หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

577พระเยซูเจ้าได้ตรัสเตือนล่วงหน้าไว้อย่างสง่า ในตอนต้นของเทศนาบนภูเขา ซึ่งพระองค์ได้เสนอธรรมบัญญัติ ซึ่งพระเจ้าเป็นผู้ประทานมาบนภูเขาซีนาย ในพันธสัญญาครั้งแรก จากแง่ของพระหรรษทานในพันธสัญญาใหม่

"จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก   เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่พินทุอิหรือขีดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียวแม้เล็กน้อยที่สุด และสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วยจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์" (มธ.5:17-19)

578พระเยซูเจ้า พระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอล ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้สำเร็จไปตามธรรมบัญญัติ โดยประพฤติปฏิบัติอย่างครบครัน "แม้เล็กน้อยที่สุด" ตามพระวาจาที่ได้ตรัสไว้ (มธ.5:19) พระองค์เป็นผู้เดียวด้วยซ้ำที่สามารถทำดังนี้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม (เทียบ ยน.8:46) ชาวยิวก็ยอมรับเองว่า ไม่เคยเลยที่จะสามารถปฏิบัติตามธรรม-บัญญัติได้สำเร็จไปอย่างครบครันโดยมิได้ล่วงละเมิดแม้ข้อเล็กน้อยที่สุด (เทียบ ยน.7:19; กจ.13: 38-41; 15:10) ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่มีการฉลองการใช้โทษบาปประจำปี ลูกๆ ของอิสราเอล ก็จะวิงวอนขอโทษพระเจ้าที่ได้กระทำผิดล่วงละเมิดธรรมบัญญัติ จริงแท้ ธรรมบัญญัติประกอบขึ้นเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ดังที่นักบุญยากอบได้เตือนให้รำลึกไว้ "ผู้ที่ละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว   ทั้งๆ ที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติข้ออื่นทั้งหมด  เขาย่อมผิดต่อธรรมบัญญัติทั้งมวล" (ยก.2:10)

579หลักการถือตามธรรมบัญญัติอย่างครบครันนี้ เป็นที่รักฝังใจของชาวฟาริสี มิเพียงแต่ตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ในทางจิตตารมณ์อีกด้วย ในการแยกหลักการนี้ออกมาให้เห็นคุณค่าสำหรับอิสราเอลพวกฟาริสีก็ได้ชักนำชาวยิวเป็นจำนวนมากในสมัยของพระเยซูให้เกิดความศรัทธาต่อศาสนาอย่างแรงกล้าที่สุด (เทียบ รม.10:2)   ความศรัทธาอย่างแรงกล้านี้ แม้จะไม่ทรงปรารถนาที่จะหาทางออกโดยการโต้แย้ง "แบบหน้าซื่อใจคด" (เทียบ มธ.15:3-7; ลก.11:39-54) ก็ได้แต่ตระเตรียมประชากรพระเจ้าให้พร้อมที่จะรับการเข้ามาข้องเกี่ยวอย่างเหลือเชื่อของพระเจ้า ซึ่งก็คือการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์พร้อม โดยองค์พระผู้ชอบธรรมพระองค์เดียว แทนคนบาปทั้งหลายทั้งปวง (เทียบ อสย.53:11; ฮบ.9:15)

580การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์พร้อม จะเป็นได้ก็แต่กิจการขององค์พระซึ่งเป็นผู้ออกบัญญัตินั้นเอง ผู้ทรงบังเกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติในพระบุคคลที่เป็นองค์พระบุตร (เทียบ กท.4:4) ในพระเยซู ธรรมบัญญัติมิได้ปรากฏในลักษณะที่ถูกจารึกอยู่บนแผ่นศิลา แต่ "บนดวงใจ" (ยรม.31:33) ขององค์พระผู้รับใช้ ผู้ซึ่ง "จะส่งความยุติธรรมออกไปด้วยความสัตย์จริง" (อสย.42:3) จึงได้กลายเป็น "ตัวพันธสัญญาของมนุษยชาติ" (อสย.42:6) พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติถึงขนาดยอมรับ "การสาปแช่งของธรรมบัญญัติ" (กท.3:13) มาใส่พระองค์เอง อันเป็นคำสาปแช่ง ซึ่งผู้ที่ "ไม่ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือธรรมบัญญัติ" (กท. 3:10) จะต้องได้รับ ทั้งนี้เพราะ "พระองค์ทรงยอมรับความตายเพื่อลบล้างการล่วงละเมิดตามเงื่อนไขของพันธสัญญาเดิมแล้ว" (ฮบ.9:15)

581พระเยซูเจ้าทรงปรากฏในสายตาของพวกยิว และพวกผู้นำฝ่ายวิญญาณของพวกเขา เสมือนเป็น   "รับบี" (เทียบ ยน.11:28; 3:2; มธ.22:23-24,34-36)  พระองค์ได้ทรงอภิปรายโต้เถียงกับพวกเขาภายในกรอบของการตีความธรรมบัญญัติในแบบของ "รับบี" (เทียบ มธ.12:5; 9:12; มก.2:23-27; ลก.6:6-9; ยน.7:22-23) แต่ในเวลาเดียวกัน การกระทำของพระองค์ก็เป็นการกระทบกระเทือนจิตใจของพวกปราชญ์แห่งธรรมบัญญัติด้วย เพราะพระองค์มิได้ทรงพอพระทัยเพียงแค่เสนอการตีความของพระองค์ในท่ามกลางการตีความของพวกเขาเท่านั้น    แต่ "ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา" (มธ.7:28-29) ในพระองค์ คือ พระวาจาของพระเจ้าอย่างเดียวกับที่ก้องกังวานอยู่บนภูเขาซีนาย เพื่อประทานพระบัญญัติที่จารึกไว้แก่โมเสส และกลับมาให้ได้ยินใหม่บนภูเขาแห่ง   "บรมสุข" (เทียบ มธ.5:1) พระวาจานั้นมิได้เลิกล้มธรรมบัญญัติ แต่ทำให้สำเร็จไปโดยการให้การตีความเด็ดขาดขั้นสุดท้ายในแบบของผู้เป็นพระเจ้า  "ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า...  แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า..." (มธ.5:33-34) ด้วยการสำแดงอำนาจเยี่ยงพระเจ้าแบบเดียวกันนี้ พระองค์ทรงไม่ยอมรับ "ธรรมประเพณีบางประการแบบมนุษย์" ของพวกฟาริสี ซึ่ง "ทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ" (มก.7:13)

582พระเยซูเจ้าทรงไปไกลกว่านั้น และได้ทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ โดยการสอนเรื่องความบริสุทธิ์ของอาหารที่บริโภค อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของพวกยิว โดยทรงเผยความหมาย "แบบครู" ของพระองค์ด้วยการตีความเยี่ยงพระเจ้า "สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้น ไม่สามารถทำให้เขามีมลทิน... (โดยวิธีนี้ พระองค์ได้ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดบริสุทธิ์) สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละ ทำให้เขามีมลทิน จากภายในคือจากใจมนุษย์นั้น เป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย" (มก.7:18-21)     ในการอภิปรายตีความธรรมบัญญัติอย่างแน่นอนเด็ดขาดด้วยสิทธิอำนาจเยี่ยงพระเจ้า พระเยซูต้องเผชิญหน้ากับพวกปราชญ์แห่งธรรมบัญญัติบางคน ที่ไม่ยอมรับการตีความธรรมบัญญัติของพระองค์  ทั้งๆ ที่มีหลักประกันคือหมายสำคัญจากพระเจ้าเป็นพยานอยู่ (เทียบ ยน.5:36; 10:25,37-38; 12:37) ในเรื่องนี้ ปัญหาเรื่องวันสับบาโตมีความหมายสำคัญเป็นพิเศษ พระเยซูทรงเตือนด้วยการอภิปรายโต้แย้งในแบบของรับบี บ่อยครั้งว่า การพักผ่อนในวันสับบาโตนั้น มิได้ถูกรบกวนจากการรับใช้พระเจ้า หรือรับใช้มนุษย์ (เทียบ กดว.28:9; มธ.12:5 มก.2:25-27 ลก.13:15-16; 14:3-4 ยน.7:22-24) เช่นที่พระองค์ทรงรักษาคนป่วยให้หายจากโรค