หน้าหลักเช็คเมลล์ติดต่อเราสมุดเยี่ยมลิงค์คาทอลิกแผนผังเวบไซด์

ค้นหาข้อมูล :

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. ธรรมล้ำลึกแห่งปฐมวัย และชีวิตซ่อนเร้นอยู่ของพระเยซูเจ้า

การเตรียมการ

522การเสด็จมาของพระบุตรแห่งพระเจ้าบนแผ่นดิน เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่เสียจนกระทั่งพระเจ้าได้ทรงปรารถนาที่จะเตรียมการนี้ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายศตวรรษ จารีตและเครื่องบูชา  โฉมหน้าและสัญลักษณ์ใน "พันธสัญญาแรก" (ฮบ.9:15)    พระเจ้าโปรดให้ทุกสิ่งมุ่งไปยังพระคริสตเจ้าเป็นจุดเดียว พระองค์ประกาศพระคริสตเจ้าโดยอาศัยปากของประกาศก ซึ่งทยอยสืบต่อกันมาในอิสราเอล   ในด้านอื่น พระองค์ยังทรงปลุกการรอคอยอันมืดมนให้พระบุตรเสด็จมาขึ้นในใจของคนนอกศาสนา

523นักบุญยอห์น บัปติสตา เป็นผู้ล่วงหน้ามา ก่อนองค์พระผู้เป็นเจ้าในช่วงเวลาใกล้กันนั้นเอง ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา เพื่อจัดเตรียมมรรคาไว้ให้พระองค์ (เทียบ กจ.13:24; มธ.3:3) ในฐานะ "ประกาศกของพระผู้สูงสุด" (ลก.1:76) นักบุญยอห์นอยู่เหนือประกาศกทั้งปวง ท่านเป็นประกาศกคนสุดท้าย (เทียบ ลก.7:26, มธ.11:13)  เป็นผู้เริ่มประกาศพระวรสาร ท่านได้ต้อนรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และได้พบความชื่นชมยินดีในการได้เป็น "เพื่อนเจ้าบ่าว" (ยน.3:29)   ซึ่งท่านบ่งว่า คือ "พระชุมพาน้อยของพระเจ้า ผู้ยกบาปของโลก" (ยน.1:29)     จากการนำหน้าพระเยซู "ด้วยจิตใจและพลังของประกาศกเอลียาห์" (ลก.1:17) ท่านได้เป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์โดยการเทศนาสั่งสอน โดยการโปรดศีลล้างบาปให้กลับใจ และสุดท้ายโดยการเป็นมรณสักขี (เทียบ มก.6:17-29)

524ทุกปี ในการประกอบพิธีกรรมเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรได้ทำให้การรอคอยพระเมสสิยาห์เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในปัจจุบัน โดยการร่วมใจในการเตรียมการอันยาวนาน เพื่อรับการเสด็จมาครั้งแรกของพระผู้ช่วยให้รอด สัตบุรุษก็ได้รื้อฟื้นความปรารถนาอันเร่าร้อนในการเสด็จมาเป็นครั้งที่สองของพระองค์ (เทียบ วว.22:17)อาศัยการเฉลิมฉลองวันเกิดและการเป็นมรณสักขีของนักบุญยอห์น บัปติสตา ประกาศกผู้ล่วงหน้ามา พระศาสนจักรก็ได้ร่วมใจกับท่านในการตั้งความปรารถนาว่า "จำต้องให้ท่านผู้นั้นได้รับยกย่องขึ้นและให้เราด้อยลง" (ยน.3:30)

ธรรมล้ำลึกแห่งพระคริสตสมภพ

525พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์ต่ำต้อย ในครอบครัวที่ยากจน (เทียบ ลก.2:6-7)  คนเลี้ยงแกะธรรมดาๆ คือประจักษ์พยานกลุ่มแรกของเหตุการณ์ครั้งนั้น ในความยากจนนั้นเอง ซึ่งสิริโรจนาแห่งสวรรค์ได้ปรากฏให้เห็น (เทียบ ลก.2:8-20)  พระศาสนจักรไม่เคยอ่อนล้าที่จะขับเพลงสรรเสริญสิริโรจนาแห่งราตรีนั้น

วันนี้ พรหมจารีให้กำเนิดองค์นิรันดรแก่โลก

และแผ่นดินก็ถวายถ้ำแด่องค์พระที่ไม่มีใครเข้าถึง

ทูตสวรรค์และชุมพาบาลสรรเสริญพระองค์

และโหราจารย์ก็ก้าวไปพร้อมกับดวงดาว

เพราะพระองค์ได้ทรงบังเกิดเพื่อเรา

กุมารน้อย พระเจ้านิรันดร

526"กลายเป็นเด็ก" ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเจ้า คือเงื่อนไขเพื่อที่เข้าในพระอาณาจักร (เทียบ มธ. 18:3-4) ในการนี้จักต้องถ่อมตนเองกลายเป็นผู้น้อย ยิ่งกว่านั้น ยังต้อง "เกิดเสียใหม่" (ยน.3:7) "เกิดจากพระเป็นเจ้า" (ยน.1:13)  เพื่อ "เป็นบุตรของพระเจ้า" (ยน.1:12) ธรรมล้ำลึกแห่งพระคริสตสมภพสำเร็จไปในตัวเรา เมื่อพระคริสตเจ้า "จะปรากฏ" ขึ้นในเรา (เทียบ กท.4:19) พระคริสตสมภพคือธรรมล้ำลึกแห่ง "การแลกเปลี่ยนอันน่าชื่นชม" นั้น

โอ การแลกเปลี่ยนอันน่าพิศวง พระผู้สร้างของมนุษย์ ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ประสูติจากพรหมจารี พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้ามีส่วนในพระเทวภาพของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถ่อมองค์ลงรับสภาพมนุษย์ (บทสร้อย 1 วัตรเย็น วันที่ 1 มกราคม)

ธรรมล้ำลึกแห่งปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

527พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัต ในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ (เทียบ ลก.2:21) เป็นเครื่องหมายของการรับไว้ในตำแหน่งผู้สืบเชื้อสายของอับราฮัม ในประชากรแห่งพันธสัญญา เครื่องหมายของการยอมอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (เทียบ กท.4:4) และการเป็นตัวแทนในพิธีบูชาของอิสราเอล ซึ่งพระองค์จะต้องมีส่วนร่วมจนตลอดชีวิต เครื่องหมายนี้เป็นการประกาศล่วงหน้าถึง "การเข้าสุหนัตแห่งพระคริสตเจ้า" ซึ่งก็คือศีลล้างบาป (เทียบ คส.2:11-13)

528วันพระคริสต์แสดงองค์ เป็นการสำแดงองค์ของพระเยซูเจ้าในฐานะเป็นพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอล บุตรพระเจ้า และผู้ช่วยโลกให้รอด ร่วมกับการรับศีลล้างของพระเยซูณ แม่น้ำจอร์แดน และงานวิวาห์มงคลที่คานา แคว้นกาลิลี  วันพระคริสต์สำแดงองค์ เป็นการเฉลิมฉลองการนมัสการบูชาพระเยซู โดย "โหราจารย์บางท่าน" ที่มาจากทิศตะวันออก   (มธ.2:1) ในตัวโหราจารย์บางท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่คริสต์ซึ่งมีอยู่รอบข้างนั้น พระวรสารมองเห็นผลแรกของนานาชาติที่จะพากันต้อนรับข่าวดีแห่งความรอด โดยอาศัยการรับธรรมชาติมนุษย์ขององค์พระบุตร การที่โหจารย์บางท่านมายังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อ "นมัสการกษัตริย์แห่งชนชาติยิว" (เทียบ มธ.2:2) แสดงว่าพวกเขาแสวงหา ในอิสราเอล     -อาศัยแสงสว่างแห่งพระเมสสิยาห์จากดาราสกุลดาวิด- ผู้ที่จะเป็นกษัตริย์แห่งนานาชาติ (เทียบ มธ.2:2; กดว.24:17-19; วว.22:16) การมาของโหราจารย์หมายถึงว่า คนนอกศาสนาจะสามารถค้นพบพระเยซู และนมัสการพระองค์ในฐานะบุตรพระเจ้าและผู้ช่วยโลกให้รอดได้ ก็ต่อเมื่อหันไปพึ่งชนชาติยิว และได้รับคำมั่นสัญญาเรื่องพระเมสสิยาห์มาจากพวกเรา เช่นที่มีปรากฏอยู่ในพันธสัญญาเดิม (เทียบ ยน.4:22; มธ.2:4-6) การสำแดงองค์ของพระคริสตเจ้า เป็นการแสดงว่า "สัมบูรณภาพแห่งคนนอกศาสนา ได้เข้ามาในครอบครัวของบรรดาอัยกา" และได้รับ "ศักดิ์ศรีของชนชาติอิสราเอล" (น.เลโอ องค์ใหญ่)

529การถวายพระกุมารในพระวิหาร เป็นการชี้แสดงว่าพระเยซูกุมารคือบุตรหัวปี ซึ่งเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ ลก.2:22-39; อพย.13:2,12-13) ร่วมกับสิเมโอนและอันนา นี่คือการรอคอยของอิสราเอลทั้งหมด ซึ่งมาประสบกับพระองค์พระผู้ช่วยพวกเขาให้รอด (ธรรมประเพณีไบเซนไทน์ เรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่าดังนั้น) พระเยซูได้รับการรับรองว่าเป็นพระเมสสิยาห์ที่อิสราเอลรอคอยมานานนักหนา เป็น "แสงสว่างแห่งนานาชาติทั้งปวง"และ "สิริโรจนาแห่งอิสราเอล" แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็น "เครื่องหมายแห่งความขัดแย้ง" ด้วย ดาบอันนำมาซึ่งความเจ็บปวดที่สิเมโอนทำนายไว้กับพระนางมารีอา เป็นการเกริ่นประกาศถึงการถวายเครื่องบูชาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสมบูรณ์พร้อมและมีเพียงหนึ่งเดียวคือมหาบูชาบนไม้กางเขน อันจะนำมาซึ่งความรอด   ที่พระเจ้า "ได้ทรงตระเตรียมไว้อย่างเปิดเผยต่อหน้าประชากรทั้งหลาย"

530การลี้ภัยไปอียิปต์ และการประหารทารกผู้บริสุทธิ์ (เทียบ มธ.2:13-18) แสดงถึงการต่อต้านของความมืดต่อความสว่าง     "พระองค์ได้เสด็จมายังบ้านเมืองของพระองค์ และชาวบ้านชาวเมืองของพระองค์ก็มิได้ต้อนรับพระองค์" (ยน.1:11) ชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้าจะอยู่ใต้เครื่องหมายแห่งการเบียดเบียน สมัครพรรคพวกของพระองค์ก็จะถูกเบียดเบียนร่วมกับพระองค์ด้วย (เทียบ ยน.15:20) ชวนให้นึกถึงการอพยพของชาวอิสราเอลและเป็นการเสนอพระเยซูในฐานะผู้ปลดปล่อยให้เป็นอิสระอย่างเด็ดขาด (เทียบ มธ.2:15;ฮชย.11:1)

ธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตที่ซ่อนเร้นอยู่ของพระเยซูเจ้า

531ตลอดเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของพระองค์ พระเยซูเจ้าได้ทรงแบ่งปันสภาพชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่  ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล นั่นคือชีวิตประจำวันซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เลย เป็นชีวิตของการทำงานด้วยมือ ชีวิตของการนับถือศาสนายิวอยู่ใต้ธรรมบัญญัติของพระเจ้า (เทียบ กท.4:4) ชีวิตในชุมชน ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ได้มีการเปิดเผยให้เราทราบว่า พระเยซู "อยู่ใต้ปกครอง" ของบิดามารดา และ "ได้ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชา-ญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้ามนุษย์" (ลก.2:51-52)

532การนอบน้อมของพระเยซูต่อพระมารดาและบิดาตามกฎหมายของพระองค์ เป็นการปฏิบัติให้สำเร็จไปอย่างสมบูรณ์ตามพระบัญญัติข้อที่สี่ เป็นภาพลักษณ์ฝ่ายโลกที่แสดงถึงการนบนอบฉันบุตรของพระองค์ต่อพระบิดาในสวรรค์ การนอบน้อมเชื่อฟังของพระเยซูต่อนักบุญยอแซฟและพระนางมารีอาทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นการประกาศและปฏิบัติล่วงหน้าเพื่อให้เข้าใจถึงการนอบน้อมของพระองค์ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ "อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า"  (ลก.22:42) การนบนอบของพระคริสตเจ้าในชีวิตประจำวันที่เร้นอยู่ เป็นการเริ่มเบิกกิจการสถาปนาขึ้นใหม่ในสิ่งซึ่งการไม่เชื่อฟังของอาดัมได้ทำลายไป (เทียบ รม.5:19)

533ชีวิตของพระคริสต์ที่ซ่อนเร้นอยู่ ณ เมืองนาซาเร็ธ ช่วยให้มนุษย์ทั้งหลายได้ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซู โดยอาศัยเหตุการณ์ธรรมดาที่สุดในชีวิตประจำวัน

นาซาเร็ธคือสถานศึกษาที่ช่วยให้เราเริ่มเข้าใจชีวิตของพระเยซู คือเป็นสถานศึกษาพระวรสาร... เริ่มด้วยบทเรียนการถือความเงียบ ขอให้เกิดขึ้นในใจเรา ซึ่งความรู้สึกนิยมชมชอบ ความเงียบ อันเป็นสภาพจิตที่น่ายกย่องและขาดเสียมิได้ บทเรียนเรื่องชีวิตครอบครัวในนาซาเร็ธสอนเราว่าครอบครัวคืออะไร การร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความรักภายในครอบครัว ความงามที่เข้มงวดและเรียบง่ายของชีวิตครอบครัว ลักษณะที่ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้... บทเรียนด้านการทำงาน นาซาเร็ธ โอ เคหาแห่ง "บุตรช่างไม้" ตรงจุดนี้เองที่เราปรารถนาจะเข้าใจและเฉลิมฉลองกฎอันเคร่งครัด และไถ่กู้แห่งการตรากตรำทำงานของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่เราปรารถนาในที่สุด ที่จะแสดงคารวะต่อคนทำงานทุกคนทั่วโลกไว้ ณ ที่นี้ และชี้ให้พวกเขาเห็นแบบฉบับอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา พี่ชายซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกเขา (Paul IV at Nazareth, 5 January 1964:LH, Feast of the Holy Family, OR.)

534การได้พบพระเยซูในพระวิหาร เป็นเหตุการณ์อันเดียว ซึ่งเข้ามาทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับปีที่เร้นอยู่เหล่านั้นของพระเยซูเจ้า (เทียบ ลก.2:41-42) ในเหตุการณ์อันนี้ พระเยซูทรงปล่อยให้เราพอมองเห็นธรรมล้ำลึกแห่งการถวายองค์โดยสิ้นเชิงให้แก่พันธกิจ อันเนื่องมาจากการเป็นบุตรพระเจ้า "คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบหรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก" (ลก.2:49) มารีอาและโยเซฟ "ไม่เข้าใจ" ถ้อยคำดังกล่าวนี้ แต่ก็รับไว้ในความเชื่อ และมารีอาก็ "เก็บรักษาความทรงจำทั้งหมดเหล่านั้นไว้ในใจอย่างสัตย์ซื่อ" ตลอดเวลาหลายปีซึ่งพระเยซูเจ้าทรงจมอยู่ในความเงียบแห่งชีวิตธรรมดาๆ