หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ย่อหน้าที่ 2พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์

1. คดีพระเยซูเจ้า

การแตกแยกในหมู่ผู้มีอำนาจชาวยิวเกี่ยวกับเรื่องพระเยซูเจ้า

595ในบรรดาผู้มีอำนาจทางศาสนาในกรุงเยรูซาเล็ม มิเพียงแต่จะมีชาวฟาริสีชื่อนิโคเดมัส  หรือโยเซฟแห่งอาริมาเธีย ผู้มีฐานะสูงในสังคม ที่แอบมาเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูเจ้าอย่างลับๆ แต่ปรากฏว่าได้มีการแตกแยกทางความคิดเป็นเวลานานมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องพระเยซู ถึงขนาดที่วันก่อนมหาทรมานนั้นเอง นักบุญยอห์นสามารถพูดถึงคนเหล่านี้ว่า "มีหลายคนที่เชื่อในพระองค์" แม้ว่าจะเป็นไปในลักษณะที่ไม่สมบูรณ์อย่างยิ่ง (ยน.12:42)  นี่มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ หากเราคำนึงถึงว่ารุ่งขึ้นจากวันพระจิตตาคมนั้นเอง "บรรดาสมณะหลายคนยอมรับความเชื่อด้วย" (กจ.6:7) และ "ผู้มีความเชื่อบางคนเคยอยู่ในกลุ่มชาวฟาริสี" (กจ.15:5) ถึงขนาดที่นักบุญยากอบสามารถบอกกับนักบุญเปาโลได้ว่า "ชาวยิวนับพัน-   นับหมื่นคนมีความเชื่อ และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด" (กจ.21:20)

596ผู้มีอำนาจทางศาสนาในกรุงเยรูซาเล็มมิได้มีความเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะมีท่าทีปฏิบัติอย่างไรกับพระเยซู (เทียบ ยน.9:16; 10:19) พวกฟาริสีได้ขู่ว่าผู้ใดติดตามพระเยซูจะถูกขับออกจากศาสนา (เทียบ ยน.9:22) สำหรับผู้ที่เกรงว่า "ทุกคนจะเชื่อเขา และพวกโรมันจะมาทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และชาติของเรา" (ยน.11:48) มหาปุโรหิตคายาฟาสก็เสนอคำพยากรณ์ว่า "เป็นประโยชน์ของท่านที่ให้คนหนึ่งตายแทนประชาชนทั้งมวล ดีกว่าที่จะเห็นทั้งชาติต้องพินาศ" (ยน.11:49-50) สภาสูงของชาวยิว เมื่อได้ประกาศว่าพระเยซู "สมควรต้องตาย"    (มธ.26:66) ในฐานที่บังอาจดูหมิ่นประมาทพระเจ้า แต่ในเมื่อตนไม่มีสิทธิ์จะประหารชีวิตผู้ใด ก็มอบพระองค์ให้ชาวโรมันไปโดยกล่าวโทษพระองค์เองว่า  ก่อการกระด้างกระเดื่องทางการเมือง ซึ่งจะทำให้พระองค์อยู่ในฐานะเดียวกับบารับบัส ซึ่งถูกกล่าวหาว่า "ก่อการจลาจล" (ลก.23:19) นี่ยังเป็นการคุกคามทางการเมือง ซึ่งพวกมหาปุโรหิตใช้กับปีลาต เพื่อให้เขาตัดสินประหารพระเยซูอีกด้วย (เทียบ ยน.19:12,15,21)

ชาวยิวมิได้เป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าโดยส่วนรวม

597เมื่อคำนึงถึงความสลับซับซ้อนในเชิงประวัติศาสตร์ของการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้า ที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ที่เล่าไว้ในพระวรสาร และไม่ว่าบาปส่วนบุคคลของผู้ที่มีบทบาทแสดงอยู่ในการดำเนินคดีนี้ (ยูดาส สภาสูงของชาวยิว ปีลาต) จะเป็นเช่นไร ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบ เราก็ไม่อาจจะโยนความรับผิดชอบไปให้แก่ชาวยิวทั้งหมดในกรุงเยรูซาเล็มได้ แม้ว่าฝูงชนจะตะโกนโห่ร้อง (ให้ปล่อยบารับบัส และตรึงกางเขนพระเยซู) ซึ่งเป็นการปลุกปั่นยุยงให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น   รวมทั้งการที่เปโตรกล่าวคำตัดพ้อชาวยิวในการเรียกร้องให้กลับใจ หลังวันที่พระจิตเสด็จลงมาก็ตามที พระเยซูเจ้าพระองค์เอง ในการประทานอภัยบนไม้กางเขน และเปโตรซึ่งปฏิบัติตามพระองค์ ก็ได้ให้สิทธิชอบธรรมแก่ "การกระทำไปเพราะไม่รู้" (กจ.3:17) ของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม และแม้กระทั่งพวกหัวหน้าของเขาด้วย (เทียบ ลก.23:34; กจ.3:17) เรายิ่งไม่อาจหนักขึ้นอีก ที่จะขยายความรับผิดชอบอันนี้ออกไปยังชาวยิวคนอื่นๆ   ไม่ว่าในกาละและในเทศะใด แม้ว่าประชาชนจะร้องตะโกนว่า "ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด" (มธ.27:25) ซึ่งมีความหมายไปในเชิงเป็นถ้อยคำที่ใช้ในการทำสัตยาบันก็ตามที (เทียบ กจ.5:28;18:6)

ดังนั้น พระศาสนจักรจึงได้ประกาศในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ว่า "สิ่งใดที่ได้กระทำไประหว่างมหาทรมาน ไม่อาจจะถือว่าเป็นความผิดพอๆ กัน ทั้งของชาวยิวทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนนั้น และชาวยิวในยุคสมัยของเรา... ชาวยิวทั้งหลายไม่ควรจะถูกเสนอว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงทอดทิ้งแล้วหรือถูกสาปแช่ง ยังกับว่านี่เป็นสิ่งที่มาจากพระธรรมคัมภีร์" (NA 4)

คนบาปทุกคนคือต้นเหตุแห่งมหาทรมานของพระคริสตเจ้า

598พระศาสนจักร ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งสอนหลักความเชื่อ และในการเป็นประจักษ์พยานของนักบุญทั้งหลายในพระศาสนจักร ไม่เคยลืมเลยว่า "คนบาปนั้นเองเป็นผู้ก่อ และเป็นเสมือนเครื่องมือให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งหมด ซึ่งองค์พระผู้ไถ่ต้องทนรับไว้นั้น" (คำสอนโรมัน I,5,11 เทียบ ฮบ.12:3) เมื่อคำนึงถึงความจริงที่ว่าบาปของเราเองก็ได้ทำร้ายพระคริสตเจ้าเช่นกัน (เทียบ มธ.25:45; กจ.9:4-5) พระศาสนจักรก็มิได้ลังเลที่จะลงความเห็นว่า คริสตชนก็ต้องรับผิดชอบด้วยอย่างหนัก ในการรับทรมานของพระเยซู เป็นความรับผิดชอบซึ่งชาวคริสต์มักจะทับถมลงไปให้ชาวยิวเป็นผู้รับไว้แต่ฝ่ายเดียว

เราจะต้องถือว่าผู้ใดก็ตามที่ตกในบาปซ้ำซากอยู่ตลอดไป  ย่อมเป็นผู้ผิดในโทษอันน่าสะพรึงกลัวนั้นด้วย ในเมื่ออาชญากรรมของตัวเราเองเป็นเหตุให้พระเยซูคริสต์ผู้เป็นเจ้าต้องทนรับทรมานบนไม้กางเขน เป็นของแน่ว่าผู้ที่จมตนเองลงไปในความยุ่งเหยิงและในความชั่ว ย่อมเท่ากับว่าตัวเขาเอง "ได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้าในใจตนเอง -ในเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในตัวเขา- ด้วยบาปของตัวเขาเอง และทำให้พระองค์ต้องอับอาย" (เทียบ ฮบ.6:6) และจะต้องยอมรับด้วยว่า อาชญากรรมของเราในกรณีนี้นั้น นับว่าหนักกว่าของชาวยิว เนื่องจากว่า -จากการเป็นพยานของอัครสาวกเปาโล- "ไม่มีผู้ปกครองโลกนี้ผู้ใดล่วงรู้พระปรีชาญาณนี้ เพราะถ้าเขารู้ เขาคงไม่ตรึงกางเขนองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์" (1คร.2:8) เราสิ ตรงกันข้าม เราประกาศยืนยันว่ารู้จักพระองค์ ดังนั้น เมื่อเราปฏิเสธพระองค์ด้วยการกระทำของเรา ก็เท่ากับมือของเรามีส่วนในการฆาตกรรมพระองค์ครั้งนั้นด้วย (คำสอนโรมัน I,5,11 เทียบ ฮบ.6:6; 1คร.2:8)

ส่วนปีศาจทั้งหลาย ไม่ใช่พวกมันหรอกที่ได้ตรึงพระองค์ เป็นตัวเจ้าเองที่ร่วมกับพวกมันตรึงกางเขนพระองค์ และยังตรึงกางเขนพระองค์อยู่จนทุกวันนี้ โดยยังลิ้มรสสำเริงสำราญอยู่กับความชั่วและบาปทั้งหลาย (น.ฟรังซิส อัสซีซี Admonitio 5,3)