หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

583พระเยซูเจ้าเช่นเดียวกับประกาศกทั้งหลายก่อนหน้าพระองค์ ได้ทรงประกาศยืนยันว่าทรงมีความเคารพอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อมหาวิหารกรุงเยรูซาเล็ม นักบุญยอแซฟและพระนางมารีอาได้นำพระองค์ไปถวายตัว ณ พระวิหารนี้ สี่สิบวันหลังการบังเกิดของพระองค์ (ลก.2:22-39) เมื่อพระชนมายุได้ 12 ชันษา พระองค์ได้ตัดสินพระทัยที่จะประทับอยู่ในพระวิหาร เพื่อเตือนบิดามารดาของพระองค์ว่า พระองค์ทรงมีภารกิจของพระบิดาที่จะต้องดูแล (เทียบ ลก.2: 46-49) พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปที่นั่นทุกปีอย่างน้อยก็ในเทศกาลปัสกา ในระหว่างที่ยังทรงดำเนินชีวิตอยู่อย่างไม่เปิดเผย (เทียบ ลก.2:41) ภาระหน้าที่ของพระองค์เองท่ามกลางสาธารณชน ก็อาศัยจังหวะการเสด็จจาริกสู่กรุงเยรูซาเล็ม ในยามที่มีงานฉลองใหญ่ๆ ของชาวยิว (เทียบ ยน.2:13-14; 5:1,14; 7:1,10,14; 8:2; 10:22-23)

584พระเยซูเจ้าได้เสด็จขึ้นไปยังพระวิหาร  ในฐานะเป็นสถานที่พิเศษสุดสำหรับการพบกับพระเจ้า สำหรับพระองค์ พระวิหารคือเคหาแห่งพระบิดา เป็นสถานภาวนา และพระองค์ทรงขัดเคืองพระทัยที่ลานด้านหน้านอกพระวิหารได้กลายเป็นแหล่งค้าขาย (เทียบ มธ.21:13) มาตรแม้นจะได้ทรงขับไล่พวกพ่อค้าไปเสียจากพระวิหาร   ก็ด้วยความรักหวงแหนแทนพระบิดา "อย่าทำพระนิเวศของพระบิดาเราให้เป็นแหล่งค้าขาย" พวกสาวกของพระองค์ก็ระลึกขึ้นได้ถึงคำที่เขียนไว้ว่า "ความเอาใจใส่เร่าร้อนต่อเคหะของพระองค์เผาผลาญข้าพเจ้า" (ยน.2:16-17 เทียบ สดด.69:10) หลังจากที่พระคริสตเจ้าได้ทรงฟื้นคืนชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ยังรักษาความเคารพเช่นที่มีต่อศาสนาไว้สำหรับพระวิหารแห่งนี้ (เทียบ กจ.2:46; 3:1; 5:20,21)

585เมื่อใกล้จะเริ่มมหาทรมาน พระเยซูเจ้าได้ทรงประกาศล่วงหน้าถึงความพินาศของมหาวิหารอันงามตระการแห่งนี้ ซึ่งจะราบเรียบไม่เหลือก้อนศิลาที่จะซ้อนทับกันอยู่เลย (เทียบ มธ.24:1-2) ตรงจุดนี้มีการประกาศถึงเครื่องหมายแห่งยุคสุดท้าย ซึ่งจะเริ่มขึ้นพร้อมกับปัสกาของพระองค์เอง (เทียบ มธ.24:3 ลก.13:35) แต่คำทำนายอันนี้อาจถูกนำไปเล่าต่อในลักษณะบิดเบือนโดยพวกพยานเท็จ เมื่อตอนที่พระองค์ทรงถูกสอบสวนที่บ้านมหาปุโรหิต และถูกนำมาย้อนเป็นคำสบประมาทต่อพระองค์เมื่อทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน (เทียบ มก.14:57-58, มธ.27:39-40)

586แทนที่จะมีความรู้สึกเป็นศัตรูต่อพระวิหาร อันเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ได้ประทานคำสั่งสอนในส่วนที่เป็นสารัตถะสำคัญ พระเยซูเจ้าได้ทรงปรารถนาที่จะจ่ายค่าบำรุงพระวิหาร โดยนำเอาเปโตรเข้าไปร่วมด้วย เปโตรซึ่งพระองค์ซึ่งจะตั้งให้เป็นฐานศิลาสำหรับพระศาสนจักรของพระองค์ในอนาคต (เทียบ มธ.8:4; 16:18, 17:24-27; ลก.17:14; ยน.4:22; 18:20)ยิ่งกว่านั้น ยังทรงแสดงเอกลักษณ์ของพระองค์ว่าเป็นหนึ่งเดียวกับพระวิหาร โดยการเสนอพระองค์ในฐานะเป็นพระเคหาอย่างเด็ดขาดของพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์ (เทียบ ยน.2:21; มธ.12:6) ด้วยเหตุนี้ การที่พระองค์ทรงถูกประหารทางกาย (เทียบ ยน.2:18-22) จึงเป็นการประกาศล่วงหน้าถึงการทำลายพระวิหารแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นการแสดงให้ประจักษ์ถึงการเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์แห่งความรอด "ใกล้เวลาแล้วที่ผู้คนจะไม่นมัสการพระบิดาเฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม" (ยน.4:21)