนมชีพแล้ว พวกสานุศิษย์ก็ยังสงสัยอยู่อีก ความที่ -สำหรับพวกเขา- ดูเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ พวกเขาคิดว่าเห็นผี "เขามีความยินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ" (ลก.24:41) โทมัสก็จะต้องผ่านการทดสอบในเรื่องความสงสัยเช่นกัน และตามที่นักบุญมัทธิวเล่าไว้ ในการปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้ายในกาลิลีนั้น "บางคนยังสงสัยอยู่" (มธ.28:17) ด้วยเหตุนี้ สมมุติฐานที่ว่าการคืนชีพของพระคริสต์คงจะเป็น "ผลผลิต" จากความเชื่อ (หรือความไม่เชื่อ) ของบรรดาอัครสาวก จึงไร้เสียซึ่งความหนักแน่นมั่นคง ตรงข้าม ความเชื่อของพวกเขาในเรื่องการคืนชีพของพระคริสต์นั้น เกิดจากประสบการณ์โดยตรงที่ได้รับจากความเป็นจริงที่ว่าพระเยซูได้ฟื้นคืนพระชนม์แล้ว ทั้งนี้ ภายใต้การทำงานของพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า

สภาวะมนุษย์ที่คืนพระชนมชีพแล้วของพระคริสต์

645พระเยซูเจ้า -เมื่อทรงฟื้นคืนพระชนมชีพแล้ว- ก็ได้ทรงติดต่อสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ โดยอาศัยการสัมผัสและการรับประทานอาหารร่วมกัน พระองค์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาโดยวิธีนี้ให้ยอมรับว่าพระองค์ไม่ใช่ผี แต่โดยเฉพาะให้พวกเขาตระหนักว่าพระกายที่คืนชีพ ซึ่งพระองค์นำมาแสดงให้ปรากฏแก่พวกเขานี้เป็นพระกายเดียวกับที่ได้ถูกทรมาน และถูกตรึงกางเขน เพราะพระกายยังมีร่องรอยแห่งมหาทรมานของพระองค์ปรากฏอยู่ (เทียบ ลก.24:30;39-40,41-43; ยน.20:20,27; 21:9,13-15) พระกายแท้และจริงพระกายนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีคุณสมบัติใหม่ๆ ของกายที่เปี่ยมด้วยสิริโรจนาการอยู่ด้วย ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ไม่ตั้งอยู่ในกาลเวลา  และสถานที่ใดแล้ว  แต่สามารถจะปรากฏองค์ตามแต่จะพอพระทัย ณ ที่ใด และเมื่อใดได้ตามแต่จะทรงปรารถนา เนื่องจากสภาวะการเป็นมนุษย์ของพระองค์ ไม่อาจจะเหนี่ยวรั้งไว้บนแผ่นดินได้ต่อไปแล้ว และเป็นสมบัติของอาณาจักรพระเจ้าคือพระบิดา (เทียบ มธ.28:9,16-17; ลก.24:15,36; ยน.20:14,17,19,26; 21:4) ด้วยเหตุผลอันนี้เช่นเดียวกัน พระเยซูเมื่อทรงคืนพระชนมชีพแล้ว จึงมีเสรีภาพสูงสุดที่จะปรากฏพระองค์ตามแต่จะทรงมีพระประสงค์ ภายใต้สภาพของคนทำสวน หรือภายใต้รูปอื่นๆ ที่ไม่ใช่สภาพ ซึ่งบรรดาสานุศิษย์คุ้นเคยอยู่ ทั้งนี้ ก็เพื่อจุดความเชื่อให้เกิดขึ้นในใจของพวกเขานั่นเอง (เทียบ มก.16:12; ยน.20:14-16; 21:4,7)

646การฟื้นคืนพระชนมชีพของพระคริสต์   มิใช่เป็นการกลับคืนชีพสู่ชีวิตบนแผ่นดิน ดังเช่นในกรณีที่พระองค์ทรงกระทำอัศจรรย์ให้มีการคืนชีพขึ้นมาก่อนปัสกา อาทิ บุตรสาวของไยรัส ชายหนุ่มที่นาอินและลาซารัส เหตุการณ์เหล่านี้เป็นอัศจรรย์ แต่บุคคลที่ได้รับการทำอัศจรรย์โดยอาศัยพระอำนาจของพระเยซู จะกลับมีชีวิตอยู่บนแผ่นดิน "ตามปกติ" เมื่อถึงเวลาขณะใดขณะหนึ่ง เขาก็จะตายอีกครั้งหนึ่ง การคืนชีพของพระคริสต์เป็นเรื่องแตกต่างไปจากกรณีใดๆ ทั้งหมด ในพระกายที่คืนชีพแล้ว  พระองค์ทรงผ่านจากสภาพมรณาไปสู่อีกชีวิตหนึ่งโพ้นกาลเวลาและสถานที่ในการฟื้นคืนชีพ พระกายของพระเยซูเปี่ยมไปด้วยฤทธานุภาพของพระจิต พระองค์มีส่วนร่วมในชีวิตพระเจ้า ในสภาวะอันรุ่งโรจนาของพระองค์ ถึงขนาดที่นักบุญเปาโลพูดถึงพระคริสต์ได้ว่า พระองค์คือ "มนุษย์สวรรค์" (เทียบ 1คร.15:35-50)

การคืนพระชนมชีพของพระคริสต์ในฐานะเป็นเหตุการณ์โพ้นธรรมชาติ

647บท Exsultet ในวันปัสกา  ขับร้องว่า  "โอ ราตรีกาล สูเจ้าเท่านั้นที่ได้รู้ถึงชั่วขณะที่พระคริสต์ได้เสด็จอย่างทรงชีวิตออกมาจากแดนมรณา" จริงแท้ หามีบุคคลใดไม่ที่ได้รู้เห็นเป็นพยานกับตาถึงเหตุการณ์ในตอนที่ทรงคืนชีพนั้น และผู้เขียนพระวรสารคนใดก็มิได้บรรยายไว้เลย ไม่มีผู้ใดที่จะบอกได้ว่าการคืนชีพนั้นดำเนินไปอย่างไรในเชิงกายภาพ ยิ่งสารัตถะสำคัญในส่วนที่ลึกซึ้งที่สุด การผ่านไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง ยิ่งเป็นที่สำเนียกด้วยประสาทสัมผัสได้น้อยมาก แม้ว่าการฟื้นคืนชีพของพระคริสต์จะเป็นเหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งตระหนักได้ด้วยหมายสำคัญคือคูหาที่ว่างเปล่า และด้วยความเป็นจริง  คือการที่อัครสาวกทั้งหลายได้พบกับพระคริสต์ซึ่งฟื้นคืนชีพแล้วก็ตามที แต่ก็ยังคงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ตรงใจกลางของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ตรงที่เป็นเรื่องสูงส่ง อยู่เหนือโพ้นประวัติศาสตร์ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ พระคริสต์ซึ่งฟื้นคืนชีพแล้ว จึงไม่สำแดงพระองค์ต่อโลก แต่สำแดงพระองค์แก่บรรดาสานุศิษย์ "แก่ผู้ที่เดินทางจากแคว้นกาลิลีมายังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ และบัดนี้เขาทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ต่อหน้าประชาชน" (กจ.13:31)