หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระคริสตเจ้าได้ทรงถวายพระองค์เองแด่พระบิดา เพื่อไถ่บาปของเรา

ชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้าเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระบิดา

606พระบุตรของพระเจ้า ผู้เสด็จมาจากสวรรค์ "มิใช่เพื่อทำตามน้ำใจของเรา แต่เพื่อทำตามน้ำพระทัยของผู้ทรงใช้เรามา" (ยน.6:38) "ดังนั้น เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาในโลกจึงตรัสว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ และโดยพระประสงค์นี้เองที่เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นเครื่องบูชาที่พระเยซูคริสต-เจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป" (ฮบ.10:5-10) นับแต่ชั่วขณะแรกแห่งการรับธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ พระบุตรได้ทรงร่วมในแผนการช่วยให้รอดของพระเจ้า ในพันธกิจการไถ่กู้ของพระองค์ "อาหารของเราคือการทำตามน้ำพระทัยของผู้ที่ทรงใช้เรามา และกระทำภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จ" (ยน.4:34) การเสียสละของพระเยซู "เพื่อชดเชยบาปของมนุษย์ทั้งโลกด้วย" (1ยน.2:2) เป็นการแสดงออกถึงความรักที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา "พระบิดาจึงทรงรักเราเพราะยอมพลีชีวิตของเรา" (ยน.10:17) "โลกจะต้องรู้ว่าเรารักพระบิดา และทำตามที่พระองค์ทรงแสดงน้ำพระทัยแก่เรา" (ยน.14:31)

607ความปรารถนาที่จะร่วมในแผนการแห่งความรักเพื่อไถ่กู้มนุษย์ของพระบิดา สร้างความกระตือรือร้นให้แก่ชีวิตทั้งชีวิตของพระเยซู (เทียบ ลก.12:50; 22:15; มธ.16:21-23)  เนื่องจากว่าการรับทรมานเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ก็คือเหตุผลที่ทำให้พระองค์เสด็จมารับเอากายเป็นมนุษย์ "พระบิดาเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานั้นเถิด แต่ที่จริง เราก็ได้มาเพื่อชั่วโมงนั้น" (ยน.12:27) "เราจะไม่ดื่มกาลิกษ์ที่พระบิดาทรงมอบให้หรือ?" (ยน.18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่ "ทุกสิ่งสำเร็จแล้ว" (ยน.19:30) พระองค์ตรัสว่า "เรากระหาย!" (ยน.19:28)

ลูกแกะผู้ยกบาปของโลก

608หลังจากได้ยอมรับที่จะให้พิธีล้างแก่พระเยซูตามแบบของคนบาปทั้งหลาย นักบุญยอห์น บัปติสต์ ได้มองเห็นและได้ชี้ให้เห็นการเป็น "พระชุมพาน้อยของพระเป็นเจ้า ผู้ยกบาปของโลก" (ยน.1:29) ในองค์พระเยซู นักบุญยอห์นได้แสดงให้เห็นด้วยประการฉะนี้ว่า พระเยซูเป็นทั้งผู้รับใช้ซึ่งทนทุกข์ทรมานอยู่ และปล่อยให้เขานำไปสู่โรงฆ่าสัตว์โดยไม่ปริปาก (อสย. 53:7) รวมทั้งต้องรับแบกบาปของปวงชนทั้งมวล และยังเป็นลูกแกะปัสกา สัญลักษณ์แห่งการไถ่กู้ชาติอิสราเอลอีกด้วยในปัสกาครั้งแรก (อพย.12:3-14) ชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้าเป็นการแสดงให้เห็นพันธกิจของพระองค์ "รับใช้ผู้อื่นและมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์" (มก.10:45)

พระเยซูเจ้าทรงร่วมมีส่วนโดยเสรี ในความรักที่ไถ่กู้ของพระบิดา

609ในการทรงรับที่จะเข้าร่วมในความรักของพระบิดาต่อมนุษย์ ในพระหฤทัยมนุษย์ของพระองค์ พระเยซูเจ้า "ได้ทรงรักพวกเขาจนถึงที่สุด" (ยน.13:1) "เนื่องจากว่าไม่มีความรักใดใหญ่หลวงกว่าการพลีชีพของตนเพื่อมิตรสหาย" (ยน.15:13)   ดังนั้น ในการทรงรับทรมานและในการสิ้นพระชนม์ สภาวะมนุษย์ของพระองค์ได้กลายเป็นเครื่องมือที่อิสระและสมบูรณ์พร้อมแห่งความรักของพระเจ้า ที่ปรารถนาจะช่วยมนุษย์ให้รอด (เทียบ ฮบ.2:10,17-18; 4:15; 5:7-9) จริงแท้ พระองค์ได้ทรงยอมรับทรมานและความตายอย่างอิสระ เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งพระบิดามีพระประสงค์จะช่วยให้รอด "ไม่มีใครสามารถชิงชีวิตนั้นไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจถวายชีวิตนั้น" (ยน.10:18)นี่คือเสรีภาพสูงสุดแห่งพระบุตรของพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จสู่การสิ้นพระชนม์ด้วยพระองค์เอง

ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าได้ทรงคาดหมายล่วงหน้าถึงการถวายชีวิตอย่างอิสระของพระองค์

610พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงการถวายองค์อย่างอิสระของพระองค์เอง อย่างสูงสุดเป็นครั้งสุดท้าย ในการเลี้ยงอาหารร่วมกับสาวกทั้ง 12 คน "ในคืนที่ทรงถูกทรยศนั้นเอง" (1คร.11:23) คือก่อนจะรับทรมาน ขณะที่ยังทรงเป็นอิสระอยู่ พระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้การเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายนั้น เป็นอนุสรณ์แห่งการถวายองค์โดยสมัครพระทัยแด่พระบิดา เพื่อความรอดของมนุษย์ทั้งหลาย "นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย" (ลก.22:19) "นี่คือโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญา ที่หลั่งออกมาสำหรับคนจำนวนมาก" (มธ.26:28)

611ศีลมหาสนิทซึ่งพระคริสตเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นในขณะนั้น   จะเป็น "อนุสรณ์" (1คร.11:25) แห่งการเสียสละของพระองค์ พระเยซูเจ้าได้ทรงรวมอัครสาวกทั้งหลายไว้ในการถวายพระองค์เองครั้งนั้น และได้ทรงขอร้องให้พวกเขากระทำดังนี้สืบต่อไปด้วย (เทียบ ลก.22:19)  โดยวิธีนี้ พระเยซูเจ้าได้ทรงแต่งตั้งอัครสาวกให้เป็นสงฆ์แห่งพันธสัญญาใหม่ "และข้าพเจ้าขอพลีตัวเพื่อพวกเขา ให้เขาศักดิ์สิทธิ์ไปในความสัตย์จริง" (ยน.17:19)

การเข้าตรีทูต ณ สวนเกทเสมนี

612ถ้วยแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งพระเยซูเจ้าได้คาดหมายไว้ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายในการถวายพระองค์เองนั้น    พระองค์ได้ทรงยอมรับต่อมาจากพระหัตถ์ของพระบิดาในการเข้าตรีทูตของพระองค์ที่สวนเกทเสมนี (เทียบ มธ.26:42; ลก.22:20) โดยทรง "ยอมรับแม้ความตาย" (ฟป.2:8 เทียบ ฮบ.5:7-8) พระเยซูเจ้าทรงภาวนาว่า "พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด..." (มธ.26:39) พระองค์ทรงสำแดงดังนี้ ถึงความน่าสยดสยอง ซึ่งความตายเป็นตัวแทนอยู่ สำหรับธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ จริงแท้ธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์เช่นเดียวกับของเรา ได้รับการกำหนดมาให้มีชีวิตนิรันดรยิ่งกว่านั้น ต่างจากของเรา ธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ยังพ้นโดยสิ้นเชิงจากบาป ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความตาย (เทียบ รม.5:12, ฮบ.4:15) แต่โดยเฉพาะธรรมชาติมนุษย์นี้ได้ถูกครอบครองโดยพระบุคคล ซึ่งเป็นพระเจ้าของ "เจ้าชีวิต" (กจ.3:15) "องค์พระผู้ทรงชีวิต" (วว.1:17) ในการยอมรับไว้ในเจตจำนงแบบมนุษย์ของพระองค์ ให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระบิดา พระองค์ก็ทรงยอมรับความตายของพระองค์ในฐานะที่เป็นค่าไถ่บาปมนุษย์ เพื่อ "แบกบาปของเราไว้ในพระวรกายบนไม้กางเขน" (1ปต.2:24)

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า  เป็นการเสียสละที่หาอีกไม่ได้แล้วอย่างเด็ดขาด

613การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้านั้น เป็นทั้งเครื่องบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษย์สำเร็จไปอย่างเด็ดขาด โดย "พระชุมพาน้อยของพระเป็นเจ้า ผู้ยกบาปของโลก" (ยน.1:29) และเครื่องบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์ได้คืนสู่การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า โดยให้มนุษย์ได้คืนดีกับพระองค์ โดยอาศัย "โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาสำหรับคนจำนวนมาก" (มธ.26:28)

614การเสียสละของพระคริสต์ครั้งนี้มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว สำเร็จไปและสูงส่งเหนือการเสียสละใดๆ ทั้งสิ้น (เทียบ ฮบ.10:10) ก่อนอื่น เป็นของประทานจากพระเจ้า พระบิดาของพระองค์เอง เป็นพระบิดาที่ทรงมอบพระบุตรของพระองค์ลงมา เพื่อให้เราได้กลับคืนดีกับพระองค์ ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการถวายตัวของพระบุตรพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างอิสระเสรีและด้วยความรัก  ได้ถวายชีวิตของพระองค์แด่พระบิดา  โดยอาศัยพระจิต  เพื่อชดเชยการไม่นบนอบเชื่อฟังของเรา (เทียบ ยน.10:17-18; 15:13; ฮบ.9:14; 1ยน.4:10)

พระเยซูเจ้าทรงทดแทนการไม่นบนอบเชื่อฟังของเรา ด้วยการนอบน้อมเชื่อฟังของพระองค์

615"มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาปเพราะความไม่เชื่อฟังของคนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของคนเดียวฉันนั้น" (รม.5:19) อาศัยการนบนอบเชื่อฟังจนถึงมรณา พระเยซูเจ้าได้ทรงบรรลุความสำเร็จในการเป็นตัวแทนผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่ง "ถวายชีวิตของตนเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป" "ในขณะที่พระองค์ทรงแบกบาปของคนเป็นจำนวนมาก" "ซึ่งพระองค์ทรงกระทำให้เป็นผู้ชอบธรรม โดยทรงรับแบกความบาปผิดของเขาทั้งหลาย" (อสย.53:10-12) พระเยซูเจ้าก็ได้ทรงชดเชยความผิดของเราทั้งหลาย รวมทั้งความบาปของเราด้วย และทรงทำให้พระบิดาพอพระทัยด้วยประการฉะนี้

บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงทำให้การเสียสละของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์

616"การรักเขาจนวาระสุดท้าย" (ยน.13:1) นี้เอง ที่ให้คุณค่าแก่การไถ่กู้และการชดเชยการใช้โทษบาป และความพึงพอใจต่อการเสียสละของพระคริสตเจ้า พระองค์ได้ทรงรู้จักและรักเราทุกคนในการถวายชีวิตของพระองค์ (เทียบ กท.2:20; อฟ.5:2,25) "ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเราอยู่ เราแน่ใจว่า ถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าเราทุกคนได้ตายด้วย" (2คร.5:14) ไม่มีมนุษย์คนใดเลยไม่ว่าจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ที่จะสามารถถึงขนาดรับบาปของมนุษย์ทุกคนมาใส่ตน และถวายตนเป็นเครื่องบูชาสำหรับมนุษย์ทั้งปวง การสถิตอยู่ในพระคริสต์ของพระบุคคลซึ่งเป็นพระเจ้า คือองค์พระบุตร ซึ่งอยู่สูงโพ้นและในเวลาเดียวกัน ก็ครอบคลุมบุคคลที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง และทำให้พระองค์ทรงเป็น "ศีรษะ" และหัวหน้าของมนุษยชาติทั้งมวลนั้น ทำให้การเสียสละของพระองค์เพื่อไถ่กู้มนุษย์ทั้งปวง เป็นสิ่งเป็นไปได้

617สภาสังคายนาแห่งเตรนท์ เน้นลักษณะหนึ่งเดียวที่หาใครมาเสมอเหมือนมิได้ แห่งบูชาของพระคริสตเจ้า ว่าเป็น "ผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดร" (ฮบ.5:9)  และสอนว่า "อาศัยมหา-ทรมานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์บนไม้กางเขน พระองค์ก็ได้ทรงทำให้เราเป็นผู้ชอบธรรม" (DS 1529) พระศาสนจักรก็แสดงความเคารพต่อมหากางเขน โดยขับร้องว่า "ขอแสดงความเคารพ โอ้ไม้กางเขน ความหวังหนึ่งเดียวของเรา"

การมีส่วนร่วมของเราในบูชาของพระคริสตเจ้า

618ไม้กางเขนคือศีลบูชาหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า "ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ก็มีคนกลางแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่ง" (1ทธ.2:5) แต่เพราะว่า ในพระบุคคลซึ่งเป็นพระเจ้าที่ทรงรับเอากายมนุษย์นั้น เรียกได้ว่า "พระองค์ได้ทรงร่วมพระองค์เองเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์แล้ว" พระองค์จึง "ทรงเสนอต่อมนุษย์ทุกคน -ในลักษณะที่พระเจ้าทรงทราบ- ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกแห่งปัสกา" (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 22.5 เทียบ 22.2) พระองค์ทรงเรียกสานุศิษย์ทั้งหลายของพระองค์ให้ "แบกกางเขนของตน และติดตามเรา" (มธ.16:24) เนื่องจากว่า "พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานเพื่อท่าน และประทานแบบฉบับไว้ให้ท่านดำเนินตามรอยพระยุคลบาท" (1ปต.2:21) พระองค์มีพระประสงค์อย่างแท้จริงที่จะให้บุคคลแรกๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการนี้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสียสละของพระองค์ เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ (เทียบ มก.10:39; ยน.21:18-19; คส.1:24) และพระประสงค์อันนี้ก็สำเร็จไปอย่างสูงส่งในองค์พระมารดาของพระองค์ ซึ่งมีส่วนร่วมอยู่อย่างใกล้ชิดกว่าใครอื่นในธรรมล้ำลึกแห่งการรับทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษย์ของพระองค์ (เทียบ ลก.2:35)

นอกทางแห่งกางเขนไม่มีหนทางอื่นที่จะขึ้นสวรรค์ได้เลย (น.โรส แห่งลีมา)