หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. ธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตท่ามกลางสาธารณชนของพระเยซูเจ้า

การรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้า

535การเริ่มต้นของชีวิตท่ามกลางสาธารณชนของพระเยซู อยู่ที่พิธีล้างซึ่งพระองค์ได้รับจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน (เทียบ ลก.3:23; กจ.1:22) ยอห์นประกาศ "เรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป" (ลก.3:3) ฝูงชนซึ่งมีทั้งคนบาป (เทียบ ลก.3:10-14; มธ.3:7; 21:32) คนเก็บภาษี และทหาร ฟาริสีและสะดูสี รวมทั้งหญิงโสเภณี ก็พากันมาให้ยอห์นทำพิธีล้าง "แล้วพระเยซูก็ปรากฏพระองค์" ผู้ทำพิธีล้างชะงักลังเล พระเยซูเจ้าทรงคะยั้นคะยอและได้รับพิธีล้าง ทันใดนั้น พระจิต  ภายใต้รูปพรรณสันฐานนกพิราบ  ก็เสด็จมาเหนือพระเยซู และมีสุรเสียงจากฟ้าประกาศก้องว่า "ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา" (มธ.3:13-17)  นี่คือการสำแดงพระองค์ของพระเยซู    ว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอลและพระบุตรของพระเจ้า

536การรับพิธีล้างของพระเยซู ในส่วนของพระองค์ เป็นการยอมรับและการเบิกเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะผู้รับใช้ซึ่งยอมรับทรมาน พระองค์ทรงปล่อยให้เขานับพระองค์รวมอยู่ในหมู่คนบาป ทรงเป็น "พระชุมพาน้อยของพระเป็นเจ้า ผู้ยกบาปของโลก" (ยน.1:29) อยู่แล้ว พระองค์ทรงคาดคอย "การรับพิธีล้าง" จากการสิ้นพระชนม์ที่ต้องหลั่งพระโลหิตโทรมพระกาย (เทียบ มก.10:38; ลก.12:50) พระองค์เสด็จมาเพื่อ "ทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า" (มธ.3:15)  นั่นคือการที่พระองค์ทรงมอบพระองค์โดยสิ้นเชิง ให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระบิดา ด้วยความรัก พระองค์ทรงยอมรับพิธีล้างแห่งความตายนี้ เพื่อการยกโทษบาปของเราทั้งหลาย (เทียบ มธ.26:39) ต่อการยอมรับครั้งนี้ พระสุรเสียงของพระบิดาตรัสตอบมา แสดงความพอพระทัยในพระบุตรของพระองค์ (เทียบ ลก.3:22;อสย.42:1) พระจิต ซึ่งพระเยซูทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ นับตั้งแต่การปฏิสนธิของพระองค์ ได้เสด็จมา "สถิตอยู่" เหนือพระองค์ (ยน.1:32-33) พระองค์จะทรงเป็นท่อธารแห่งพระจิตสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล ในขณะที่ทรงรับพิธีล้าง "ท้องฟ้าเปิดออก" (มธ.3:16) ท้องฟ้าซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดเสียสนิท และน้ำก็ได้รับการเสกให้ศักดิ์สิทธิ์จากการเสด็จลงมาของพระเยซูและพระจิต บทเริ่มต้นแห่งการสร้างครั้งใหม่

537อาศัยศีลล้างบาป คริสตชน -โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์- ก็ได้มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระเยซู ผู้ทรงคาดคอยการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนชีพของพระองค์ ในการรับศีลล้างของพระองค์นั้น คริสตชนจักต้องเข้าสู่ธรรมล้ำลึกแห่งการถ่อมตนลงรับความต่ำต้อยและการสำนึกผิด ลงไปในน้ำพร้อมกับพระเยซู เพื่อจะกลับขึ้นมาพร้อมกับพระองค์ เกิดใหม่จากน้ำและพระจิต เพื่อจะเป็นบุตรสุดรักของพระบิดาในองค์พระบุตร และ "ดำเนินตามชีวิตใหม่" (รม.6:4)

ขอให้เราฝังตัวเราไว้กับพระคริสตเจ้าโดยอาศัยศีลล้างบาป เพื่อกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ ให้เราถ่อมตนต่ำลงไปพร้อมกับพระองค์ เพื่อได้รับการเชิดชูให้สูงขึ้นพร้อมกับพระองค์ ให้เรากลับขึ้นไปพร้อมกับพระองค์ เพื่อได้รับสิริมงคลในพระองค์ (น.เกรโกรี แห่ง นาเซียน Oratio 40,9: PG 36,369)ถ
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์พระคริสต์ ทำให้เราได้ทราบว่า หลังการชำระด้วยน้ำแล้ว พระจิตก็จะทรงบินมาเหนือเราจากฟากฟ้า และเมื่อพระสุรเสียงของพระบิดาได้ทรงรับเราไว้แล้ว เราก็ได้กลายเป็นบุตรของพระเจ้า (น.ฮีรารี่ In Matth. 2,5: PL 9,927)

พระเยซูเจ้าทรงถูกมารประจญ

538พระวรสารพูดถึงช่วงเวลาของการที่พระเยซูทรงใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในที่เปลี่ยว ในทันทีหลังจากได้รับพิธีล้างจากยอห์นแล้ว เมื่อ "ทรงได้รับการผลักดันจากพระจิต" ให้เสด็จไปยังที่เปลี่ยว พระเยซูก็ประทับอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาถึง 40 วัน โดยมิได้เสวยสิ่งใดเลย ทรงดำเนินชีวิตอยู่กับบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย และเทพเทวาก็พากันมารับใช้พระองค์ (เทียบ มก.1: 12-13) ในตอนสุดท้ายของช่วงเวลานั้น ซาตานมาล่อลวงพระองค์ถึงสามครั้ง พยายามจะหาเหตุเอากับทัศนคติฉันบุตรของพระองค์ต่อพระเจ้า พระเยซูทรงผลักไสการโจมตีของปีศาจ ซึ่งเสมือนเป็นการทบทวนการล่อลวงอาดัมที่สวนสวรรค์ และอิสราเอลในที่เปลี่ยว แล้วปีศาจก็ผละจากพระองค์ไป "รอจนกว่าจะถึงเวลากำหนด" (ลก.4:13)

539ผู้แต่งพระวรสารชี้ให้เห็นความหมายของเหตุการณ์อันล้ำลึกนี้ จากแง่ของการช่วยให้รอด พระเยซูคืออาดัมใหม่ ซึ่งยังคงซื่อสัตย์อยู่ ณ จุดซึ่งอาดัมคนแรกได้พ่ายแพ้แก่การประจญ พระเยซูเจ้าได้ทรงปฏิบัติตามกระแสเรียกของอิสราเอลอย่างสมบูรณ์ ตรงข้ามกับเขาเหล่านั้น ซึ่งในอดีตท้าทายพระเจ้าอยู่เป็นเวลานานถึง 40 ปี ในทะเลทราย พระคริสตเจ้ากลับแสดงพระองค์ในฐานะเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ซึ่งนบนอบและยอมปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์โดยสิ้นเชิง ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าเป็นผู้ชนะปีศาจ  พระองค์ "ได้ทรงจับคนที่มีกำลังมากมัดไว้" เพื่อเอาข้าวของของพระองค์คืนมา (เทียบ สดด.8:10; มก.3:27)  ชัยชนะของพระเยซูเหนือปีศาจที่มาล่อลวงพระองค์ในที่เปลี่ยว เป็นการแสดงล่วงหน้าถึงชัยชนะเหนือราคะตัณหา เป็นการแสดงความนบนอบสูงสุดของความรักฉันบุตรของพระองค์ต่อพระบิดา

540การประจญล่อลวงพระเยซู เป็นการแสดงถึงวิธีการเป็นพระเมสสิยาห์ของพระบุตรพระเจ้า ในลักษณะที่ตรงข้ามกับวิธีการที่ซาตานนำเสนอต่อพระองค์ และซึ่งมนุษย์ทั้งหลายต้องการเอามายกให้เป็นของพระองค์ (เทียบ มธ.16:21-23) ด้วยเหตุนี้ พระคริสตเจ้าจึงได้ทรงพิชิตปีศาจที่มาประจญเพื่อเห็นแก่เรา "เพราะเหตุว่าเรามิได้มีมหาสมณะที่ไม่สามารถร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอ แต่เรามีมหาสมณะผู้ได้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป"  (ฮบ.4:15)  พระศาสนจักรร่วมใจกับธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าในที่เปลี่ยว โดยจัดเทศกาลมหาพรตเป็นเวลา 40 วัน ทุกปี

"พระอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว"

541"หลังจากยอห์นได้ถูกจับไปแล้ว พระเยซูเจ้าได้เสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรงประกาศข่าวดีที่มาจากพระเจ้า เป็นถ้อยคำว่าดังนี้ "เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว   พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด (มก.1:15) "เพื่อให้สำเร็จไปตามน้ำพระทัยของพระบิดา พระคริสตเจ้าได้ทรงเริ่มพระอาณาจักรสวรรค์บนแผ่นดิน" (พระศาสนจักร ข้อ 3) อนึ่ง น้ำพระทัยของพระบิดาก็คือ "การเชิดชูมนุษย์ขึ้นมาให้ได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของพระเจ้า" (พระศาสนจักร ข้อ 2) พระองค์ทรงทำดังนั้น โดยการรวบรวมมนุษย์ทั้งหลายเข้ามาไว้รอบองค์พระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสตเจ้า การรวมตัวของมนุษย์ดังกล่าวนั้น ก็คือพระศาสนจักรซึ่งเป็นเสมือน "ต้นอ่อน และการเริ่มต้นของพระ-อาณาจักรพระเจ้า" บนแผ่นดิน (พระศาสนจักร ข้อ 5)

542พระคริสตเจ้าประทับอยู่ตรงใจกลางของการรวมตัวของมนุษย์ดังกล่าว  ใน "ครอบครัวของพระเจ้า" พระคริสตเจ้าทรงชักจูงมนุษย์ให้มาห้อมล้อมพระองค์ด้วยพระวาจาด้วยเครื่องหมายที่แสดงให้ประจักษ์ถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า และโดยการส่งสานุศิษย์ของพระองค์ออกไปเทศนาสั่งสอน พระองค์จะบรรลุความสำเร็จ ในการทำให้การมาถึงแห่งพระอาณาจักรของพระองค์เป็นจริงขึ้นมา โดยเฉพาะอาศัยธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่แห่งปัสกาของพระองค์ คือการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และการฟื้นคืนชีพของพระองค์"ฝ่ายเรา เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงสารพัดมาหาเรา" (ยน.12:32) มนุษย์ทุกคนจึงได้รับเรียกให้เข้ามาร่วมในความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้กับพระคริสตเจ้า (เทียบ พระศาสนจักร ข้อ 3)

การประกาศถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า

543มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักร อาณาจักรของพระเมสสิยาห์ ซึ่งแรกทีเดียวได้ประกาศแก่ลูกหลานชาวอิสราเอลนั้น ได้รับการกำหนดไว้ให้ต้อนรับมนุษย์ทุกชาติ (เทียบ มธ.8:11; 10:5-7; 28:19) ในการที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรได้ จะต้องยอมรับพระวาจาของพระเยซูเจ้า

พระวาจาของพระเยซูเจ้า เปรียบได้จริงแท้กับเมล็ดพืชที่มีผู้หว่านลงบนท้องนา ผู้ใดรับฟังด้วยความเชื่อ และได้เข้ารวมอยู่ในฝูงแกะน้อยของพระคริสตเจ้า ก็ได้ต้อนรับพระอาณาจักรของพระองค์ ต่อจากนั้น อาศัยคุณสมบัติในตนเอง เมล็ดพืชก็จะเจริญเติบโตขึ้นถึงเวลาเก็บเกี่ยว (พระศาสนจักร ข้อ 5 เทียบ มก.4:14,26-29; ลก.12:32)

544พระอาณาจักรเป็นของคนยากจนและผู้ต่ำต้อยทั้งหลาย  หมายถึงเป็นของผู้ที่ได้ต้อนรับพระอาณาจักรด้วยใจสุภาพ พระเยซูได้ถูกส่งมาเพื่อ "ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน" (ลก.4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนจนเป็นสุข เพราะ "อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา" (มธ.5:3) ต่อ "ผู้น้อย" นั้นแหละที่พระบิดาทรงพระกรุณาเผยแสดงสิ่งซึ่งยังคงถูกปิดบังอยู่สำหรับบรรดาปราชญ์ และคนฉลาดทั้งหลาย (เทียบ มธ.11:25) พระเยซูทรงมีส่วนแบ่งปันชีวิตของคนจน จากรางหญ้าถึงมหากางเขน ทรงรู้จักความหิว ความกระหาย และความเปล่าเปลือย (เทียบ มธ.21:18; มก.2:23-26; ยน.4:6-7; 19:28; ลก.9:58) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงบำเพ็ญพระองค์ดุจเดียวกับคนจนทุกประเภท และทรงกำหนดให้ความรักที่แข็งขันจริงจังต่อคนจนเท่านั้น คือเงื่อนไขของการที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระองค์ (เทียบ มธ.25:31-46)

545พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญคนบาปให้มาร่วมโต๊ะในพระอาณาจักร "เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป" (มก.2:17) พระองค์ทรงเชื้อเชิญคนบาปให้กลับใจ เพราะถ้าไม่มีการกลับใจ ก็จะไม่สามารถเข้าในพระอาณาจักรได้ แต่พระองค์ก็ทรงชี้ทั้งด้วยวาจาและกิจการ ให้เขาเห็นพระมหากรุณาอันไร้ขอบเขตของพระบิดาที่ทรงมีต่อพวกเขา และ "ความชื่นชมยินดีอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์ เมื่อมีคนบาปแม้เพียงคนเดียวกลับใจ" (ลก.15:7) ข้อพิสูจน์อันสูงสุดของความรักอันนี้ ก็คือการที่พระองค์ทรงอุทิศชีวิตของพระองค์เอง "เพื่อยกโทษบาปของเรา" (มธ.26:28)

546พระเยซูเจ้าทรงเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักร โดยอาศัยนิทานเปรียบเทียบ อันเป็นลักษณะเฉพาะของการสั่งสอนของพระองค์ (เทียบ มก.4:33-34) อาศัยนิทานเปรียบเทียบ พระองค์ทรงเชิญไปร่วมในงานเลี้ยงของพระอาณาจักร แต่พระองค์ก็ทรงขอร้องด้วยให้ทำการเลือกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากว่าในการที่จะได้พระอาณาจักรนั้น จะต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง (เทียบ มธ.13: 44-45; 22:1-14) เพียงแต่ปากพูดเท่านั้น ไม่เพียงพอ จะต้องมีการกระทำด้วย (เทียบ มธ.21:28-32) นิทานเปรียบเทียบเป็นเหมือนกระจกเงาสำหรับมนุษย์ มนุษย์รับพระวาจาไว้เหมือนดินแข็ง หรือเหมือนดินดี (เทียบ มธ.13:3-9) เงินตาแลนท์ที่เขาได้รับมานั้น เขาเอาไปทำอะไร (เทียบ มธ. 25:14-30) พระเยซูเจ้าและการปรากฏอยู่ของพระอาณาจักรในโลกนี้ ซ่อนอยู่อย่างลับๆ ตรงใจกลางของนิทานเปรียบเทียบดังกล่าว จักต้องเข้าไปในพระอาณาจักร คือจะต้องเป็นสานุศิษย์ของพระคริสตเจ้า จึงจะ "ทราบธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์" (มธ.13:11) สำหรับเขาทั้งหลายซึ่งยังอยู่ "ภายนอก" (มก.4:11) ทุกสิ่งจะยังคงเป็นปริศนาอยู่ (เทียบ มธ.13: 10-15)

หมายสำคัญแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า

547พระเยซูเจ้านั้น นอกจากจะทรงสั่งสอนด้วยพระวาจาแล้ว ยังทรงทำ "อัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ และเครื่องหมายต่างๆ" ควบคู่ไปด้วย (กจ.2:22)     ซึ่งเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพระอาณาจักรนั้นอยู่ในพระองค์    สิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้นเป็นการยืนยันว่าพระเยซูคือพระ-เมสสิยาห์ซึ่งได้รับการประกาศถึงมาตั้งแต่แรก (เทียบ ลก.7:18-23)

548หมายสำคัญซึ่งกระทำโดยพระเยซูเจ้า เป็นการแสดงให้ประจักษ์ว่า พระบิดาเป็นผู้ทรงส่งพระองค์มา หมายสำคัญเหล่านี้เป็นการเชื้อเชิญให้เชื่อในพระองค์ (เทียบ ยน.5:36;10:25,38) สำหรับผู้ที่มาพึ่งพาพระองค์ด้วยความเชื่อ พระองค์ก็ประทานให้ตามที่ขอ (เทียบ มก.5:25-34; 10:52) ดังนั้น การทำอัศจรรย์จึงเป็นการเสริมพลังความเชื่อในองค์พระผู้ปฏิบัติกิจการของพระบิดา อัศจรรย์เป็นประจักษ์พยานแสดงว่าพระองค์คือบุตรพระเจ้า (เทียบ ยน.10:31-38) แต่อัศจรรย์ก็อาจเป็น โอกาสให้ "เคลือบแคลงใจ" ได้เช่นกัน (มธ.11:6) เพราะอัศจรรย์ไม่ต้องการเอาใจการสอดรู้สอดเห็น และความปรารถนาเชิงไสยศาสตร์ ดังนั้น แม้การทำอัศจรรย์ของพระเยซูจะเด่นเพียงไร พระองค์ก็ยังถูกคนบางคนปฏิเสธ พวกเขากล่าวโทษพระองค์ว่าทำอัศจรรย์โดยอาศัยอำนาจของปีศาจด้วยซ้ำ (เทียบ ยน.11:47-48; มก.3:22)

549ในการช่วยมนุษย์บางคนให้พ้นจากสิ่งร้ายบนแผ่นดิน เช่น ความหิวโหย ความอยุติธรรม ความป่วยไข้ และความตาย (เทียบ ยน.6:5-15; ลก.19:8; มธ.11:5)  พระเยซูเจ้าได้ประทับตราเครื่องหมายแห่งพระเมสสิยาห์ไว้ อย่างไรก็ตาม พระองค์มิได้เสด็จมาเพื่อทำลายล้างสิ่งร้ายทั้งปวงในใต้หล้า (เทียบ ลก.12:13-14; ยน.18:36)  แต่เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่หนักที่สุด คือการเป็นทาสของบาป  ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางกระแสเรียกของมนุษย์สู่การเป็นพระเจ้า และเป็นสาเหตุให้มนุษย์ต้องตกเป็นทาสในหลายลักษณะต่างๆ กัน  (เทียบ     ยน.8:34-36)

550การมาถึงแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นการพ่ายแพ้แห่งอาณาจักรของซาตาน"ถ้าเราขับไล่ปีศาจด้วยพระจิตของพระเจ้า ก็หมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว" (มธ.12:28) การขับไล่ปีศาจของพระเยซูเป็นการปลดปล่อยมนุษย์ให้พ้นจากเงื้อมมือของปีศาจ เป็นการสำแดงล่วงหน้าถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเหนือ "เจ้าแห่งโลก"  (ยน.12:31) อาศัยมหากางเขนของพระคริสตเจ้านั้นเองที่พระอาณาจักรของพระเจ้าจะได้รับการสถาปนาขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุด  "พระเจ้าทรงครองอยู่สูงเหนือไพรพนา" (เพลงทำวัตรเย็น เทศกาลมหาพรต สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์)

กุญแจเข้าสู่พระอาณาจักร

551นับตั้งแต่เริ่มชีวิตท่ามกลางสาธารณชน พระเยซูเจ้าได้ทรงเลือกบุรุษเป็นจำนวน 12 คน เพื่อให้อยู่กับพระองค์ และมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระองค์ (เทียบ มก.3:13-19) พระองค์ทรงโปรดให้พวกเขามีส่วนในพระอำนาจของพระองค์ "ทรงส่งเขาไปประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และรักษาโรค" (ลก.9:2) บุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมอยู่ตลอดไปในพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้า เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าทรงชี้นำพระศาสนจักรโดยอาศัยพวกเขา

เราจัดพระอาณาจักรให้ท่านทั้งหลายดังที่พระบิดาทรงจัดไว้ให้เรา   ท่านจะได้กินและดื่มร่วมโต๊ะกับเราในพระอาณาจักรและจะนั่งบนบัลลังก์พิพากษาอิสราเอลทั้งสิบสองตระกูล (ลก.22:29-30)

552ในคณะอัครสาวก 12 คน ซีมอน เปโตร อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าใคร (เทียบ มก.3:16; 9:2; ลก.24: 34; 1คร.15:5) พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบหมายพันธกิจหนึ่งเดียว ที่ไม่มีพันธกิจใดเสมอเหมือนให้แก่เขา อาศัยการเผยแสดงที่มาจากพระบิดา  เปโตรได้ประกาศยืนยันว่า "พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต" พระเยซูผู้เป็นเจ้าจึงได้ตรัสกับเขาว่า "ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา และประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้" (มธ.16:18) พระคริสตเจ้า "ศิลาทรงชีวิต" (1ปต.2:4) ประทานความมั่นใจแก่พระศาสนจักรของพระองค์ที่สร้างอยู่บนศิลา คือเปโตร ว่าจะได้ชัยชนะเหนืออำนาจทั้งหลายแห่งความตาย เปโตรนั้น -เพราะความเชื่อที่เขาได้ยืนยันอย่างมั่นคง- จะเป็นศิลาที่ไม่มีผู้ใดมาทำให้คลอนแคลนได้ของพระศาสนจักรอยู่ต่อไป เขาจะมีพันธะหน้าที่ในอันที่จะรักษาความเชื่อนั้นไว้มิให้อ่อนเปลี้ย และช่วยพี่น้องของเขาให้มั่นคงในความเชื่อนั้น (เทียบ ลก.22:32)

553พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบหมายอำนาจหน้าที่หนึ่งแก่เปโตรโดยเฉพาะ   "เราจะมอบกุญแจพระอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกไว้บนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านแก้บนแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย" (มธ.16:19) "อำนาจจากลูกกุญแจ" นี้ หมายถึงอำนาจหน้าที่ปกครองเคหาแห่งพระเจ้าคือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้า "นายชุมพาบาลที่ดี" (ยน.10:11) ได้ทรงยืนยันภารกิจอันนี้ หลังการฟื้นคืนชีพของพระองค์ "จงดูแลแกะของเราเถิด" (ยน.21:15-17) อำนาจใน "การผูกและในการแก้" หมายถึงอำนาจที่จะยกโทษบาป กล่าวคำวินิจฉัยตัดสินในเรื่องหลักคำสอน   และทำการตัดสินใจในเรื่องของระเบียบวินัยภายในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบหมายอำนาจหน้าที่อันนี้ไว้แก่พระศาสนจักร โดยอาศัยการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของอัครสาวกทั้งหลาย (เทียบ มธ.18:18) และโดยเฉพาะเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบกุญแจแห่งอาณาจักรไว้ให้อย่างชัดเจน

รสพระอาณาจักรที่ได้ลิ้มล่วงหน้า : การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์

554นับแต่วันที่เปโตรได้ประกาศยืนยันว่าพระเยซูคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต พระอาจารย์ "ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับการทรมานอย่างมาก...จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม" (มธ.16:21) เปโตรปฏิเสธ ไม่ยอมรับการประกาศนั้น ส่วนคนอื่นๆ ก็มิได้เข้าใจอะไรมากไปกว่า (เทียบ  มธ.16:22-23; 17:23; ลก.9:45) ในบริบทนี้เอง ที่เหตุการณ์อันล้ำลึกแห่งการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูได้อุบัติขึ้น บนภูเขาสูงแห่งหนึ่ง (เทียบ มธ.17:1-8, 2ปต.1:16-18) ต่อหน้าพยานสามคนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้ คือ เปโตร ยากอบและยอห์น    พระพักตร์และพระภูษาของพระเยซูเปลี่ยนไป เปล่งรัศมีแวบวับระยับแสง โมเสสและเอลียาห์ปรากฏมา "กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จไปในกรุงเยรูซาเล็ม" (ลก.9:31) เมฆก้อนหนึ่งได้มาปกคลุมพวกเขาไว้ และมีพระสุรเสียงจากสวรรค์ตรัสว่า "ผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด" (ลก.9:35)

555ชั่วขณะหนึ่ง พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงพระสิริโรจนาของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า เป็นการยืนยันการประกาศยอมรับของเปโตร พระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นด้วยว่า "เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์" (ลก.24:26) พระองค์จะต้องผ่านการถูกตรึงกางเขน ณ กรุงเยรูซาเล็ม โมเสสและเอลียาห์ได้เห็นพระสิริโรจนาของพระเจ้าบนภูเขา พระธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศกก็ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว ถึงการทนทุกข์ทรมานของพระเมสสิยาห์ (เทียบ ลก.24:27) มหาทรมานของพระเยซูเจ้านั้นนับได้ว่าเป็นน้ำพระทัยของพระบิดาโดยแท้ พระบุตรทรงปฏิบัติเยี่ยงผู้รับใช้ของพระบิดา (เทียบ อสย.42:1) ก้อนเมฆบ่งบอกการประทับอยู่ของพระจิต "พระตรีเอกภาพปรากฏทั้งสามพระองค์ พระบิดาในพระสุรเสียง พระบุตรในร่างมนุษย์ พระจิตในก้อนเมฆที่มีแสงสว่าง" (น.โทมัส อไควนัส Sth III,45,4,ad 2)

พระองค์ได้ทรงสำแดงอย่างรุ่งโรจน์บนภูเขา และเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ สานุศิษย์ของพระองค์ก็ได้พิศเพ่งพระสิริโรจนาของพระองค์ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้า เพื่อว่า เมื่อพวกเขาจะได้เห็นพระองค์ถูกตรึงกางเขน พวกเขาจะได้เข้าใจว่าพระทรมานของพระองค์นั้นเป็นการกระทำโดยสมัครพระทัย และพวกเขาจะได้ไปประกาศแก่โลกว่า พระองค์นั้นคือรัศมีอันแจ่มจรัสของพระบิดา (พิธีกรรมแบบไบเซนไทน์)

556เมื่อจะเริ่มชีวิตท่ามกลางสาธารณชน พระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้าง เมื่อจะเริ่มปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าก็ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ อาศัยการรับศีลล้างของพระเยซู-เจ้านั้นเอง "ที่ธรรมล้ำลึกแห่งการเกิดใหม่อีกครั้งของเราได้รับการเผยแสดงให้เป็นที่ประจักษ์เป็นวาระแรก" นั่นคือศีลล้างบาปของเรา การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ คือ "ศีล-ศักดิ์สิทธิ์แห่งการเกิดใหม่อีกครั้งเป็นวาระที่สอง" นั่นคือการกลับเป็นขึ้นมาของตัวเราเอง  (น.โทมัส อไควนัส Sth III,45,4,ad 2) นับแต่บัดนี้ เรามีส่วนร่วมในการฟื้นคืนชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยอาศัยพระจิตผู้ทรงปฏิบัติงานอยู่ในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระวรกายของพระคริสตเจ้า การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เป็นการให้โอกาสเราได้ลิ้มรสล่วงหน้าถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์   เมื่อ "พระองค์จะทรงเปลี่ยนรูปร่างอันต่ำต้อยของเราให้เหมือนพระกายอันรุ่งโรจน์ของพระองค์" (ฟป.3:21) แต่ก็เป็นการเตือนเราให้ระลึกด้วยว่า "พวกเราจำเป็นต้องฟันฝ่าความทุกข์ยากเป็นอันมากจึงจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้" (กจ. 14:22)

เรื่องนี้ เปโตรยังไม่ได้เข้าใจ เมื่อเขาแสดงความปรารถนาจะใช้ชีวิตอยู่กับพระคริสตเจ้าบนภูเขา เปโตรเอ๋ย พระองค์เก็บสิ่งนี้ไว้ให้เธอสำหรับเมื่อเธอตายแล้ว แต่ในตอนนี้ พระองค์ตรัสเองว่า จงลงไปทุกข์ยากบนแผ่นดิน ไปรับใช้อยู่บนแผ่นดิน เพื่อถูกเขาเหยียดหยาม ถูกตรึงกางเขนบนแผ่นดิน องค์ชีวิตเสด็จลงมาเพื่อถูกประหาร องค์แผ่นปังเสด็จลงมาเพื่อหิวโหย องค์หนทางเสด็จลงมาเพื่อเหนื่อยอ่อนอยู่บนทางเดิน องค์สายธารเสด็จลงมาเพื่อการหายน้ำ แล้วเธอจะปฏิเสธที่จะทนทุกข์ยากกระนั้นหรือ ? (น.ออกัสติน Sermo 78,6:PL 38,492-493; เทียบ ลก.9:33)

พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็ม

557"เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม" (ลก.9:51) จากการตัดสินใจครั้งนี้ พระองค์หมายถึงว่าพระองค์เสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ในสภาพพร้อมที่จะสิ้นพระชนม์ที่นั่น ถึงสามครั้งสามคราที่พระองค์ได้ประกาศถึงมหาทรมาน และการฟื้นคืนชีพของพระองค์ เมื่อจะมุ่งไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า "ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้" (ลก.13:33)

558พระเยซูเจ้าทรงเตือนให้ระลึกถึงการเป็นมรณสักขีของบรรดาประกาศกที่ถูกสังหารชีวิต ณ กรุงเยรูซาเล็ม อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงเรียกเยรูซาเล็มอยู่นั่นเอง ให้มารวมตัวกันอยู่รอบๆ พระองค์ "กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของเจ้า เหมือนดังแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีก แต่เจ้าไม่ต้องการ" (มธ.23:37) เมื่อเยรูซาเล็มปรากฏแก่สายพระเนตร พระองค์ก็ทรงกันแสงสงสารกรุงเยรูซาเล็ม และทรงแสดงความปรารถนาในพระทัยของพระองค์อีกครั้ง-หนึ่ง "ถ้าในวันนี้เจ้าเพียงแต่รู้จักทางนำไปสู่สันติ ก็จะเป็นการดีแต่ทางนั้นได้ถูกซ่อนจากตาของเจ้าเสียแล้ว" (ลก.19:41-42)

การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์

559เยรูซาเล็มจะต้องรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้านั้นที่แล้วๆ มา พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงความพยายามของฝูงชนที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์เสมอ แต่คราวนี้ พระองค์ทรงเลือกเวลา และเตรียมการในการเสด็จเข้าสู่นครแห่ง "ดาวิด บรรพบุรุษของพระองค์" ในฐานะพระเมสสิยาห์อย่างละเอียดละออ พระองค์ได้รับการโห่ร้องต้อนรับในฐานะ "บุตรของพระองค์" (ลก.1:32) ผู้นำความรอดมาให้ (โฮซานนา แปลว่า "ช่วยหน่อยเถิด" "ให้ความรอดเถิด") แต่ "กษัตริย์แห่งโรจนาการ" (สดด.24:7-10) การกลับเข้าสู่นครของพระองค์ "โดยประทับบนหลังลูกลา" (ศคย.9:9) พระองค์ไม่ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยนตัวแทนแห่งพระศาสนจักรของพระองค์ด้วยเล่ห์เพทุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความสุภาพถ่อมตน ซึ่งเป็นพยานให้แก่สัจจะ (เทียบ ยน.18:37) ด้วยเหตุนี้ ประชาราษฏร์แห่งพระอาณาจักรของพระองค์ในวันนั้น จึงมีแต่เด็กๆ และ "คนยากจนของพระเจ้า" กล่าวต้อนรับพระองค์เหมือนดังบรรดาเทวดามาแจ้งแก่คนเลี้ยงแกะ (เทียบ มธ.21:15-16) เสียงต้อนรับของพวกเขา "ขอถวายพรแด่ผู้มาในพระนามของพระเจ้า" (สดด.118:26) นั้น พระศาสนจักรมาขับร้องต่อในบท "ศักดิ์สิทธิ์" ของพิธีกรรมเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท เพื่อเปิดเทศกาลรำลึกถึงปัสกาของพระเยซูผู้เป็นเจ้า

560การเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้า เป็นการแสดงให้ประจักษ์ในการมาถึงของพระอาณาจักร  ซึ่งกษัตริย์ -พระเมสสิยาห์จะทรงกระทำให้สำเร็จไปโดยอาศัยปัสกาแห่งการสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนชีพของพระองค์ จากการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ครั้งนั้น ในวันอาทิตย์ใบลาน พิธีกรรมของพระศาสนจักรก็เริ่มเปิดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่