หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. พระเยซูเจ้าและความเชื่อของชาวอิสราเอลในพระเจ้าหนึ่งเดียว

และพระผู้ช่วยให้รอด

587แม้ว่าธรรมบัญญัติและวิหารกรุงเยรูซาเล็ม อาจจะเป็นโอกาสให้เกิด "ความขัดแย้ง" ขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเยซู สำหรับผู้มีอำนาจทางศาสนาของอิสราเอลก็ตามที แต่บทบาทของพระองค์ในการไถ่กู้ให้พ้นจากบาป อันเป็นกิจการของพระเจ้าในระดับเลอเลิศนี้เอง ที่เป็นประดุจก้อนศิลาที่ทำให้สะดุดอย่างแท้จริงสำหรับบุคคลเหล่านั้น (เทียบ ลก.2:34; 20:17-18; สดด. 118:22)

588พระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้พวกฟาริสีขัดเคือง ในการเสวยพระกระยาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและพวกคนบาปอย่างเป็นกันเอง เหมือนกับเวลาเสวยร่วมกับพวกเขา (เทียบ ลก.5:30; 7:36; 11:37; 14:1) สำหรับบางคนในหมู่ฟาริสี "ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรม และดูหมิ่นผู้อื่นด้วย" (ลก.18:9) พระเยซูเจ้าทรงยืนยันในลักษณะขัดแย้งกับพวกเขาว่า "เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ" (ลก.5:32) พระองค์ทรงไปไกลกว่านั้น โดยประกาศใส่หน้าพวกฟาริสีว่า ในเมื่อบาปมีอยู่ทั่วโลก บุคคลใดอ้างว่าตนไม่ต้องการความรอด ผู้นั้นก็ตาบอดมองไม่เห็นตนเอง (เทียบ ยน.8:33-36; 9:40-41)

589พระเยซูเจ้าได้ทรงทำให้คนอื่นขัดข้องใจ เพราะทรงแสดงพฤติกรรมเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อคนบาป แบบเดียวกับทัศนคติของพระเจ้าพระองค์เองต่อคนเหล่านั้น (เทียบ มธ.9:13; ฮชย.6:6) พระองค์ไปไกลถึงขนาดละไว้ให้เป็นที่เข้าใจว่า ในการที่ทรงแบ่งปันอาหารร่วมโต๊ะกับคนบาปนั้น พระองค์ได้ทรงรับพวกเขาให้มาร่วมในงานเลี้ยงอาหารครั้งใหญ่ของพระ- เมสสิยาห์ (เทียบ ลก.15:1-2,22-23) แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้อภัยบาปนั่นเอง ที่พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้มีอำนาจทางศาสนาของอิสราเอลตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เป็นการถูกต้องอยู่หรอกที่พวกเขาจะอุทานด้วยความพรั่นพรึงว่า "ใครเล่าสามารถอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น" (มก.2:7) ในการยกบาป พระเยซูทรงหมิ่นประมาทพระเจ้า เพราะเป็นคนที่ตั้งตนว่าทัดเทียมกับพระเจ้าอยู่ หรือมิฉะนั้น พระองค์ก็พูดจริง และการปรากฏพระองค์ก็เป็นการทำให้พระนามของพระเจ้าสถิตอยู่ และเป็นการเผยแสดงพระนามของพระเจ้าด้วย (เทียบ ยน.5:18; 10:33; 17:6,26)

590เอกลักษณ์ในการเป็นพระเจ้าของพระเยซูเจ้าเท่านั้น ที่จะพิสูจน์ความถูกต้องของการเรียกร้องอย่างเด็ดขาด เช่นพระวาจาที่ตรัสว่า "ผู้ใดไม่อยู่กับเราย่อมเป็นปฏิปักษ์กับเรา"(มธ.12:30) ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระองค์ตรัสว่า ในพระองค์ "ที่นี่มีผู้ยิ่งใหญ่กว่าโยนาห์อีก" (มธ.12:41-42) "ยิ่งใหญ่กว่าพระวิหาร" (มธ.12:6)   เมื่อพระองค์ทรงเตือนว่าดาวิดได้เรียกพระเมสสิยาห์ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ มธ.12:6,30,36,37,41-42) และยืนยันเกี่ยวกับเรื่องของพระองค์ว่า "ก่อนอับราฮัมเกิด เราก็เป็นอยู่แล้ว" (ยน.8:58) และแม้กระทั่งว่า "พระบิดาของเราและเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" (ยน.10:30)

591พระเยซูเจ้าได้ทรงขอร้องให้ผู้มีอำนาจทางศาสนาในกรุงเยรูซาเล็มให้เชื่อในพระองค์ เพราะกิจการทั้งหลายทั้งปวงของพระบิดา   ซึ่งพระองค์ได้กระทำให้สำเร็จไป  แต่การแสดงความเชื่อแบบนี้จะต้องผ่านการตายอย่างลึกล้ำต่อตัวเอง เพื่อ "การเกิดใหม่จากเบื้องบน" โดยมีพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าเป็นเครื่องดึงดูดใจ (เทียบ ยน.3:7; 6:44) การเรียกร้องให้มีการกลับใจเช่นนี้ต่อหน้าการสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าประหลาดใจตามคำมั่นสัญญา (เทียบ   อสย.53:1) ทำให้สามารถเข้าใจได้ถึงความเข้าใจผิดอย่างน่าสะพรึงกลัวของสภาซันเฮดริน    ที่ลงความเห็นว่าพระเยซูสมควรตายในฐานะที่เป็นผู้บังอาจหมิ่นประมาทพระเจ้า (เทียบ มก.3:6; มธ.26:64-66) สมาชิกสภาสูงของชาวยิวตัดสินเช่นนี้ ทั้งเพราะ "ความไม่รู้" และเพราะ   "จิตใจหยาบกระด้าง" (มก.3:5; รม.11:25) อันเกิดจาก "การขาดความเชื่อ" (รม.11:20)